กิจการลูกเสือในเรือนจำ


กิจการลูกเสือในเรือนจำ

 นัทธี จิตสว่าง

นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ทรงริเริ่มจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และนับเป็นประเทศแรกๆ ที่ก่อตั้งกิจการลูกเสือขึ้นนั้น กิจการลูกเสือในประเทศไทยก็เจริญเติบโตรุ่งเรือง  โดยเฉพาะในโรงเรียนหรือในการฝึกอบรมระดับต่างๆ มีการนำวิธีการลูกเสือไปใช้อย่างแพร่หลายเช่นเดียวกับในเรือนจำที่ได้มีการนำวิธีการของลูกเสือไปใช้ในการฝึกอบรมขัดเกลาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง เพราะอุดมการณ์และแนวทางลูกเสือมุ่งสอนให้คนเป็นคนดี มีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ และเสียสละต่อส่วนรวม ซึ่งนับว่าเหมาะสมที่จะนำมาปรับใช้กับการอบรมผู้ต้องขัง อย่างไรก็ตามการนำวิธีการลูกเสือมาใช้ในการอบรมผู้ต้องขังในเรือนจำนั้น มีข้อจำกัดอยู่หลายประการโดยเฉพาะในด้านอาคารสถานที่ ด้านระเบียบ และบุคลากร จนทำให้มีไม่กี่ประเทศที่สามารถนำเอาวิธีการลูกเสือไปใช้ในการอบรมผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หนึ่งในประเทศที่มีการนำกิจการลูกเสือไปใช้ในเรือนจำอย่างแพร่หลายนั้น ก็คือประเทศไทย

 

กิจการลูกเสือในเรือนจำของประเทศไทยนั้นเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่      ทัณฑสถานวัยหนุ่มมีนบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 1  ในสมัยที่นายอาภา  ภมรบุตร เป็นผู้ปกครองทัณฑสถาน ทั้งนี้โดยการนำเอาแบบอย่างมาจากการที่ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ได้ไปดูงานที่ทัณฑสถานวัยหนุ่มอินซอนในประเทศเกาหลี ซึ่งมีการนำระบบลูกเสือ       มาใช้ในเรือนจำและประสบความสำเร็จด้วยดี จึงได้นำเสนอให้กรมราชทัณฑ์นำมาใช้ในทัณฑสถานวัยหนุ่มมีนบุรีเป็นแห่งแรก โดยการนำระบบลูกเสือมาใช้ในทัณฑสถาน  วัยหนุ่มมีนบุรีนี้ประสบความสำเร็จด้วยดีในการทดลองนำระบบลูกเสือมาใช้ในเรือนจำเพราะสามารถทำให้ผู้ต้องขังวัยหนุ่มอยู่ในระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์ และรู้จักช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม ต่อมาจึงได้มีการนำการฝึกอบรมลูกเสือไปใช้ในสถานแรกรับผู้ต้องขังวัยหนุ่มของเรือนจำกลางนครปฐมซึ่งที่นี้ได้มีการฝึกอบรมลูกเสืออย่างจริงจัง โดยจัดตั้งเป็นกองลูกเสือขึ้น จนทำให้เรือนจำกลางนครปฐมมีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องการจัดตั้งกองลูกเสือในเรือนจำ

 

ต่อมาจากความสำเร็จของการนำระบบลูกเสือมาใช้ในเรือนจำกลางนครปฐมนี้เองทำให้มีการขยายการนำระบบลูกเสือไปใช้ในการอบรมผู้ต้องขังในเรือนจำต่างๆ โดยเฉพาะที่ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่งที่เป็นทัณฑสถานเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โดยการจัดผู้ต้องขังวัยหนุ่มที่ใกล้พ้นโทษไปไว้ที่ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง 2 และใช้ระบบลูกเสือมาดำเนินการฝึกอบรมผู้ต้องขังอย่างจริงจัง ซึ่งทำได้อย่างเหมาะสมกว่าในเรือนจำปิดเพราะที่ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่งมีพื้นที่กว้างสามารถอบรมการละเล่นรอบกองไฟ  การฝึกการเดินป่า การฝึกภาคสนาม การออกไปช่วยเหลือสังคมภายนอก จึงทำให้การอบรมลูกเสือที่ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ผู้ต้องขังมีระเบียบวินัยและมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นลูกเสือ ออกไปทำประโยชน์ต่อสังคมโดยเฉพาะในงานต่างๆ ของจังหวัด นิยมที่จะทำให้ผู้ต้องขังที่เป็นลูกเสือของทัณฑสถานเปิดห้วยโป่งไปเป็น รปภ. ประจำงาน กิจการลูกเสือในเรือนจำได้เงียบหายไประยะหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.2521 จึงได้มีการจัดตั้งกองลูกเสือวิสามัญ ประเภทนอกโรงเรียนขึ้นเป็นแห่งแรกให้ชื่อว่า “กองลูกเสือวิสามัญพุทธเกษตรานุรักษ์” ทำการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดวัยหนุ่มตั้งแต่ชั้นดีขึ้นไป จำนวน 72 คน เข้ารับการฝึกอบรมโดยมีนายทวี ชูทรัพย์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ในขณะนั้นเป็นประธานประกอบพิธี การจัดการฝึกอบรมลูกเสือในเรือนจำประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ได้รับการชมเชยจากหลายฝ่าย3

 

ดังนั้น หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการนำการจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นในเรือนจำกลางนครปฐม กรมราชทัณฑ์จึงได้ขยายการฝึกอบรมลูกเสือขึ้นในเรือนจำและทัณฑสถานต่างๆ โดยเฉพาะทัณฑสถานวัยหนุ่มซึ่งใช้ได้ผลดีมากในด้านการอบรมระเบียบวินัยและความประพฤติ ทำให้ผู้ต้องขังอยู่ในโอวาทของเจ้าหน้าที่โดยอาศัยระเบียบวินัยของลูกเสือเป็นกลยุทธ์  ปัจจุบันมีการอบรมลูกเสืออยู่ในเรือนจำและ       ทัณฑสถานต่างๆ  ถึง 81 แห่ง เช่น เรือนจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน เรือนจำจังหวัดภูเก็ต เรือนจำเพชรบูรณ์  เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม และทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง เป็นต้น

 

ในปัจจุบันการดำเนินกิจการลูกเสือในเรือนจำส่วนใหญ่ จะจัดเป็นการอบรม 3 – 4 วัน โดยมีวัตถุประสงค์ของการนำการฝึกอบรมลูกเสือมาใช้กับผู้ต้องขังก็เพื่อที่จะฝึกวินัยในการดำรงชีวิตของผู้ต้องขังในสังคม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม โดยฝีกให้มีคุณธรรมจริยธรรม และที่สำคัญรู้จักบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ทั้งนี้โดยการใช้กระบวนการกลุ่มของลูกเสือมาช่วยขัดเกลาพฤติกรรม สมาชิกในหมู่ลูกเสือแต่ละหมู่จะถูกฝึกให้รับผิดชอบดูแลพฤติกรรมของสมาชิกด้วยกันเอง การใช้ชีวิตร่วมกันในแต่ละวัน การทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินป่า การทำกิจกรรมกลุ่มสนทนาตอนเช้า เป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้สมาชิกถูกเฝ้ามองและดูแลให้ประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบกติกา ส่วนการออกทำให้ประโยชน์ให้กับสังคม เช่น ผู้ต้องขังจะออกไปทำความสะอาดวัดหรือถนนหนทางนอกเรือนจำก็เป็นการทำให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสทำงานเพื่อสังคม ตอบแทนสังคม รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม

สำหรับหลักสูตรนั้นเป็นหลักสูตรผู้บังคับลูกเสือวิสามัญชั้นความรู้เบื้องต้น (B.T.C) สำหรับผู้ต้องขังแบบค่ายกลางวัน 4 – 5 วัน มีระยะเวลา 25 – 30 ชั่วโมง เนื้อหาวิชาในหลักสูตรการฝึกอบรมแบ่งเป็น 2 กลุ่มสาระ คือ กลุ่มสาระหลักสำหรับลูกเสือวิสามัญจำนวนวิสามัญ จำนวน 13 วิชา เช่น สาระสำคัญของการลูกเสือ การชุมนุมรอบกองไฟ บทบาทนายหมู่ลูกเสือวิสามัญ การปฐมพยาบาลและบทบาทผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มวิชาบังคับเลือกสำหรับผู้ต้องขังโดยเฉพาะ จำนวน      9 วิชา คือ ประวัติศาสตร์ไทย พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจขององค์พระมหากษัตริย์ไทย หน้าที่พลเมือง ทักษะการดำรงชีวิต โทษภัยของยาเสพติด และกิจกรรมพัฒนาตนเอง เป็นต้น

 

จะเห็นได้ว่าหลักสูตรดังกล่าวมุ่งฝึกอบรมทั้งในส่วนของกิจกรรมลูกเสือ และการปรับพฤตินิสัยของผู้ต้องขังโดยเฉพาะซึ่งจะได้ผลเพียงใดขึ้นอยู่กับเรือนจำ         แต่ละแห่งจะนำไปใช้ในการอบรมอย่างต่อเนื่องหรือไม่ กล่าวคือเมื่อจบการอบรมหลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือวิสามัญแล้วได้มีการดำเนินกิจการลูกเสืออย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพื่อให้ลูกเสือได้มีกิจกรรมและทำประโยชน์ตลอดจนใช้กระบวนการกลุ่มในการขัดเกลาพฤตินิสัยอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นที่เรือนจำกลางนครปฐมได้จัดตั้งกองลูกเสือวิสามัญพุทธเกษตรานุรักษ์ขึ้น เพราะอุปสรรคที่สำคัญของการฝึกอบรมลูกเสือในเรือนจำก็คือปัญหาด้านอาคารสถานที่ ที่หลายแห่งมีความคับแคบ นอกจากนี้ยังขาดอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่และงบประมาณ จนทำให้การฝึกอบรมไม่สามารถดำเนินไปได้ตามเป้าหมายในเรือนจำบางแห่ง อย่างไรก็ตามโดยเหตุที่การอบรมลูกเสือมีประโยชน์ต่อการอบรมผู้ต้องขังในเรือนจำ และประสบความสำเร็จด้วยดีหากดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงทำให้เรือนจำต่างๆ นำเอาการอบรมลูกเสือไปใช้ในเรือนจำอย่างแพร่หลายและจริงจัง แต่จะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นในเรือนจำขึ้นเป็นครั้งแรกหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามตอนต่อไป

 

 **********************

อ้างอิง

 

1                 รายงานประจำปี กรมราชทัณฑ์ พ.ศ.2505

 

2                 สัมภาษณ์ นายถวิล  ไม้เขียว อดีตผู้บัญชาการเรือนจำ ที่เคยปฏิบัติหน้าที่ผู้คุมที่ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง ในขณะนั้น

 

3                 เอกสารสำนักพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์ พ.ศ.2555

หมายเลขบันทึก: 490587เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท