ComMedSci
วิทยาศาสตร์การแพทย์สู่ชุมชน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ปล่อย…...สุดใจ


      การได้ออกจากหน่วยงาน  ได้มาพบปะพูดคุยกับบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน  ที่หลาย ๆ  หน่วยงานและหลาย  ๆ  คนบอกว่า 

“เป็นหน่วยงานปลายน้ำ” 

เป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อย ๆ  ทุกครั้งที่ได้ยิน  ก็รู้สึกดีใจที่ใคร ๆ  ก็นึกถึงและเห็นคุณค่าของหน่วยงานนี้  จะว่าไปแล้วหน่วยงานนี้ก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมาย  มีเจ้าหน้าที่ประมาณ  3 – 5  คน  คุณทราบหรือไม่ว่า 

“ทำงานครบวงจร” 

ดูแลประชาชนไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันคนต่อเจ้าหน้าที่หนึ่งคน  ทุกครั้งที่ออกไปจะรู้สึกดี  และดีใจที่ยังมีคนที่ทำงานทุ่มเทได้ขนาดนี้  ทำงานแบบไม่คิดชีวิต  ซึ่งหลาย  ๆ  คนรู้จักในนามของ 

“สถานีอนามัย” 

แต่ในปัจจุบันก็จะคุ้นเคยกับคำว่า  “  รพ.สต.”  เสียมากกว่า 

         ในวันนี้ก็เช่นกันได้มีโอกาสได้พบกับคุณพี่อุทาน  เพ็งทอง  ทำงานอยู่ที่  รพ.สต.แพง  อ.โกสุมพิสัย  จ.มหาสารคาม  เป็นท่านหนึ่งที่ทำงานทุ่มทั้งกายและใจ  แบบมาประชุมก็อุตส่าห์หิ้วตัวอย่างยาแผนโบราณและน้ำผลไม้มาตรวจหาสเตียรอยด์  ซึ่งเป็นตัวอย่างที่กำลังระบาดอยู่ที่พื้นที่ 

สรุปผลก็คือน้ำผลไม้ตรวจไม่พบ  (ปกติก็ไม่พบอยู่แล้ว)

  แต่ยาแผนโบราณ  2  ตัวอย่าง  พบทั้ง  2  ตัวอย่าง 

กลายเป็นว่าเป็นยาที่ผลิตในพื้นที่  โรงงานใหญ่มาก 

เจ้าของโรงงานผ่านการเรียนรู้และจบหลักสูตรอย่างเป็นทางการ 

ฟังแล้วไม่ทราบว่าจะพูดอย่างไรดี  ประชาชนในพื้นที่ก็ซื้อทานกันเป็นว่าเล่น  ด้วยเหตุผลที่ว่าเศรษฐกิจในพื้นที่ดีอยู่แล้ว  ก็เลยถามว่า 

“พี่ใช้มาตรการจัดการอย่างไร” 

 คำตอบที่ได้ฟัง  แล้วต้องร้องอ๋อ  !  จริงด้วย  พี่อุทานบอกว่า 

“ หน้าที่เราไม่สามารถบอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี   แต่เรามีหน้าที่ให้ข้อมูลทั้งหมดกับคนไข้  ส่วนจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อย่างไรก็แล้วแต่คนไข้  เพราะถ้าห้ามมันก็เหมือนบังคับ  คนไข้ก็จะเกิดอาการ  “คาใจ”    บางครั้งเราก็ต้องปล่อย  แต่เราก็พยายามทำในส่วนของเราให้ดีที่สุด  ผมเป็นคนที่คิดไม่เหมือนคนอื่นถ้าปล่อยก็ปล่อยแบบชนิดที่ว่า  “ปล่อยสุดใจ”  เมื่อคนไข้ได้ลองก็จะตัดสินใจได้ว่า  จำทำอย่างไรต่อไป  เมื่อไม่ดีขึ้นสุดท้ายก็กลับมาหาผม    ผมก็ดูแลเหมือนเดิม  มีหลายคนที่ยังมีชีวิตปกติ  และดีกว่าเมื่อก่อน” 

ทางทีมงานก็ได้เรียนรู้วิธีการทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง  ซึ่งทางทีมงานเห็นด้วยอย่างเต็มที่ 

บางครั้งโรคบางโรคไม่มีทางรักษาให้หาย  ทานยากับคุณหมอมาก็นาน  ก็ไม่หาย  พอมีทางเลือกก็เลยคิดว่ามันคงจะดีกว่านี้ 

ถ้าไม่ดีก็กลับมารักษาเหมือนเดิม  ขอได้ลองก่อน  เหมือนเช่นหลาย  ๆ  คนได้เลือกทำและเลือกเส้นทางเดิน  แต่ถ้าย้อนเวลาได้ก็ไม่อยากที่จะเดินเส้นทางนี้สักเท่าไร  ถึงแม้จะย้อนเวลาไม่ได้แต่ก็ขอบคุณที่ยังมีเส้นทางให้เดิน

 คุณอุทาน  เพ็งทอง  รพ.สต.แพง เล่าเรื่อง

ศุภลักษณ์  พริ้งเพราะ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๖   เรียบเรียง

หมายเลขบันทึก: 492739เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2012 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2012 03:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรื่องเล่าจากพื้นที่มักงดงามเสมอ

ขอบคุณคนต้นเรื่อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท