บ่มเยาวชนพร้อมรักษาชุมชน


บ่มเยาวชนพร้อมรักษาชุมชน ร่วมเพาะพันธุ์ผล “มะนาวหวาน”

บ่มเยาวชนพร้อมรักษาชุมชน ร่วมเพาะพันธุ์ผล “มะนาวหวาน”

กว่า900กิโลเมตรที่เดินทางขึ้น-ลง ร่วมกิจกรรม “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” กับมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เหมือนระยะทางไม่ใช่อุปสรรคแต่อย่างใด เพราะพลันที่เริ่มเติบโตขึ้น สมาชิกกลุ่ม “มะนาวหวาน”เปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้รับ” เป็น “ผู้ให้” ที่ สถานีบริการชุมชน อ.จะนะ จ.สงขลา ในรั้วพื้นที่ศูนย์โภชนาการและพัฒนาชนบทภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พวกเขาสลัดคราบเยาวชนของ กิจกรรม “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” แต่สร้างสรรค์งานของตัวเองขึ้นมาในชื่อ “โครงการละครสร้างสรรค์เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม” บนความหวังให้ละครเร่แบบที่พวกเขาชื่นชอบ บอกเล่าความเป็นไปในพื้นที่แห่งนี้

“มะนาวหวาน”วันนี้มีจิ๊กซอว์เปี่ยมด้วยพลังของคนหนุ่ม-สาวไล่ตั้งแต่ สิทธิพงศ์ สังข์เศรษฐ์ (เอียด) ภาณุพงศ์ รณรงค์ (เอ็ม) ขวัญฤทัย ปานนุ้ย (มิน) ธนพล แววแสนรัตน์ (ปีโป้) และณัฐติยา คำนวณ (เฟิร์น) โดยที่เกือบทั้งหมดเข้าร่วมละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปีแรกที่เริ่ม “พวกผมเป็นเยาวชนใน จ.สงขลาที่อบรมกับมะขามป้อมมาตั้งแต่โครงการแรก เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฎจ.สงขลา อย่างผมกับปีโป้ (ธนพล) จบสาขาการพัฒนาชุมชน ส่วน เอ็ม มิน และเฟิร์น เรียนทางด้านศิลปะการแสดง ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ปีแรกๆเราอยู่คนละทีมกันก่อน แต่พอเริ่มทำปีต่อๆมา มันมีโอกาสให้ได้รวมกัน และก็ถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัว คือมีทั้งองค์ความรู้งานด้านชุมชนกับการแสดง”“ผมทำงานกับชุมชนได้ เพื่ออีกกลุ่มมีทักษะ มีศิลปะ เหล่านี้ถูกนำมารวมกัน ก่อนจะสื่อสารออกมาในรูปแบบละครเร่ ละครชุมชน หรือละครเวที” เอียด ที่เพื่อนๆยกให้เป็นหัวหน้าทีมอธิบาย

ใครที่ติดตามละครชุมชนแบบมะขามป้อม คงจะรู้จักมะนาวหวานเป็นอย่างดี ซึ่งผลงานที่น่าจะอธิบายความเป็น พวกเขาได้ดีคงเป็นละครเร่เรื่อง “ปลากระป๋อง” โดยที่ใครที่ได้ชมมักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นอกจากทักษะด้านการร้อง เล่น เต้น ร้องที่ไม่น้อยหน้าไปกว่าใครแล้ว การบอกเล่าประเด็นปัญหาที่ว่าด้วยผลกระทบจากระบบทุนที่โถมกระหน่ำพื้นที่ภาคใต้ ติดชายทะเล จนชาวบ้านต้องชั่งใจระหว่างความอยู่รอดทางทางเศรษฐกิจและวิถีชุมชนดั้งเดิมยังคงขลังเสมอ อย่างที่รู้ๆ ขณะนี้ภาคใต้คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และอยู่ในช่วงระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการต่อสู้ระหว่างแนวทางการอนุรักษ์กับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะไหนจะแผนพัฒนาภาคใต้ที่ดูยังคลุมเครือ ในเวลาเดียวกับที่ชุมชนยังไม่มีโอกาสร่วมแสดงความเห็นอย่างที่เป็นแล้ว อาชีพดั้งเดิมอย่างชาวประมงยังประสบความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องทุ่นแรงของนายทุน หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นเสียจนปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีมากขึ้น “เอียด” บอกว่า อำเภอจะนะ แห่งนี้ เป็นอีกที่ในจังหวัดสงขลาที่ได้ข่าวว่าจะมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม แห่งใหม่ ซึ่งนั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงเลือกที่แห่งนี้ทำกิจกรรมกับเด็กชั้นมัธยมในชุมชน 

ทั้งนี้ไม่ใช่มีอะไรจะเปลี่ยนไป จะวันนี้หรืออนาคตอันใกล้ “มะนาวหวาน”จะยังอยู่ในฐานะนักกิจกรรมเยาวชนควบคู่กับพื้นที่ภาคใต้แห่งนี้แน่นอน แต่ก็นั่นแหละบนสมมติฐานเรื่องความใกล้ชิด ใครเล่าจะ “บอก”ตัวเองดี เท่ากับตัวของตัวเอง “ไม่มีใครรู้ปัญหาและเรื่องราวดีมากกว่าตัวเขา หากมีสิ่งเปลี่ยนแปลงในจะนะ น้องๆกลุ่มนี้จะรู้มากกว่าใคร เราจะชวนให้เขาตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น”เอียดว่า “พวกเราไม่มีปัญหาอะไรกับการพัฒนา หากการตัดสินใจเป็นของชาวบ้านจริงๆ ที่นี่มันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง เราจึงตั้งคำถามว่าทางรอดของเด็กเยาวชน ของชุมชนใน อ.จะนะจะเป็นอย่างไร ตอนนี้มีโรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซแล้ว ต่อไปจะมีท่าเรือน้ำลึก มีรถไฟรางคู่ แล้ววิถีเดิมๆอยู่ตรงไหน”เขาทวงคำตอบแทนชาวบ้าน และสร้างกระบวนการให้คนในชุมชนเริ่มตั้งคำถามกับความเปลี่ยนแปลงบ้างก็แค่นั้น เมื่อการเตรียมตัวย่อมดีกว่าปล่อยให้เรื่องบานปลายเวลาเดียวกับที่พวกเขาเติบโตขึ้น “มะนาวหวาน”ผลดียังเตรียมเพาะพันธุ์รุ่นต่อๆไปด้วย

หมายเลขบันทึก: 493915เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2012 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เยาวชนในชุมชน คือ ฐานราก รากแก้วของชุมชนนะคะ

ให้พ้นAIDs เพศศึกษา พ้นยาเสพติด นะคะ

ขอบคุณมาก สำหรับบทความดีดีนี้นะคะ

ขอบคุณคุณ somsri ที่ติดตามเช่นกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท