อาชญาวิทยากับความเป็นศาสตร์


อาชญาวิทยากับความเป็นศาสตร์

นัทธี   จิตสว่าง

คำนำ 

คำถามประการแรกๆ สำหรับผู้ที่ศึกษาวิชาอาชญาวิทยาที่มักจะพบอยู่เสมอคือคำถามที่ว่า “อาชญาวิทยาเป็นศาสตร์หรือไม่” หรืออาชญาวิทยาเป็นแค่ความเชื่อ ความคิดเห็น เป็นหลักปรัชญาที่หาข้อพิสูจน์ หรือหาหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ ซึ่งถ้าหากคำตอบเป็นดังประการหลังนี้แล้ว การศึกษาอาชญาวิทยาก็ไร้ความหมายหรือมีคุณค่าน้อยลง อาจเป็นเพราะเหตุผลนี้เอง   จึงทำให้นักอาชญาวิทยาในอดีตโดยเฉพาะในยุคความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์ที่พยายามผลักดันให้มีการศึกษาอาชญาวิทยาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และทำให้อาชญาวิทยามีความเป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง ความพยายามดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในศตวรรษที่19ที่ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้แนวความคิดของ พวกปฏิฐานนิยม (Positivism) ได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือหลักเหตุผลและปรัชญาตามแนวคิดแบบดังเดิมของสำนักอาชญาวิทยาคลาสสิก (Classical School of Criminology) ที่เน้นการปฏิรูปสังคม การจำกัดอำนาจรัฐและปฏิรูปกฎหมาย ตรงกันข้ามนักอาชญาวิทยาของสำนักปฏิฐานนิยม (Positive School of Criminology) เน้นการศึกษาถึงตัวอาชญากร สาเหตุของอาชญากรรมและการแก้ไขผู้กระทำผิดมากกว่าการศึกษากฎหมายและการป้องกันอาชญากรรมแบบสำนักคลาสสิก ที่สำคัญในการศึกษาถึงพฤติกรรมอาชญากรและสาเหตุของอาชญากรรมนั้น ก็จะใช้วิธีการทดลองหรือการพิสูจน์ทดสอบในเชิงประจักษ์เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และความจริงที่ต้องการศึกษา

 

 

 

ลอมโปรโซ (Lombroso) ชาวอิตาลี ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาของอาชญาวิทยา” ได้พยายามศึกษาถึงปัจจัยทางชีวภาพ โดยเฉพาะการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือลักษณะสรีระทางร่างกายที่จะนำไปสู่ความเป็นอาชญากร ทั้งนี้  ลอมโปรโซ ได้มีการทดลองโดยศึกษานักโทษกว่า 500 คน มีการวัดรูปร่างหน้าตา และการสืบทอดทางพันธุกรรมที่จะมีส่วนสัมพันธ์กับอาชญากร เป็นการสรุปผลการศึกษาโดยอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์จากการทดลองและเก็บข้อมูลมาทดสอบสมมติฐาน ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาแบบเป็นวิทยาศาสตร์ การศึกษาของลอมโปรโซ นับเป็นผู้บุกเบิกผู้หนึ่งที่พยายามทำให้อาชญาวิทยาเป็นศาสตร์      มีการศึกษาอย่างเป็นระบบและมีการทดสอบเชิงประจักษ์ นับจากนั้นจึงมีนักอาชญาวิทยาของสำนักปฏิฐานนิยมอีกหลายคนที่หันมาศึกษาอาชญากรในลักษณะเดียวกัน จนทำให้การศึกษาอาชญาวิทยาในยุคนั้นเน้นแต่การศึกษาด้วยแนวทางดังกล่าว

แนวทางการศึกษาอาชญาวิทยาของสำนักปฏิฐานนิยม  ยังได้ครอบงำการศึกษาอาชญาวิทยาในสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา อาชญาวิทยาในยุคนี้ยังคงสนใจสาเหตุของอาชญากรรมแม้จะเปลี่ยนจากปัจจัยทางชีวภาคและจิตวิทยา ไปสู่ปัจจัยทางสังคม  ก็ตาม  ดังจะเห็นได้จากกการศึกษาของการศึกษาของซัทเธอร์แลนด์ (Sutherland) หรือ นักอาชญาวิทยาคนอื่นๆ ที่สนใจศึกษาในเชิงประจักษ์ถึงปัจจัยทางสังคมที่จะนำไปสู่การกระทำผิดทั้งสิ้น แต่ความพยายามดังกล่าวนี้เพียงพอที่จะทำให้อาชญาวิทยาเป็นศาสตร์หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจของนักอาชญาวิทยามิใช่น้อย

 

การที่จะวิเคราะห์ว่าอาชญาวิทยาเป็นศาสตร์หรือไม่นั้น ประการแรกจะต้องพิจารณาก่อนว่าศาสตร์คืออะไรมีคุณลักษณะอย่างไร ศาสตร์ (Science) หมายถึง ระเบียบวิธีวิเคราะห์ที่เป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล และเป็นวัตถุวิสัยและสามารถยืนยันทดสอบได้ เพื่อที่จะบรรยาย อธิบาย และทำนายปรากฎการณ์ที่จะสามารถสังเกตได้ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าศาสตร์มีลักษณะทั่วไปที่สำคัญดังนี้ (E.D.Klemke, 1998)

1. ศาสตร์เป็นวิธีวิเคราะห์ ไม่ใช่ตัวความรู้ ศาสตร์เป็นกระบวนการไมใช่ผลผลิต กระบวนที่ว่านี้เป็นกระบวนการที่มีกฎเกณฑ์ มีเหตุผล ซึ่งศาสตร์แตกต่างจากศิลปะ ซึ่งไม่มีกฏเกณฑ์ ไม่มีเหตุผล

2. จุดมุ่งหมายของศาสตร์ คือ การบรรยาย อธิบาย และทำนายปรากฏการณ์

3. ศาสตร์เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่สังเกตได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องการการบรรยาย อธิบาย ทำนาย สิ่งที่ไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง หรือทางอ้อมจะไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ทางศาสตร์ได้ เช่น อภิปรัชญา หรือเรื่องของผี วิญญาณ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง

4. ศาสตร์มีลักษณะเป็นระบบ เป็นกระบวนการ เป็นเหตุเป็นผล และเป็นวัตถุวิสัย มีการทดสอบและทำนายข้อค้นพบได้

 

โดยสรุปแล้วศาสตร์จึงต่างจากสิ่งที่ไม่ใช่ศาสตร์ตรงที่วิธีการศึกษาไม่ใช่เนื้อหาสาระซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ความเป็นศาสตร์อยู่ที่การได้มาซึ่งความรู้ว่าเป็นความรู้ที่ได้มาด้วยวิธีการทางศาสตร์หรือไม่ โดยศาสตร์มีเป้าหมายอยู่ที่การอธิบายความจริงของโลกเชิงประจักษ์ที่สามารถรับรู้ได้โดยประสบการณ์หรือโดยการสังเกต ซึ่งปราศจากค่านิยม การอธิบายความจริงของโลกดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าปรากฏการณ์ทุกอย่างมีสาเหตุ ศาสตร์จึงเป็นการอธิบายแบบแผนเชิงสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าว

 

ภายใต้บริบทดังกล่าวนี้ นักอาชญาวิทยาในต่างประเทศหลายท่านที่พยายามสรุปความว่าอาชญาวิทยาเป็นศาสตร์ เพราะการเป็นศาสตร์หมายถึงการยอมรับของประชาคมและความมีระดับของวิชา แม้จะมีแนวคิดของพวกอาชญาวิทยาหลังสมัยใหม่ (Postmodern Criminology) และพวกปรากฏการณ์นิยม (Phenomenology) ที่ไม่เห็นด้วยก็ตาม (Guba and Lincoln, 1988)

 

ในความเห็นของ Bura (2005) อาชญาวิทยาเป็นศาสตร์เพราะมีการใช้วิธีการในการได้มาซึ่งความรู้แบบเป็นวิทยาศาสตร์ คือ มีวิธีการศึกษาที่เป็นระบบแบบวัตถุวิสัยที่ปราศจากค่านิยม ความเชื่อ สามารถทดสอบได้โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่อ้างอิงได้ และสามารถทำนายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ เช่นเดียวกับ Freda Adler และคณะ (1991) ที่ยืนยันว่าอาชญาวิทยาเป็นศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ โดยเป็นสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ คือเป็นศาสตร์ทางด้าน “สังคม” และ “พฤติกรรม” ที่สำคัญการยืนยันเรื่องความศาสตร์ของอาชญาวิทยานี้ มีนักอาชญาวิทยาชั้นนำในอดีตหลายท่าน ได้กล่าวไว้นานนับกึ่งศตวรรษ โดยเฉพาะซัทเธอร์แลนด์ (Sutherland, 1992) และเร็กเรส (Reckess, 1967) วูฟแกงค์ (Wolfgang, 1978) อย่างไรก็ตามแม้จะมีการยอมรับกันในระดับหนึ่งว่าอาชญาวิทยาเป็นศาสตร์แต่ก็ยังมีข้อพิจารณาได้ว่า  ถ้าอาชญาวิทยาจะเป็นศาสตร์ อาชญาวิทยาก็เป็นศาสตร์ที่ยังเยาว์วัย เพราะองค์ความรู้ที่สะสมมายังไม่มากพอเทียบกับศาสตร์สาขาอื่นๆ เช่น แพทย์ศาสตร์ ปรัชญาและกฎหมาย ซึ่งมีพัฒนาการมานานแต่อาชญาวิทยาเพิ่งจะพัฒนามาได้สองร้อยกว่าปีเท่านั้นเอง ยังขาดองค์กรความรู้และทฤษฏีจะอธิบายและทำนายปรากฏการณ์ของอาชญากรรมอีกมาก และด้วยการที่ขาดองค์ความรู้และทฤษฎีของตนเองนี้เองที่ทำให้อาชญาวิทยาต้องอาศัยทฤษฏีและคำอธิบายจากศาสตร์สาขาวิชาอื่นๆ เช่น จิตวิทยา สังคมวิทยา ชีววิทยา รัฐศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และนิติศาสตร์ จนทำให้กล่าวได้ว่าอาชญาวิทยาเป็นสหวิทยาการ คือใช้ความรู้จากศาสตร์สาขาต่างๆ มาอธิบายปรากฏการณ์ด้านอาชญากรรม ความเป็นสหวิทยาการของอาชญาวิทยาได้รับการสนับสนุนมานาน เช่น จาก Wolfgang กับ Ferracuti ที่เน้นความเป็นสหศาสตร์ของอาชญาวิทยาอย่างต่อเนื่อง

 

ในขณะเดียวกันอาชญาวิทยาที่เคยถูกครอบงำโดยนิติศาสตร์ในยุโรปและโดยสังคมวิทยาในสหรัฐอเมริกา และมีการเรียนการสอนกระจายอยู่ตามคณะต่างๆ แต่ไม่มีคณะของตนเองจนมีสภาพเหมือน “เจ้าไม่มีศาล” นั้นเริ่มมีความเด่นชัดในเอกลักษณ์ของวิชา เพราะอาชญาวิทยาในปัจจุบันได้ประกาศตัวเป็นเอกราชจากสังคมวิทยาและนิติศาสตร์ มีคณะวิชาของตนเองไม่เป็นวิชาที่ไม่มีคณะหรือภาควิชาของตนเองอีกต่อไป โดยมีวิธีการได้มาซึ่งความรู้แบบเป็นวิทยาศาตร์และที่มีสภาพเป็นสหศาสตร์

 

นอกจากนี้อาชญาวิทยายังมีลักษณะเป็นศาสตร์ประยุกต์ กล่าวคืออาชญาวิทยามิได้มุ่งที่จะสร้างทฤษฎีและทดสอบยืนยันดังเช่นศาสตร์บริสุทธิ์ หากแต่เป็นศาสตร์ประยุกต์ที่มุ่งจะนำความรู้มาประยุกต์ในการบริหารงานไม่ใช่ไปสร้างองค์ความรู้แต่เพียงประการเดียว นักอาชญาวิทยาต้องใช้ความรู้ด้านอาชญาวิทยาไปประยุกต์ใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมจึงไม่มุ่งที่จะนำเอาแต่สร้างหลักทฤษฎีหรือการทดสอบยืนยันความรู้ ดังนั้นในการทำงานของนักอาชญาวิทยาจึงต้องอาศัยค่านิยม ทักษะ และปทัสถานไปช่วยในการประกอบการตัดสินใจเพราะในทางสังคมศาสตร์ การจะใช้แต่หลักทฤษฏีไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ ได้  ยังต้องพิจารณาถึงความเป็นธรรม ความเสมอภาค ความยุติธรรม และประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมด้วย  แต่เมื่ออาชญาวิทยาไปดึงเอาค่านิยมและหลักปรัชญาต่างๆ มาใช้มากขึ้น อาชญาวิทยาก็ห่างไกลจากความเป็นศาสตร์ที่จะต้องมุ่งการทดสอบยืนยันและสร้างทฤษฎีที่มีความเป็นวัตถุวิสัยไม่เอาค่านิยมของผู้ศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่นักอาชญาวิทยาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจในประเด็นนี้ หากแต่จะมุ่งนำความรู้ไปใช้ในการทำงานหรือประกอบวิชาชีพมากกว่า ดังจะเห็นได้จากการเรียนการสอนวิชาอาชญาวิทยาในคณะหรือภาควิชาอาชญาวิทยา ในปัจจุบันจะผนวกรวมกับการบริหารงานยุติธรรมเป็นภาควิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม ซึ่งเน้นการนำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติของผู้ที่ไปประกอบอาชีพตำรวจ พนักงานรักษาความปลอดภัย อัยการ ศาล คุมประพฤติ ราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ในงานยุติธรรมอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีการผลักดันให้อาชญาวิทยาเป็นวิชาชีพมากขึ้นโดยเพิ่มทักษะและเทคนิควิธีการทำงาน ตลอดจนหลักบริหารเข้าไปในหลักสูตร แต่อาชญาวิทยาก็ไม่มีทางที่จะเป็นวิชาชีพโดยตรงได้ คงเป็นได้แค่เพียงกึ่งวิชาชีพเพราะยังขาดเงื่อนไขหลายประการในการที่จะเป็นวิชาชีพได้ เช่นคนที่จะไปประกอบวิชาชีพใดได้ต้องผ่านการศึกษาในวิชานั้นๆ มาก่อนจึงจะประกอบวิชาชีพนั้นได้ เช่น แพทย์ ต้องศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์มาก่อน และผ่านการรับรองในการประกอบวิชาชีพจึงจะประกอบวิชาชีพแพทย์ได้ มิฉะนั้นก็ยากที่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในวิชาอาชญาวิทยาคนที่ไม่ได้เรียนอาชญาวิทยาก็สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เกี่ยวกับอาชญาวิทยาได้ เช่น ตำรวจ พนักงานรักษาความปลอดภัย อัยการ ศาล คุมประพฤติ และราชทัณฑ์ เพียงแต่หากได้ศึกษาอาชญาวิทยามาจะทำให้มีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นั้น อาชญาวิทยาจะเป็นไปได้อย่างมากก็แค่ศาสตร์ที่มีสภาพกึ่งวิชาชีพ

 

ดังนั้นในปัจจุบัน จึงกล่าวได้ว่าอาชญาวิทยามีสถานภาพของวิชาที่ชัดเจน โดยได้พัฒนาองค์ความรู้จากศาสตร์ในสาขาต่างๆ มาอธิบายปรากฏการณ์ของอาชญากรรม จนทำให้อาชญาวิทยาเป็นสหศาสตร์ และเป็นศาสตร์ที่มุ่งสู่การปฏิบัติ จึงเป็นศาสตร์ประยุกต์และไม่ใช่วิชาชีพอย่างแท้จริง เพราะเป็นแค่ศาสตร์ที่ช่วยในการตัดสินใจเท่านั้น สหภาพของอาชญาวิทยาปรากฏตามรูปที่ 1

รูปที่ 1  สหภาพของอาชญาวิทยา

                                                   

 

 

โดยสรุป เป็นที่ยอมกันโดยทั่วไปว่าอาชญาวิทยาเป็นศาสตร์แต่เป็นศาสตร์ที่เยาว์วัยยังต้องการพัฒนาการขององค์ความรู้อีกมาก ที่สำคัญอาชญาวิทยาเป็นศาสตร์ประยุกต์ และเป็นสหวิทยาการที่นำเอาความรู้จากสาขาวิชาต่างๆ มาศึกษาปัญหาอาชญากรรม โดยมุ่งที่จะนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน อาชญาวิทยาจึงเป็นศาสตร์ที่มีมีลักษณะเป็นกึ่งวิชาชีพที่มิใช่วิชาชีพอย่างแท้จริง

************************************************

 หมายเหตุ ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

 

 

อ้างอิง

Bura Rohit, Is Criminology a Science?  สืบค้นจาก http// www.preservearticles.com/  2012050131505/19 วันที่ 13 กรกฎาคม 2555

Klemke, E.P. (1998), Introductory Reading in the Philosophy of Science, Phome thens  Books.

Freda Aeler, et.ct. (1991). Criminology, N.Y, Mc Graw – Hill, Inc.

Guba, E.G and Lincoln, Y.S. (1988) “Naturalistie and Rationalistic Inquiry” in  Educational Research Methodology and Measurement, An International  Handbook, John P. Keeves (ed). Oxford : Pergamon Press.

Jeffery, C.R. (1990) Criminology : An Interdisciplinary Approach, Cliffs, NJ. Prentice – Hall

Reckless, walter. (1967) The Crime Problem, 4 th.ed.New York, Appleton Century-Crofts.

Sutherland, Edwin et.el. (11 st.eds) (1992) Introduction to Criminology, Lanthan, MD  General Hall.

Walsh, Anthony and Lee Ellis, (2007), Criminology : An Interdisciplinary Approach, NJ.  SAGE Publications, Inc.

Wolfgang, Marvin.et.al. (1978) Evaluating Criminology, Elsevier.

Wolfgang, M. and F.Ferracuti, (1976) The Subculture of Violence. London : Tavistock  Publications,

คำสำคัญ (Tags): #criminology#อาชญาวิทยา
หมายเลขบันทึก: 495218เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2012 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท