หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : นาโยน อีกหนึ่งทางเลือกของการปลูกข้าวในชุมชนบ้านห้วยชัน


การทำนาโยนจึงเป็น “ทางออก” ที่สำคัญของชาวบ้านในการที่จะขับเคลื่อนระบบชีวิตในมุมใหม่ เพราะจะลดเวลาในการทำนาลงและได้ผลผลิตเร็วขึ้น ทั้งยังนำปุ๋ยหมักชีวภาพมาใช้กับการทำนา ยิ่งลดต้นทุนการผลิตและเป็นผลดีต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อม

โครงการพัฒนาการปลูกข้าวแบบโยนกล้า ของสาขา วทบ.เคมี ถือเป็นโครงการแรกๆ ที่เปิดตัวก่อนใครอื่นในวิถีกิจกรรมการบริการวิชาการแก่สังคม (1 หลักสูตร 1 ชุมชน) โดยมี ดร.มัณฑนา  นครเรียบ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นในชุมชนบ้านห้วยชัน ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งถือเป็นกิจกรรมต่อยอดจากปีที่ผ่านมา (2554)  เพราะชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนที่คณะวิทยาศาสตร์เคยได้ขับเคลื่อนเรื่อง “1 คณะ 1 ชุมชน”  มาแล้วด้วยกิจกรรมในทำนองเดียวกัน คือ ปลูกข้าวแบบโยนกล้า (นาโยน) บัญชีครัวเรือน การกำจัดแมลงด้วยการใช้น้ำส้มควันไม้ การปลูกผักปลอดสารพิษ

 

 

โครงการพัฒนาการปลูกข้าวแบบโยนกล้าฯ  ชาวบ้านเรียกเป็นภาษาพูดว่า “ทำนาโยน”  ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก  คือสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอาจารย์ นิสิตและชาวบ้านในเรื่องการปลูกข้าวแบบโยนกล้า  ผลิตปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหารและหอยเชอรี่ การเลี้ยงเป็ดเพื่อกำจัดหอยเชอรี่และเอาไว้บริโภคหรือขาย และการกำจัดแมลงโดยใช้น้ำส้มควันไม้ อันเป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่านด้วยเตาถ่านแบบอัดแท่งที่เคยมอบไว้ให้กับชุมชนเมื่อปีที่แล้ว

 

จะเห็นได้ว่ากิจกรรมที่กล่าวถึง  มีความเกี่ยวโยงกับการการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก  ดังจะเห็นได้จากการพยายามสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชาวบ้านตระหนักที่จะลด ละ เลิกการใช้ปุ๋ยเคมีในวิถีของการทำนา  ด้วยการเสนอทางเลือกใหม่คือการผลิตปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพ รวมถึงเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งเพื่อทดแทนการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดหอยเชอรี่  เฉกเช่นที่ ดร.มัณฑนา นครเรียบ  ผู้รับผิดชอบหลักโครงการฯ  ได้สะท้อนไว้ว่า

 

 "...การทำนาโยน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อ ปุ๋ยเคมี และสารเคมี
เพื่อกำจัดวัชพืชและแมลง เพราะชาวบ้านทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหารมากขึ้น ใช้เป็ดไล่ทุ่งกำจัดหอยเชอรี่แทนสารเคมี อีกทั้งยังมีไข่เป็ดไว้บริโภคและจำหน่าย สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน และที่สำคัญคือช่วยรักษาสภาพของดินและสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบนิเวศน์ของดินกลับคืน ช่วยลดการระบาดของเมล็ดที่เป็นศัตรูของพืช..."

 

 

 

ส่วนในทางกระบวนการนั้น ทีมงานจากสาขาเคมี และชาวบ้านได้ร่วมกันขับเคลื่อนมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน  โดยเริ่มต้นต่อยอดจากสมาชิกที่เคยเข้าร่วมโครงการจากปีที่แล้ว  ซึ่งมองว่าจะง่ายต่อการขับเคลื่อนให้สำเร็จ  เพราะสมาชิกล้วนผ่านการเรียนรู้ และการปฏิบัติจริงมาอย่างฝังลึก ก่อเกิดมีประสบการณ์ และชุดบทเรียนเชิงประจักษ์ที่สามารถหยิบจับออกมาใช้ได้อย่างไม่เคลือบแคลงใจ

 

 

 



ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ การขับเคลื่อนโครงการจึงเริ่มต้นจากกลุ่มสมาชิกเดิมที่สนใจเป็นที่ตั้ง กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องจากทาง
มหาวิทยาลัยฯ โดยตรง  พร้อมๆ กับการเปิดกว้างให้สมาชิกใหม่ที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันอย่างเปิดเผย  โดยสมาชิกเดิมจะรับบทบาทการเป็น “พี่เลี้ยง” และใช้สถานที่ของพี่เลี้ยงเป็น “พื้นที่ปฏิบัติการ” ให้สมาชิกใหม่ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน 





เป็นที่น่าสังเกตว่ากิจกรรมโครงการนี้  เปิดกว้างในทางการถ่ายทอดความรู้ หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์  แต่พอถึงระยะของการเริ่มต้น ก็เปิดรับผู้เข้าร่วมตามความสมัครใจ  โดยใช้สมาชิกเดิมเป็นต้นแบบ หรือแม้แต่การเติมกระบวนการให้สมาชิกเดิมให้เรียนรู้และเข้มแข็งมากขึ้น 

หรือแม้แต่ในพื้นที่อันเป็นแปลงนาโยนนั้น  ก็มีป้ายนิเทศก์บ่งบอกถึงโครงการฯ อย่างเด่นหรา  เพื่อแสดงให้เห็นถึง "พื้นที่ต้นแบบ" ของการเรียนรู้  โดยป้ายนิเทศก์ที่ว่านั้นมีรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการทำนาโยนให้ผู้ผ่านทางได้อ่าน หรือศึกษาด้วยตนเองอย่างไม่เขินอาย

นี่จึงเป็นกุศโลบาย หรือกลไกสำคัญที่คอยประชาสัมพันธ์และสร้างแจงจูงใจให้ชาวบ้านในหมู่บ้านและต่างถิ่นได้รับรู้ถึง "ทางเลือกใหม่" ของการทำนา

 

 


กรณีดังกล่าวเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง  เนื่องจากมีผู้สนใจเข้าร่วมเรียนรู้อย่างหลากหลาย  ทั้งชาวบ้านในหมู่บ้าน และชาวบ้านจากหมู่บ้านใกล้เคียง หรือแม้แต่ชาวบ้านจากต่างอำเภอก็ก้าวเข้ามาเป็นเครือข่ายการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วหลายแห่ง

 

 

 

ปัจจุบันในชุมชนบ้านห้วยชันซึ่งมีจำนวน 54 ครัวเรือน มีพื้นที่นำร่องการทำนาแบบโยนกล้าจำนวน 11.5 ไร่  มีเป็ดไล่ทุ่งที่เกิดจากโครงการนี้จำนวน 500 ตัว และคาดว่าภายในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้  คงได้เก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างถ้วนหน้า  โดยไม่ต้องวิตกเรื่อง ”น้ำท่วมนาข้าว”  เหมือนทุกๆ ปี 

 

เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวนี้ นายนิคม  โคตรเสนา ผู้ใหญ่บ้านฯ บอกเล่าว่า

     

     ”... สาเหตุที่ตัดสินใจทำนาโยนกันเร็วขึ้น เพราะมีบทเรียนจากปีที่แล้ว
ซึ่งกว่าจะเริ่มโครงการก็ล่าช้าไปมาก ยังไม่ทันได้เกี่ยวข้าว  น้ำก็มาท่วมซะก่อน ปีนี้จึงค่อนข้างมั่นใจเพราะเริ่มได้เร็ว  กว่าฝนจะมาถึง ก็คงเกี่ยวข้าวเสร็จพอดี ยิ่งเห็นต้นข้าวแตกกอใหญ่ แข็งแรง  ยิ่งมั่นใจว่าปีนี้ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย...”     

 

 

กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเป็นการ “ถอดบทเรียน” จากปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน  ซึ่งโดยส่วนตัวผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง  เนื่องจากโดยปกติบ้านห้วยชันมักประสบภัยน้ำท่วมอย่างไม่หยุดหย่อน  น้ำท่วมแต่ละครั้งส่งผลกระทบต่อ “ระบบชีวิต” อย่างมหาศาล  เกาะเกี่ยวเป็นลูกโซ่ไปในทุกๆ ด้าน  กว่าจะฟื้นกลับมาตั้งหลักได้  ต้องใช้เวลาอยู่มากโข

 

ด้วยเหตุนี้  การทำนาโยนจึงเป็น “ทางออก” ที่สำคัญของชาวบ้านในการที่จะขับเคลื่อนระบบชีวิตในมุมใหม่  เพราะจะลดเวลาในการทำนาลงและได้ผลผลิตเร็วขึ้น  ทั้งยังนำปุ๋ยหมักชีวภาพมาใช้กับการทำนา  ยิ่งลดต้นทุนการผลิตและเป็นผลดีต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งในช่วงที่อยู่ระหว่างรอการเก็บเกี่ยวนี้  ชาวบ้านจะเป็นคนดูแลแปลงนากันเอง เป็นการดูแลตามวิธีที่ชาวบ้านเคยทำมา  เปลี่ยนแต่เรื่องของการรณรงค์มาใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษอาหาร  ส่วนอาจารย์และนิสิตจะเข้าไปพบปะ ดูแลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านเป็นระยะๆ

 

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น  ก็ยังคงดำเนินไปภายใต้วิถีของการ “ทำไป เรียนรู้ไป”  ถอดบทเรียนเป็นระยะๆ เพื่อก่อให้เกิดอานิสงส์ต่อผู้คนและสังคม อันหมายถึงทั้งต่อมหาวิทยาลัยฯ และชุมชนนั่นเอง

 

 

หมายเลขบันทึก: 492171เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นโครงการที่ดี ถ้าได้ผลดีบ้านห้วยซันก็ได้ประโยชน์เป็นอันมาก ระยะเวลาสั้น และยังลดต้นทุนการผลิตให้กับชาวบ้านห้วยซันซึ่งก็ประสบกับปัญหาน้ำท่วมแทบทุกปี และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนิสิตได้ดี

น่ายกย่องครับ สหาย หลักสูตรดีดี แบบนี้

กิจกรรมดำนาโยน...จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ได้เชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวเพื่อเผยแพร่กิจกรรมดีๆสู่เวทีสาธารณะเรียบร้อยแล้วค่ะ วันที่ 26 มิ.ย.55 เวลา 09.30 น. ณ บ้านห้วยซัน ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

ครับ คุณแดนไท

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจนะครับ

สวัสดีครับ อ.JJ

เป็นงานที่ทำไปเรียนรู้ไป...
เหมือนโยนหินถามทางไปในตัว ...

ขอบคุณครับ

ขอบคุณมากนุ้ย นุ้ยcsmsu

ระบบสื่อสารเช่นนี้ เป็นการหนุนเสริม และเติมพลังให้คนทำงานที่ดี
บางที "คนหน้างาน" ก็เหนื่อยเกินจะลุกมาขับเคลื่อนกระบวนการสื่อด้วยตนเอง
หรือไม่ก็เขินอายต่อการที่จะประชาสัมพันธ์ตัวเอง

การมีหน่วยย่อยเพื่อทำหน้าที่ "ประชาสัมพันธ์" ...จึงเป็นทางออกที่ดีในหลายๆ มิติ

ขอบคุณครับ

อยากทราบว่าเวลาเราโยนต้นกล้าในไปในพื้นดินแล้ว การที่ต้นกล้าตกแบบอยู่บนผิวดิน กับ จมลงไปในดินมันแตกต่างกันอย่างไรค่ะ และแบบไหนสามารถแตกกอของต้นข้าวได้กี่เซน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท