สาเหตุที่ทำให้ลูกน้องหมดความเชื่อถือในตัวหัวหน้า


ความเชื่อถือที่ลูกน้องมีต่อหัวหน้านั้นมีความสำคัญมากในการบริหารงาน เพราะจะทำให้ลูกน้องมีความยินดีและเต็มใจที่จะทำงานให้ รวมทั้งยังสามารถสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้องคนนั้นทำงานให้กับลูกพี่ด้วยความเชื่อใจอีกด้วย แต่ทำไมหัวหน้าอีกหลายคน ถึงบ่นว่า การที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกน้องนั้นมันยากเหลือเกิน อีกทั้งหัวหน้าบางคนยังรู้สึกว่าตนเองสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับลูกน้องได้ แต่จริงๆ แล้วลูกน้องกับรู้สึกตรงกันข้าม ลองมาดูว่าสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ลูกน้องหมดความเชื่อถือในตัวหัวหน้าบ้าง

  • ไม่กล้าตัดสินใจ ถ้าหัวหน้าเป็นคนประเภทไม่กล้าที่จะตัดสินใจในหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ ก็จะไม่สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับลูกน้องของตนได้เลย หัวหน้าบางคน เวลาที่จะต้องตัดสินใจ ก็ไม่กล้า และผลัดวันประกันพรุ่งออกไปเรื่อยๆ ลูกน้องก็ไม่สามารถทำงานต่อได้ เพราะลูกพี่ไม่ยอมตัดสินใจซะที สุดท้ายก็เลยหมดความเชื่อถือในตัวหัวหน้า
  • ใช้อารมณ์มาก่อนเหตุผล หัวหน้าประเภทนี้ก็คือ เอาอารมณ์ของตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่สนใจว่าลูกน้องจะรู้สึกอย่างไร แต่ถ้าตนเองรู้สึกไม่ได้ ก็จะใส่เต็มที่ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “จัดเต็ม” ก็คือ ใส่มาทั้งชุด ทั้งคำด่า คำตำหนิ คำประชดประชัน ฯลฯ เอาแบบให้สะใจตัวหัวหน้า โดยไม่สนใจว่าลูกน้องจะรู้สึกอย่างไรหรือ จะเกิดผลอะไรตามมา หัวหน้าแบบนี้ก็ยากที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นได้
  • เอาดีเข้าตัวเอาชั่วเข้าลูกน้อง หัวหน้าแบบนี้จ้องที่จะสร้างผลงานที่ดีใส่ตัวเอง โดยไม่สนใจว่าที่มาของผลงานที่ดีนั้นมาจากลูกน้องของตนเอง เรียกได้ว่า เวลานำเสนองาน ถ้ามีแต่คนชื่นชมผลงานนั้น ก็จะพยายามบอกคนอื่นว่านี่คือผลงานของตนเอง แต่ถ้าผลงานชิ้นนั้นออกมาแล้วไม่เข้าตาเลย ก็จะพยายามบอกคนอื่นว่า ผลงานนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาคิด แต่เป็นลูกน้องคิดออกมา เพื่อที่จะผลักสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากตัวเองให้มากที่สุด ลักษณะหัวหน้าแบบนี้ไม่น่าจะมีลูกน้องคนไหนที่ชอบ หรือให้ความเชื่อถือเลย
  • หวงวิชา หัวหน้าอีกประเภทหนึ่งที่ไม่เคยมีลูกน้องคนไหนเชื่อถือเลยก็คือ หัวหน้าประเภทหวงวิชา ก็คือตนเองเป็นหัวหน้าที่เก่ง มีความรู้ในการทำงานอย่างดี มีความเชี่ยวชาญ แต่กลับไม่ค่อยยอมสอนเทคนิคการทำงานเหล่านั้นให้กับลูกน้องของตน โดยคิดไปเองว่า ถ้าสอนไปแล้ว ตนเองก็จะหมดความสำคัญไป และกลัวลูกน้องจะเก่งกว่า และประสบความสำเร็จมากกว่าตนเอง ก็เลยกั๊กความรู้ทั้งหมดที่มีไว้กับตนเอง ลูกน้องที่ทำงานกับหัวหน้าแบบนี้ก็จะไม่เคยได้รับการพัฒนาอะไรเลย ทำอะไรก็ทำอยู่อย่างนั้น ไม่เคยเก่งขึ้น ผิดก็ผิดอยู่แบบนั้น ลูกน้องเองก็คงค่อยๆ หมดความเชื่อถือในตัวหัวหน้าลงไปเรื่อยๆ
  • ไม่เคยฟังสิ่งที่ลูกน้องพูด หัวหน้าแบบนี้ มักจะเชื่อว่าตนเองเป็นนักฟังที่ดี เวลาที่ลูกน้องมาพูดอะไรให้ฟัง ก็มักจะทำทีเป็นฟังอย่างตั้งใจ และพยายามที่จะทำให้ลูกน้องรู้ว่าเขากำลังฟังอยู่ โดยมักจะพูดคำว่า “เข้าใจ เข้าใจ” แต่จริงๆ แล้วไม่เคยคิดจะเข้าใจในสิ่งที่ลูกน้องสื่อมาเลยด้วยซ้ำไป เวลาที่ลูกน้องพูดจบ ก็มักจะถามลูกน้องว่า “ประเด็นเมื่อกี้นั้นช่วยเล่าให้ฟังอีกทีนะ” เป็นแบบนี้ซ้ำๆ จนลูกน้องก็เริ่มระอา และไม่อยากที่จะเอาเรื่องราวต่างๆ มาคุยกับหัวหน้าอีกเลย เพราะขาดความเชื่อถือในตัวหัวหน้านั่นเอง

ทั้ง 5 ข้อนี้เป็นความคิดเห็นของคนที่เป็นลูกน้องที่ให้ความเห็นว่า หัวหน้าแบบไหนที่ตนเองไม่อยากทำงานด้วยมากที่สุด ซึ่งผมได้มาจากการสัมมนากับกลุ่มผู้เข้าสัมมนา ซึ่งเป็นความเห็นที่น่าสนใจ และคนที่มีหน้าที่เป็นหัวหน้างานทุกคนควรจะนำไปลองพิจารณาตนเองว่าตนเป็นอย่างที่กล่าวมาบ้างหรือไม่ จริงๆ แล้วต้องพิจารณาตนเองอย่างเป็นกลางที่สุด ไม่เข้าข้างตนเอง หรือคิดไปเอง แล้วเราจะเห็นจุดอ่อนของการเป็นหัวหน้าของเราเอง และจะได้พัฒนาให้เป็นหัวหน้างานที่ดีขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ครับ

หมายเลขบันทึก: 493092เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2012 06:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2012 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยทุกประการ ครับ

ไม่เคยฟังสิ่งที่ลูกน้องพูด

 เอาดีเข้าตัวเอาชั่วเข้าลูกน้อง

ใช้อารมณ์มาก่อนเหตุผล

ไม่กล้าตัดสินใจ

วิสัยทัศน์แคบ

พูดมาก

บ้ายศ

โดนใจอย่างแรงขอแช์ต่อใน fb หน่อยนะค่ะ

โดนมาก ๆ ขอแชร์ต่อด้วย

  • ขอบคุณครับ
  • ขออนุญาตนำความคิดนี้ไปเผยแพร่นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท