ชีวิตที่พอเพียง : ๑๖๐๒. มิตรรุ่นน้องช่วยระลึกชาติ


 

          ระหว่างเดินทางอยู่ที่ต่างประเทศในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ อ. หมอนิค(พีรนิธ กันตะบุตร) ส่งข่าวไปบอกว่า ศ. ทพ. สิทธิชัย ขุนทองแก้ว ได้เป็นคณบดีคนใหม่ของคณะทันตแพทยศาสตร์ มธ.   ผมบอกให้ช่วยแสดงความยินดี   แต่ อ. หมอนิคบอกว่าให้ผมแสดงความยินดีต่อ อ. หมอสิทธิชัยโดยตรงดีกว่า   พร้อมส่ง e-mail address ของ อ. หมอสิทธิชัย มาให้

          ผมเขียนแสดงความยินดีไปสั้นๆ   และได้คำตอบมาดังนี้

 

สวัสดีครับอาจารย์

 

          ขอบพระคุณครับ นิคเขาถามผมว่ามีใครเป็นแบบอย่างในการบริหาร ผมตอบนิคโดยไม่ลังเลว่า อาจารย์หมอวิจารณ์ เนื่องจากผมชอบที่อาจารย์ได้แบ่งเวลาช่วงบ่ายกลับมาที่lab เสมอแม้เป็นรองอธิการบดี  นอกจากนั้นอาจารย์ยังทำงานแบบตามองฟ้าแต่เท้าแตะพื้น  ผมยังจำความรู้สึกที่ดีและสนุกตอนที่รองอธิการบดี มอ ทำ DNA club  ซึ่งทำให้ผมที่เพิ่งย้ายไปมอ ได้พบกับนักวิจัยดาวรุ่งหลายคนใน มอ ซึ่งขณะนี้เป็นศาสตราจารย์และเป็นผู้บริหารแล้ว ผมได้ใช้model ในการบริหารของอาจารย์ (โดยไม่ได้ขออนุญาต) ขณะเป็นผอ. สำนักวิจัยและพัฒนาที่ มอ.แล้ว พบว่ามันได้ผล เพราะอย่างน้อยผมยังมีผลงานวิจัยตลอดเวลาแม้จะน้อยกว่าอาจารย์ นิคมากโข

 

          สุดท้ายนี้ผมขอกราบขอบพระคุณที่อาจารย์ได้ให้ความกรุณาและข้อชี้แนะที่ดีแก่ผมเสมอครับ

 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

 

สิทธิชัย

 

          ทำให้ผมหวนกลับไประลึกชาติในช่วงท้ายของการทำงานที่ มอ. หาดใหญ่    ช่วงที่ อ. หมอสิทธิชัยอ้างถึง    คือระหว่างปี ๒๕๓๔ - ๒๕๓๕ ที่ผมทำหน้าที่รองอธิการบดีให้แก่ ท่านอธิการบดี รศ. ดร. ศิริพงษ์ศรีพิพัฒน์ ผู้ล่วงลับ

 

          ช่วงปี ๒๕๓๒ - ๒๕๓๔ ผมกำลังมุ่งมั่นทำงานพัฒนาระบบบริการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด   เพื่อป้องกันโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย   และโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม   ดังนั้นเมื่อ ดร. ศิริพงษ์ โทรศัพท์มาขอให้ผมไปเป็นรองอธิการบดีอีก หลังจากผมเคยเป็นในปี ๒๕๑๘ - ๒๕๒๑ และเพิ่งออกจากตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ในปี ๒๕๓๒   และด้วยความไร้เดียงสา ทำให้ผมคิดว่าชีวิตการทำงานบริหารของผมน่าจะจบแล้ว    ผมน่าจะมุ่งทำงานเชิงวิชาการเพื่อพัฒนาเรื่องใหญ่ๆ  ที่ถูกละเลย ให้แก่บ้านเมือง   คือเรื่องบริการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด เพื่อให้สังคมไทยได้ทารกสุขภาพแข็งแรง    ลดจำนวนคนขี้โรคลงไป 

 

            ดังนั้น เมื่อ ดร. ศิริพงษ์ ขอให้ช่วย ผมก็ตอบรับด้วยความเกรงใจ เพราะเคารพรักใคร่กัน   แต่ผมทิ้งงานวิชาการไม่ได้    จึงขอเงื่อนไขว่าผมขอใช้เวลาทำงานบริหารเพียงครึ่งเดียว    ไม่ทิ้งงานวิชาการ และขอไม่รับ “dirty jobs” เช่นงานสอบสวนลงโทษคน  งานแก้ปัญหาความขัดแย้ง    ผมจึงเป็นรองอธิการบดีเบอร์หนึ่งที่ไม่ค่อยได้ไปนั่งทำงานที่สำนักงานอธิการบดี   แต่ก็ได้ช่วยวางระบบการจัดการงานวิจัยที่ยกระดับคุณภาพของโครงการวิจัยขึ้น โดยต้องขัดใจอาจารย์ทั้งหลาย   ในการจัดระบบ review คุณภาพของโครงการวิจัยก่อนตั้งงบประมาณขอเงินสนับสนุนไปยังสำนักงบประมาณ และเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพของงานวิจัยของ มอ. ตามคำกล่าวของท่านอธิการบดีท่านต่อมาคือ รศ. ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์

 

          นอกจากนั้น ผมคิดว่าเรื่องความก้าวหน้าด้านการวิจัยเกี่ยวกับ DNA จะเป็นรากฐานของการวิจัยด้าน bio-medical ผมจึงชักชวนกันจัด DNA Club ขึ้น   หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ   เป็นการสร้างรากฐานวัฒนธรรมวิจัย ร่วมมือกันข้ามคณะข้ามหน่วยงาน    แต่ผมสำเร็จเพียงทำให้คนได้รู้จักและร่วมกันเรียนรู้   ไม่เห็นผลในลักษณะการร่วมมือกันทำวิจัย 

 

          เรื่องราวในอดีตเล็กๆ น้อยๆ ช่วยให้ความสุขสดชื่นในชีวิต

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓ มิ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 494957เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท