ขยายเครือข่าย ... ร่วมด้วยช่วยกัน ให้ สว. ฟันดี ภาคอีสาน (3) 9 หน่วยงานต้นแบบ ให้ได้ ลปรร.


จากเวที สรุปได้ว่า ความสำเร็จของต้นแบบตรงนี้ เกิดจากความร่วมมือสามประสาน เหมือนกับแม่น้ำสามสาย แม่น้ำสายหลัก คือ ชมรมผู้สูงอายุ แม่น้ำสายรองก็คือ ส่วนของระดับท้องถิ่น คือ รพ.สต และอำเภอ และแม่น้ำสายนโยบายอีกสาขาหนึ่ง คือ จังหวัด แม่น้ำ 3 สายนี้จะเป็นสายที่มีพลัง นำไปสู่ความสำเร็จ ในเรื่องของกิจกรรมที่ส่งเสริมผู้สูงอายุ ในเรื่องของการป้องกัน เรื่องของสุขภาพช่องปากนั่นเอง

 

อาจารย์ธนชัย อาจหาญ นำคุย ผู้แทน 9 หน่วยงาน เพื่อที่จะบอกเล่าประสบการณ์ การที่ได้เป็นชมรมผู้สูงอายุ หน่วยงานบริการ และ โรงพยาบาลต้นแบบ ว่า จะมีวิธีคิด วิธีดำเนินงาน และวิธีการจัดกิจกรรม ที่ไปถึงตัวผู้สูงอายุได้อย่างไร

มีชมรมผู้สูงอายุ 3 แห่ง ที่จะได้มาคุยให้ฟังว่า มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุอย่างไร

ชมรมผู้สูงอายุบ้านโสก อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ

ถามว่า เริ่มต้นเป็นมาอย่างไร อะไรมาดลใจให้ทำ หรือไปเจอปัญหาในชุมชนอย่างไร ถึงได้ทำให้ชมรมผู้สูงอายุ หรือคุณแม่มาทำในเรื่องนี้ เล่าให้ฟังหน่อยครับ

คุณแม่อุไรพร เล่าว่า … ชมรมผู้สูงอายุบ้านโสก มี 6 หมู่ ชมรมตั้งครั้งแรกวันที่ 1 สิงหาคม 2545 ดำเนินงานมาเรื่อยๆ จดทะเบียนเข้าเครือข่ายสาขาสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย เมื่อ 10 กันยายน 2545 อันดับที่ 39

เริ่มต้นทำกิจกรรมด้วยการรวมตัวกันออกกำลังกาย วันจันทร์ พุธ ศุกร์ ประมาณ 2548 พอปี 2549 ได้รับโครงการฟันเทียมพระราชทานจากคุณหมอ จาก รพ.คอนสวรรค์ ชวนเข้าร่วมกิจกรรมการดูแลสุขภาพช่องปาก ก็ OK และคัดเลือกสมาชิกแกนนำซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้ว พอคุณหมอไปชวนคุยก็ OK เลย เพราะว่า พร้อมอยู่แล้ว และเห็นปัญหาอยู่ว่า ผู้สูงอายุบางคนปวดฟัน ฟันโยก ฟันคลอน ชอบบ่นกันว่า ปวดฟันกินอาหารไม่ได้ จึงคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อยู่แล้ว

หลังอบรม วันที่ 11-12 มิถุนายน 2549  จึงจับกลุ่มออกเยี่ยมสมาชิก 223 คน แบ่งกันตรวจเยี่ยม ทำกันไปเริ่อยๆ ในกลุ่มจักสาน เวลาออกกำลังกาย เขาก็เลยมาทำกิจกรรมแปรงฟันกัน โดย ก่อนออกกำลังกาย จะสาธิตการแปรงฟันทุกครั้ง โดยใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม แปรงอันหนึ่งใช้ประมาณ 3 เดือน แล้วเปลี่ยน ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ได้กลุ่มไหนก็คุยกันไป พอมีเวลาก็เล่าให้ผู้สูงอายุฟัง ว่า กินหมากไม่ดีนะ ทำให้สุขภาพช่องปากไม่ดี เกิดเป็นมะเร็งช่องปากได้ง่าย เพราะว่า ที่ตำบลมีคนเคี้ยวหมาก ให้เปลี่ยนมา มาอมเกลือ ทำความสะอาดฟันทุกวัน และก่อนนอนให้แปรงฟัน

หลังจากเข้าชุมชนผู้สูงอายุ มีเวลาก็ชวนเพื่อนไปศูนย์เด็กเล็ก ไปเล่านิทาน สาธิตการแปรงฟัน ร้องเพลง แนะนำการแปรงฟันหลังอาหาร ก่อนนอน และเวลาอาบน้ำล้างหน้า ก็ต้องแปรงฟันด้วย

ชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองหิน ต.ศิลา อ.เมือง ขอนแก่น

คุณหมอที่ศูนย์อนามัยที่ 6 ขอนแก่น ได้มาจุดประกาย เรื่อง การรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน แนะนำให้ผู้สูงอายุมารวมกลุ่มกัน เริ่มจาก การตรวจฟันผู้สูงอายุ ในปี 2549 การดูงานตามที่ต่างๆ เพื่อเติมเต็มความรู้

ชมรมได้จัดกิจกรรมการแปรงฟัน และจัดตั้งกองทุนแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ราคาถูก ให้บริการชุมชน

มีสื่อเป็นเพลงหมอลำ ที่สร้างความเร้าใจให้ผู้สูงอายุในการทำกิจกรรม พร้อมทั้งมีการแสดง ประกอบเพลงหมอลำด้วย

แผนต่อไป ชมรมจะขยายเครือข่ายไปสู่ชุมชน ทั้งหมด 28 หมู่บ้าน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุน จาก อบต.ซิลา

ชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลบ้านเปือย อ.ลืออำนาจ อำนาจเจริญ

คุณพ่อเกิด ร่มเย็น เล่าว่า … บ้านเปือย มี 13 หมู่บ้าน มีสมาชิกที่เกาะกลุ่มกันแน่น 5 หมู่บ้าน ด้วยคำขวัญชมรมฯ “แก่อย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพ”

ชมรมฯ เกิดจาก มีผู้สูงอายุที่ดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองก่อน เริ่มแรก พ.ศ.2548 เข้าสมัครเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุของจังหวัดอำนาจเจริญ เครือข่าย ของท่านนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช ไปรับวิทยายุทธการออกกำลังกาย ไทเก้กจี้กง นำมาฝึกสมาธิผู้สูงอายุ ขอการสนับสนุนชุดออกกำลังกาย จากวัด ทำให้มีการออกกำลังกาย ทุกเช้าวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ตีห้า วันละอย่างน้อย 30 นาที

เมื่อจับกลุ่มกันเหนียวแน่น ทางหน่วยงานทั้ง 3 แห่ง รพ.สต. รพช. และ รพท. ได้มาพูดคุยให้ทำกิจกรรม เรื่องช่องปากด้วย

ที่ชมรมฯ มีการอบรมเรื่องการดูแลช่องปาก และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบต. ทุกปี ร่วมประกวดการแสดง ในงานผู้สูงวัยใส่ใจสุขภาพช่องปาก ของจังหวัด ได้รับรางวัลที่ 1 ทุกปี และตอนนี้ สมาชิกชมรมเริ่มเข้าไปทำกิจกรรม ในศูนย์เด็กเล็ก เข้าไปในวัดให้ความรู้พระคุณเจ้า และแจกยาสีฟัน

ปีนี้ได้คุยกับนายกฯ ว่า เวลาแจกเบี้ยยังชีพ จะให้แปรงฟันก่อนการจ่ายเงิน โดยเชิญมาวันละหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ให้ความรู้ และทำกิจกรรมแปรงฟัน

การทำกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุนี้ ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และชมรมผู้สูงอายุ จะรุกเข้าไปในการทำกิจกรรม และพบว่า เกิดกิจกรรมที่หลากหลาย

และช่วงนี้ เป็นกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ... กิจกรรมของ รพ.สต. ที่ไปส่งเสริมชมรมผู้สูงอายุ เริ่มต้นจากตรงไหน และทำเรื่องอะไรบ้าง

รพ.สต.คอกช้าง อ.สระใคร หนองคาย

เริ่มจาก มีการทำกิจกรรมชุมชน ลูกหลานฟันดีอยู่แล้ว ซึ่งส่วนมากเป็นผู้สูงอายุพาหลานมา เมื่อมีการจัดกลุ่มเสวนา หรือว่าสอนแปรงฟัน สังเกตว่า ผู้สูงอายุแปรงฟันตัวเองยังไม่คล่อง บางคนมีทัศนคติไม่ค่อยแปรงฟัน

พอเริ่มมีโครงการของจังหวัด ให้ รพ.สต. คัดกรองฟันเทียมพระราชทาน เห็นประจวบเหมาะ ว่า ถ้าผู้สูงอายุต้องเลี้ยงดูลูกหลาน เขาก็ต้องดูแลฟันของตัวเองให้ถูกต้อง ถูกวิธีก่อน ถึงจะไปสอนลูกหลานได้ดี เพื่อเป็นตัวอย่างที่ถูกต้องได้ จึงได้โอกาสทำเรื่องนี้ …เท่ากับเป็นการมองข้ามปัญหาไปสู่การปฏิบัติเลย

จึงมีการทำกิจกรรมตรวจคัดกรอง และให้ความรู้ ทัศนคติที่ดี แรกๆ ผู้สูงอายุไม่เห็นความสำคัญ และเมื่อได้รับความรู้ ทัศนคติก็เริ่มดีขึ้น

รพ.สต.บ้านจีต อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี

ที่นี่ ทำร่วมกัน จากการจุดประกาย ของ รพช. และ รพ.สต.

จากที่พบว่า ผู้ที่มารับบริการที่ รพ.สต. มีผู้สูงอายุเยอะ คิดว่า ผู้สูงอายุควรรู้จักการดูแลสุขภาพ จึงทำร่วมกันในตำบลบ้านจีต 6 หมู่บ้าน ทำเรื่อง ให้ผู้สูงอายุดูแลใส่ใจสุขภาพ เพื่อลดปัญหาการไปหาหมอ และให้มีความตระหนักเรื่องสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

ทำกิจกรรมที่ รพ.สต.บ้านจีต ทุกวันที่ 25 ของเดือน รำไม้พลองร่วมกัน

ปี 2550 เมื่อมีการดูแลสุขภาพกายแล้ว จึงให้ความรู้ ให้เขาใส่ใจเรื่องสุขภาพช่องปากเป็นอันดับต่อมา เพราะว่า ปากเป็นประตูสู่สุขภาพ ด้วยการตรวจสุขภาพช่องปาก ให้ความรู้ในการรับบริการ

เมื่อได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนทันตกรรม จึงจัดสถานที่ มีมุมสำหรับทำกิจกรรมแปรงฟันพร้อมกัน ทุกวันที่ 25 ทุกคนจะต้องพกแปรงสีฟันมาด้วย เพื่อที่จะแปรงฟันร่วมกัน

นวัตกรรมที่ทำ คือ หมอลำกลอน เพราะว่า ที่นี่เป็นหมู่บ้านหมอลำ และมีนวัตกรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ สมุดแปรงฟันก่อนนอน สำหรับผู้สูงอายุ ให้เขารักสมุด ใน 30 วัน หรือ 1 เดือน ให้เขาขีดว่า เขาแปรงฟันก่อนนอนวันไหนบ้าง และเขามาอวดกันทุกวันที่ 25

ตอนนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก เทศบาลด้วย โดยนำงบประมาณมาให้หมู่บ้านทำอาหารเลี้ยง สลับกันคนละเดือน รับประทานอาหารเสร็จ แปรงฟัน จับคู่ตรวจฟัน แล้วค่อยให้กลับบ้าน

ความสำคัญของกิจกรรมที่ รพ.สต. ก็คือ บทบาทของ รพ.สต. ที่เป็นผู้สร้างความสัมพันธ์ และกระตุ้นให้เกิดการทำกิจกรรม และการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ให้ชุมชนมีความรู้สึกว่า เขาเป็นเจ้าของ และเชื่อมโยงทุกเครือข่ายมาร่วมทำกิจกรรม ตั้งแต่ เทศบาล อบต. ผู้นำชุมชน

ระดับอำเภอ … รพ.ภูเขียว

เห็นในส่วนของชมรมฯ ลุกขึ้นมาทำ ในส่วนระดับอำเภอ เป็นอย่างไรบ้าง

เริ่มจากได้รับนโยบายจาก สสจ. เน้นโครงการชุดสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรม เพื่อส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากผู้สูงอายุ มาตกลงกันว่า ภูเขียวมีชมรมผู้สูงอายุเข้มแข็งอยู่แล้ว 1 ชมรม จึงเริ่มต้นจากชมรมเข้มแข็ง เพราะว่า ผู้สูงอายุมีความสนใจเรื่องการดูแลสุขภาพเป็นทุนเดิม คือ การออกกำลังกายไทเก้ก รำไม้พลอง เมื่อติดต่อประสานงานไป คุณตาก็มีความสนใจในเรื่อง สุขภาพช่องปาก

กิจกรรม เริ่มต้นด้วยการสอนให้ความรู้ ฝึกการดูแลสุขภาพช่องปาก ทำให้ปรับทัศนคติของผู้สูงอายุเรื่องการแปรงฟัน การไม่ใช้แปรงสีฟันขนแข็ง และไม่ใช้บริการฟันปลอมเถื่อนได้

มีกิจกรรมการรวมกลุ่ม เช่น แลกเปลี่ยนความรู้ ซักถามปัญหาจากเจ้าหน้าที่ และย้อมสีฟันก่อนการแปรงฟัน

ผู้สูงอายุสนุกสนาน เริ่มเห็นความสำคัญของการแปรงฟัน การดูแลช่องปาก ว่า ต้องเอาใจใส่ ฟันของเราจึงจะอยู่กับเราได้ตลอดชีวิต รวมทั้งเรื่องของกิจกรรมฟันเทียมพระราชทานด้วย

และได้ขยายการทำกิจกรรมออกไปที่ รพ.สต. ที่มีทันตาภิบาลอยู่ด้วย โดยให้ความรู้ในลักษณะเดียวกัน คือ การแปรงฟัน ตรวจฟัน ขูดหินปูน ทาฟลูออไรด์ตามชุดสิทธิประโยชน์ รพ.สต. จะเป็นเหมือนตัวแทนของเรา เมื่อผู้สูงอายุมีข้อปัญหา เขาก็จะเป็นคนแรกๆ ที่ screen หรือแก้ปัญหา ถ้าทำไม่ได้ จะส่งมาที่โรงพยาบาล

ระดับจังหวัด ... ศรีสะเกษ

เป้าหมายที่อยากจะเห็นในระดับจังหวัด คืออะไร

ก่อนเป้าหมาย … ศรีสะเกษเป็นจังหวัดค่อนข้างใหญ่ ประชากร ล้านสี่ ผู้สูงอายุเกือบ 15% มี 4 ภาษา ส่วย เยอ เขมร ลาว แต่ละภาษาต้องมีล่าม

โครงการนี้ได้ทำจริงจังเมื่อปี 2550 คิดกันว่า น่าจะมี ชมรมผู้สูงอายุต้นแบบที่เกี่ยวกับฟัน ที่โดดเด่น และดีเด่น สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นต้นแบบที่ดีได้

ชมรมผู้สูงอายุบึงบูรพ์ ทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากมาตั้งแต่ปี 2550 มีการดำเนินงานต่อเนื่อง และได้ที่ 1 ระดับเขต ในปี 2552 และปีที่ผ่านมาได้ตั้งเป้าหมาย จะต้องมีต้นแบบชมรมผู้สูงอายุอำเภอละ 1 ชมรม ตอนนี้ได้ครบเต็มทุกอำเภอแล้ว

ในปีงบประมาณต่อไป จะขยายไปสู่ รพ.สต. ซึ่งมี 255 แห่ง มี 92 รพ.สต. ที่มีทันตาฯ อยู่ เป้าหมายแรก จึงเป็น 92 แห่งที่มีทันตาภิบาล และจะขยายให้ครอบคลุม ส่วนที่ไม่มีทันตาฯ ด้วยการ จัดกิจกรรมพูดคุย ลปรร. ทุกปี ร่วมกับจัดสรรงบประมาณจากกองทุนทันตกรรม สนับสนุนให้ชมรมคิดดำเนินการต่อไป

ศรีสะเกษ ทำบทบาทในเรื่อง การสนับสนุน การเชื่อมโยง การพัฒนา ยกระดับ ทำให้เป็นศูนย์เรียนรู้ การจัดเวทีแลกเปลี่ยน และประชาสัมพันธ์ด้วย

ระดับจังหวัด ... จังหวัดบุรีรัมย์

จังหวัดตั้งเป้าหมายการดำเนินงาน 1 ชมรม 1 อำเภอ ผลงานที่ได้ คือ 22 อำเภอ 38 ชมรม ชมรมที่ทำผลงานได้ดี คือ อำเภอบ้านกรวด ซึ่งมีการดำเนินงานไปแล้วทุกตำบล โดยที่ คุณหมอสิริจรรยา กนกแก้ว จะมีการจัดประกวดในระดับอำเภอ เพื่อคัดเลือกมาประกวดในระดับจังหวัดเพื่อเป็นการกระตุ้นการจัดกิจกรรมในชมรม เรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ด้วย

ระดับจังหวัด ... โรงพยาบาลอำนาจเจริญ

โรงพยาบาลเป็นผู้ให้บริการ และเป็นหน่วยสนับสนุนเครือข่ายบริการด้วย

กิจกรรมเริ่มแรก คือ รับนโยบาย โครงการฟันเทียมพระราชทาน

โรงพยาบาลอำนาจเจริญเป็นโรงพยาบาลใหญ่ คนไข้เยอะมาก จึงจัดแบ่งการทำงาน ในรูปแบบ เน้น การจัดช่องทางด่วนให้ผู้สูงอายุ ที่เข้าโครงการฟันเทียมพระราชทาน ให้มีความสะดวก และเข้าถึงการบริการรวดเร็ว ตามเป้าหมายที่กำหนด

มีการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ผ่านชมรมผู้สูงอายุ ด้วยเป้าหมายของจังหวัด 1 อำเภอ 1 ชมรม มีการดำเนินงานพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ โดยเน้นชมรมเข้มแข็งเป็นทุน ด้วยเขามีการดำเนินงานที่ดีอยู่แล้ว ก็เน้นสุขภาพช่องปากเข้าไปด้วย ทำให้การดำเนินงานง่าย และสะดวกขึ้น

การจัดกิจกรรมของโรงพยาบาลจะมีทั้งด้านการรักษา และการส่งเสริมป้องกันทันตสุขภาพด้วย

เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ... จากวิทยากร

การรวมตัว หรือมาประชุม มาอบรม ที่อำเภอบ้านเปือย ทำได้อย่างไร ... มีวิธีการอย่างไรที่จะพาผู้สูงอายุมารวมตัวกันในจุดเดียว

ชมรมผู้สูงอายุบ้านเปือย ... เมื่อเราได้สมาชิกมา ก็สร้างข้อตกลงกันก่อนว่า เราจะออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 3 วัน จันทร์ พุธ ศุกร์ ถามว่า หนึ่ง จะเอาสถานที่ใด ตกลงกันคือ ศาลาวัด เพราะมีหลายหลัง สอง กำหนดเวลาใด เขากำหนด ตี 5

เมื่อถึงเวลา ผู้สูงอายุจะเดินกันมาเป็นกลุ่ม จากคุ้มต่างๆ เมื่อได้เวลา ก่อนออกกำลังกาย เราสวดมนต์ไหว้พระก่อน มารำไทเก้ก ชี่กง 3 ชุด ตอนนี้เพิ่ม รำไม้พลองด้วย

ระยะทางของชุมชน ไม่ห่างกันมาก มีเพียงถนนกั้น 5 หมู่บ้าน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 กม. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 60-70 คน

งบประมาณได้รับการสนับสนุนจาก รพ.สต.เปือย คนที่มา จะแจกเงินให้ซื้อนมถั่วเหลือง คนละ 5 บาท เพราะว่าถ้าทำมาเองหมดเร็ว (เอาไปเผื่อคนที่บ้าน) และเป็นการสนับสนุนแม่ค้า ที่รู้ว่า เวลาออกกำลังกายจะมีคนมาซื้อ

การส่งเสริมกิจกรรมในชมรมฯ

ที่ชมรมผู้สูงอายุบ้านเปือย ได้รับการสนับสนุนจากพัฒนาสังคม โดยไปประสาน ขอการสนับสนุนงบประมาณ นำมาซื้อเส้นไหมให้สมาชิก คนละ 2 กก. ให้ไปทอ ทอเสร็จส่งคืน 1 ชิ้น เป็นกิจกรรมส่งเสริมรายได้ ตอนนี้ เรากำลังบูมผ้าขาวม้า ผ้าลายผ้าขาวม้า รวมทั้งงบประมาณจาก ท่านนายก นำไปซื้อเส้นด้าย ให้กลุ่มแม่บ้านทอขาย เงินที่ได้ส่งคืนให้กองกลาง 50 เขาก็หมุนเวียนรายได้ ... ผู้สูงอายุก็ happy ได้ทั้งสุขภาพ ได้ทั้งเงิน

นี่ก็คือ ... กองทุนถ้าเราไม่มี ก็อาจดูเรื่องแหล่งทุนได้เช่นกัน

อาจารย์ธนชัย สรุปประเด็นตรงนี้ไว้ว่า

จะเห็นว่า การแลกเปลี่ยนจากเวทีของผู้มีประสบการณ์ครั้งนี้ เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่มีผู้ที่ประสบความสำเร็จนำมาถ่ายทอด ก็จะสามารถนำไปปรับทำในท้องถิ่นได้

จากเวที สรุปได้ว่า ความสำเร็จของต้นแบบตรงนี้ เกิดจากความร่วมมือสามประสาน เหมือนกับแม่น้ำสามสาย แม่น้ำสายหลัก คือ ชมรมผู้สูงอายุ แม่น้ำสายรองก็คือ ส่วนของระดับท้องถิ่น คือ รพ.สต และอำเภอ และแม่น้ำสายนโยบายอีกสาขาหนึ่ง คือ จังหวัด แม่น้ำ 3 สายนี้จะเป็นสายที่มีพลัง นำไปสู่ความสำเร็จ ในเรื่องของกิจกรรมที่ส่งเสริมผู้สูงอายุ ในเรื่องของการป้องกัน เรื่องของสุขภาพช่องปากนั่นเอง

รวมเรื่อง ขยายเครือข่าย ... ร่วมด้วยช่วยกัน ให้ สว. ฟันดี

 

 

หมายเลขบันทึก: 492745เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2012 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2012 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท