In the long run, we are all dead


In the long run, we are all dead  หรือ “ในระยะยาวทุกคนตายหมด” อมตะวาจาที่จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์นามอุโฆษ เคยกล่าวไว้ ซึ่งนัยขณะนั้นคือ ในทศวรรษ ๑๙๓๐ เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (The Great Depression) “กลไกตลาด” ยาสามัญประจำบ้านยี่ห้อคลาสสิกที่ใช้รักษาโรคเงินเฟ้อ เงินฝืด รวมถึงการว่างงานนั้น เป็นอัมพาตไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เข้าสู่ดุลยภาพได้ดังเดิม และยิ่งสร้างความตกตะลึงฉงนงงงวยให้กับผู้คนทั่วโลกเมื่อเผชิญกับกองทัพคนว่างงานหลายล้านคน ดังนั้น หากปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจล่องลอยไปตามยถากรรมเพื่อรอให้ “มือที่มองไม่เห็น” invisible hand ที่ทำงานส่งผ่านทางกลไกตลาด (ราคา) เข้ามาจัดดุลยภาพระบบเศรษฐกิจใหม่ ในทำนองที่ว่า “ในระยะยาว กลไกตลาดจะสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้เอง” ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่?

           อีกประเด็นที่สำคัญในขณะนั้นมันอยู่ที่ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าระยะยาวที่ว่านั้นมันคือเมื่อไหร่? เมื่อไม่มีใครรู้ว่าระยะเวลานั้นมันจะนานแค่ไหน ดังนั้น เคนส์จึงเสนอว่าเราก็ต้องหันมาใส่ใจในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นก่อน ขืนรอคอยตัวยากลไกตลาดยี่ห้อคลาสสิกออกฤทธิ์ (ซึ่งไม่รู้จะใช้เวลานานเท่าไหร่) เราทุกคนก็อาจจะรอจนตายกันหมด เหตุการณ์นั้นจึงเป็นที่มาของประโยคเด็ดดังกล่าวของเคนส์

 

         “In the long run, we are all dead” ผ่านเลยมากว่า ๗ ทศวรรษ หากมองในอีกตรรกะหนึ่งในทางตรงข้าม ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นคำพูดที่สะท้อนสัจธรรมในเชิงปรัชญา และมีคุณค่าในการค้นหาคำตอบยิ่งนักในภาวะสังคมในปัจจุบัน ที่ในแต่ละสังคมมุ่งเน้นบริหารจัดการเมนูนโยบายของประเทศที่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาและสนองตอบต่อระสั้นเท่านั้น ส่วนในระยาวซึ่งต้องวางรากฐานทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ไว้เพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืนนั้นกลับถูกละเลยโดยสิ้นเชิง

        ในระยะยาว : เป็นมิติทางด้านกาล (เวลา) ที่คนส่วนใหญ่ล้วนมองข้ามทั้งในภาวะที่ไม่รู้ และเจตนา (รู้แต่ไม่สนใจ) ในการแสดงออกทางพฤติกรรมเพื่อฉกฉวยและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเพื่อให้ได้มาและบรรลุซึ่ง “ความพึงพอใจสูงสุด” ในระยะสั้น ๆ  โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบและต้นทุนทางสังคมที่ได้สร้างไว้เพื่อรอผลักภาระให้กับคนในรุ่นต่อไป ซึ่งภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ล้วนแล้วแต่เกิดจากฝีมือของมนุษย์เองทั้งสิ้น การที่มนุษย์มุ่งฉกฉวยผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยการเบียดเบียนทั้งมนุษย์ด้วยกันเองและเบียดเบียนธรรมชาติ เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่งของปัจเจกและกลุ่มอุดมการณ์ (เห็นแก่ตัว) เดียวกัน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนับได้ว่า “เป็นตัวเร่ง” ชั้นยอดทางมิติด้านกาล (เวลา) เพื่อนำไปสู่ความหายนะของสังคมโลก

 

         ทุกคน : ในยุค Globalization การเชื่อมโยงในทุกมิติของสังคมโลก มีความสัมพันธ์กันเป็นองค์รวม การเคลื่อนย้ายทรัพยากรต่าง ๆ มีความลื่นไหลเป็นอย่างมาก โดยการออกแบบกลไกที่มาจากองค์กรโลกบาล (IMF, World Bank และ WTO) เพื่อเป็นตราประทับความชอบธรรมให้กับประเทศมหาอำนาจในโลกที่หนึ่งในการกำหนดเมนูนโยบายระเบียบของโลกทุกมิติ ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากประเทศในโลกที่หนึ่งเหล่านี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับกลุ่มประเทศในโลกที่สาม ซึ่งการเชื่อมโยงกันของทุกมิติของสังคมโลกจึงมีผลกระทบซึ่งกันและกัน แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับศักยภาพและการบริหารจัดการของแต่ละประเทศ

         

        ตายหมด : แน่นอนที่สุดทุกคนเกิดมาแล้วล้วนต้องตาย เป็นสัจธรรมหลีกหนีไม่พ้น แต่ทว่าความตายในยุคปัจจุบันล้วนอยู่ใกล้แค่เอื้อมทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ (ความยากจน) ภาวะทางสังคม (อาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ ) ภาวะทางการเมือง (การจลาจลและสงคราม) และรวมถึงภัยพิบัติตามธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือมาจากมนุษย์ด้วยกันเองทั้งนั้น

 

"In the long run we are all dead” หรือ ในระยะยาวทุกคนตายหมด ก็คงจะอยู่ใกล้แค่เอื้อมเท่านั้นเองหากมนุษย์ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มุ่งเน้นแสวงหาความมั่งคั่งโดยการเบียดเบียนมนุษย์ด้วยกันเองและเบียดเบียนธรรมชาติ ที่มีกลไกการทำงานผ่านทาง “ผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง” เป็นตัวเชื่อม มาสู่การใช้  “คุณธรรมและจริยธรรม” เป็นตัวเชื่อมระหว่างกันแทน

        จริงอยู่ที่ทุกสรรพสิ่งล้วนมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่และมีดับไป แต่ เราสามารถช่วยกันยืดกาล (เวลา) ออกไปได้ด้วยกลับใจเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมดังกล่าว

 

 

คำสำคัญ (Tags): #we are all dead#In the long run
หมายเลขบันทึก: 495789เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2012 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2012 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท