จิตรกรรมในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ


จิตกรรมในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ

วาทิน ศานติ์ สันติ

5 กรกฏาคม 2555

บทนำ

พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรในการรับรู้ทั่วไปของคนในปัจจุบันคืองานสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในกระบวนงานสถาปัตยกรรมไทยนับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึง เอกลักษณ์ไทยที่ใช้วัสดุแบบตะวันตกนำมาสร้างสรรค์ได้อย่างโดดเด่นสมบูรณ์

เป็นที่ทราบกันดีว่าในสมัยที่สยามกำลังเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อจะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นอารยะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ทรงเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปหรือปฏิวัติระเบียบแบบแผนทางประเพณีต่าง ๆ ที่สืบทอดมายาวนานไปในรูปร่างและทิศทางใหม่ที่สอดคล้องกับอุดมคติใหม่จากโลกตะวันตก การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ดังกล่าวนี้ได้ส่งผลกระทบไปยังองค์ประกอบทุกส่วนในสังคมสยามไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและการดำรงชีวิต รวมถึงงานสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะวัดเบญจมบพิตรได้รับการอธิบายแต่เพียงว่าได้มีการผสมผสานวัสดุและเทคนิคบางอย่างจากตะวันตกเข้ามาเป็นส่วนประกอบเช่น มีการใช้หินอ่อนจากอิตาลีมาเป็นวัสดุบุผิวนอกอาคารหรือการเขียนสีบนกระจกหน้าต่างพระอุโบสถ อันส่งผลทำให้การรับรู้คล้ายกับบานกระจกสีของโบสถ์แบบฝรั่ง แต่สิ่งที่แผงอยู่ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรยังแสดงถึงความเชื่อ ค่านิยม และอุดมคติของสังคม ณ ช่วงเวลานั้นไว้ด้วย

นอกเหนื่อจากที่กล่าวมา พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ยังปรากฏสื่อสัญลักษณ์ไว้อย่างมากมายซึ่งผิดไปจากโบราณราชประเพณีนิยมที่จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับไตรภูมิ พุทธประวัติและชาดกทั้งหลาย สื่อสัญลักษณ์ที่ปรากฏนั้นล้วนแต่แสดถึงการเป็นศูนย์กลางของการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้เพียงเมืองหลวง หรือกล่าวให้ถูกคือ การรวมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้เพียงส่วนเดียวคือที่องค์พระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว ที่เรียกว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เป็นการดึงอำนาจการปกครองจากส่วนภูมิภาคมาไว้ที่ส่วนกลางตามจึงได้ที่ทำการปฏิรูปการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2435 หรือ ร.ศ.111 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกสถาปนาในรัชกาลที่ 5 นี้อย่างแท้จริง

ภาพจิตกรรมฝาผนัง

การเปลี่ยนแปลงทางความคิดในลักษณะนี้ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากภาพจิตรกรรมที่ถูกเขียนขึ้นภายใต้แบบแผนอย่างใหม่ภายในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ถือเป็นภาพสะท้อนอุดมคติเรื่องพื้นที่และเขตแดนสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือภาพเขียนภายในช่องคูหาผนังทั้ง 8 เป็นภาพเขียนที่เกิดจากความคิดของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถือว่าเป็นชนชั้นนำและความคิดก้าวหน้าสมัยแรกในยุคสมัยนั้น

ภาพเขียนทั้ง 8 ช่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกำหนดให้เขียนเป็น “จอมเจดีย์” ที่สำคัญของสยามทั้งหมด 8 องค์ โดยกำหนดให้เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2485 ภาพสถูปเจดีย์ทั้ง 8 องค์ ที่กำหนดให้เขียนขึ้นมีดังนี้

- พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

- พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช

- พระมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี

- พระศรีรัตนมหาธาตุเมืองเฉลียง

- พระมหาธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน

- พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

- พระมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย

- พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดนครศรีอยุธยา

ภาพเขียนสถูปเจดีย์ทั้ง 8 เป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อคือ

การเปลี่ยนแปลงลักษณะของจิตรกรรมจากที่เคยเขียนภาพในลักษณะเป็นอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง กลายมาเป็นเขียนภาพของเหตุการณ์ สถานที่ที่มีอยู่จริง มีสัดส่วนที่เหมือนจริง และการใช้สี รูปภาพสถูปเจดีย์ทั้งหมดนั้นต่างล้วนเป็นสถูปเจดีย์ที่มีอยู่จริงในพื้นที่ตามเมืองต่าง ๆ มิใช่สถูปเจดีย์ในอุดมคติหรือความเชื่อในตำนานอีกต่อไปเช่นที่มักเขียนตามฝาผนังพระอุโบสถทั่วไปในอดีต เช่น “กรุงลงกา” ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ “พระเจดีย์จุฬามณี” บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นต้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็คงทรงมีแนวคิดและความเชื่อดังกล่าวอย่างเต็มที่เช่นกัน จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เขียนภาพสถูปเจดีย์ที่มีอยู่จริงในประเทศสยามมากกว่าที่จะเป็นรูปสถูปเจดีย์ที่สำคัญเพียงในจินตนาการแบบอดีต

อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงในคติการครองพื้นที่ คือเมื่อเป็นเจ้าของสถานที่สำคัญในเมืองต่าง ๆ ก็หมายถึงการเป็นเจ้าของเมืองนั้นด้วย เจดีย์ที่ถูกวาดขึ้นยังถือว่าเป็นจอมเจดีย์ที่สำคัญในประเทศสยาม ซึ่งประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับมุมความคิดในเรื่องพื้นที่ถือครองและขอบเขตพระราชอาณาจักรตามอุดมคติแบบใหม่ที่ยึดขอบเขตดินแดนตามที่เป็นจริง มิใช่ขอบเขตที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเพียงแต่ในนาม ภาพเขียนสถูปเจดีย์ทั้ง 8 เป็นภาพสะท้อนการถือครองพื้นที่ในอุดมคติใหม่ของสยามที่แสดงขอบเขตของอาณาจักอย่างชัดจริง

ภาพสถูปเจดีย์ทั้งหมดจึงเป็นการแสดงอุดมคติเรื่องพื้นที่และอาณาเขตที่เป็นจริงตามความคิดแบบตะวันตก เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระราชอำนาจและพระราชอาณาเขตของประเทศสยาม โดยใช้สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมทางศาสนาที่สำคัญของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นตัวชี้ ถึงแม้ว่าจะมิได้เป็นตัวการกำหนดชี้ชัดลงไปในรายละเอียดที่ถูกต้องแบบแผนที่ก็ตาม

พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช

พระมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี

พระศรีรัตนมหาธาตุเมืองเฉลียง

พระมหาธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน

พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

พระมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย

พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดนครศรีอยุธยา

อ้างอิง

ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม : สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. กรุงเทพฯ : มติชน. 2547.

__________. พระพุทธชินราช ในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.

ชลธีร์ ธรรมวรางกูร, ทรงวิทย์ แก้วศรี, บรรณาธิการ. ประมวลเอกสารสำคัญเนื่องในการสถาปนา

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535.

__________. ประวัติวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม. กรุงเทพฯ : วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม, 2543.

__________. “พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม,” ใน ศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (มีนาคม – เมษายน 2543)

สมัย สุทธิธรรม. วัดในกษัตริย์ 9 รัชกาล. กรุงเทพฯ : นครสาส์น, 2553.

สันติ เล็กสุขุม. ข้อมูลกับมุมมอง : ศิลปะรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2548.

สื่อออนไลน์

หมายเลขบันทึก: 493875เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2012 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2016 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นบันทึกที่ข้อมูลแน่นมากครับ...และศิลปะมากครับ

  • ได้ความรู้ล้วน ๆ จ้ะ
  • ขอบคุณมาก ๆ 
  • ขอบพระคุณ ในสาระความรู้ดีๆ ที่แบ่งปันให้

สุดยอดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท