เชื่ออย่างไร... ให้ใจไม่พลาด


พระพุทธเจ้าสอนให้คนเรา "รู้จักมอง" รู้จักที่จะไม่ตกเป็นทาสของ "ความรู้สึก" หรือแม้กระทั่ง "ความคิด" ในที่สุด

“เป็นพระเหมือนขอทาน... เป็นทหารเหมือนโจร!!!”

เด็กวัด: หลวงตา!!! ได้ยินมาจากที่ไหน!!

หลวงตา: เอ.. ฉันก็ไม่รู้ ฉันได้ยินมานานแล้ว ก็เขาว่ามาอย่างนี้นะ

เด็กวัด:เอางี้! หลวงตาบอกมาเลย เดี๋ยวเอาให้หนัก ปั๊ด!

“หลวงตาฟังมาผิดแล้วมั้ง” เสียงเจ้าอาวาสเอ่ยขึ้น“ผมเคยได้ยินมามันไม่ใช่อย่างนี้นา

จริง ๆ แล้วที่ถูกก็คือ...“เป็นพระ ไม่มีวินัยก็เหมือนขอทาน  เป็นทหารไม่มีวินัย ก็เหมือนโจร”

 https://lh4.googleusercontent.com/-kos-olj65JY/T18FRjmaxZI/AAAAAAAAP8g/fM5JrWsSiSU/s512/DSC_6215.jpg

เคยสังเกตไหม  ว่ามีหลายครั้ง  ที่เราเชื่อคำพูดของคนอื่น  โดยไม่ได้คิดถามหาเหตุผล  ไม่ว่าจะเป็นเพราะเราเชื่อ  ในบุคคลที่พูด  หรือเชื่อ  เพราะฟังแล้วดูน่าเชื่อถือ  หรือแม้กระทั่ง  เชื่อเพราะ  “คนส่วนมากเขาเชื่อกัน”  เหตุผล  ที่ไปที่มา  ช่างมัน!!

เมื่อคนที่เราเชื่อ  พูดอะไรออกมาแล้ว  ย่อมเป็นอันเชื่อได้  โดยไม่ต้องถามว่าถูกหรือผิด  ไม่ต้องคิดถึงผลของการเชื่อ  โดยไม่ไตร่ตรองหรอกครับ  ว่าผลของมันจะร้ายแรงแค่ไหน

พระพุทธเจ้า”  ไม่ทรงบังคับให้ใครเชื่อ  แม้แต่ในธรรมะที่พระองค์ทรงสอน  เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้า  เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจและใส่ใจ  ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร

 

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้า  เคยตรัสถามพระสารีบุตร  พระองค์ทรงถามว่า  ธรรมะที่พึ่งแสดงไป
พระสารีบุตรเชื่อไหม?

 

“ไม่เชื่อ!”  พระสารีบุตรตอบ  “ทำไม  จึงไม่เชื่อละ”  พระพุทธองค์ทรงถาม  “ที่ยังไม่เชื่อเพราะยังไม่ได้นำไปลองทำดูเลยนะครับ”  พระสารีบุตรตอบอีกครั้ง

ลงเอยสำหรับกรณีนี้  ไม่ใช่จบที่ทะเลาะ หาเรื่องชวนตี  เหมือนกรณีแรก  แต่เป็นว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสชมพระสารีบุตรว่าท่าน พูดถูกต้อง  ดีแล้ว  ชอบแล้ว?

น่าแปลกไหม  ที่พระอรหันต์สาวกเอกของพระพุทธเจ้า  ยังไม่เชื่อแม้มหาศาสดาของตน พระพุทธเจ้ากลับไม่ตำหนิ  แถมยกย่องพระสารีบุตรอีกด้วย  ทำไม?  เพราะอะไร?

 

พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้แจ้งโลก  สรรพสิ่งทั้งปวง  ร้อยทั้งร้อย  ชาวพุทธในปัจจุบันไม่ปฏิเสธข้อนี้ แต่จากบทสนทนาข้างบน  ย่อมเห็นได้ว่า  พระพุทธเจ้าสอนให้คนเรา  รู้จักมอง  รู้จักที่จะไม่ ตกเป็นทาสของความรู้สึก  ไม่ตกเป็นทาสของความโง่ อวิชชา หรืออารมณ์ภายใน

http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/712/797/large_Nekasi_Labhate.jpg?1303326317

 

กล่าวคือ  ความรู้สึกว่า  “ใช่”  ของตัวเองโดยไม่ได้  ไตร่ตรองและนำไปทดสอบให้เห็นก่อน เหมือนมีคนบอกว่าสะตอปักษ์ใต้ขม  ใคร ๆ  ก็เชื่อว่าขม  แต่ถ้าเราไม่ได้กินเองจะรู้ได้อย่างไรว่า  สะตอที่เขาร่ำลือกันว่าขม  นั้น  อร่อย...จริง

ถึงแม้หลายคนจะบอกว่า  ความเชื่อ  เป็นเรื่องของ  ศรัทธา  ปัญญา  เป็นเรื่องของ  เหตุผล  ตราบใดที่คนเรายังไม่สามารถพึ่งตนเองได้  กรอบแห่งความเชื่อ  ก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี  แต่อย่าลืมว่า  มันมีเส้นกั้นบาง ๆ  (บางมากเสียด้วย)  กั้นกลางอยู่ระหว่าง  ความเชื่อ  กับความ  งมงายเสมอ  ถ้าตราบใดที่เรายังไม่หลุดพ้นจากกรอบแห่งความเชื่ออย่างไร้เหตุผล  การหลุดพ้นจากนิยามของคำว่า  “งมงาย”  ก็เป็นไปได้ยาก

 

แม้ความเชื่อจะจำเป็น  สำหรับไว้ปลอบประโลมจิตใจ  ในยามไร้ที่พึ่ง  เป็นเสมือนเพื่อนสนิท  ที่คอยเคียงข้างเราในค่ำคืนแห่งชีวิต  ที่บางครั้ง  มันมืดมิดเสียจนไร้ทางออกบ้าง  ในบางที

แต่เราแน่ใจหรือ  ว่าเพื่อนคือ  “ศรัทธา”  จะช่วยเราได้ตลอดไป?

 

ไม่ใช่เพียงแค่ศรัทธาหรอก  แม้กระทั่ง  “ความคิด”  ของเราเอง  บางทีก็มีคิดผิดบ้าง  แล้วบางครั้ง  ก็  “ผิด”  อย่างไม่น่าให้อภัยเสียด้วยสิ

ดังนั้น  พระพุทธองค์จึงทรงสอน  ถึงขั้นให้เราเรียนรู้  ที่จะแสวงหาทางหลุดพ้น  จากพันธนาการของทุกสิ่ง แม้กระทั่ง “ความคิด” ของตัวเอง!  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  “ความเชื่อ”  อย่างปักใจ  ในสิ่งที่ยังไม่ได้พิสูจน์จนทราบชัดได้... ด้วยตาตน!

 

การรู้จักเปิดใจให้กว้างพอ  ยอมรับทุกการเปลี่ยนแปลง  พิจารณาทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิตอย่างรอบด้าน  ให้โอกาสในการเรียนรู้ให้มาก  ไม่ด่วนตัดสิน  ยอมรับฟังสิ่งใหม่ ๆ  บ้าง  และลงมือพิสูจน์สิ่งที่  “สงสัย”  หรือ  “ใฝ่ปรารถนา”  นั้น  ด้วยตนเอง  ด้วย  ปัญญา  มี สติ  รอบคอบ  รู้คิด  เพื่อค้นหา เหตุ-ผล  ด้วยการ ลงมือทำ อาจทำให้เราประจักษ์แจ้ง  ซึ่ง คำตอบ ของสิ่งนั้น ๆ ด้วย ตนเอง

ทำอย่างไรได้ละครับ

เพราะ "ทุกสิ่งในชีวิต  มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวเสมอไป…"

 

https://lh6.googleusercontent.com/-3eZaUzZphp8/T18E_VFRNmI/AAAAAAAAP5w/z1EM3WmIspE/s720/DSC_4399.jpg

ทิ้งท้าย ...

I would rather have a mind opened by wonder than one closed by belief.

ข้าพเจ้ายินดีที่จะมีความคิดที่เปิดกว้างด้วย "ความแปลกใหม่" มากกว่าความคิดที่ปิดด้วย "ความเชื่อ"

Gerry Spence
'How to Argue and Win Every Time

 

หมายเลขบันทึก: 495878เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นโครงกานที่มีประโยชน์มาก เมื่อมี "พระอยากเขียน" ก็มีฆราวาสอยากอ่าน ถึงแม้ว่า..ท้ายอาสน์สงฆ์...โดยทั่วไปมีธรรมะมคำสอนซ่อนอยู่ หากแต่ผู้ฆราวาสนั่งอยู่แถวหลัง ประนมมือเป็นฝักถั่วก็หาได้เรียนรู้ไม่ สังเกตตนเองจากการทำความเข้าใจด้วยการอ่านบันทึกนี้หลายครั้งเชียว ทั้งๆที่เช้านี้ได้ส่วดมนต์ฝึกใจให้นิ่งพอสมควรแล้ว เป็นเพราะเห็นคุณค่าในธรรมะคำสอน เตือนตนให้พึงสังวรณ์เพื่อนำไปสู่การฝึกปฏิบัิติ บันทึกนี้เปรียบเสมือนเป็นรีดเดอร์ไดเจส ฉบับซับพลีเมนท์ "ธรรมะประจำวัน 101" ที่..ฉายทาง..ส่องสว่างให้มองเห็นทางแห่งปัญญา ด้วยการ..ใฝ่รู้ ใฝ่คิด และใฝ่ดี ดังที่ผู้รู้กล่าวไว้.... ขอน้อมจิตคารวะ

เป็นเช้าวันหนึ่งที่ดีทีเดียว เพราะได้มาฟังธรรมะในเรื่องความเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนในปัจจุบัน โลกเราวุ่นวายในทุกวันนี้ก็เกิดจากความเชื่อที่ขาดการไตร่ตรอง ขาดปัญญานี้เอง สาธุ....

ธรรมะบทนี้อิง กาลามสูตร มาครับ เป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาหลักหนึ่ง ซึ่งคัดค้านการเชื่ออย่างปราศจากวิจารณญาณ และแม้กระทั่งความคิดของตน


เพื่อมุ่งให้มนุษย์ หลุดพ้นจากกรอบที่ "เขา" หรือ "เรา"  สร้าง

 

เพราะชีวิต ไม่มีความจริงอะไรที่ยั่งยืน (สัจจะสมมุติ) และจะเข้าถึงความจริงที่ยั่งยืน (ปรมัตถสัจจะ) จริง ๆ นั้นได้

 

ก็ด้วยอาศัย  ความเข้าใจบทสวดง่าย ๆ ...สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญูหิ... และกระทำตาม


เพราะพระพุทธศาสนาเชื่อมั่นว่า

"ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน" สาระของบทความนี้ มีเท่านี้ขอรับฯ 


สาธุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท