เงิน : มายาคติแห่งอำนาจและศาสตราวุธ


“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เป็นประโยคที่สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และวิถีชีวิตของคนในสังคมที่ใช้ชีวิตเกื้อกูลอยู่กับธรรมชาติ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

             ผู้เขียนยังจำได้ดีสมัยยังเป็นเด็ก (ตอนอยู่ชนบท) วิถีการดำเนินชีวิตของคนในหมู่บ้าน เป็นสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เช่น ช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าว ช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยความจริงใจเมื่อบ้านหลังไหนมีงาน เป็นต้น แต่ในปัจจุบันกิจกรรมดังกล่าวต้องใช้ เงิน เป็นตัวเชื่อมและขับเคลื่อนแทน จิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ของคนในสังคมแทน

 

             ย้อนกลับไปในเมื่อก่อนบ้านเกือบทุกหลังจะมีโอ่งดินใบขนาดย่อมและกระบวยตักน้ำ วางอยู่หน้าบ้านเพื่อให้แขกหรือผู้ที่เดินทางผ่านมาได้ดื่มกิน ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสวยงามของจิตใจและวิถีชีวิตที่เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน แต่ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้กลับเลือนหายไปเพราะมายาคติของความคิดที่ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนแล้วเห็นว่า มายาคตินี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งหากถูกนำมาใช้ใน มิติของจิตใจ เมื่อจิตใจของคนเราติดกับดักของมายาคติดังกล่าว คำว่า ต้นทุน กำไร (ขาดทุน) ที่ทำงานผ่านกลไกและตัวเชื่อมคือ เงิน ก็เข้ามาแทนที่ ความเอื้ออาทรเกื้อกูลพึ่งพาช่วยเหลือกันและกันด้วยความจริงใจ  ที่ถูกทดแทน (บูชา) ด้วยเงิน เมื่อมายาคติดังกล่าวครอบงำและกัดกร่อนจิตใจที่ดีงามของคนในสังคมเฉกเช่นยุคปัจจุบัน แล้วจะเหลือสิ่งใดให้เราภาคภูมิใจในความเป็นมนุษย์ที่ตกเป็นทาส (กิเลส) ของเงิน ทั้ง ๆ ที่มนุษย์เป็นคนสร้างมันขึ้นมาเพื่อรับใช้และให้ทำหน้าที่ของมัน แต่มนุษย์เองกลับมีจิตใจที่อ่อนแอพ่ายแพ้หลงมัวเมาในอำนาจของมัน โดยลืมไปว่าได้ทำลายรากเหง้าของสิ่งดีงามของจิตใจไปจนหมดสิ้น

 

ในปัจจุบันเงินตราถูกใช้เสมือนเป็นศาสตราวุธในการลุกล้ำอธิปไตยทางเศรษฐกิจ ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสาเหตุการเก็งกำไรค่าเงินเริ่มมีความถี่ของการเกิดสูงขึ้น ทุกวันนี้ธุรกรรมทางด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็น ธุรกรรมที่มีปริมาณมหาศาลเป็นอย่างมากในแต่ละวันทั่วโลก ซึ่งตกประมาณวันละหลายล้านล้านดอลลาร์สรอ.ซึ่งดีดตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมากในอัตราเร่งที่รวดเร็วจากปี ค.ศ. ๑๙๗๐ และ ๑๙๘๐ ซึ่งมีอยู่ที่ประมาณ ๒๐๐ ล้านดอลลาร์สรอ. และ ๖,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สรอ. ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้สูงกว่ามูลค่าการซื้อขายสินค้าและบริการต่างประเทศในแต่ละวันถึง ๑๕๐ เท่า สูงกว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศอุตสาหกรรมเฉลี่ยต่อวัน ๕๐ เท่า (เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ GDP ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมผลิตได้วันละมูลค่า ๑ บาท แต่มีการทำธุรกรรมทางด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศถึงวันละ ๕๐ บาท และ ถ้าหากมีมูลค่าการซื้อขายสินค้าและบริการต่างประเทศในแต่ละวัน ๑ บาท แต่จะมีการทำธุรกรรมทางด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศถึงวันละ ๑๕๐ บาท) ซึ่งเปรียบเทียบแล้วการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเติบโตในอัตราที่สูงถึงร้อยละ ๒๐-๒๕ ต่อปี ในขณะที่การค้าต่างประเทศทั่วโลกเติบโตเพียงร้อยละ ๕ ต่อปี เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วใครจะต่อกรกับการเก็งกำไรค่าเงินได้ ? และที่สำคัญเราจะมีวิธีการที่จะบริหารนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะใดจึงจะมีภูมิคุ้มกันระบบเศรษฐกิจของประเทศได้?

           ตามรายงานของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (Bank of International Settlement – BIS) ระบุว่าสัดส่วนของการเปลี่ยนแปลงความสำคัญระหว่าง การค้าจริง กับ การเก็งกำไร ยิ่งมีแนวโน้มห่างกันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะตั้งแต่ปีค.ศ. ๒๐๐๐ เป็นต้นมา เป็นการเก็งกำไรถึงร้อยละ ๙๘ และ มีการค้าขายสินค้าและบริการจริง ๆ เพียงร้อยละ ๒ เท่านั้น การเก็งกำไรในตลาดค้าเงินส่วนใหญ่เริ่มต้นทำโดยฝ่ายค้าเงินของธนาคารและกองทุนเพื่อปกป้องความเสี่ยง (hedge fund) จะเป็นผู้เล่นคนสุดท้ายของเกมส์เสมอ ดังนั้น hedge fund จึงมักจะตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

           เมื่อถูกนักเก็งกำไรโจมตีค่าเงินหรือเปรียบเสมือนถูกข้าศึกกำลังโจมตีประเทศ  ประเทศที่ถูกโจมตีเหล่านั้นต่างก็มีเครื่องมือหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ปกป้องอธิปไตยของตัวเองแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับระบบการใช้อัตราแลกเปลี่ยนและกลไกของภาคการเงินระหว่างประเทศ แต่อาวุธสำคัญที่เกือบทุกประเทศใช้เหมือนกันเปรียบเสมือนด่านแรกของการทดสอบกำลังของข้าศึกก็คือ อาวุธยุทโธปกรณ์ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ เพื่อใช้ปกป้องการโจมตีค่าเงิน แต่จะต่างกันตรงที่ศักยภาพของอาวุธชนิดนี้ที่ขึ้นอยู่กับปริมาณของทุนสำรองที่มากน้อยต่างกันของแต่ละประเทศ ซึ่งมีเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต เช่น ภารกิจหรือปฏิบัติการที่ใช้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพื่อปกป้องค่าเงินที่สำคัญ เกิดขึ้นเมื่อฤดูร้อนปี ๑๙๙๒ และ ๑๙๙๓ เมื่อค่าเงินสกุลต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปถูกโจมตีอย่างรุนแรง ธนาคารกลางชาติต่าง ๆ ของยุโรป ใช้เงินทุนสำรองไปถึง ๔๐๐,๐๐๐ ล้านมาร์กเยอรมัน (กว่า ๒๒๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สรอ.) ในปี ๑๙๙๒ และอีกจำนวนหนึ่งในปี ๑๙๙๓ ซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาลเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังพ่ายแพ้นักเก็งกำไร และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศไทยถูกโจมตีค่าเงินตั้งแต่ปลายปี ๑๙๙๖ ต่อเนื่องจนถึงกลางปี ๑๙๙๗ โดยครั้งนั้นประเทศไทยต้องใช้ทุนสำรองเพื่อปกป้องค่าเงินบาทกว่า ๓๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสรอ. หรือคิดเป็นประมาณกว่าร้อยละ ๘๐ จากเงินทุนสำรองทางการที่มีอยู่ประมาณ  ๔๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสรอ. ในการต่อสู้กับศัตรูที่ลุกล้ำอธิปไตยทางเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดก็ประสบกับความพ่ายแพ้นักเก็งกำไรเหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปเมื่อปี ๑๙๙๒ 

          การเก็งกำไรค่าเงินในตลาดที่เปิดเสรีทางการเงินเฉกเช่นปัจจุบันนี้สร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินทั่วโลกเป็นอย่างมากและเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับประเทศเล็ก ๆ ที่มีอาวุธทางการเงินที่ไม่ทันสมัยและยังมีความเปราะบางทางโครงสร้างของเศรษฐกิจภายในประเทศ เมื่อถูกโจมตีจากนักเก็งกำไรค่าเงินแล้วจะต่อสู้ปกป้องอธิปไตยของประเทศตัวเองได้อย่างไร? จากภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินทั่วโลกดังกล่าว แม้กระทั่งนักเก็งกำไรค่าเงินชั้นมือวางอันดับหนึ่งอย่าง จอร์จ โซรอส ผู้ซึ่งเคยสร้างความเจ็บปวดให้กับประเทศไทยในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ยังวิตกกับภาวะตลาดการเงินที่มีความผันผวนเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ถึงกับกล่าวว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวโดยเสรี โดยธรรมชาติไม่มีเสถียรภาพ ยิ่งกว่านั้น ความผันผวนยังสะสมจนในที่สุดแล้วระบบนี้ต้องล่มสลายอย่างแน่นอน

           และอีกท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph Stiglitz) อดีตรองประธานธนาคารโลก Chief Economist หรือหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารโลก ผู้ที่ซึ่งกล้าที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) ที่เข้ามามีบทบาทในการกำกับและดูแลการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเมื่อปี ๑๙๙๗ โดยสติกลิตส์สับกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่บังคับให้ประเทศไทยและประเทศที่ประสบวิกฤติรัดเข็มขัดทางการคลังโดยใช้นโยบายการคลังแบบเข้มงวด โดยเขาชี้ให้เห็นว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดเพราะการรัดเข็มขัดจะยิ่งไปซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่แล้วให้หนักเข้าไปอีก และท้ายที่สุดก็เป็นจริงอย่างที่สติกลิตส์ได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้ และเมื่อครั้งที่โจเซฟ สติกส์ลิตส์เข้ามารับตำแหน่งรองประธานธนาคารโลกในขณะที่ธนาคารโลกเป็นกลไกในการขับเคลื่อน “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” เข้าบรรจุและตีตราเป็นเมนูนโยบายเศรษฐกิจของโลก เขาได้ทำการตรวจสอบงานวิจัยและพบว่า “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน กดดันให้ประเทศในโลกที่สามดำเนินนโยบายเสรีนิยมทั้งทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศรวมตลอดจนนโยบายเสรีนิยมทางการเงิน แต่แนวนโยบายเสรีนิยมเหล่านี้ล้วนทำให้ขนาดของการเปิดประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ประเทศในโลกที่สามถูกสั่นคลอนจากความผันผวนภายนอกประเทศโดยง่าย     

          เมื่อการเก็งกำไรค่าเงินถูกบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบทางการค้าอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่มีธุรกรรมทางสินค้าและบริการเข้ามาเป็นองค์ประกอบ การเก็งกำไรค่าเงินจึงเปรียบเสมือนการทำหน้าที่เทียมของเงินที่ถูกปลูกฝังและครอบงำจากลัทธิบูชาเงินตราเป็นสรณะ เป็นการให้อำนาจเงินมาครอบงำจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ทั้ง ๆ ที่มนุษย์เป็นผู้สร้างมันขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์หลักในการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมทางกิจกรรมของระบบเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดในปัจจุบันเงินกลับกลายเป็นอาวุธที่มนุษย์ตกอยู่ในอำนาจของมันถูกมันครอบงำและใช้มันเป็นเครื่องมือในการลุกล้ำอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น เมื่อในโลกปัจจุบันเงินถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อให้มีอำนาจมหาศาลในการเล่นเก็งกำไร ซึ่งถือว่าเป็นเพียงหน้าที่แฝง (ผลประโยชน์)ของเงินไม่ใช่หน้าที่หลักของเงินที่ควรจะเป็น การจะให้ปรับเปลี่ยนหน้าที่แฝงดังกล่าวของเงินคงเป็นไปได้ยากในโลกปัจจุบัน เพราะในเมื่อมนุษย์ได้ตกอยู่ในอำนาจของมันโดยสมบูรณ์แล้ว ดูได้จากการที่ใช้เงินไปในทางเก็งกำไรถึงร้อยละ ๙๘ ในขณะที่ใช้เงินไปในทางหน้าที่หลักในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการเพียงร้อยละ ๒ เท่านั้น

 

จริง ๆ แล้วในมายาคติ เงินคืออะไร ? สำหรับทัศนะของผู้เขียนแล้วเห็นว่า

          เงิน คือ อะไรก็ได้ที่สังคมยอมรับให้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและมีมูลค่าค่อนข้างที่จะคงที่ หรือ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เงิน คือ ข้อตกลง ร่วมกันของสังคมที่จะใช้อะไรก็ได้เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ดังนั้นจึงปรากฏในประวัติศาสตร์ของการใช้เงินในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หอย โลหะ ทองแดง ทองคำ และเงิน เป็นต้น

            หากเราหลุดพ้นจากมายาคติเดิมของความลุ่มหลงมัวเมาอำนาจ (บูชา) เงิน เหนือสิ่งอื่นใด มาสู่มายาคติที่เงินก็คือ ข้อตกลง เท่านั้นเอง มายาคติของความลุ่มหลงมัวเมาก็จะหมดไป ปัญญา ในการใช้และบริหารจัดการเงินก็จะเกิดขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่โดยมีเงินมาก (น้อย) ก็จะมีความสุขทางใจ สิ่งสำคัญคือ   ต้องหลุดพ้นจากกับดักมายาคติของเงินในรูปแบบเดิม (ลัทธิบูชาเงิน) แบบจงใจแบบผิด ๆ มาสู่มายาคติของเงินในรูปแบบใหม่ ไม่ให้มีอำนาจเหนือจิตใจที่ดีงามงามของมนุษย์ เท่านั้นทุกคนก็จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขในระดับหนึ่ง

 

 

 

        ๑ เงินถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ซึ่งหน้าที่หลักของเงินในทางเศรษฐกิจมี ๔ ประการ คือ

              ประการแรก เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of exchange) หน้าที่หลักของเงินดังกล่าวคือ ต้องเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการของคนในสังคมให้เป็นไปอย่างคล่องตัว ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญลำดับแรกสุดของเงิน

              ประการที่สอง เงินทำหน้าที่เป็นหน่วยวัดมูลค่า (Measure of value or unit of value) คนส่วนใหญ่ในสังคมที่จะทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่อกัน ต้องมีการวัดมูลค่าของสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยการเปรียบเทียบค่าของสินค้าและบริการออกมาในรูปของหน่วยเงินตรา เพื่อความสะดวกในการแลกเปลี่ยน เช่น หมูกิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท ไก่กิโลกรัมละ ๗๐ บาท เป็นต้น

              ประการที่สาม เงินทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการรักษามูลค่า (Store of value) เนื่องจากในระบบเศรษฐกิจมีทรัพย์สินหลายชนิดให้เลือกเก็บเพื่อให้ผู้เก็บได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งทรัพย์สินบางอย่างก็คงทนและบางอย่างก็ไม่คงทนหรือยิ่งนานไปมูลค่ายิ่งเสื่อมลง โดยทางเลือกหนึ่งของการจะเก็บรักษาทรัพย์สินเหล่านี้ก็คือ การเปลี่ยนเป็นเงินก่อน ก็จะทำให้มูลค่าที่เก็บรักษาไว้มีความมั่นคง และเงินยังมีอำนาจซื้อสินค้าและบริการอื่นได้อีก การที่รักษามูลค่าทรัพย์สินไว้ในรูปของเงินจึงสะดวกและอาจก่อให้เกิดดอกผลด้วย

              ประการที่สี่ เงินทำหน้าที่เป็นมาตรฐานในการชำระหนี้ภายหน้า (Standard of deferred payment) การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมีทั้งที่ชำระเป็นเงินสด และชำระในรูปแบบการให้เครดิต หรือในการกู้ยืม ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ถือเป็นการชำระในอนาคต ซึ่งปัจจัยที่นิยมกำหนดให้ใช้จ่ายหรือชำระหนี้คืนในอนาคตก็คือเงินนั่นเอง เนื่องจากเป็นสิ่งทีสะดวกและมีสภาพคล่อง (liquidity) สูง สามารถนำเงินไปซื้อสินค้าและบริการอื่น ๆ ได้ง่ายและคล่องตัว

 

         ในประเด็นแง่คิดเกี่ยวกับ “เงิน” ในทางพระพุทธศาสนาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสเรียกเงินตราว่า “อสรพิษ” (จากหนังสือ พระอานนท์ พุทธอนุชา โดยวศิน อินทสระ หน้า. ๑๕๖ – ๑๕๙)

            ...ชีวิตเป็นเรื่องยากและสับสน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ชีวิตเป็นของยาก” ผู้สามารถสางความยุ่งแห่งชีวิตให้เข้าระเบียบได้มีอยู่จำนวนน้อย กล่าวโดยเฉพาะ ชีวิตของมนุษย์ยิ่งยุ่งยากสับสนขึ้นทุกที

              มนุษย์ยอมเป็นทาสของสังคมจนแทบกระดิกกระเดี้ยตัวมิได้เสียแล้ว เมื่อยอมเป็นทาสของสังคม และสังคมนั้นมีแต่ความฟุ้งเฟ้อหรูหรา ความหรูหราเหล่านั้นย่อมได้มาด้วย “เงิน” เขาจึงยอมเป็นทาสของเงินตราอีกด้วย

         “เงินตรานั้นโดยธรรมดา มันเป็นเหมือนทาสที่ทั้งซื่อและโง่ แล้วแต่จะใช้ให้ทำอะไรมันทำทั้งนั้น ใช้ให้ทำดีก็ทำ ใช้ให้ทำชั่วก็ทำ จ้างให้ฆ่าคนก็ไปโดยไม่มีการคัดค้านโต้แย้งใด ๆ เลย

           เมื่อเงินตรามันเป็นทาสที่ทั้งซื่อและโง่อยู่อย่างนี้ ใครยอมให้ทาสคนนั้นมาเป็นนาย ยอมอยู่ใต้อำนาจของมัน เขาจะโง่สักเพียงใด

   พระตถาคตเจ้าเคยตรัสเรียกเงินตราว่า “อสรพิษ” ดังเรื่องต่อไปนี้

          ท้องฟ้าเริ่มสาง แสงสีขาวสาดทาบเป็นแนวยาวทางบูรพาทิศ อากาศแรกรุ่งอรุณเย็นฉ่ำ พระพายรำเพยแผ่ว หอบเอากลิ่นบุปผชาติในเชตวนารามไปตามกระแสระรวยรื่น

          เสียงไก่ป่าขันอยู่เจื้อยแจ้วเคล้ามาตามสายลมวิเวกวังเวง น้ำค้างถูกสลัดลงจากใบไม้เมื่อพระพายพัดผ่านกระทบกับใบไม้เหลืองซึ่งหล่นร่วงลงแล้วดังเปาะแปะ ๆ

          เชตวนารามเวลานี้ตื่นตัวอย่างสงบ ประหนึ่งบุรุษผู้มีกำลังตื่นแล้วจากนิทรารมณ์  แต่ยังนอนเฉยอยู่ไม่ไหวกาย

            พระมหาสมณะ เอกอัครบุรุษรัตน์อุดมด้วยปัญญาธิการและมหากรุณาต่อส่ำสัตว์ ประทับหลับพระเนตรนิ่ง ส่งข่ายตือพระญาณให้แผ่ไปทั่วจักรวาลโลกธาตุ ตรวจดูอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์อันพระองค์ทรงพอจะโปรดได้ เช้าวันนั้นชาวนาผู้น่าสงสารได้เข้ามาสู่พระญาณของพระองค์

           พออรุณเบิกฟ้า พระศาสดามีพระพุทธอนุชาอานนท์เป็นปัจฉาสมณะตามเสด็จ ออกจากเชตวนารามด้วยพุทธลีลาอันประเสริฐ บ่ายพระพักตร์สู่บริเวณนาของบุรุษผู้น่าสงสารนั้น

           อีกมุมหนึ่ง กสิกรผู้ยากไร้ตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ บริโภคอาหาร ซึ่งมีเพียงผักดองและข้าวแดงพอประทังหิว แล้วนำโคคู่ออกจากคอก แบกไถถือหม้อน้ำออกจากบ้านสู่บริเวณนาเช่นเดียวกัน

           พระตถาคตเจ้าหยุดยืน ณ บริเวณใกล้ ๆ ที่เขากำลังไถนาอยู่นั้น เขาเห็นพระศาสดาแล้วพักการไถไว้มาถวายบังคม พระศาสดามิได้ตรัสอะไรกับเขาเลย กลับเหลียวพระพักตร์ไปอีกด้านหนึ่ง ทอดทัศนาการตรงดิ่งไปยังจุด ๆ หนึ่ง แล้ตรัสกับพระอานนท์ว่า

                         “อานนท์ เธอจงดูเถิด นั่นอสรพิษ เธอเห็นไหม ?”

                         “เห็นพระเจ้าข้า”  พระอานนท์ทูล

                         เพียงเท่านั้นแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จต่อไป

            ชาวนาได้ยินพระพุทธดำรัสตรัสกับพระอานนท์แล้ว คิดว่าเราเดินไปมาอยู่บริเวณนี้เสมอ ถ้าอสรพิษมีอยู่มันอาจจะทำอันตรายแก่เรา อย่าปล่อยไว้เลย ฆ่ามันเสียเถิด

           คิดแล้วเขาก็นำปฏักไปเพื่อตีงู แต่กลับมองเห็นถุงเงินเป็นจำนวนมากวางกองรวมกันอยู่ เขาดีใจเหลือเกิน ยกมือขึ้นเหนือเศียรน้อมนมัสการพระพุทธองค์ที่โปรดประทานขุมทรัพย์ให้

                           “นี่หรืออสรพิษ” เขาคิดอยู่ในใจ

                           “พระพุทธองค์ตรัสเป็นปริศนาแบบสมณะเท่านั้นเอง ที่แท้พระองค์คงตั้งพระทัยเสด็จมาโปรดเรา”

          แล้วเขาก็นำถุงเงินนั้นไป เอาฝุ่นกลบไว้แล้วไถนาต่อไปด้วยดวงใจเบิกบาน

          พระศากยมุนี เมื่อคล้อยไปหน่อยหนึ่งแล้วจึงผินพระพักตร์มาตรัสกับพระอานนท์ว่า

                  “อานนท์ เราเรียกถุงเงินนั้นว่าอสรพิษ วันนี้เองมันจะกัดบุรุษผู้นั้นให้มีอาการสาหัสปางตาย ถ้าไม่ได้เราเป็นที่พึ่ง เป็นพยาน เขาจะต้องตายเป็นแน่แท้” ตรัสอย่างนี้แล้วไม่ยอมตรัสอะไรต่อไปอีก...




หมายเลขบันทึก: 492483เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2012 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2012 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท