วิกฤติเศรษฐกิจทศวรรษ ๑๙๓๐ & ๒๐๐๘ ความเหมือนที่แตกต่าง


นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ระดับโลกหลาย ๆ ท่าน ทั้งอลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟด ผู้ทรงอิทธิพลในตลาดเงิน ศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตส์ อดีตรองประธานธนาคารโลก Chief Economist หรือหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารโลก รวมทั้งจอร์จ โซรอส พ่อมดทางการเงินที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี ได้ออกมาวิเคราะห์ว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่ลุกลามจากปัญหาซับไพร์มสู่ตลาดเงินและตลาดทุนในครั้งนี้อาจจะส่งผลรุนแรงมากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ หรืออาจจะเรียกได้ว่ารุนแรงมากที่สุดในรอบศตวรรษเลยก็ว่าได้

 

            วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะรุนแรงมากกว่าช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ จริง ๆ หรือไม่นั้น ยังไม่มีใครกล้าที่จะฟันธงลงไปชัดเจน เนื่องจาก ยังไม่ทราบข้อมูลเชิงลึกว่าตัวเลขความเสียหายต่าง ๆ ที่เปิด (ยังไม่หมด) ออกมานั้น เป็นการเปิดออกมาเพียงกี่เปอร์เซ็นต์ของข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่หลาย ๆ คนรู้และหวั่นวิตกเหมือน ๆ กันก็คือ ประเด็นของความเชื่อมโยงในตลาดเงินตลาดทุนยุคปัจจุบันมีความเชื่อมโยงทั่วถึงกันและซับซ้อนทุกตลาดรวมทั้งมีขนาดใหญ่เป็นอย่างมาก ที่สำคัญอีกประการก็คือ ไม่สามารถที่จะรู้ได้อย่างชัดเจนว่า มูลค่าของธุรกรรมทางด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่มีมูลค่าหลาย ๆ ล้านดอลลาร์สรอ. ในแต่ละวันที่เกิดขึ้นในตลาดเงินตลาดทุนนั้น ส่วนไหนเป็นการทำธุรกรรมเพื่อการค้าและการบริการที่เกิดขึ้นจริง และส่วนไหนเป็นการทำธุรกรรมทางด้านการค้าและการบริการเทียม (การเก็งกำไร) ซึ่งถ้าหากข้อมูลเป็นจริงตามรายงานของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (Bank of International Settlement – BIS) ที่ระบุว่าสัดส่วนของการเปลี่ยนแปลงความสำคัญระหว่างการค้าจริงกับการเก็งกำไรมีแนวโน้มห่างกันเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๐ เป็นต้นมา โดยเป็นการทำธุรกรรมเพื่อเก็งกำไรถึงร้อยละ ๙๘ และมีการทำธุรกรรมเพื่อค้าขายสินค้าและบริการจริงเพียงร้อยละ ๒ ย่อมเป็นที่แน่ชัดว่า ปัจจัยเหตุของวิกฤติที่เกิดจากการทำธุรกรมที่เก็งกำไรจะเป็นปัญหาที่ซับซ้อนของภาคการเงินเป็นอย่างมาก และก็จะทวีความรุนแรงอย่างมหาศาลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากวิเคราะห์ถึงปัจจัยเหตุและผลกระทบของวิกฤติที่เกิดขึ้นช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ กับ ค.ศ. ๒๐๐๘ ในทัศนะของผู้เขียนมองว่า

 

ประการที่ ๑ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ และ ปี ค.ศ. ๒๐๐๘ เกิดจากปัจจัยเหตุที่แตกต่างกันแต่กระบวนการของวิกฤติคล้ายคลึงกัน

           - ช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ เกิดจากปัจจัยเหตุที่สำคัญด้านการขาดแคลนอุปสงค์รวม (Aggregate Demand) ในขณะที่อุปทานรวม (Aggregate Supply) ของสินค้าและบริการมีมากมาย หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เกิดสินค้าล้นตลาด (ซึ่งในแง่ของการทำงานของกลไกตลาดตามความเชื่อของ คลาสสิก แล้วเห็นว่า ภาวะสินค้าล้นตลาดจะเกิดขึ้นไม่ได้เนื่องจากยาสามัญประจำบ้าน (กลไกตลาดที่รักษาทุกโรคทั้ง เงินเฟ้อ เงินฝืด และการว่างงาน) จะคอยเกลี่ยให้สินค้าปริมาณสินค้าและราคาเกิดสมดุลได้อยู่เสมอ โดยเมื่อสินค้ามีมากกว่าความต้องการราคาก็จะลดลงมา แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในครั้งนั้น นอกจากราคาสินค้าไม่ได้ลดลงมาอย่างที่คิดแล้ว การออมก็ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้) เมื่อผู้ผลิตไม่สามารถขายสินค้าได้ หากจะลดราคาลงก็จะเกิดการขาดทุนเป็นอย่างมาก จนในที่สุดเมื่อขายสินค้าไม่หมดก็กระทบต่อสภาพคล่องของธุรกิจและส่งผลลุกลามไปยังสถาบันการเงินที่ให้กู้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตลาดเงินและตลาดทุน

           - ค.ศ. ๒๐๐๘ เกิดจากปัญหาหลัก ๆ คือ การให้กำเนิดเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายและซับซ้อนเพื่อรองรับกับวาทะกรรมที่ว่า เพื่อการสนองตอบต่อตลาดเงินตลาดทุนเพื่อเอื้อต่อสภาพคล่องทางการเงิน โดยขาดซึ่งความรอบคอบในการกำกับและตรวจสอบจนนำไปสู่การใช้เครื่องมือทางการเงินดังกล่าวไปในทางแสวงหาความมั่งคั่งและเก็งกำไรของสถาบันการเงิน  ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาซับไพร์ม สถาบันการเงินต่าง ๆ ก็ประสบกับปัญหาสภาพคล่องลุกลามไปทั้งตลาดเงินตลาดทุนเฉกเช่นทศวรรษ ๑๙๓๐

 

ประการที่ ๒ ขนาดของการเชื่อมโยงของตลาดเงินตลาดทุน แน่นอนที่สุดการเชื่อมโยงของตลาดเงินและตลาดทุนในยุคปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันใกล้ชิดเป็นอย่างมาก การเคลื่อนไหวทั้งในตลาดเงินตลาดทุนเรียกได้ว่าเปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อเกิดผลกระทบในตลาดหนึ่งก็จะเชื่อมโยงไปสู่อีกตลาดหนึ่งได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งแตกต่างจากเมื่อช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ เป็นอย่างมาก

 

ประการที่ ๓ เหตุปัจจัยและการแก้ไขปัญหา

           - ทศวรรษ ๑๙๓๐ อย่างที่ได้กล่าวเอาไว้แล้วว่า ปัจจัยเหตุหลัก ๆ ของวิกฤติที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น เกิดจากสินค้าล้นตลาดจนนำไปสู่การขาดทุนของผู้ผลิต จนต้องปิดกิจการลงส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ให้กู้จนขยายวงกว้างสู่ตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงการว่างงานหลายล้านคน ซึ่งการแก้ปัญหาในครั้งนั้นก็โดยการใช้เมนูนโยบายเศรษฐกิจแบบเคนส์ ในการกระตุ้นอุปสงค์รวมผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐ เพื่อไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนภาคเอกชน ที่ไม่มีขนาดของอุปสงค์ ที่ใหญ่พอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ (http:วิวาทะว่าด้วยเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิก & เคนส์) โดยช่วงนั้นขนาดของความซับซ้อนและการเชื่อมโยงของตลาดเงินตลาดทุนยังมีน้อย และที่สำคัญไม่ได้เกิดจากการบิดเบือนกลไกตลาดจากการเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่ง

          -  ค.ศ. ๒๐๐๘ ปัญหาหลัก ๆ มาจากการใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ไปในทางเก็งกำไร ซึ่งปัญหานี้จะแตกต่างจากช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ เป็นอย่างมาก เพราะเกิดทางด้านอุปสงค์เทียมที่ปั่นราคาสินค้าและบริการโดยอาศัยนวัตกรรมทางการเงินเป็นเครื่องมือ ซึ่งผลของการเก็งกำไรนี้ ความมั่งคั่งก็จะตกอยู่กับกลุ่มนักเก็งกำไรแต่ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจจริง ๆ ก็จะหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การแก้ปัญหาก็จะยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก ไม่มีใครรู้ชัดเจนว่า ปัจจุบันมีปริมาณเงินที่ใช้ไปในทางเก็งกำไรและการค้าขายสินค้าจริงเป็นเท่าไหร่ หากเป็นจริงดังรายงานของ  BIS ที่กล่าวไว้แล้ว ก็จะเป็นคำถามต่อไปว่า จะต้องใช้ปริมาณเงินจริง ๆ เท่าไหร่เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องในระบบ ?  ผ่านทางช่องทางใด ? ที่สำคัญปริมาณเงินที่ถูกดูดออกไปจากระบบโดยการเก็งกำไรมีขนาดเท่าไหร่ ? เป็นต้น ต้องตระหนักว่า ปริมาณเงินที่หายไปจากระบบส่วนหนึ่งถูกหมุนเวียนเปลี่ยนมือไปสู่นักเก็งกำไรซึ่งถือได้ว่าเป็นบททดสอบที่ซับซ้อนในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่ได้เกิดจากาการทำงานที่ไม่ได้สมดุลของอุปสงค์รวมและอุปทานรวม แต่เกิดจากการบิดเบือนกลไกการทำงานของอุปสงค์รวมและอุปทานรวม ซึ่งเป็นการดึงเอาทรัพยากรทางการเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบันโดยผ่านช่องทางของการเก็งกำไรอย่างมหาศาลในยุคปัจจุบัน

 

          วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตไม่มีพันธะสัญญาใด ๆ ที่บอกว่าจะไม่กลับมาเกิดขึ้นอีกในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจของโลกมุ่งหน้าเดินเข้าสู่เส้นทางสายหลักสายเดียวกัน คือ การมุ่งเน้นเปิดเสรีทางด้านการค้า การลงทุน และเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยมีเครื่องมือและกลไกหลาย ๆอย่างที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เอื้อต่อกระบวนการเปิดเสรีดังกล่าว  โดยที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมักอาศัยความได้เปรียบ ใช้เครื่องมือหรือมาตรการเหล่านี้ผ่านช่องทางขององค์กรโลกบาล ไม่ว่าจะเป็นองค์การการค้าโลก (WTO)  ธนาคารโลก (World Bank) รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อที่จะสามารถเอาองค์กรเหล่านี้เป็นหลักค้ำประกันความชอบธรรมในการดำเนินการได้ และองค์กรเหล่านี้ก็เสมือนทำหน้าที่สอดประสานผลประโยชน์ให้กับกลุ่มประเทศมหาอำนาจได้อย่างลงตัว ซึ่งเครื่องมือที่สร้างกรอบเพื่อครอบงำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกเดินเข้าสู่เป้าหมายของระบบทุนนิยมเสรีที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันก็คือ “ฉันทมติวอชิงตัน (Washington consensus” และ เขตการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะ ฉันทมติแห่งวอชิงตัน เป็นการวางรากฐานของการเปิดเสรีในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ระบบทุนนิยมและลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วแก่นของเนื้อหาสาระฉันทมติแห่งวอชิงตันในเบื้องแรกนั้น เป็นการนำเสนอเมนูนโยบายเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ซึ่งเสนอโดยนายจอห์น วิลเลียมสัน ซึ่งประกอบไปด้วยเมนูนโยบาย ๑๐ ชุดในปี ๒๕๓๒ แต่เพียงชั่วเวลาทศวรรษเศษ ฉันทมติแห่งวอชิงตันก็แปรสภาพเป็นเมนูนโยบายเศรษฐกิจโลก (Global Economic Policy) จากการฉกฉวยโอกาสของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่นำเอาเมนูนโยบายดังกล่าวมาเป็นกรอบของเมนูนโยบายเศรษฐกิจของโลก โดยฉันทมติแห่งวอชิงตันฉบับกลายพันธุ์ที่ใช้ในปัจจุบันนั้นมุ่งเน้นที่ (๑)สนับสนุนการเปิดเสรีด้านการค้าระหว่างประเทศ (Trade Liberalization) (๒)สนับสนุนการถ่ายโอนการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) และ (๓)สนับสนุนการลดการควบคุมและการกำกับระบบเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Deregulation)

 

         การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ. ๒๐๐๘ นี้ที่กอปรขึ้นด้วยช่วงจังหวะของความสุกงอมของการสั่งสมวิกฤติดังกล่าวเข้ามาในช่วงจังหวะของเวลาที่เหมาะสมในการเก็งกำไรของระบบเศรษฐกิจโลก ที่จะสังเกตได้จาก ก่อนการล่มสลายการปั่นราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้นกว่า ๑๔๐ ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งราคาดังกล่าวนั้นมากกว่า ๓ เท่าตัวเมื่อเทียบกับราคาในก่อนหน้านั้น นี่ก็เป็นอีกหนึ่งผลผลิตของการเดินหน้าเข้าสู่การจัดระเบียบใหม่ของระบบเศรษฐกิจโลก หลังจากการพังทลายลงของสภาวะไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิง ที่พัฒนาสู่จุดสูงสุด ซึ่งการจัดระเบียบเพื่อเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ของตลาดนั้นจะรวดเร็วกว่าช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ แต่ สภาวะของความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงที่จะก่อตัวขึ้นจนถึงขั้นสูงสุดและล่มสลายลงก็จะรวดเร็วกว่า (ช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ มาถึง ๒๐๐๘ ใช้เวลา ๗๘ ปี) เกี่ยวเนื่องจากปัจจัยเหตุหลาย ๆ ปัจจัยโดยเฉพาะ ฐานของเศรษฐกิจที่ล่มสลายในครั้งนี้ไม่เหมือนฐานของระบบเศรษฐกิจเมื่อทศวรรษ ๑๙๓๐ ซึ่งฐานของเศรษฐกิจในครั้งนี้สูงและซับซ้อนมากกว่าหลายเท่า เปรียบเสมือนการล่มสลายของเศรษฐกิจในครั้งนี้เป็นการดึงเอาพฤติกรรมการบริโภคในอนาคตมาใช้เป็นฐานก่อน กล่าวคือ สมมติ หากเมื่อก่อนเราเคยใช้รถยุโรปเป็นพาหนะแต่พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รายได้ลดลงเป็นอย่างมาก ก็เปลี่ยนมาใช้รถเอเชียเป็นพาหนะแทน แต่ฐานของพฤติกรรมการบริโภคของเราไม่ได้อยู่ที่รถเอเชีย (เพราะติดกับดักบริโภคนิยม) แต่อยู่ที่รถยุโรป ที่รอวันไล่กวดความมั่งคั่งดังกล่าวกลับมาอีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจเมื่อระบบเศรษฐกิจติดกับดักของฐานบริโภคนิยมเดิมที่ถูกปั่นขึ้นไป ถึงแม้ว่าจะล่มสลายลงมาแต่ระบบเศรษฐกิจก็ยังมีฐานที่เคยสูงสุดเป็นบรรทัดฐานบ่งชี้ถึงพฤติกรรมในอนาคตของตลาดในการไล่กวดความมั่งคั่ง (กิเลส) เหมือนเดิม แต่ด้วยปัจจัยในอนาคตทางด้านทรัพยากรที่ลดน้อยลงและภาวะสิ่งแวดล้อมที่วิกฤติมากขึ้นยิ่งเป็นปัจจัยเร่งหนุนให้สภาวะของความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงพัฒนาเร็วขึ้นและการล่มสลายก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #วิกฤติเศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 494138เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2012 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2012 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท