การจัดการความรู้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง


เป็นโอกาสดีมากที่ได้มาทำกิจกรรมนี้เพราะเวลาทำงานจะยุ่งมากจนไม่ค่อยได้คุยกัน ทำให้มัวมองแต่เรื่องงานของตนเอง จนลืมดูภาพรวมของสำนักงานไป

                 ผมได้รับเชิญจาก สสจ.ลำปางให้ไปบรรยายการจัดการความรู้ให้ในเดือนสิงหาคม แต่ผมไม่มีเวลาในวันราชการเลย จึงต้องไปในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งจังหวัดลำปางเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยชีวติให้กับผม ผมเรียนรู้การทำงานหลังจบแพทย์ที่ มช. อยู่ที่ลำปาง 4 ปี ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่บ้านตากจนถึงปัจจุบัน

                ทางทีมงานผู้จัด อยากให้ผมอยู่ช่วยในการจัดทำแผนการจัดการความรู้ของทีมงานแต่ละอำเภอด้วยอีก 1 วันแต่ผมไม่สามารถอยู่ร่วมได้เพราะติดบรรยายต่อที่สำนักหอสมุด มช. จึงได้แนะนำให้ทีมงานจัดทำกันเอง และทางพี่รุ่งนภา หัวหน้าทีมผู้จัดได้เล่าให้ผมฟังว่าแต่ละอำเภอสามารถจัดทำแผนของตนเองได้

                การบรรยายจัดที่ห้องประชุมของโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง แม้จะเป็นวันหยุดแต่ผู้เข้ารับการอบรมก็มากันครบ ผมใช้เวลาช่วงเช้าเล่าให้ฟังเรื่องการจัดการความรู้ทั้งระบบและช่วงบ่ายเป็นการจัดกิจกรรมกลุ่มโดยฝึกใช้เครื่องมือชุดธารปัญญาเพื่อเปรียบเทียบงานกันในระหว่างอำเภอ ระหว่างโรงพยาบาล โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคือกลุ่มโรงพยาบาล 2 กลุ่ม กลุ่ม สสอ.และสอ. 2 กลุ่ม อีกกลุ่มหนึ่งเป็นทีมงานของ สสจ.เอง มีวิทยากรกลุ่ม 4 คนคือผม เอ้ ปูและป้อม ตอนแรกปิย์ว่าจะมาด้วยแต่ก็ติดภารกิจสำคัญ (ดูฤกษ์แต่งงาน) จะตามไปสมทบที่เชียงใหม่ในวันรุ่งขึ้นแทน ก่อนเริ่มกิจกรรมช่วงบ่ายก็ได้ฉายวีซีดีรงพยาบาลบ้านตากที่ สคส.ทำไว้ ให้ผู้เข้าอบรมดูด้วย

                ผู้เข้ารับการอบรมทุกกลุ่มให้ความร่วมมือดีมาก กลุ่มโรงพยาบาลทำเรื่องที่สามารถวัดคุณภาพของงานได้ ส่วนของ สสอ/สอ กลุ่มหนึ่งทำเรื่องมาตรฐานPCU อีกกลุ่มทำเรื่องการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก ส่วนทีม สสจ.ทำเรื่องการนิเทศงานที่มีประสิทธิผล

                กว่าจะเสร็จสิ้นกิจกรรมก็ 5 โมงเย็นพอดี ทีมงานของ สสจ.ลำปางเอง หลังจากทำกิจกรรมกลุ่มแล้วก็เริ่มมองออกว่าแม้รูปแบบงานที่รับผิดชอบจะแตกต่างกัน แต่ก็สามารถที่จะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนหรือกำหนดตัวเปรียบเทียบงานร่วมกันได้ และเป็นโอกาสดีมากที่ได้มาทำกิจกรรมนี้เพราะเวลาทำงานจะยุ่งมากจนไม่ค่อยได้คุยกัน ทำให้มัวมองแต่เรื่องงานของตนเอง จนลืมดูภาพรวมของสำนักงานไป ผมก็คิดว่าหลายหน่วยงานก็คงเป็นอย่างนี้ คนทำงานแต่ละคนมัวแต่วุ่นวายเร่งรีบจะทำงานที่ตนเองรับผิดชอบให้ได้ดีที่สุดโดยลืมมองไปว่าที่ทำกันทุกวันนี้ใช่ความสำเร็จที่องค์กรต้องการจริงหรือไม่ ยิ่งทำไปยิ่งรู้สึกว่างานมันมากจนไม่มีเวลาให้ใคร ใส่ใจใคร ยิ่งทำความสัมพันธ์ยิ่งเหินห่างกันไปเรื่อยๆ

                กิจกรรมการจัดการความรู้จึงเป็นสื่อหรือเวทีให้ได้มาพบ มาเจอ มาพูดคุยกัน ความสัมพันธ์ที่เริ่มห่างหายก็ย่างกรายเข้ามาใกล้กัน จากที่ผมเคยพูดเสมอว่า การจัดการความรู้จะสำเร็จได้ จะต้องจัดการความรักให้ดีก่อน เพราะการจัดการความรู้เป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคน พอมาตอนนี้กลับเริ่มคิดใหม่ว่า ไม่ใช่การจัดการความรักจะนำไปสู่การจัดการความรู้เท่านั้น แต่ขณะมีการจัดการความรู้กลับทำให้เกิดกระบวนการจัดการความรักร่วมไปด้วย เลยชักไม่แน่ใจว่าอะไรจะมาก่อนกัน อาจจะคล้ายๆคำถามโลกแตกว่า ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน

                การไปบรรยายที่ลำปางครั้งนี้ ผมก็ได้ถือโอกาสพาภรรยาและลูกๆไปบ้านคุณตาคุณยายด้วย พาเด็กๆไปเทียวเล่นของเล่น และที่สำคัญได้พาคุณแม่ผมเอง ไปตรวจกับเพื่อนคือหมอเจฟ (หมอณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์) ศุลยแพทย์กระดูกและหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและวิชาการ ของโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง เนื่องจากคุณแม่ล้มและได้ทราบว่ามีปัญหาเรื่องกระดูกพรุนซึ่งได้รับคำอธิบายที่ดีและรับยาที่จำเป็นต้องใช้มาด้วย
หมายเลขบันทึก: 49337เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2006 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากทราบกระบวนการที่เป็น KM สู่การปฏิบัติ...อยากให้คุณหมอเล่าถึงกระบวนการดังกล่าวให้ได้เรียนรู้ด้วยนะคะ...เพราะตอนนี้กะปุ๋มกำลังศึกษาในกระบวนการ KM สู่การปฏิบัติในการใน รพ. และ สสจ. คะ...ว่าน่าจะมี best practice ที่ดีและเหมาะสมอย่างไร...ขอเรียนรู้จากที่คุณหมอดำเนินการด้วยนะคะ

ขอบคุณคะ

*^__^*

กะปุ๋ม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท