ทำไม ฆราวาส ยิ่งปฏิบัติธรรม กลับยิ่งทุกข์ใจ (๕)


๕. การต้องการพ้นไปจากวัฏฏะอย่างรวดเร็ว แต่เพราะยังไม่บรรลุผลตามที่หวัง จึงเป็นทุกข์ ซึ่งอาจเกิดได้กับทุกคน เช่น ผู้ที่พบแต่ความไม่สะดวกสบายในการดำเนินชีวิตจึงเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายจึงหันมาปฏิบัติธรรมเพื่อต้องการให้พ้นไป หรือ เกิดกับผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏะ กลัวภัยในวัฏฏะ กลัวผลของการกระทำ ของตน ที่ผ่านมาจนไม่อยากวนเกิดไปรับผลนั้นๆ ฯลฯ

สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ความทุกข์เพราะกรณีนี้อาจเกิดจากการยึดมั่นในอัตตา ยึดมั่นในตน การมีตัณหา คือการหวังผลการปฏิบัติที่มากเกินไปซึ่งไม่สัมพันธ์กับการปฏิบัติ ไม่สอดคล้องกับเหตุปัจจัย การยึดมั่นในความสุข คือเบื่อชีวิตที่เป็นทุกข์ เพราะอยากได้ชีวิตที่เป็นสุข หรือ การขาดขันติขาดความอดทนที่จะปฏิบัติต่อไป คือ ต้องการผล แต่ไม่อยากปฏิบัติ หรือปฏิบัติ แต่ไม่สันโดษในผล เป็นต้น

Tiny_img_4513-2ws

ไม่ใช่เบื่อด้วยนิพพิทาญาณ

ผู้ที่เกิดความเบื่อหน่ายด้วยลักษณะนี้ บางท่านมองนิพพานว่าเป็นเมือง หรือ เป็นดินแดนที่ตนสามารถไปอยู่อย่างสงบได้โดยไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ซึ่งก็คือ เห็นตนว่าเป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ ถาวร และต้องการให้ตนไปเสวยสุขอยู่ในแดนนิพพานนั้น จึงนับว่าเป็นความเห็นที่ประกอบด้วยความยึดมั่นในตัวตน ในอัตตา อีกทั้งยังเห็นนิพพานด้วยความเป็นอัตตาอีกด้วย คือ เห็นว่านิพพานเป็นสถานที่ ตัวเป็นตน อยู่ใต้ความปรารถนาของตน อันขัดกับพุทธพจน์ที่ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

บางท่านแม้จะไม่มีความเห็นว่านิพพานเป็นดินแดนใดๆ แต่กลับยึดมั่นนิพพานด้วยความเป็นนิพพานเอง ซึ่งเมื่อยังมีความยึดมั่น ย่อมไม่นิพพาน ดังที่ท่านพุทธทาสให้ความเห็นว่าเป็นการ ถูกลวงด้วยของคู่

Tiny_img_4513-1wl

สังสารวัฏฏ์ เป็นของคู่กันกับนิพพาน อยู่ในฐานะตรงกันข้าม เป็นคู่หนึ่งตามความรู้สึกธรรมดา คือ เราจะเห็นว่า สังสารวัฏฏ์เป็นฝ่ายทุกข์ น่าเกลียด น่าเบื่อหน่าย;ส่วนฝ่ายนิพพานนั้น น่ายึดถือ อยากได้ น่าปรารถนา ตรงกันข้ามอย่างนี้.แต่พอมาถึงความรู้แจ้งในอนัตตา ก็กลับเป็นของที่เป็นอนัตตาอย่างเดียวกัน คือไม่มีความยึดถือแม้ในพระนิพพาน ไม่ยึดถือนิพพานโดยความเป็นนิพพาน ไม่ยึดถือนิพพานโดยความเป็นของเรา ;พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้. นั่นแหละ คือ การถึงที่สิ้นสุดของการถูกลวงด้วยความเป็นของคู่.

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงบุญ บาป ดี ชั่ว ซึ่งเป็นของคู่ๆ คู่ๆ อย่างโลกๆ และเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เสมอกันหมด. ของคู่ๆที่เป็นอย่างวิสัยโลก ถ้าเราเห็นได้ ก็จะไม่ประหลาด คือว่าพอจะเห็นได้โดยไม่ยาก ;แต่ที่ว่าสังสารวัฏฏ์และนิพพานเป็นของเสมอกันนี้ซิ เห็นได้ยาก เว้นไว้แต่จะเอาเรื่องอนัตตาเข้ามาจับ. และผู้ที่ได้เห็นความเป็นอนัตตาของนิพพานแล้วเท่านั้นที่จะนิพพานได้. ถ้ายังยึดถือเอานิพพานโดยความเป็นนิพพานอยู่ ยึดถือว่านิพพานเป็นของเราอยู่แล้ว ก็ยังเป็นนิพพานในอุปาทานอยู่เรื่อย ไม่เป็นนิพพานอันแท้จริงได้ นี่เอง เป็นเหตุให้นักปฏิบัติในชั้นสูง ที่ปฏิบัติมามากๆ นานปีแล้วก็ยังนิพพานไม่ได้ เพราะเขาคอยจ้องจะจับยึดเอานิพพานโดยความเป็นตัวเป็นตน เป็นของของตนอยู่เสมอไป โดยที่ไม่เห็นอนัตตานั่นเอง เลยถูกลวงให้หลงในความเป็นของคู่ คู่สุดท้าย ระหว่างสังสารวัฏฏ์ กับ นิพพาน

พุทธทาสภิกขุ คู่มือปฏิบัติธรรมฉบับสมบูรณ์ หน้า ๑๗๘

จึงจะเห็นได้ว่า การยึดมั่น ไม่ว่าในอะไร ก็นำไปสู่ทุกข์ได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่การยึดมั่นในนิพพาน เมื่อยึดมั่นมากเกินไปจนรีบเร่งเกินไป ก็กลายเป็นตัณหาอันกลับขัดขวางการบรรลุ

Tiny_img_4513-1ws

การปฏิบัตินั้น ก็พึงเป็นไปโดยลำดับ ไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งรัดด้วยตัณหาอันเป็นความดิ้นรนทะยานอยาก ถ้าเป็นการปฏิบัติด้วยตัณหาแล้ว ตัณหานี้ก็เป็นเครื่องกั้นอีกไม่ให้บรรลุถึงได้

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน หน้า ๑๗๑

มีธรรมที่ควรพิจารณาอีกหลักธรรมหนึ่งคือ สันโดษ อันหมายถึง ความยินดี, ความพอใจ, ยินดีด้วยปัจจัย ๔ คือ ผ้านุ่งผ้าห่ม อาหารที่นอนที่นั่ง และยา ตามมีตามได้, ยินดีในของของตน, การมีความสุขความพอใจด้วยเครื่องเลี้ยงชีพที่หามาได้ ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรมของตน ไม่โลภ ไม่ริษยาใคร ประกอบด้วย ๓ ลักษณะ คือ

๑. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้ คือ ได้สิ่งใดมาด้วยความเพียรของตน ก็พอใจกับสิ่งนั้น ไม่เดือดร้อนเพราะของที่ตนไม่ได้

๒. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง คือ พอใจเพียงแค่พอแก่กำลังร่างกาย สุขภาพ และ ขอบเขตการใช้สอยของตน ของที่เกินกำลังก็ไม่หวงแหนเสียดายหรือเก็บไว้ให้เสียหาย หรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ร่างกาย

๓. ยถาสารูปปสันโดษ ยินดีตามสมควร คือ พอใจตามสมควรแก่ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน

สันโดษนั้น มีตั้งแต่ขั้นต่ำ คือ พอใจในสิ่งที่ตนพึงมี พึงได้ ตามลักษณะต่างๆทั้ง ๓ นั้น ส่วนในขั้นสูงคือ ขั้นเต็มความหวัง เพราะการหวังผลในอนาคต จัดเป็นตัณหา เนื่องจากธรรมชาติของตัณหานั้น เมื่อไม่ได้ ก็ไขว่คว้า เมื่อได้มา ก็ต้องการให้ได้มากขึ้น เลิศขึ้น ดังนั้น ความประสงค์จึงไม่มีโอกาสได้เต็ม ดังนั้น ถ้าจะให้เต็มความประสงค์ ก็ต้องละความหวัง หรือความประสงค์นั้นเสีย

Tiny_img_4513-2ws

เพราะฉะนั้น สันโดษในพุทธศาสนาจึงเป็นสันโดษที่ถูกต้อง และก็มีระดับของสันโดษตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูง ก็คือเต็มความประสงค์ แต่ว่าความประสงค์ที่จะได้ความเต็มความประสงค์นั้น ในเมื่อยังมีความประสงค์อยู่ก็ยังไม่เต็ม เพราะฉะนั้น จึงต้องละความประสงค์ เมื่อปราศจากความประสงค์เสียได้นั่นแหละจึงจะเต็ม ก็คือ ปฏิบัติดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก และเมื่อยังมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอยู่ นอกจากไม่เต็มความประสงค์แล้ว ยังมีความหวั่นไหวไปต่างๆ อันปรากฏเป็นความทะเยอทะยานดิ้นรนไปต่างๆบ้าง ปรากฏเป็นความกระสับกระส่าย หวั่นไหวไป หวาดระแวงไปต่างๆบ้าง

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) โสฬสปัญหา หน้า ๖๑

จะเห็นว่า แม้เราจะมีความสันโดษคือ พอใจตามสิ่งที่พึงมี พึงได้ ก็ไม่สามารถทำให้บรรลุผลการปฏิบัติอย่างสูงสุดได้แล้ว ต้องสันโดษในระดับสูง คือ ละความประสงค์นั้นเสีย จึงจะบรรลุได้ จึงไม่ต้องกล่าวถึงการไม่พอใจในผลการปฏิบัติ หวังผลการปฏิบัติที่เกินกำลังเลย

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับผู้ปฏิบัติ ซึ่งหากเรารู้ทัน ก็จะไม่เกิดความทุกข์เพราะการปฏิบัติแต่อย่างใด เพราะเพียงแต่เรามีเพียงฉันที่ที่จะปฏิบัติ แล้วปฏิบัติให้เหมาะกับเพศ กับหน้าที่ ความรับผิดชอบตามสมมติบัญญัติของตน ไม่หวังผลในอนาคตให้มาปรากฏในปัจจุบัน หรือ หวังให้สภาพแวดล้อมปัจจุบันเป็นไปตามที่ใจหวัง ชีวิตก็จะมีความสุขจากการปฏิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญญาอันเป็นสัมมาทิฏฐิก็จะค่อยๆหมุนวน พาเราพ้นจากทุกข์ไปทีละเรื่อง ค่อยๆพ้นไปเรื่อยๆ เหมือนน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำตามธรรมชาติ ย่อมไม่อึดอัดด้วยแรงบีบคั้น ฉะนั้น

หมายเลขบันทึก: 496118เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ครับ ไม่ต้องเร่งรัดจนเกินควร

อ่านมาตั้งแต่ 1-5 รู้สึกได้เลยว่า เกิดปัญญา เพราะว่า โดน เกือบทุกบันทึก ย้อนนึกพิจารณาตัวเองแล้ว เป็นแบบนั้น คือ ยังคงมี ยึดมั่นในสุข บ้าง ชอบแวะ ข้างทางอยู่เรื่อย จริงอย่างเค้าว่านั่นแหละ อิอิ

สวัสดีค่ะคุณพี่

มารับธรรมะยามดึกก่อนเข้านอนค่ะ ดีมากค่ะอ่านแล้วค่อยๆ คิดตาม ขอบพระคุณมากค่ะ

ขอบคุณคุณBlank , คุณ Nok [IP: 182.53.191.43] และคุณBlank ค่ะ

ที่มาเยี่ยม และฝากความเห็นไว้ 

ขอบคุณดอกไม้จากทุกท่านด้วยค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท