KM00107 : ขงจื้อ (หนัง)


"ท่านอาจารย์ เคยสอนว่า หากเราเปลี่ยนสิ่งที่อยู่รอบตัวเราไม่ได้ ก็ให้กลับมาเปลี่ยนที่ตัวเรา"

"ขงจื้อ" เป็นนักปรัชญาชาวจีนและนักการศึกษา ที่ได้รับการยกย่องและวางรากฐานความคิดและวิถีการดำเนินชีวิตของคน "เชื้อชาติจีน" มาจนถึงปัจจุบัน ผมคงไม่ต้องกล่าวถึงอัตชีวประวัติหรือความเป็นมาของท่าน เพราะมีให้อ่านมากมาย และที่สำคัญผมก็ไม่สันทัดเรื่องราวของท่านนัก แต่ "ขงจื้อ" ที่ผมจะกล่าวถึงนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "หนัง" หรือ "ภาพยนตร์" เรื่อง "ขงจื้อ" ที่ผมมีโอกาสได้ดูทางช่องฟรีทีวีช่องหนึ่งเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

 

ก่อนไปว่ากันเรื่อง "หนัง" มีเรื่องราวเกิดขึ้นกับตัวผมอยู่เรื่องหนึ่ง ด้วยเหตุที่ว่าผมเป็นคนชอบฟังความคิดเห็นของคนอื่นเสมอ (ก็เพราะ KM นี่แหละ) เพราะคิดเสมอว่าแต่ละคนย่อม "มีเหตุอันจำเป็น" ที่แตกต่างกัน หากใครเคยอ่านเรื่องที่ผมเขียนไว้ตอนเก่าๆ ก็จะทราบดี เช่น เรื่อง "แท๊กซี่ว่าง" (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/414512) หรือเรื่องที่ "ป้าจุ๊" จุรี โอสิริ เคยสอนไว้ (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/476669) ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ผมมักจะนำความคิดเห็นที่น่าสนใจของบางท่าน มานำเสนอและถามความคิดเห็นกับท่านอื่นๆ บ้าง แต่กลับมีท่านหนึ่งมาให้ความเห็นว่า คนที่เสนอความคิดนี้ "ไร้ปัญญา" (ถ้าว่าผมคนเดียวคงไม่เป็นไรเพราะทุกวันนี้ผมก็ยัง "ปัญญา" ไม่เกิด ถึงแม้จะพยายามรักษาศีลและเจริญสมาธิเป็นบางครั้งบ้างก็ตาม) ผมจึงพยายามบอกท่านนั้นว่า "แต่ละคนมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน" คงไม่น่าจะเกี่ยวกับเรื่อง "มีปัญญา" หรือ "ไร้ปัญญา" เท่าไหร่ เราควรรับฟังไว้น่าจะดีกว่า และแล้ว "เป้าหมาย" ก็มุ่งมาที่ผม

 

"คิดแบบธุรกิจ" "ใช้คำพูดสวยหรู" เป็นสิ่งที่ผมต้องรับไป ก็ถือว่ามีส่วนถูกครับ ปัจจุบันผมทำในสิ่งที่อยากทำและไม่อยากทำไปพร้อมๆ กัน คือ การออกมา "ประกอบอาชีพอิสระ" เป็นสิ่งที่ผมอยากทำ เพราะไม่ต้องไปอยู่ในกรอบแนวคิดใคร สามารถคิดเองทำเองได้อย่างสบายใจ ขณะเดียวกันผมก็ต้องมีภาระที่ต้องดูแลครอบครัว จึงเลี่ยงไม่ได้กับการที่ต้อง "ทำธุรกิจ" ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อยากทำและไม่ถนัด แต่ก็ "มีความจำเป็น" อย่างไรก็ตามผมก็ไม่เคยนำแนวคิดที่ไม่ถูกต้องมาสร้าง "ผลประโยชน์" ทางธุกิจ ส่วนการ "ใช้คำพูดสวยหรู" ก็ต้องบอกว่ารู้สึกขอบคุณอย่างมาก ที่ผ่านมาชีวิตผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการ "อ่าน" มากกว่าการ "เขียน" เพิ่งจะมาเขียนเป็นชิ้นเป็นอันก็หลังจากรู้จัก KM ไม่ถึง ๒ ปีมานี้ เมื่อมีท่านที่ชมมาก็แสดงว่าทักษะการเขียนของผมมีการพัฒนาขึ้น

 

กลับมาที่เรื่องของ "ขงจื้อ" ท่านเป็นนักการศึกษาที่ "ใฝ่รู้" อย่างมาก จนในที่สุดก็มีโอกาสมารับใช้บ้านเมือง แนวคิดเรื่องการปกครองบ้านเมืองโดยใช้ "ศีลธรรม" จึงถูกนำมาเสนอ แต่เรื่อง "การบ้าน การเมือง" ซับซ้อนกว่าที่ท่านคิด แม่จะ "เจตนาดี" แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับผู้มีอำนาจหลายคน (มุมมองในการปกครองอาจแตกต่างกันออกไป ผมคิดว่าไม่มีผิดหรือถูก) สุดท้ายท่านก็ต้องถูก "เนรเทศ" ออกจากเมือง แต่ในความโชคร้ายก็มีโอกาสเสมอ เพราะท่านก็ได้มีโอกาสเดินทางไปสอนสั่งแนวคิดนี้หลายเมือง (แม้จะโดนต่อต้านจากคนบางกลุ่มบ้าง) ผมชอบอยู่ตอนหนึ่งเมื่อครั้ง "ขงจื้อ" โดนเนรเทศออกมาจากเมือง แล้วมานั่งเสียใจ แต่มีลูกศิษย์ของท่านคนหนึ่งพูดกับท่านว่า "ท่านอาจารย์ เคยสอนว่า หากเราเปลี่ยนสิ่งที่อยู่รอบตัวเราไม่ได้ ก็ให้กลับมาเปลี่ยนที่ตัวเรา" คำพูดนี้คงไม่ได้หมายความว่าจะสอนให้เราเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามสิ่งรอบข้างนะครับ หากพิจารณาให้ดีคงน่าจะหมายถึง "ให้กลับมาพิจารณาตัวเอง พิจารณาจิตของตัวเอง น่าจะดีกว่า" ซึ่งในทางพุทธศาสนาก็สอนไว้เช่นกันว่า "จิตของเรา" เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และในช่วงปั้นปลายของชีวิต "ขงจื้อ" ก็ได้กลับมาที่เมืองบ้านเกิดอีกครั้ง เพราะผู้ปกครองบ้านเมืองเห็นคุณค่าและเข้าใจเจตนาและคำสอนของท่าน แต่ท่านก็ไม่ขอยุ่งกับเรื่องของการเมืองอีกเลย และมุ่งที่จะทำ "โรงเรียน" สอนหนังสือและแนวคิดของท่านเพียงอย่างเดียว

ผมคงไม่ได้จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกันท่านนะครับ เพียงแต่เมื่อดู "หนัง" เรื่องนี้แล้วทำให้รู้สึก "ปลง" ในบางเรื่องเท่านั้น และกลับไปเรื่องของผมบ้าง ต้องบอกว่าผมรู้สึก "ไม่สบายใจ" อยู่บ้างกับคำต่อว่าเหล่านั้นอยู่บ้าง ตามประสาปุถุชน (แปลว่าผู้ยังมีกิเลส) และยิ่ง  "ไม่สบายใจ" มากขึ้นเมื่อ "บังเอิญ" ได้ไปเห็นกลุ่มของท่านกล่าวเรื่อง "ปัญญา" ไปคุยกันต่อในเชิงพึงพอใจต่อการใช้คำพูดลักษณะนี้ รวมไปถึงการกล่าวอ้างว่า "เลือด.....มันแรง" แต่ก็เป็นช่วงที่ "บังเอิญ" ได้ดู "หนัง" เรื่องนี้พอดี ก็เลยพอเข้าใจอะไรบางเรื่อง บางครั้งการเข้าไปยุ่งวุ่นวายกับคนหลายกลุ่ม หลายพวก ก็จำเป็นต้องเจอในสิ่งที่ถูกใจ ไม่ถูกใจบ้างเป็นธรรมดา

 

และแล้วสิ่งที่ท้าทายผมก็เกิดขึ้นเมื่อคนในกลุ่มของท่านนั้น (บางคน) ต้องการเข้ากลุ่ม (ใน facebook) ของผม ผมเกิดความ "ลังเล" อยู่นาน (หลายวัน) พยายามลบ "อคติ" ที่เกิดกับคนกลุ่มของท่านเหล่านั้น และถามตัวเองว่า "เรากำลังทำอะไร" และผมก็ตัดสินใจ  "กดปุ่ม" รับคนเหล่านั้นเข้ามา ซึ่งผมกลับพบว่า "มันสบายใจ" กว่าที่คิด (รู้อย่างนี้น่าทำไปนานแล้ว) ด้วยเหตุผลที่ว่า "ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา" ครับ

คำสำคัญ (Tags): #km#ขงจื้อ
หมายเลขบันทึก: 496047เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การเปรียนแปลง ==> เปลี่ยนที่ตัวเรา ==> ดีที่สุดค่ะ

ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ

ขอบคุณเช่นกันครับ ที่ช่วยสรุปให้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท