เงินเฟ้อ & เงินฝืด & Stagflation


หากจะกล่าวถึงโรคที่เกิดกับเศรษฐกิจในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว เมื่อวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยรากฐานของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจนั้นประการสำคัญ เกิดขึ้นจากการเสียสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน โดยสามารถพิจารณาได้ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ

 

        ลักษณะที่ ๑ กรณีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจากอุปสงค์มวลรวม (Aggregate Demamd) มีมากกว่าอุปทานมวลรวม (Aggregate Supply) ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจในลักษณะดังกล่าวนี้จะสะท้อนออกมาในรูปของการเกิดภาวะเงินเฟ้อ  เกี่ยวเนื่องจาก อุปสงค์มวลรวมที่มีมากเกินไปในระบบเศรษฐกิจในขณะที่อุปทานมวลรวมอยู่ในระดับที่ต่ำ จึงเป็นแรงดึงให้ระดับราคาของสินค้าและบริการสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นไปในลักษณะของการเกิดภาวะเงินเฟ้อทางด้านแรงดึงอุปสงค์ (demand pull inflation)

 หรือหากอธิบายเป็นภาษชาวบ้านให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ

            เงินเฟ้อ เป็นไปในลักษณะของมูลค่าในตัวเงิน (อำนาจซื้อ) ลดลง เมื่อเทียบโดยสัมพัทธ์ เช่น

                    เมื่อวันวานเงิน ๑๐ บาท ซื้อไข่ไก่ได้ ๑๐ ฟอง แต่

                    วันนี้เงิน         ๑๐ บาท ซื้อไข่ไก่ได้ ๕ ฟอง  เป็นต้น

             

           ส่วนใหญ่เงินเฟ้อมักจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปจนถึงรุ่งเรืองเฟื่องฟู ซึ่งปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องค่อนข้างสูง ถึงแม้ข้าวของเครื่องใช้จะราคาแพงขึ้นแต่เงินก็หาได้ง่ายและคล่องตัวขึ้น

 

        ลักษณะที่ ๒ กรณีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจากอุปสงค์มวลรวม (Aggregate Demamd) มีน้อยกว่าอุปทานมวลรวม (Aggregate Supply) ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจในลักษณะดังกล่าวนี้จะสะท้อนออกมาในรูปของการเกิดภาวะเงินฝืด เกี่ยวเนื่องจาก อุปทานมวลรวมที่มีมากเกินไปในระบบเศรษฐกิจในขณะที่อุปสงค์มวลรวมอยู่ในระดับที่ต่ำ มีผลทำให้ระดับราคาของสินค้าและบริการลดลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง

 

หรือหากอธิบายเป็นภาษชาวบ้านให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ

            เงินฝืด เป็นไปในลักษณะที่มูลค่าในตัวเงิน (อำนาจซื้อ) เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบโดยสัมพัทธ์ เช่น

                   เมื่อวันวานเงิน   ๑๐๐ บาท ซื้อเนื้อหมูได้ ๑ กิโลกรัม แต่

                   วันนี้เงิน           ๑๐๐ บาท ซื้อเนื้อหมูได้ ๒ กิโลกรัม  เป็นต้น

     

           ส่วนใหญ่เงินฝืด มักจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจหดตัว (ถดถอยและตกต่ำ) ซึ่งปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องตัวค่อนข้างน้อย ถึงแม้ว่าข้าวของเครื่องใช้จะราคาถูกลงแต่ เงินก็หาได้ยากขึ้น

 

ในปัจจุบันนั้น พัฒนาการทางด้านวิกฤติเศรษฐกิจ สะท้อนออกมาทางคุณลักษณะที่ผสมผสานคลุกเคล้าเข้าด้วยกันมากยิ่งขึ้น เป็นไปในลักษณะของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน หรือ Stagflation

             

          Stagflation ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผิดปกติและไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเศรษฐศาสตร์ของสำนักเคนส์เซี่ยน เกี่ยวเนื่องจาก เศรษฐทรรศน์แบบเคนส์มีความเชื่อว่า กลไกตลาดจะมีปัญหาการขาดเสถียรภาพในตัวเองเสมอ เนื่องในยามที่เศรษฐกิจขยายตัว (เป็นไปในลักษณะของอัตราการว่างงานต่ำลง) อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว (เป็นไปในลักษณะของอัตราการว่างงานสูงขึ้น) อัตราเงินเฟ้อก็จะต่ำ ดังนั้น เป้าหมายการว่างงานในระดับต่ำและอัตราเงินเฟ้อต่ำจึงมีความขัดแย้งกันเสมอ ไม่สามารถมาบรรจบพบกันได้ นัยคือ

                - หากมีเงินเฟ้อสูงขึ้นนั่นย่อมจะสะท้อนออกมาในลักษณะของการว่างงานลดลง และ

                - หากมีเงินเฟ้อลดลงนั่นย่อมจะสะท้อนออกมาในลักษณะของการว่างงานเพิ่มขึ้น

              

        หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ หากมีเป้าหมายที่ต้องการให้การว่างงานลดลงก็จะต้องเผชิญกับภาวะของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และหากมีเป้าหมายที่ต้องการให้เงินเฟ้อลดลงก็ต้องเผชิญกับการว่างงานที่เพิ่มขึ้น นั่นเอง

        ผู้ที่มีหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทางด้านเศรษฐกิจจึงต้องเลือกเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง (ระหว่างเงินเฟ้อกับการว่างงาน) แต่ในภาวะ Stagflation กลับสูญเสียทั้งสองเป้าหมายไปพร้อมๆ กัน
        

        Stagflation มาจากคำว่า Stagnation (ภาวะเศรษฐกิจซบเซา) + Inflation (ภาวะเงินเฟ้อ) เป็นไปในลักษณะของภาวะที่เกิดจากปัจจัยทางด้านอุปทาน (Supply shock) ส่งผลทำให้ผลผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว อุปทานมวลรวม (Aggregate Supply) ลดลง ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ระดับราคาเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนออกมาทางอาการของอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

        

         ในอดีต Stagflation เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกายุคทศวรรษ ๑๙๗๐ อัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ ๑๒ ในขณะที่อัตราการว่างงานก็ถีบตัวสูงขึ้นเกือบร้อยละ ๙ ซึ่งสาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าวมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงเพิ่มขึ้นไปกว่าร้อยละ ๔๐๐ จากราคาเดิม สำหรับในประเทศไทยเคยเกิดภาวะ Stagflation เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ในเวลานั้น อัตราเงินเฟ้อสูงเกินกว่าระดับร้อยละ ๑๐ เกี่ยว เนื่องมาจากราคาน้ำมันในประเทศสูงขึ้นกว่าร้อยละ ๔๐ ทำให้เกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี

 

        เงินเฟ้อ (inflation) คือ ภาวการณ์ที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเกิดภาวะเงินเฟ้อมีสาเหตุมาจาก ๒ ปัจจัยหลัก คือ

               ปัจจัยแรก คือ แรงดึงทางด้านอุปสงค์ (demand pull inflation) เกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจที่มีความต้องการปริมาณสินค้าและบริการมากกว่าที่มีอยู่ในขณะนั้น ๆ จึงดึงให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าและบริการอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงิน การดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐบาล การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในต่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน เป็นต้น

              ปัจจัยที่สอง เกิดจากด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (cost push inflation) ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าขึ้น สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อาทิ การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน การเกิด วิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ การเพิ่มกำไรของผู้ประกอบการ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้านำเข้า ซึ่งอาจเพิ่มไปตามภาวะตลาดโลก หรือผลของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

      เงินฝืด (deflation) คือ ภาวการณ์ที่ระดับราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่าเงินเฟ้อ ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุหลายประการ เช่น การเพิ่มขึ้นของอุปทาน การหดตัวของอุปสงค์ การลดลงของต้นทุนจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน หรือมาตรการปรับลดภาษี และการที่ปริมาณเงินหมุนเวียนมีไม่เพียงพอต่อขนาดของระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #deflation#inflation#stagflation
หมายเลขบันทึก: 496003เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท