โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ)
โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) เทศบาลนครนคราชสีมา

มาดูแลดวงตาที่สามกันเถอะ


ผู้ที่สูญเสียสมองส่วนหน้าหรือดวงตาที่สาม และผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บกระเทือนถูกสมองส่วนนี้ จะสูญเสียหน้าที่ "จิตสูง" 9 ข้อ กลายเป็นคนหยาบช้า หุนหันพลันแล่น ไม่สนใจตนเองและผู้อื่น ตรงกันข้าม ถ้าเรารู้จักฝึกให้สมองส่วนหน้าตรงกลางหรือดวงตาที่สาม "โตขึ้น" ก็จะทำให้เรามีจิตสูงสมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้น

มาดูแลดวงตาที่สามกันเถอะ

(ข้อมูลจากนิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 398  โดย  นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ)

          นายไฟเนียส เกจ  เป็นหัวหน้าคนงานก่อสร้างทางรถไฟจากเมืองเวอร์มองต์  ใน      ค.ศ. 1848 (ขณะที่มีอายุ 25 ปี)  วันหนึ่งขณะระเบิดทางรถไฟ  ถูกเศษแท่งเหล็กกระเด็นเจาะทะลุกะโหลก  จากบริเวณแก้มซ้ายผ่านหลังเบ้าตาออกไปที่กลางศรีษะ

 

     เขาได้รับการรักษาจนรอดชีวิต  แต่หลังจากนั้นและจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่ออายุ 38 ปี  เขาก็เปลี่ยนบุคลิกนิสัย  จากคนสุภาพเรียบร้อย  รับผิดชอบงานดี  มาเป็นคนหยาบคายหุนหันพลันแล่น  ไม่สนใจคนอื่น  และมักตัดสินใจทำอะไรผิด ๆ อยู่เสมอ

                                                                                        

     ปัจจุบัน  กะโหลกศรีษะของนายเกจ  และแท่งเหล็กยาว 5 ฟุต  ที่ทำลายสมองส่วนหน้าตรงกลางของเขา (อันเป็นต้นเหตุทำให้เขากลับกลายเป็นคนละคน) นั้น   ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

 

                                                       

     วงการศึกษาวิทยาศาสตร์ด้านสมอง  มักหยิบยกกรณีของนายเกจ (ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 164 ปีมาแล้ว) มาเล่าเป็นอุทาหรณ์  เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสมองส่วนหน้าตรงกลาง (middle prefrontal neocortex) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองส่วนหน้า*

                           

     *สมองส่วนหน้า  หมายถึง  เปลือกสมองใหม่ (neocortex) ของสมองส่วนหน้า (prefrontal) ซึ่งมีความเจริญสูงสุดในเผ่าพันธุ์มนุษย์อย่างเรา  ทำหน้าที่เกี่ยวกับเชาวน์ปัญญา  การใช้เหตุผล  การคิดเชิงนามธรรม  การวางแผน  การบริหารจัดการ  การแก้ปัญหา  และศีลธรรม

                                                                                 

     ในหนังสือ "Mindful Brain" ซึ่งเขียนโดยนายแพทย์แดเนียล ซีเกล (Dr. Daniel Siegel) ได้รวบรวมหลักฐานทางวิทยาศาสตร์  กล่างถึง   หน้าที่ 9 ประการของสมองส่วนหน้าตรงกลางไว้ดังนี้

                                                        

    1. ปรับสมดุลการทำงานของร่างกาย  ระหว่างประสาทซิมพาเทติก (ประสาทคันเร่ง)  กับประสาทพาราซิมพาเทติก (ประสาทเบรก)  ให้สามารถทำงานได้อย่างแข็งขันแต่สงบ หากประสาทคันเร่งทำงานมากไป  ทำให้ทำงานแข็งขัน  แต่เครียดขี้หงุดหงิดโมโหง่าย  และหากประสาทเบรกทำงานมากไป  (เช่น นอนหรืออยู่ว่างๆ ทั้งวัน) ก็จะทำให้เฉื่อยชา เบื่อ  ซึมเศร้า

 

     2. รับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น  ทำให้สามารถสื่อสารสัมพันธุ์กับผู้อื่นได้ดี

 

     3. เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  โดยผ่านกลไกของเซลล์ประสาทที่ชื่อว่า   "เซลล์กระจกเงา" (mirror neuron)  ทำให้มีความรักความเมตตา  ช่วยเหลือผู้อื่น

 

     4. ควบคุมอารมณ์  ไม่เกิดอารมณ์สุดโต่ง  หุนหันพลันแล่น  มีความนิ่งสงบ  สุขุม

 

     5. ควบคุมความกลัว  ไม่ให้เกิดความกลัวอย่างไร้เหตุผล หรือตื่นตูม

 

     6. ยั้งคิด  รู้จักยับยั้งชั่งใจ  คิดก่อนพูด  คิดก่อนทำ

 

     7. รู้ตน  รู้แจ้งรู้ทันจิตใจของตนเอง  เข้าใจพื้นเพความเป็นมาของตนเอง  รู้ทันจุดอ่อนจุดแข็ง  และเป้าหมายชีวิตของตนเอง

 

     8. หยั่งรู้ความรู้สึกของร่างกาย  โดยเฉพาะเมื่อมีความเครียด  (เช่น กล้ามเนื้อเกร็ง  ใจหวิวใจสั่น  จุกแน่นท้อง  ท้องไส้ปั่นป่วน  หายใจไม่อิ่ม)  ทำให้รู้ทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองก็จะช่วยให้หายเครียด  ขณะเดียวกันการหยั่งรู้ความรู้สึกของร่างกายตนเอง  ก็จะช่วยให้เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย

 

     9. ส่งเสริมศีลธรรม  ทำให้รู้ว่า  "อะไรดี  อะไรไม่ดี  อะไรควร  อะไรไม่ควร"  ด้วยตนเอง   ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่น   เกิดการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมในเชิงบวก

 

                 

     ทั้ง 9 ข้อนี้นับว่าเป็น  "จิตสูง"  ที่มนุษย์ทุกคนควรมี (มนุษย์ แปลตามอักขระว่า "จิตสูง")  จะทำให้ดำรงชีวิตอย่างมีความสำเร็จและความสุข

 

     สมองส่วนหน้าตรงกลางที่ทำหน้าที่  "จิตสูง"  ดังกล่าว  อยู่ตรงหลังหน้าผากระหว่าง  กลางหัวคิ้ว 2 ข้าง  ดังที่ชาวอินเดียโบราณเรียกว่า  "ดวงตาที่สาม"

 

     ผู้ที่สูญเสียสมองส่วนหน้าหรือดวงตาที่สาม  ดังเช่น  นายไฟเนียส เกจ  และผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บกระเทือนถูกสมองส่วนนี้  ก็จะสูญเสียหน้าที่  "จิตสูง"  9 ข้อ   กลายเป็นคนหยาบช้า หุนหันพลันแล่น  ไม่สนใจตนเองและผู้อื่น

 

     ตรงกันข้าม  ถ้าเรารู้จักฝึกให้สมองส่วนหน้าตรงกลางหรือดวงตาที่สาม  "โตขึ้น"  ก็จะทำให้เรามีจิตสูงสมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้น

 

                   

     ฝึกง่าย ๆ  โดยหมั่นบริหารร่างกาย (ออกกำลังกาย)  บริหารจิต (ฝึกสมาธิ เจริญสติ)   นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ  กินผักผลไม้และปลา  (ที่มีโอเมก้า-3 เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสวาย)  เป็นประจำ

                              

 

     มีหลักฐานการวิจัย  โดยทำการถ่ายภาพสมองด้วยเทคนิคสมัยใหม่  พบว่าผู้ที่ฝึกสมาธิ (เช่น พระทิเบต)  และผู้ที่ฝึกโยคะติดต่อกันมานานหลายปี  สมองส่วนหน้าตรงกลาง  หรือดวงตามที่สามของคนเหล่านี้โตขึ้นจริง  ยิ่งฝึกมามากก็ยิ่งโตกว่าผู้ที่ฝึกมาน้อย

                                                                

    

    ขอให้เราหันมาสนใจดูแลดวงตาที่สามกันเถอะค่ะ

 

    ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 398

  

 P

ครูสุภาภรณ์
ครูสุภาภรณ์ พลเจริญชัย
โรงเรียนเทศบาล4(เพาะชำ)

คำสำคัญ (Tags): #ดวงตาที่สาม
หมายเลขบันทึก: 491451เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

   สวัสดีค่ะ  คุณBlankวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--    คุณBlankkunrapee  และคุณBlankคนบ้านไกล   ขอบคุณค่ะสำหรับดอกไม้

          ดูแลดวงตาที่สามด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท