แนวคิดเศรษฐศาสตร์ : ถอดรหัสกระบวนการแปลงค่ามาเป็นความสุข


กระบวนการความคิดทางเศรษฐศาสตร์ ได้ให้ความเอาใจใส่ในเรื่องของอุปสงค์มิเสื่อมคลาย โดยถือเสมือนเป็นหัวใจหลักในการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวเนื่องจาก หากว่าเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถให้คำอธิบายได้ถูกต้องต่อปัญหาที่ว่าด้วยอุปสงค์ในเบื้องแรกแล้ว เศรษฐศาสตร์ก็มิอาจที่จะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจใด ๆ ได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจพื้นฐาน (ผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร) ล้วนมาบรรจบลงตรงมูลเหตุของปัญหาที่ว่าด้วย “ความต้องการและการสนองตอบ” นั่นเอง

            กระบวนการของความต้องการในทางเศรษฐศาสตร์นั้นสะท้อนออกมาทางทฤษฎีการบริโภค และในภาคส่วนของกระบวนการของการสนองตอบในทางเศรษฐศาสตร์นั้นก็จะสะท้อนออกมาทางทฤษฎีการผลิตเป็นสำคัญ ในการอรรถาธิบายของความเป็นไปในกระบวนการแห่งความต้องการและการสนองตอบนั้น “อรรถประโยชน์” (Utility) ดูเป็นตัวเด่นชัดเจนในการถูกจับเหวี่ยงเข้าสู่ศูนย์กลางในกระบวนการดังกล่าวในฐานที่ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญที่อยู่เบื้องหลังที่คอยผลักดันกระบวนการการบริโภคในสินค้าและบริการ หากคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในกระแสสายธารอันเชี่ยวกรากภายใต้ความศรัทธาที่มีต่อปรัชญาทางเศรษฐศาสตร์ (กระแสหลัก) มองว่า “การบริโภคนำพามาซึ่งความสุข” ก็มิอาจที่จะมองข้ามและทำความเข้าใจในแนวคิดแห่งอรรถประโยชน์ (utility) ที่เปรียบเสมือนเป็นเงื่อนไขในเหตุปัจจัยสำคัญของการผลักดันแห่งกระบวนการการบริโภคสินค้าและบริการ ที่ขับเคลื่อนไปตลอดทั้งสายแห่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไม่ขาดตอน

 

             อรรถประโยชน์ (Utility) : ปฐมฐานของการแปลงค่ามาเป็นความสุข

         อรรถประโยชน์ (utility) หมายถึง ความพึงพอใจที่ผู้บริโภคได้รับจากการอุปโภคบริโภคสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งในระยะเวลาหนึ่ง

 

         อรรถประโยชน์ (utility) หรือความพึงพอใจในฐานะที่เป็นเงื่อนไขอยู่เบื้องหลังคอยผลักดันขับเคลื่อนกระบวนการการบริโภคในกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน เกี่ยวเนื่องจาก

             - หากเรามีความพึงพอใจในความต้องการอยากได้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ และหากได้มาดังใจปรารถนาก็จะนำพามาซึ่ง ความสุข (ใจ) นั่นเอง

             - หากเรามีความพึงพอใจในความต้องการอยากไปชมคอนเสิร์ต (ศิลปินที่ชื่นชอบ) และหากไม่ได้ไปชมดังที่หวัง ก็จะนำพามาซึ่ง ความทุกข์ (ใจ) นั่นเอง

 

        ในกรณีที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นจะพึงสังเกตได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ของการดำเนินชีวิตของคนเราโดยทั่วไป การสั่งสมของพฤติกรรมทางการบริโภคที่ถูกผูกติดกับความสุข (ความพึงพอใจสูงสุด) จึงแพร่ขจายขยายไปทั่วทุกสังคม อรรถประโยชน์ (utility) จึงมองที่ ความพึงพอใจ ในสินค้าและบริการมากกว่ามองที่ประโยชน์จากการใช้สอยสินค้าและบริการ

            

        สำหรับปฐมฐานของวิวัฒนาการในการแปลงค่าอรรถประโยชน์ให้เป็นความสุขนั้นท่าน ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ได้อธิบายเอาไว้ในหนังสือ “พุทธเศรษฐศาสตร์” ความว่า

          แนวความคิดในเรื่องอรรถประโยชน์ (utility) นั้นได้มีการบันทึกเป็นหลักฐานครั้งแรกโดยปราชญ์ชาวกรีกที่ชื่อว่า เดโมคริตัส (๔๖๐ – ๓๗๐ ก่อนคริสตกาล) หลังจากพระพุทธเจ้า (๖๒๓ – ๕๔๓ ก่อนคริสตกาล) ประมาณ ๑๖๓ ปี โดยเน้นความเป็นประโยชน์ (usefulness) ในลักษณะเป็นการให้คุณค่าที่เป็นอัตวิสัย (subjective value) เพราะเดโมคริตัสชี้ให้เห็นว่า ความเป็นประโยชน์จะหมดความหมายหรือแม้กระทั่งเป็นลบถ้าอุปทานมีมากเกินขอบเขต นอกจากนั้นยังเน้นให้คนพยายามจำกัดอุปสงค์ โดยอธิบายว่า ถ้าคนพยายามลดความต้องการลงเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะทำให้เขารู้สึกมีความมั่งคั่งแทนที่จะยากจนลง ซึ่งเป็นการย้ำความสำคัญของอรรถประโยชน์เชิงอัตวิสัยของทรัพย์ เห็นได้ว่าความคิดดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับพุทธเศรษฐศาสตร์มาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการเอาประเด็นทางคุณธรรมและจริยธรรมเข้าร่วมพิจารณาด้วย (นั่นคือมีองค์ประกอบของศีลและความรู้ในลักษณะที่พอเทียบได้กับไตรสิกขานั่นเอง)

          ครั้นถึงอริสโตเติล (๓๘๔ – ๓๒๒ ก่อนคริสตกาล) ก็มีการจำแนกความจำเป็นตามธรรมชาติ (natural needs) ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการบำบัดกับความต้องการที่ไม่เป็นธรรมชาติ (unnatural wants) ซึ่งไม่มีที่สิ้นสุดและไม่ควรได้รับการตอบสนอง ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการบริโภคได้ตามแนวพุทธเศรษฐศาสตร์ แต่แนวความคิดนี้ไม่ได้รับการสานต่อในเวลาต่อมา และเป็นความตกต่ำของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่พัฒนาจากตะวันตกตั้งแต่ยุคที่เรียกว่า ความเบิกบานทางปัญญา (Enlightment) ซึ่งความจริงน่าจะเรียกว่ายุค ความอับจนทางปัญญามากกว่า เพราะไปเน้นความฉลาด (intelligence) แทนปัญญาเป็นหลัก แต่ปัญหาส่วนหนึ่งของข้อเสนอของอริสโตเติลที่ไม่ได้รับความสนใจ ก็เพราะ ความสับสนของอริสโตเติลเอง ที่อธิบายว่า ความต้องการหรือความปรารถนา (desires) ที่สามารถตอบสนองด้วยแรงงานและการแลกเปลี่ยนเป็นความจำเป็นตามธรรมชาติ แต่ถ้าหากจะต้องตอบสนองโดยใช้เงินในกระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยน เป็นความต้องการที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติจึงควรขจัดออกไป หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ อริสโตเติลไม่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดยเหตุผลที่ลึกกว่านั้นของอริสโตเติลก็คือ เศรษฐกิจที่มีเงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั้น เป็นเศรษฐกิจที่กระตุ้นให้เกิดความโลภ แต่อริสโตเติลก็มิได้อธิบายให้ชัดเจนอย่างนั้นเช่นกัน ความคิดที่ดีของอริสโตเติลจึงถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

           ในขณะเดียวกันอริสโตเติลก็ได้ขยายความทฤษฎีอรรถประโยชน์เพิ่มมากขึ้นกว่าเดโมคริตัส โดยโยงอรรถประโยชน์เข้ากับอุปสงค์และอุปทานเขาชี้ให้เห็นว่า ถ้าของยิ่งหายากก็จะยิ่งทำให้รู้สึกมีประโยชน์หรือมีคุณค่ามากขึ้น โดยยกตัวอย่างของทองเทียบกับเหล็ก โดยชี้ให้เห็นว่าทองเป็นโลหะที่ไม่มีประโยชน์ในการใช้สอยมากนัก แต่หายากกว่าเหล็กซึ่งมีคุณค่าในการใช้สอยมากกว่า ทำให้ทองมีคุณค่า (มูลค่า) หรืออรรถประโยชน์มากกว่าเหล็ก นอกจากนั้นยังอธิบายมูลค่าของหน่วยที่เพิ่มขึ้น (marginal value theory) ซึ่งถูกนำมาพัฒนาต่อโดยสำนักออสเตรียนในศตวรรษที่ ๑๙ และต้นศตวรรษที่ ๒๐ ที่คิดเรื่องหน่วยสุดท้าย (marginal unit) และพัฒนาแนวคิดอรรถประโยชน์หน่วยที่เพิ่มขึ้น (marginal utility) ขอให้สังเกตว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการมองข้ามประโยชน์ในการใช้ (utilization หรือ usefulness) ของสิ่งต่าง ๆ ไป ก็เนื่องจากความหมายของคุณค่า (value) ค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนไปเป็นมูลค่าหรือราคา (price) ของสิ่งของ อันเป็นจุดเบี่ยงเบนสำคัญจากความเป็นจริงตามธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งของนั้น ๆ เพราะมูลค่าหรือราคาเป็นเรื่องที่มนุษย์ตกลงหรือสมยอมกันเอง (human convention) ไม่ใช่หน้าที่ตามธรรมชาติของสิ่งของดังกล่าว

            หลังจากนั้นความคิดในเรื่องอรรถประโยชน์ต่อยเลือนรางหายไป จะเริ่มมีการนำมากล่าวกันอีกครั้งหนึ่งก็ในยุคของนักคิดสกอลาสติกในศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งมีเซนต์อไควนัสเป็นตัวแทนที่เด่นของนักคิดสกอลาสติก มีการรวบรวมเอาความคิดของอริสโตเติล หลักกฎหมายโรมัน และคำสอนในคริสต์ศาสนามาประยุกต์เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นที่มาของจุดเชื่อมระหว่างแนวคิดของกรีก ยุโรปสมัยกลาง และส่งต่อมายังแนวคิดเศรษฐศาสตร์ตะวันตกในปัจจุบัน ในบรรดานักคิดสำนักสกอลาสติกที่นำความคิดเกี่ยวกับอรรถประโยชน์กลับมาอธิบายคือ ปิแอร์ เดอฌอง โอลิวิ สังกัดสำนักฟรานซิสกัน เป็นสำนักคู่แข่งของเซนต์อไควนัสซึ่งสังกัดสำนักโดมินิกัน โดยโอลิวิอธิบายว่า มูลทางเศรษฐกิจถูกกำหนดโดยปัจจัยสามประการ คือ ความหายาก (scarcity) ประโยชน์ในการใช้งาน (usefulness) และความปรารถนาหรือความต้องการ (desirability หรือ desireness) และมีการขยายความความจำเป็น (needs) ของอริสโตเติล แล้วอธิบายใหม่ในความหมายของอรรถประโยชน์ (utility) โดยแยกอรรถประโยชน์ออกเป็นสองประเภทคือ อรรถประโยชน์ที่เป็นภววิสัย (objective utility) หรือประโยชน์ในการใช้สอย (usefulness) กับอรรถประโยชน์ที่เป็นอัตวิสัย (subjective utility) ส่วนแรกสนองความต้องการในการใช้สอยของมนุษย์ ส่วนหลังนั้นเป็นความปรารถนาของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งนั้น โดยอธิบายประเด็นความขัดแย้งในเรื่องมูลค่า (value paradox) ระหว่างน้ำกับขนมปัง และทองกับเพชร โดยน้ำกับขนมปังมีค่าต่อการใช้ของมนุษย์มากกว่ากลับมีราคาถูกกว่า ขณะที่ทองและเพชรมีประโยชน์น้อยกว่าแต่กลับมีราคาแพงกว่า ความแตกต่างอยู่ที่มูลค่าของการใช้สอย (use value) และมูลค่าในการแลกเปลี่ยน (exchange value) การที่น้ำมีราคาถูกกว่าเพราะประเด็นทางด้านอุปทานคือหาง่ายกว่า มิใช่ประเด็นทางด้านอุปสงค์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อรรถประโยชน์อยู่เบื้องหลังอุปสงค์ อันเป็นการสะท้อนออกถึงความปรารถนาซึ่งถือว่าเป็นข้อยุติของความสับสนในเรื่องนี้ และเป็นมาตรฐานในการวิเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเป็นต้นมา และเมื่อถึงจุดนี้ความหมายของคุณค่าในการใช้สอยจึงหมดไป เหลือแต่เพียงมูลค่าในการแลกเปลี่ยนหรือราคาแต่เพียงอย่างเดียว เป็นจุดเริ่มต้นของการเอาราคาไปวัดคุณค่าของวัตถุเป็นสำคัญ

            ความคิดในเรื่องอรรถประโยชน์ได้ถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งในต้นศตวรรษที่ ๑๖ โดยนักคิดสกอลาสติกสำนักซาลามานกา ที่ชื่อว่า ดิเอโก เดอคอวาร์รูเบียส ซึ่งอธิบายว่าราคาสินค้าในตลาดถูกกำหนดโดยอรรถประโยชน์และความหายาก ซึ่งเป็นการประเมินโดยผู้บริโภค (estimation of consumers) ไม่มีอะไรเพิ่มเติมใหม่ไปกว่างานของโอลิวิในศตวรรษที่ ๑๓ เท่าไรนัก แต่ก็มีอิทธิพลต่อความคิดในอิตาลีถึงศตวรรษที่ ๑๘ ที่ได้ถูกนำไปอ้างในงานเขียนของอาบเบ เฟอร์ดินานโด กาเลียนิ ในปี ๑๗๕๐

           ในยุคเดียวกับคอวาร์รูเบียสก็มีนักเทววิทยาและนักเศรษฐศาสตร์อีกผู้หนึ่งคือ ฟรานซิสโก การ์เซีย ซึ่งได้เขียนหนังสือในปี ๑๕๘๓ โดยนอกจากจะอธิบายมูลค่าโดยเน้นอรรถประโยชน์และความหายากแล้ว ยังเอาความคิดเรื่องอรรถประโยชน์ไปอธิบายปริมาณเงิน โดยชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มั่งคั่งมีเงินมากจะมีแนวโน้มในการให้คุณค่าแก่เงินของเขาน้อยกว่าเมื่อครั้งที่เขายังยากจน หรือเทียบกับคนจนคนอื่น ๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดลงของอรรถประโยชน์ของเงิน (diminishing marginal utility of money) ซึ่งเป็นประเด็นให้เศรษฐศาสตร์กระแสหลักปัจจุบันสานต่อเป็นทฤษฎีอุปสงค์ (demand theory) ที่นำเอาอรรถประโยชน์ที่ได้รับจากปริมาณเงินหน่วยสุดท้ายมาเทียบกับอรรถประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของสินค้า เพื่อเปรียบเทียบว่า ควรจะซื้อสินค้าเพื่อการบริโภคหรือไม่

            นักปราชญ์คนสุดท้ายของสกอลาสติกสำนักซาลามานกา เป็นพระคาร์ดินัลเยซูอิต ชื่อฮวน เดอลูโก อธิบายมูลค่าสินค้า เนินอรรถประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังอุปสงค์และอุปทานอันเกิดจากการหายาก เดอลูโกนั้นเป็นนักปราชญ์คนสุดท้ายของสำนักดังกล่าวก็เนื่องจากการเสื่อมสลายของอาณาจักรสเปนในยุคนั้น พร้อมกับความรุ่งเรืองที่เข้ามาแทนที่ในยุโรปตอนเหนือ

           ในขณะเดียวกันตั้งแต่กลางศตวรรษที่ ๑๖ ได้มีการปฏิวัติเงียบของโคเปอร์นิคัส ซึ่งเป็นที่มาของลัทธิเอกนิยมของวัตถุ (materialistic monism) โดยถือว่าวัตถุมีความสำคัญเหนือจิตสำนึก ซึ่งเป็นผลการทำงานทางกายภาพของร่างกายที่มีส่วนประกอบเป็นวัตถุ ซึ่งเป็นที่มาการพัฒนาวิชา “วิทยาศาสตร์”แบบตะวันตกในยุคต่อมา จากโคเปอร์นิคัสก็มี กาลิเลโอ, เปคอน และเดส์คาร์ตส์ ตามลำดับ ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ที่มิได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ คือ โธมัส ฮอบส์ โดยที่อาจจะเรียกได้ว่า ฮอบส์นั้นเป็นนักวัตถุนิยมสุดขั้วฮอบส์มีอิทธิพลต่อความคิดในเรื่องอรรถประโยชน์ ยุคปัจจุบันที่นำความคิดเรื่องความพึงพอใจ (pleasure) และความเจ็บปวด (pain) มาใช้เป็นตัวแทนของความชั่วและความดี อะไรที่เป็นสิ่งที่ดีย่อมให้ความพึงพอใจ อะไรที่เป็นความชั่วคือก่อให้เกิดความเจ็บปวด ซึ่งต่อมาคำว่าความพึงพอใจนี้ถูกนำไปใช้ในความหมายของอรรถประโยชน์ (utility) เนื่องจากอรรถประโยชน์คือการสนองความปรารถนาของมนุษย์ตามคำอธิบายของโอลิวิ ซึ่งก็คือสิ่งที่สร้างความพึงพอใจนั่นเอง

            หลังจากฮอบส์ ผู้ที่นำความคิดมาตอกย้ำและใช้กันมาจนถึงปัจจุบันคือ จอห์น ลอค ที่ได้กำหนดมาตรฐานของอรรถประโยชน์ (utilitarian standard) ก่อนเจเรมี เบนแธม ๑๐๐ ปี โดยลอคกล่าวว่า “การกระทำใด ๆ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเป็นการสร้างความพึงพอใจ (pleasure) ให้แก่บุคคล แต่ความเลวคือสิ่งที่ลดทอนความพึงพอใจหรือสร้างความเจ็บปวด (pain)” ทั้งหมดนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง (self – interest) ซึ่งถือว่าเป็นกฎสากลตามธรรมชาติเกี่ยวกับมนุษย์ แต่ความคิดในเรื่องอรรถประโยชน์ (utility) ที่ใช้กันในปัจจุบันเกิดจากการเผยแพร่ความคิดของเบนแธมที่เสนอให้ใช้วิธีการทาง “วิทยาศาสตร์” ที่นำเอาความพึงพอใจของแต่ละคนมาคำนวณ โดยเอาจำนวนความพึงพอใจของคนทั้งหมดรวมเข้าด้วยกันแล้วหักความเจ็บปวดทั้งหมด เพื่อจะใช้วัดความสุขของสังคม หรือในปัจจุบันเรียกว่า สวัสดิการของสังคม (social welfare) เมื่อถึงจุดนี้ ความพึงพอใจ ความสุข และอรรถประโยชน์ กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นความหมายของอรรถประโยชน์ที่ใช้ในทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจนถึงปัจจุบัน

 

ความพึงพอใจ ความสุข และอรรถประโยชน์ ที่ถูกผูกติดยึดโยงให้กลายไปเป็นเรื่องเดียวกัน ถือเป็นจุดสำคัญในการเสริมสร้างรากฐาน “ความต้องการ” หรือกิเลสให้แข็งแกร่ง นัยคือ

ความสุข  =  ความพึงพอใจ  =  อรรถประโยชน์

         

          ความพึงพอใจสูงสุดเกิดจากความต้องการที่ได้รับการบำบัด (การสนองตอบ) ที่มาบรรจบครบรอบแห่งสังสารวัฏฏ์คือ กิเลส (ความต้องการ) – กรรม (การสนองตอบ) – วิบาก (ความพึงพอใจสูงสุด) เมื่อความพึงพอใจสูงสุดถูกแปลงค่ามาเป็นความสุข ดังนั้น ความต้องการที่ได้รับการบำบัด (สมปรารถนา) ก็มีค่าเท่ากับ ความสุข ตามนัยทางเศรษฐศาสตร์ (กระแสหลัก) นั่นเอง

           ความต้องการหลักของมนุษย์วนเวียนอยู่ใน ๓ ก. (กิน กาม เกียรติ) ทิฏฐิที่มีรากฐานจากความสัมพันธ์ของความสุข ความพึงพอใจ และอรรถประโยชน์ดังกล่าว ได้ปลุกเร้าคนส่วนใหญ่ให้เข้าสู่กระแสของลัทธิบริโภคนิยมที่สมประโยชน์กับความต้องการ (ที่มีไม่สิ้นสุด) ของตน ผลผลิตที่ได้กลับกลายเป็นความสุขที่ปนเปื้อน เป็นไปในลักษณะของความสุขซ้อนทุกข์ หรือเปลือกนอกนั้นสุขแต่ภายในกลับทุกข์

          ดังที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า ในสภาวะของความต้องการที่สมปรารถนานำพามาซึ่งความรู้สึกสุขของคนทั่วไป เกี่ยวเนื่องจาก ความรื่นเริงบันเทิงใจในขณะที่สมปรารถนาได้ปิดบังอำพรางสั่งสมความขัดเคืองใจเอาไว้ภายใน หากเมื่อไหร่ที่เกิดความผันแปรไปในภาวะดังกล่าว สิ่งเหล่านั้นก็จะกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกแห่งทุกข์ออกมา เช่น สมมติว่า มีความต้องการอยากได้มือถือรุ่นใหม่สักเครื่องหนึ่ง เมื่อได้มาสมปรารถนาก็จะนำพามาซึ่งความสุขรื่นเริงบันเทิงใจในมือถือเครื่องนั้น แต่พอใช้ไปได้ไม่นานมีรุ่นใหม่ออกมา ปรากฏว่ามีความต้องการอยากได้รุ่นใหม่นั้นอีก ซึ่งหากว่าได้มาสมปรารถนาก็จะมีความรู้สึกที่เป็นสุข แต่ทว่าหากไม่ได้มาก็จะเกิดความขัดเคืองใจในที่สุดอย่างนี้เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วโทรศัพท์เครื่องเก่าก็ยังคงใช้ได้ดีดังเดิม มันไม่ได้ทำผิดหรือทำหน้าที่ขาดตกบกพร่องอะไรเลย แต่มีเพียงข้อหาเดียวที่ถูกยัดเยียดให้ก็คือ “ตกรุ่น” เท่านั้นเอง

          จะเห็นได้ว่า “ความต้องการ” ถึงแม้ว่าจะได้รับการสนองตอบและบรรจบครบรอบในความสมปรารถนานำพามาซึ่งความสุข แต่ก็เป็นเพียงสภาวะสุขที่ถูกปิดบังอำพรางเอาไว้ด้วยความทุกข์ตามมาทั้งในการเก็บรักษา ไม่ให้หายไม่ให้ชำรุด หรือแม้กระทั่งกลัวว่าจะตกรุ่น เป็นต้น ดังนั้น การผูกสมการความสุข  อรรถประโยชน์  และความพึงพอใจเอาไว้ด้วยกันในสังคมเศรษฐกิจ จึงเป็นเสมือนการผลักความคิดให้ไปเสพติดในมิจฉาทิฏฐิ ที่กระโจนทะยานวิ่งไล่กวดแข่งกับกิเลสโดยที่มี “ความสุข” เป็นเดิมพันนั่นเอง 

 

 

อภิชัย พันธเสน. (๒๕๔๔). พุทธเศรษฐศาสตร์ วิวัฒนาการ ทฤษฎี และการประยุกต์กับเศรษฐศาสตร์สาขาต่าง ๆ . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์.




 

 

หมายเลขบันทึก: 494999เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท