ชีวิตที่พอเพียง : ๑๖๐๓. AAR การเที่ยวญี่ปุ่น


 

 

          ผมไม่ได้ไปญี่ปุ่นมานานมาก กว่า ๒๐ ปี   คราวนี้ได้ไปเที่ยวแบบเที่ยวเอง   คือขับรถเที่ยวเป็นครั้งแรก โดยเป็น “ลูกทัวร์” ของ อ. ธีรพล นิยม แห่งสถาบันอาศรมศิลป์   เป็นลูกทัวร์ที่ถูกบังคับให้เป็นคนแก่ ห้ามช่วยตัวเองในการยกของหนัก    เพราะมีหนุ่มๆ ๒ คนเป็นกำลังหลัก คือ สถาปนิกหนุ่ย กับสถาปนิกคุ้ง

 

          เป็นครั้งแรกที่ผมไปพักโรงแรมแบบญี่ปุ่นหรือ เรียวกัง (ryokan) และเป็นครั้งแรกที่ได้อาบน้ำในห้องอาบน้ำสาธารณะของโรงแรม   นับเป็นประสบการณ์ที่ตื่นตาตื่นใจ    และพบว่าเป็นที่พักที่ผมชอบ เพราะมันเล็กและเงียบสงบ ตรงรสนิยมของผม   แต่ตกใจว่ามันแพงกว่าพักโรงแรมตามปกติ

 

          สิ่งที่ประทับใจคือความเป็นคนเอาการเอางาน รับผิดชอบต่อหน้าที่ และจิตบริการของคนญี่ปุ่น   เห็นชัดในทุกสถานที่ แต่ชัดเจนที่สุดที่สถานีเก็บเงินของทางด่วน   โชเฟอร์ของเรา (คือ อ. ธีรพล) เข้าช่องเก็บเงินผิดๆ ถูกๆ เพราะอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก   ทุกครั้งที่เราเข้าช่องผิด คือไปเข้าช่องออโตเมติกสำหรับรถที่มีบัตรทางด่วน (แต่เราไม่มี) สักครู่เจ้าหน้าที่จะมา    และพยายามช่วยเหลือบอกทางด้วยความยิ้มแย้มเอาใจใส่   ทั้งๆ ที่สื่อสารกันยากมาก เพราะเราพูดภาษาอังกฤษบ้าง แกล้งพูดไทยบ้าง   เขาตอบมาด้วยภาษาญี่ปุ่นอย่างอารมณ์ดี  ไม่มีการแสดงความไม่พอใจที่เราเข้าช่องผิดเลย   

 

          อีกอย่างหนึ่งคือความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ในทุกๆ เรื่อง   ทั้งเรื่องการวางรองเท้าแบบสลิปเปอร์สำหรับสวมในเรียวกัง    เขาจะวางเรียงแถวไว้ตรงบันไดอย่างตรงแนว    เวลาเราถอดและวางไม่ตรง เขาจะมาจัดให้ตรง

 

          ที่ประทับใจผมที่สุดเรื่องความสะอาดคือบ้านเรือน ถนน ตรอกซอย   เป็นครั้งแรกที่ผมเดินตามซอยเล็กๆ ในประเทศญี่ปุ่น   ได้เห็นว่าบ้านในซอยเป็นระเบียบไม่รกรุงรัง ไม่มีสลัม   ถนนก็สะอาด   ในทุกที่มีการปลูกต้นไม้ หรือจัดสวน ให้ความสดชื่นสวยงามแม้ที่จะแคบเพียงใดก็ตาม

 

          ต้นไม้ใหญ่ และป่า เป็นความประทับใจอีกอย่างหนึ่ง    กว่า ๓๐ ปีมาแล้วผมเคยอ่านพบว่าร้อยละ ๗๐ ของพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่นเป็นป่า   และเมื่อเพื่อนญี่ปุ่นที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยพาไปเที่ยวดูป่าผมก็ถามเขาว่า ทำไมเขาไม่ตัดไม้เอาไปใช้ แต่ซื้อไม้จากต่างประเทศมาใช้   เขาบอกว่าตัดไม่ได้   ซึ่งผมก็งงต่อคำตอบแบบนั้น   มาคิดได้ตอนหลังว่าว่า คนญี่ปุ่นคงจะมีความเป็น law abiding citizen อยู่ใน DNA   เมื่อกฎหมายบอกว่าห้ามตัด ทุกคนก็ไม่ตัด   ไม่ต้องการคำอธิบาย

 

          สถานที่เที่ยวทุกแห่งจะมีต้นไม้โบราณ และมีร่องรอยของการบำรุงรักษาอย่างดี   ผมรู้สึกว่าเขาดูแลต้นไม้เหมือนดูแลคน   ให้คุณค่าต่อความเป็นต้นไม้ใหญ่และอายุมาก   ต้นไม้แบบนี้ในบ้านเราจะถูกบวชด้วยผ้าเหลือง หรือผ้าหลากสี    ที่ญี่ปุ่นเขาใช้เชือกเส้นโตผูกโดยรอบ   ผูกอย่างประณีต   ญี่ปุ่นทำทุกสิ่งอย่างประณีต

 

          ผมตีความว่าสังคมญี่ปุ่นมีทักษะของเล็ก หรือทักษะใช้พื้นที่ที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด   เริ่มจากห้องพักในเรียวกัง    เมื่อเราเข้าไป จะจัดให้เป็นห้องพักผ่อน (ดูรูปใน Wikipedia ตามลิ้งค์ข้างบน)    มีทั้งที่นั่งกับพื้นแบบญี่ปุ่น และเก้าอี้สำหรับคนไม่ถนัดนั่งพื้น    มีหม้อน้ำร้อน ชาเขียว และผ้าเช็ดมือไว้ให้   แต่เมื่อเราออกไปกินอาหารเย็น และกลับมาที่ห้อง ห้องเดิมจะกลายเป็นห้องนอน    มีที่นอนปูอยู่กลางห้อง    ตั่งใหญ่กลางห้องถูกย้ายไปอยู่ริมห้อง

 

          ที่ประทับใจมากคือกระจกแต่งตัวที่เรียวกังแห่งสุดท้ายที่พัก คือที่กามากุระ   ทำเป็นบานพับสองข้าง เมื่อเปิดออกเป็นกระจกเงา ๒ บานต่อกัน   เมื่อปิดก็เป็นผนังห้องธรรมดา แต่นูนขึ้นมาเล็กน้อย  

 

          ผมเดาว่า ทักษะของเล็ก (miniaturization) นี้ น่าจะทำให้ประเทศญี่ปุ่นเก่งในการประดิษฐ์ของเล็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องใช้ อิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นแนวโน้มในปัจจุบัน 

 

          นำไปสู่ทักษะการดำรงชีวิตท่ามกลางข้อจำกัด ผมเดาว่าคนญี่ปุ่นมีสติอยู่กับข้อจำกัดอยู่ในสายเลือด (DNA)   ทำให้เขาต้องคิดให้รอบคอบก่อนจะทำอะไรก็ตาม   ทักษะการมีชีวิตอยู่กับข้อจำกัดนี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ 21st Century Skills    และเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียง

 

          จักรยาน คนญี่ปุ่นใช้จักรยานกันมาก และถนนก็จัดช่องทางให้แก่จักรยานโดยเฉพาะ   แม่บ้านที่ชานเมืองขี่จักรยานพาลูกไปส่งโรงเรียน   มีที่นั่งสำหรับเด็กโดยเฉพาะ   จักรยานบางคันมีที่นั่งสำหรับเด็กทั้งที่หัวและท้าย   และแม่บ้านชาวญี่ปุ่นก็ขี่จักรยานบรรทุกลูกเก่งมาก

 

          ถนน คนญี่ปุ่นมีกระบวนทัศน์เกี่ยวกับถนนต่างจากคนไทย   เขาไม่ยกย่องให้สิทธิ์พิเศษแก่รถยนต์อย่างคนไทย   เขาแบ่งถนนให้ทั้งรถจักรยานและแก่คนเดิน   ถนนบางสายช่องคนเดินกว้างกว่ารถเดิน   แถมมีป้ายคนจูงเด็กติดไว้ด้วย   น่าเอ็นดูมาก  

 

          ร้านค้ารายย่อย ที่ญี่ปุ่นมีระบบรักษาร้านค้ารายย่อยไว้ ไม่ให้ถูกศูนย์การค้าและร้านค้าใหญ่ทำลายอย่างในประเทศไทย    มีคนบอกผมว่าเขาทำโดยให้ร้านค้าย่อยขายสินค้าในราคาแพงกว่า    และผมสังเกตว่า สินค้าในร้านค้าย่อยเป็นสินค้าที่ผลิตเอง ปริมาณน้อย และรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้    คนญี่ปุ่นยินดีซื้อสินค้าคุณภาพจำเพาะเหล่านี้ในราคาสูง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๑ มิ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 495063เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2012 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2012 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท