บ้านนครนายก : หน้าร้อน-เริ่มฝน 2555


ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปมากจริง ๆ

พี่-น้องของดิฉันที่ไปอยู่นอกจังหวัดนครนายก ถือเป็นกิจวัตรที่จะต้องกลับบ้านไปเยี่ยมแม่อย่างน้อยเดือนละครั้ง บางครั้งก็ไปกันเฉพาะลูก ๆ บางครั้งก็มีหลานเหลนตามไปด้วย หากนาน ๆ ไปเจอที บางครั้งแม่ก็จะนึกชื่อหลานไม่ออก ก่อนเราจะกลับแม่จึงมักจะบอกว่า “แล้วมาหาแม่อีกนะ แม่จะได้ไม่ลืม”

เมื่อเดือนมีนาคมแม่ป่วยเป็นหลอดลมอักเสบ ต้องเข้านอนรักษาตัวที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เกือบ 1 สัปดาห์ หลังจากอาการดีขึ้นเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านนครนายก ช่วงนั้นอากาศร้อนมาก หลานชาย ลูกของพี่สาว เป็นห่วงยายว่าจะร้อนจนมีผลต่อสุขภาพ เนื่องจากช่วงนั้นมีข่าวผู้สูงอายุเสียชีวิตจากอากาศร้อน จึงขอให้แม่ไปจัดการทำห้องและติดแอร์ให้ยายอยู่

ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยคิดเลยว่าบ้านนอกของเราจะต้องมาติดแอร์เพราะร้อน ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปมากจริง ๆ สมัยที่เป็นเด็กที่บ้านของเราไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา กลางวันในช่วงหน้าร้อนเราก็ลงมาเล่นกันที่ใต้ถุนบ้าน ร้อนมากก็ใช้พัดสาน (สานด้วยตอกไม้ไผ่) พัดโบกบรรเทาร้อน หรือทาแป้งน้ำที่ทำให้รู้สึกเย็น

น้ำท่วมมากมายแบบปีที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็น หน้าน้ำทุกปีเราใช้เรือเป็นพาหนะเดินทาง กุ้ง ปู ปลาอุดมสมบูรณ์ นั่งตกเบ็ดอยู่บนบ้านก็ได้ปลาพอเป็นอาหารแล้ว ช่วงน้ำลดก็สามารถลอยคอช้อนกุ้งช้อนปลาได้สบาย ช่วงเข้าหน้าหนาวชาวบ้านออกหาปลากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ปลาเล็กปลาใหญ่มีมากมายจริงๆ ตอนเป็นเด็กเบื่อที่ถูกปลุกให้ตื่นแต่เช้า พ่อแม่ให้มาช่วยกันเสียบปลาเนื้ออ่อนเป็นแผง ๆ ทำปลาย่างรมควันแล้วตากแดดเป็นปลากรอบเก็บเอาไว้กินได้นาน ๆ สภาพแบบนี้ปัจจุบันไม่มีแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่พบคือแถวบ้านของเรามีนกกระจาบมาอาศัยอยู่เยอะมาก แต่ก่อนไม่เคยเห็นเลย ตอนนี้มีรังนกกระจาบตามต้นไม้ใกล้บ้านและในสวนจำนวนมาก น้องสาวบอกว่านกกระจาบจะเอาหญ้าคามาทำรัง เราเห็นนกกำลังทำรังใหม่ ซ่อมรังเก่า (รู้เพราะสีของหญ้าต่างกัน) ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวเชียว

 

รังนกกระจาบบนต้นขี้เหล็ก

 

หลังจากเราทำห้องเล็ก ๆ และติดแอร์ให้แม่ แม่ก็อยู่ได้สบายขึ้น แถมห้องแอร์เย็นสบายช่วยดึงดูดให้ลูกหลานที่อยู่ใกล้เคียงหลบร้อนแวะเวียนมาพูดคุยให้ไม่เงียบเหงา เราดูจนแน่ใจว่าแม่สบายดีแล้วจึงพากันไปเที่ยวหาลูกชายที่อเมริกาเสีย 2 สัปดาห์ เมื่อกลับมาเราก็ไปหาแม่อีกครั้ง เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน ลองเอาสูตรและเตาทำขนมครกของลูกชายจากอเมริกาไปทำให้แม่กินด้วย

เราคาดหวังขนมครกที่ทำที่บ้านนครนายกน่าจะอร่อยมาก ๆ เพราะเราใช้กะทิจากมะพร้าวน้ำหอมในสวนสด ๆ แต่ผิดคาดเนื่องจากดิฉันจำสูตรแป้งไม่ค่อยได้ แถมเตาไฟฟ้าที่ใช้มีความร้อนไม่สม่ำเสมอ ขนมครกที่ทำจึงมีลักษณะและรสชาติค่อนข้างไปทางขนมถ้วยเสียมากกว่า มีแต่พวกเหลน ๆ ลูกของหลานสาวที่บอกว่าขนมอร่อยเหลือเกิน แวะเวียนมาขอเพิ่มจนหมด

 

ขนมครกที่คล้ายขนมถ้วย

 

ที่กลายเป็น tradition เสียแล้วก็คือไปเยี่ยมแม่ทีไร เราจะต้องทำกับข้าวเอากลับไปบ้านที่กรุงเทพฯ ด้วย เมนูหลักคือแกงขี้เหล็กใส่ปลาช่อนย่าง และน้ำพริกปลาร้า ซึ่งพี่สาวคนที่ติดกับดิฉันทำได้อร่อยมาก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมาดิฉันและสามีก็ไปเยี่ยมแม่กันอีก ครั้งนี้ลูกสาว ลูกเขย และหลานชายตัวน้อยไปด้วย พี่สาวคนที่มีฝีมือในการปรุงอาหารไม่ได้ไปด้วยเพราะไปเยี่ยมลูกสาวและหลานที่ประเทศนอร์เวย์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ดิฉันจึงต้องรับหน้าที่เป็นแม่ครัวเองมา 2 เดือนแล้ว คิดว่าฝีมือพอใช้ได้

ดิฉัน ลูกสาว ลูกเขย หลานชาย เข้าสวนไปเก็บขี้เหล็กพร้อมกับน้องสาว หลานชายตัวน้อยแวะชมดอกบัวในบ่อพร้อมยกมือกด like ให้ด้วย

 

 

หลานชายลุยสวน

 

นี่แหละดอกขี้เหล็ก

 

 

เมื่อได้ยอดและดอกขี้เหล็กเพียงพอ เราก็แวะตัดมะพร้าวอ่อนและกล้วยน้ำว้าที่แก่แล้วมาด้วยเหมือนทุกครั้ง น้ำมะพร้าวอ่อนลูกไหนมีรสชาติดีลูกสาวก็จะเอาให้หลานชายดื่มด้วย

 

มะพร้าวอ่อนจากสวน

 

แกงขี้เหล็กคราวนี้มีดอกตูม ๆ ผสมด้วย พี่สาวคนที่สามของเราบอกว่าสัดส่วนระหว่างใบและดอกขี้เหล็กควรจะเท่า ๆ กัน แต่ดอกขี้เหล็กอยู่บนต้นสูงเกินกว่าจะเก็บได้ สอยมาได้แค่ 2 ช่อเท่านั้น

ตอนนี้น้องสาวและน้องชายเริ่มปลูกต้นมะม่วงกันใหม่ ดิฉันให้ลูกสาวซื้อไผ่หวานหนองโดนที่มีขายในงานเกษตรแฟร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปให้ปลูกด้วย 3 กอ น้องชายเริ่มเอาลูกปลาไปปล่อยลงบ่อเลี้ยง คุยกันทีไรก็ยังบ่นเสียดายต้นไม้ที่ตายไปจากน้ำท่วม โดยเฉพาะมะยงชิด น้องสาวให้คนช่วยตัดต้นมะม่วงที่ตายแล้วจนหมด ลำต้นและกิ่งก้านเผาเป็นถ่านเอาไว้ใช้ในครัว

ทุ่งนาใกล้ ๆ สวนของเรามีสีเขียวของยอดข้าว เราหวังว่าหน้าฝนปีนี้คงจะมีน้ำฝนหล่อเลี้ยงต้นไม้ที่เราเริ่มปลูกใหม่ให้เจริญเติบโต

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 492913เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2012 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2012 13:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท