รู้ทุกขลักษณะของรัก รู้เอาประโยชน์จากทุกข์


ความรัก จัดเป็น ธรรม อย่างหนึ่งที่ตกอยู่ใต้ทุกขลักษณะ

Small_rosepostcard-3

คำว่า ธรรม นี้ ไม่ได้มีความหมายเพียงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หากหมายความรวมถึง ทุกสิ่ง เนื่องจากประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบคือ

ธรรมชาติ คือทุกๆสิ่งตามธรรมชาติทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม

"ตัวธรรมชาติแท้ๆ ดินฟ้าอากาศ ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่เป็นรูและนาม ที่เป็นรูปคือวัตถุ ที่เป็นตัวโลกเป็นของแข็ง กระทั่งสิ่งที่รู้ได้ด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยผิวกาย นี่เรียกว่าวัตถุ แม้แต่เสียง ภาษาบาลีก็เรียกว่ารูปกลิ่นก็เรียกว่ารูป คือพวกเป็นวัตถุที่เราเห็นได้ง่ายๆ ก็เอาอย่างนี้ แผ่นดิน ต้นไม้ แผ่นฟ้า ภูเขา ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฯลฯ เป็นวัตถุ เป็นรูป นี้พวกหนึ่ง

อีกพวกหนึ่งเป็นนาม คือเป็นจิตใจ หมายถึงความรู้สึก นึกคิด คือตัวจิตที่คิดนึก อย่างนี้เรียกว่านาม"

พุทธทาสภิกขุ ทำอย่างไรจึงว่างและอยู่เหนือโลก หน้า ๗

สัจจธรรม อันหมายถึงกฎธรรมชาติ ซึ่งก็คือ

...กฎธรรมชาติ อันนี้ไม่เป็นตัวเป็นตน เป็นสัจจะอันหนึ่ง เรียกว่า กฎ เช่น ความที่โลกนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ก็เรียกว่ากฎธรรมชาติ หรือว่าโลกนี้ สิ่งต่างๆนี้แหละจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แก้ไขไม่ได้ บังคับไม่ได้โดยบุคคลใด นี้เรียกว่ากฎธรรมชาติ คือว่าการที่มันจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นแหละ เป็นความหมายที่สำคัญที่สุด

กฎอีกอย่างหนึ่ง ที่น่ากลัว ก็คือ มันไม่หยุด มันปรุงแต่งกันเรื่อย เรามองไม่ใคร่เห็นว่า มันปรุงแต่งกันเรื่อย.....นี้เรียกว่ากฎธรรมชาติ รวมอยู่ในคำว่าโลก

พุทธทาสภิกขุ ทำอย่างไรจึงว่างและอยู่เหนือโลก หน้า ๗-๘

ปฏิปัติธรรม คือหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ ตั้งแต่ตามสัญชาตญาณ จนถึงการพ้นไปจากวัฏฏะ

"นับแต่เราต้องแสวงหาอาหาร ต้องบริหารร่างกาย ต้องเยียวยาความเจ็บไข้ ไหนจะต้องสืบพันธุ์ ไหนจะต้องหนีอันตราย ไหนจะต้องขวนขวายดับความทุกข์นานาประการ กระทั่งทุกข์ดับหมด นี้ เป็นหน้าที่ตามกฎธรรมชาติซึ่งเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงมีหน้าที่วุ่นวายเป็นประจำกันทุกคน"

พุทธทาสภิกขุ ทำอย่างไรจึงว่างและอยู่เหนือโลก หน้า ๘

วิปากธรรม คือผลของการปฏิบัติต่อกฎธรรมชาติ ปฏิบัติตามหน้าที่

"อันสุดท้าย เรียกว่าผลที่ได้รับ ได้รับมาเป็นเงินเป็นทอง เป็นข้าวของ เป็นเกียรติยศชื่อเสียง ฯลฯ อไรก็ตามทางฝ่ายโลกๆนี้ บางทีก็ถูกใจ บางทีก็ไม่ถูกใจ กระทั่งเราปฏิบัติหน้าที่ทางธรรมะสูงสุด เราก็ได้รับมรรค ผล นิพพานมา ก็เรียกว่าผลที่ได้รับตามธรรมชาติ"

พุทธทาสภิกขุ ทำอย่างไรจึงว่างและอยู่เหนือโลก หน้า ๘

Small_rosepostcard-2

ในฐานะของพุทธศาสนิกชนที่ยังเป็นผู้ครองเรือน ย่อมมีโอกาสได้พบกับความรัก แม้จะมีความรัก ก็ไม่ควรละทิ้งจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตมนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา

ความรักแบบหนุ่มสาวจัดอยู่เป็นธรรมชาติหนึ่งในธรรมชาติที่เรียกว่า กามราคะ และเพราะเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ดังที่ได้ยกคำบรรยายของท่านพุทธทาสขึ้นมาแล้ว จึงทำให้มีลักษณะของ ทุกขลักษณะ ด้วย เนื่องจาก ลักษณะของทุกข์ประกอบด้วย ๓ สิ่งดังนี้

ทุกขทุกขะ คือธรรมทั้งปวงที่เป็นตัวทุกข์ เช่น ตัวเรานี้ ความรู้สึกต่างๆ เช่นความสุข ความทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความต้องการ เป็นต้น

สังขารทุกขะ ทุกข์คือสังขาร คือเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ

วิปริณามทุกขะ ทุกข์คือความแปรปรวน เปลี่ยนแปลง มีเกิดเบื้องต้น มีดับเป็นที่สุด ด้วยเหตุนี้แม้แต่ความสุขจึงถูกจัดเข้าเป็นทุกข์ด้วย เพราะเกิดจากเหตุปัจจัย และมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา

โดยปกติแล้ว คู่รักมักจะอยู่บนทางรักด้วยความรู้สึก ๓ ลักษณะ คือ รักและมั่นใจในความรัก ว่าจะไม่มีวันแปรเปลี่ยนไป หรือ รัก แต่ก็เผื่อใจไว้ เพื่อว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงไปจะได้ไม่เสียใจมากนัก หรือ ไม่ตั้งความหวังในความรัก ว่าจะมั่นคงยาวนานแค่ไหน เพียงทำในวันนี้ให้ดีที่สุด

ความรักในลักษณะแรก เป็นการยึดมั่นในความรักมากเกินไป จึงมีโอกาสที่จะเสียใจในภายหลังได้มาก เพราะดังที่เรารู้มาแล้วว่า ความรักมีลักษณะของทุกขลักษณะ

ความรักในลักษณะที่สอง แม้จะยึดมั่นในความรัก แต่ก็มีการเผื่อใจไว้บ้าง ซึ่งก็คือมีความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลาทีมีความรักนั่นเอง จึงดูจะไม่ค่อยมีความสุขนัก

ความรักในลักษณะที่สาม ดูจะเป็นความรักที่มีความสุขที่สุด เพราะอยู่กับคนรัก กับความรัก บนพื้นฐานของความเป็นจริงในปัจจุบันเท่านั้น ไม่เอาความหวัง หรือ ความสุขไปผูกไว้กับอนาคตหรือกับสิ่งที่แปรปรวน ไม่แน่นอน และเนื่องจากทราบอยู่แล้วว่าทุกอย่างล้วนต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงเพียงสร้างเหตุปัจจัยให้สามารถประคองความรักไว้ได้

และควรมีความเห็นว่า หากมีเรื่องราวมากระทบใจเพราะความรัก ก็ให้ถือเอาประโยชน์จากเรื่องนั้นๆให้ได้ เช่น เมื่อมีการทะเลาะเบาะแว้ง ก็พยายามค้นหาสาเหตุและผลมาพิจารณาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในชีวิต เข้าใจใน ธรรมที่เป็นไปตามความหมายทั้ง ๔

Small_rosepostcard4

ดังนั้น ไม่ว่าเหตุการณ์ในความรักที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าดีหรือร้าย ก็จะได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นั้นๆได้ทั้งนั้น เมื่อปราศจากความหวาดระแวง มีทัศนคติในการถือเอาประโยช์แม้จากสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงในปัจจุบัน จึงมีความมั่นคงในการรับมือกับสิ่งต่างๆได้มากกว่าความรักในสองแบบแรก

เพราะมีธรรมบนทางรัก จึงเดินบนทางรัก และ อยู่ในโลกได้ อย่างไม่กระวนกระวายนัก จึงปฏิบัติหน้าที่ทั้งทางโลก และมีความเพียรในทางธรรมอย่างมีความสุขไปด้วยกัน

แม้จะทราบว่าเพราะมีความรัก มีความผูกพัน จึงไม่อาจพ้นวัฏฏะไปได้ แต่หากเพียรละอกุศลมูล มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ มีการเสียสละ มีสัจจะ เพียรสร้างปัญญาในธรรม แม้จะยังไม่พ้นไปจากวัฏฏะ แต่อย่างน้อยก็ไม่มีเหตุให้ไปเกิดในอบาย

เนื่องจากการปฏิบัติต้องค่อยๆเป็นไป ให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ ไม่เช่นนั้นจะพบกับความทุกข์

"ปฏิบัติให้ชอบต่อสมมุติ แต่ทางจิตใจนั้นต้องปฏิบัติผ่อนคลายความยึดถือให้เข้าถึงปรมัตถสัจจะ ดังเช่นทุกคนมีสมมุติสัจจะอยู่ด้วยกันหลายอย่าง เช่น เป็นหญิงเป็นชาย ชื่อนั่นชื่อนี่ มียศตำแหน่งอย่างนั้นอย่างนี้ และยังมีสมมุติอื่นๆอีกหลายอย่างหลายประการ เหล่านี้เป็นสมมุติสัจจะ ก็ต้องให้มีสมมติญาณ คือความหยั่งรู้ในสมมุติว่านี่เป็นสมมุติและเมื่อใครได้รับสมมุติอย่างไรก็ปฏิบัติไปให้เหมาะ เช่น เป็นหญิงหรือเป็นชายก็ปฏิบัติให้เหมาะแก่ภาวะของหญิงหรือชาย เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก ก็ปฏิบัติให้เหมาะแก่ภาวะนั้นๆ เป็นบรรพชิตก็ปฏิบัติให้เหมาะแก่ภาวะของบรรพชิต เป็นภิกษุ สามเณร คฤหัสถ์ อุบาสก อุบาสิกา ก็ปฏิบัติให้เหมาะตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ศึกษาให้รู้จักปรมัตถ์สัจจะด้วยว่า อันที่แท้จริงนั้น เป็นเพียงสมมุติแต่ละอย่าง"

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน หน้า ๑๑๐

เพราะการตัดวัฏฏะนั้นไม่ใช่ทำได้ด้วยความอยากหรือไม่อยาก แต่ทำได้ด้วยการปฏิบัติไปตามลำดับขั้น

เพราะฉะนั้น การบรรลุมรรคผลนิพพานดังนี้ จึงมิใช่ด้วยความปรารถนาหรือไม่ปรารถนา แม้จะปรารถนาก็บรรลุไม่ได้เพราะเป็นตัณหา วางความปรารถนาลงเมื่อใด เมื่อมรรคปฏิบัติสมบูรณ์แล้วก็บรรลุได้เมื่อนั้น ดังนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติแม้ว่าจะยังมองไม่เห็นว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานจะมีประโยชน์อะไร จะมีสุขอย่างไร แม้จะยังพอใจในการเวียนว่ายตายเกิด แต่เมื่อปฏิบัติไปๆ เมื่อถึงขีดสุดแล้ว การบรรลุก็จะเกิดขึ้นเอง"

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน หน้า ๑๕๕

.............................................................

7 ก.ค.2555

ปัญหาครอบครัวที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมนี้ เกิดขึ้นจริง เป็นมาช้านาน แต่ก็ยากที่จะสอบถามใครได้ง่ายๆ

ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ได้บรรยายไว้ตามที่ปรากฏในหนังสือมาลัยธรรม เล่มที่ 1 ว่า

คุณๆที่รักเหมือนญาติสนิท เดือนนี้ทั้งเดือนมีญาติทางธรรมมาเยี่ยม ส่วนมากมีเรื่องภายในครอบครัวมาปรึกษาแทบทั้งสิ้น จะมีเรื่องอื่นเพียง ๓ ๔ รายเท่านั้น เรื่องที่ถูกนำมาปรึกษาก็คือ ความไม่ปกติสุขเกิดขึ้น เมื่อคนใดคนหนึ่งในครอบครัวหันมาเรียนสมถะวิปัสสนาอย่างจริงจัง บางคู่แทบจะหย่ากันเลยก็มี เพราะความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน

ปัญหาความไม่เข้าใจนี้ จึงนำมาซึ่งบันทึกในชุดความรัก การเสพกาม กับการปฏิบัติธรรมเหล่านี้

เข้าใจว่าบันทึกนี้คงเป็นบันทึกสุดท้ายของชุดเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมแล้ว

หมายเลขบันทึก: 492844เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2012 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณที่ใหญ่ และน้องสมหญิงค่ะ ที่มาฝากร่องรอยไว้

แก้ไขบันทึกเพิ่มเติมค่ะ เพิ่งหาพบว่าพระสังฆราชบรรยายไว้ที่ไหน เลยนำมาเพิ่มไว้

ขอบคุณดอกไม้จากทุกท่านค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท