แก่นธรรมแก่นชีวิต:ไดอารี่ชีวิต 39


ธรรมนำชีวิต ธรรมนำปัญญา ธรรมค้ำจุนโลก

                              

        ติรตนะ: ที่พึ่งของชาวพุทธ

    สิ่งสูงสุดในพุทธศาสนาที่ชาวพุทธยึดถือเป็นที่พึ่งทางใจเรียกว่า ติรตนะ ซึ่งแปลตรงตัวว่า แก้ว 3 ประการ.

       พุทธศาสนิกชนตั้งแต่โบราณกาลมา ยกย่อง พุทธะ ธัมมะ และสังฆะ ว่ามีค่าสูงสุดประดุจแก้ว ซึ่งประชาชนทั้งหลายให้ราคาแก้วชนิดต่างๆ ว่า เป็นวัตถุที่มีค่าสูงสุดกว่าที่พึ่งอื่นๆ ดังบทสวดสรรเสริญพระคุณของ รตนะ ทั้ง 3 ประการนี้ว่า

          นัตถิ เม สรณัง อัญญัง พุทโธ เม สรณัง วรัง ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พุทธะ เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า

 

          นัตถิ เม สรณัง อัญญัง ธัมโม เม สรณัง วรัง ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี ธัมมะ เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า

 

          นัตถิ เม สรณัง อัญญัง สังโฆ เม สรณัง วรัง ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า

 

          ตามประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เวลาที่ใครจะประกาศตนว่า ขอถึงพุทธะ ธัมมะ หรือสังฆะ เป็นที่พึ่ง จะต้องประกาศออกมาจากความรู้สึกส่วนลึกที่ได้ประจักษ์แจ้งแก่ตนว่า พุทธะ ธัมมะ หรือสังฆะ เป็นที่พึ่งทางใจของตนจริงๆ เมื่อได้ประกาศตนว่า มีพุทธะ ธัมมะ หรือสังฆะ เป็นที่พึ่งแล้ว ไม่ปรากฏว่า ผู้นั้นจะประกาศ รับเอาสิ่งอื่นใดมาเป็นที่พึ่งทางใจอีกเลย

 

          กลุ่มชนทั้งชายและหญิงที่ประกาศตนว่า ขอรับรตนะทั้ง 3 ว่าเป็นที่พึ่ง เพราะเห็นคุณค่าแห่งรตนะทั้ง 3 อย่างนี้ เรียกว่า พุทธบริษัท (Buddhist Companions) เป็นกลุ่มเพื่อนที่ถือสรณะเดียวกัน ต่อมาเมื่อจำนวนพุทธบริษัทเพิ่มมากขึ้น พุทธบริษัทจึงประกอบไปด้วยกลุ่มชน 4 กลุ่ม ที่ถือสรณะเดียวกันคือ ภิกษุ นักบวชผู้ชาย ภิกษุณี นักบวชผู้หญิง อุบาสก ฆราวาสฝ่ายผู้ชาย อุบาสิกา ฆราวาสฝ่ายผู้หญิง

 

          คำว่า ฆราวาส แปลว่า ผู้ครองเรือน มีทั้งชายและหญิง หมายถึงผู้สนใจศึกษา ปฏิบัติ และเผยแพร่พุทธธรรม แต่ยังอยู่บ้านมีครอบครัว ไม่เป็นนักบวช

 

          จุดประสงค์ของการมี รตนะทั้ง 3 เป็นที่พึ่ง เพื่อกำจัดความกลัว ความไม่มั่นใจ ความไม่ปลอดภัย ในจิตใจ ให้หมดไป ไม่มีความทุกข์จากความหวาดกลัวต่อสิ่งใดๆรบกวน บีบคั้น

 

          มีบทสวดบทหนึ่งที่พุทธบริษัทสวดกันบ่อยๆ ว่า มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อภัย (ความกลัว)คุกคามแล้ว ย่อมเข้าถึง ภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง อารามและรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ (ที่พึ่งทางใจ) ที่พึ่งนั้นไม่เกษม (คือกำจัดความกลัวและทุกข์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่เสร็จสิ้นเด็ดขาด) ส่วนผู้ถือเอา พุทธะ ธัมมะ และสังฆะ ว่าเป็นสรณะ (ที่พึ่งทางใจ) และเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ย่อมจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

          บทสวดนี้คือ ที่มาแห่งการแสวงหาหาที่พึ่งของมนุษย์ เพื่อให้จิตใจปกติไม่หวาดกลัว มั่นคง ไม่หวั่นไหว

 

          การถือเอา พุทธะ ธัมมะ และสังฆะ ว่าเป็นที่พึ่งนี้ มิได้หมายความว่า จะยึดเอาพระพุทธรูป พระไตรปิฏก และพระสงฆ์ที่เดินขวักไขว่ไปมาว่าเป็นที่พึ่ง แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง ก็คือ พุทธคุณ ธัมมคุณ และสังฆคุณ

          เปรียบเหมือนมีขวดบรรจุน้ำบริสุทธิ์ นม และน้ำผลไม้ วางอยู่รวมกัน ผู้ต้องการดื่มน้ำบริสุทธิ์ นม และน้ำผลไม้  นำขวดของเครื่องดื่มทั้ง 3 ชนิด ไปเก็บไว้บนหิ้งบูชาที่บ้าน หรือใส่ตู้เย็นไว้ ผู้นั้นจะไม่มีวันรับรู้รสชาติของเครื่องดื่มทั้ง 3 ได้เลย

 

          แม้ฉันใด ถ้าพุทธบริษัทจะนำเอาพระพุทธปฏิมา (วัตถุที่ถือกันว่าแทนองค์พุทธะ) คัมภีร์ที่บรรจุธัมมะ หรือพระสงฆ์ที่เดินขวักไขว่ไปมา ที่ได้พบเห็น ยังเป็นที่พึ่งที่ไม่เกษม คือใครได้พึ่งแล้วให้เพียงความอุ่นใจบ้าง แต่ไม่ถึงกับพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

 

          ในเรื่องนี้ หลวงพ่อพุทธทาสได้กล่าวไว้ หลายสิบปีมาแล้วว่า ไหว้พระพุทธ ระวังจะสะดุดทองคำ ไหว้พระธรรม ระวังจะขยำคัมภีร์ ไหว้พระสงฆ์ ระวังจะเจอสงฆ์ลูกชาวบ้าน เหตุที่ท่านกล่าวอย่างนี้ เพราะพุทธบริษัทจะยึดถือเอาเครื่องรองรับหรือสัญลักษณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการรำลึกถึงพระพุทธคุณว่า พุทธรัตนะ ถือเอา หนังสือ คัมภีร์ หรือแผ่น ซีดี ที่บรรจุพระธรรม ว่าเป็นธัมมรัตนะ ถือเอาสมมติสงฆ์ ว่าเป็นสังฆรัตนะ

 

          หากไปถือ เครื่องบรรจุ (Container) ว่าเป็นเนื้อหาสาระ (Content) แห่งพุทธะ ธัมมะ หรือสังฆะ เสียแล้ว ก็ย่อมถือผิดฝาผิดตัว จะเป็นได้ก็แค่เครื่องปลอบใจให้รู้สึกอบอุ่นใจในขณะที่ได้กราบไหว้บูชาแต่ละขณะเท่านั้น แต่ไม่เป็นเหตุให้พ้นทุกข์ได้สิ้นเชิง ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นที่พึ่งที่ไม่เกษม

 

          ถ้าอย่างนั้นจะพึ่งรัตนะทั้ง 3 อย่างไร ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า พุทธะ ธัมมะ สังฆะ แบบไหนที่เข้าถึงและพึ่งได้

          พุทธะ แปลว่า ความรู้ ความตื่น และความเบิกบาน

          ธัมมะ สภาพที่ทรงไว้ซึ่งความจริงสูงสุด

          สังฆะ คือ กระบวนการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบซึ่งเกิดขึ้นจากมวลชนที่มีพุทธะและธัมมะเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงอยู่เป็นประจำ ได้ร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆเพื่อเข้าถึงพุทธะ

 

          ความตื่น คือตื่นจากความหลับใหล ลุ่มหลง มัวเมาในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นของเรา เป็นของเขา มาอยู่กับความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลาย เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้น ตั้งอยู่เพียงชั่วขณะ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามกฎของธรรมชาติ ไม่มีอะไรน่ายึด น่าถือ ว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ของเรา หรือของเขา

 

          ความเบิกบาน คือความรู้สึกสดชื่น ปลอดโปร่ง โล่ง เบา สบาย ผ่อนคลาย ไร้ความเครียด ไร้ความทุกข์ อันมีผลมาจากรู้สิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงแล้วปลดปลงได้ ปล่อยได้ วางได้

 

          เจ้าชายสิทธัตถะ แห่งกบิลพัสดุ์ ทรงให้ความสนใจในสัจธรรมมากจนถึงกับทิ้งราชสมบัติและตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกไปใช้ชีวิตนักบวชในโลกกว้าง  เพื่อแสวงหาสัจธรรมที่พระองค์ทรงให้ความสนใจอย่างจริงจัง

 

          พระองค์ทรงใช้เวลา 6 ปี ทดลองปฏิบัติด้วยวิธีการต่างๆ อย่างจริงจัง เข้มข้น อดทน ไม่ย่อท้อ ผ่านการลองผิดลองถูกมากมาย สุดท้ายพระองค์ก็ทรงค้นพบสัจธรรมสากลที่ดำรงอยู่ชั่วนิจนิรันดร์ ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธรรมะ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ปรากฏอยู่ก่อนแล้ว พระองค์เป็นเพียงผู้ค้นพบ ผู้เปิดเผย ผู้บอกกล่าว และเป็นผู้แสดงออกมาให้ทราบเท่านั้น


          เมื่อพระองค์เป็นผู้ค้นพบความจริงสูงสุดด้วยความขยันอดทน โดยใช้ชีวิตเป็นเดิมพันในการค้นคว้าอย่างนี้ ผู้ที่ได้ศึกษาสัจธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบนำไปปฎิบัติแล้วพ้นทุกข์ได้จริง ที่เรียกว่า สาวก ได้ถวายพระนามแด่พระองค์ว่า พระพุทธเจ้า ซึ่งแปลว่า เจ้าของแห่งความรู้ ตื่น เบิกบาน อันประเสริฐ (พระ แปลว่า ประเสริฐ พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบาน เจ้า แปลว่า เจ้าของ)

 

          ความจริง ความรู้ ตื่น เบิกบาน นี้ มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ แต่เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้วนำมาเปิดเผยให้พุทศาสนิกชนทั้งหลายได้รับประโยชน์อย่างกว้างใหญ่ไพศาล จึงยกย่องให้พระองค์เป็นเจ้าของความรู้อันสูงส่งนี้ ดังในปัจจุบันที่คนทั่วไปมักจะตั้งชื่อองค์ความรู้หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆตามชื่อเจ้าของผู้ค้นพบ

 

          ความรู้ที่เรียกว่า พุทธะ นี้จึงไม่สงวนลิขสิทธิ์ไว้เฉพาะพุทธบริษัท หรือผู้ใด ผู้หนึ่ง แต่ใครก็ตามที่ปรารถนาเข้าถึงความรู้ ตื่น เบิกบานแห่งชีวิต ก็เข้าถึงพุทธะได้โดยไร้ข้อจำกัด

 

          พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลาอีก 45 ปี ก่อนที่จะปรินิพาน เสด็จรอนแรมไปตามสถาณที่ต่างๆเพื่อบอกทางและเปิดประตูเข้าสู่พุทธะแก่ผู้ปรารถนาจะเข้าถึงพุทธะทั้งหลาย ประชาชนที่มีความพร้อมสูงสุดเมื่อได้ฟังพระดำรัสตรัสบอกทางเข้าถึงพุทธะจากพระองค์เอง ก็เข้าถึงพุทธะต่อหน้าพระพักตร์บ้าง นำแนวทางที่ได้ฟังแล้วไปใช้ในการดำเนินชีวิตแล้วเข้าถึงความเป็นพุทธะสืบทอดต่อๆกันมาก็มีมากมาย

 

          ความเป็นพุทธะในทางพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องผูกขาดสำหรับใครคนใดคนหนึ่ง แต่ได้กระจายออกไปมากมาย คำว่า พุทธะ จึงมีหลายชื่อ

          เจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ใช้ความวิริยอุตสาหะอย่างมากมายแล้วบรรลุถึงพุทธะก่อนผู้อื่น จึงได้รับการยกย่องว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

          ประชาชนหญิงชายที่มีความเลื่อมใสในการเข้าถึงพุทธะ ได้พบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม ได้ปฏิบัติธรรม และได้บรรลุถึงพุทธะแล้ว เรียกว่า พระอนุพุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานตามหลังพระพุทธเจ้า ผู้ที่ฟังวิถีทางเข้าถึงพุทธะจากพระพุทธเจ้าเอง หรือจากพระสาวกที่เป็นพระอนุพุทธะแล้วเข้าถึงพุทธะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สืบๆต่อกันมา เรียกว่า สาวกพุทธะ แปลว่า เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตามที่ได้ฟังมาแล้วนำไปปฏิบัติจนเข้าถึงพุทธะ

 

          ยังมีผู้ที่ไม่ได้พบพระพุทธเจ้า ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้พบพระสาวก แต่ใช้ความพากเพียรแสวงหาความรู้สูงสุดด้านจิตวิญญาณแล้ว ได้เข้าถึงพุทธะ ไม่สามารถจะอบรมสั่งสอนใครได้ ใช้ชีวิตเงียบๆ เรียบๆ ง่ายๆ เรียกว่า พระปัจเจกพระพุทธเจ้า คือผู้เข้าถึงพุทธะเฉพาะตน ไม่สามารถจะนำใครเข้าถึงพุทธะด้วยได้อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้าเหล่านี้ จะมีอยู่ในโลกไม่ขาดหาย ไม่ว่าในยุคที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ หรือในยุคที่ว่างเว้นจากพระพุทธเจ้า เพียงแต่การเข้าถึงพุทธะนี้รู้ได้เฉพาะตน คนอื่นๆมิอาจทราบได้

 

          ธัมมะ คือทางเข้าสู่พุทธะ เพื่อความสิ้นไปแห่งความเศร้าโศกเสียใจ ตรอมตรม เครียดระทมทุกข์ ธรรมะ คือความจริงสูงสุดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

 

          พุทธะ ความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน ก็เป็นความจริงสูงสุดอีกสภาวะหนึ่งที่จะเข้าถึงได้โดยสายธารแห่งธรรมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางสายเดี่ยวเพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศภและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้คือ สติปัฏฐาน 4 คือ การตามพิจารณาเห็น กาย เวทนา จิต และธรรมอย่างแจ่มแจ้งอยู่เป็นประจำ

 

          สังฆะ คือ การตั้งใจเดินทางธรรมะเพื่อเข้าถึงพุทธะ

สังฆะโดยรูปแบบ หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ที่นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ปฏิบัติธรรมวินัยตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนและบัญญัติไว้สืบต่อกันมา มีทั้งพระสงฆ์ที่เข้าถึงพุทธะอย่างสมบูรณ์แบบแล้วก็กลายเป็นพระอริยสงฆ์ เป็นอนุพุทธะ เป็นสาวกพุทธะ

 

          พุทธศาสนิกชนได้ยกย่องพระสงฆ์ผู้เข้าถึง ความรู้ตื่นเบิกบานอย่างสมบูรณ์โดยตั้งอยู่ใน มรรค 4 คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค  ผล 4 คือโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล หรือตามข้อที่ได้ยินในบทสังฆคุณบ่อยๆ ว่า คู่แห่งบุรุษ 4 คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ 8 บุรุษนั้นแหละ เป็นสาวกสังโฆ เป็นผู้ที่ควรค่าแก่ความเคารพบูชา ถวายข้าวน้ำ เป็นเนื้อนาบุญของโลก

 

          ส่วนพระสงฆ์ที่ยังไม่เข้าถึงพุทธะได้อย่างสมบูรณ์ กำลังดำเนินการปฏิบัติอยู่ เรียกว่า สมมติสงฆ์ แปลว่า พระสงฆ์ที่สำเร็จโดยการเลือกเข้า จะเห็นได้จากพิธีอุปสมบทของพระภิกษุสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์จะประชุมกันแล้วตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะขอบรรพชาอุปสมบท เมื่อสงฆ์พิจารณาว่า ผู้ขออุปสมบทมีคุณสมบัติครบถ้วนจึงอนุญาต เมื่อผ่านกระบวนการเลือกเข้าเป็นภิกษุแล้วก็ประกาศยกสถานะผู้นั้นขึ้นเป็นพระสมมติสงฆ์โดยการปฏิบัติศีลของพระสงฆ์ เป็นผู้อาสาสมัครเข้ามาทำหน้าที่สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาในรูปแบบที่พุทธศาสนิกชนให้ความอุปถัมภ์บำรุงและให้ความเคารพนับถือ

 

       สังฆะอีกความหมายหนึ่ง คือการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ ตามแนวทางในสังฆคุณ เรียกว่า เป็นสังฆะ โดยการปฏิบัติ ไม่มีข้อจำกัดโดยรูปแบบ ซึ่งหมายถึงผู้มีความมั่นใจในเป้าหมายของชีวิตที่จะเข้าถึงพุทธะ เข้าใจทางแห่งธรรมะ ว่าจะนำไปสู่ความสิ้นกิเลส สิ้นทุกข์ได้จริงแล้ว ลงมือนำเอาธรรมะที่ตนเข้าใจดีแล้ว มีความศรัทธาเชื่อมั่นมาปฏิบัติอย่างจริงจัง


          กระบวนการปฏิบัตินั้นแหละ เรียกว่า สังฆะ แปลตรงตัวว่า หมู่ กลุ่ม หรือ ชุมชน

          เมื่อมีคนสนใจการดำเนินชีวิตแบบนี้มากขึ้นรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน ก็ควรเรียกคนกลุ่มนี้ว่า สังฆะ เพราะเป็นหมู่ หรือกลุ่ม ส่งเสริมซึ่งกันและกันให้มุ่งหน้าเข้าหาพุทธะเป็นเป้าหมายชีวิต กระบวนการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนี้เอง หรือหมู่คณะที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญแห่งการเข้าถึงพุทธะ

 

          เมื่อกล่าวถึง รตนะ 3 ประการ ในทางปฏิบัติ รตนะทั้ง 3 ล้วนเป็นหนึ่งเดียว แยกจากกันไม่ได้

เพราะพุทธะ เป็นเป้าหมายที่จะเข้าถึง

ธรรมะ เป็นทางเดิน

สังฆะ  เป็นกระบวนการเดินทางเข้าถึงพุทธะ

 

          เมื่อพูดถึงการเข้าถึงธัมมรตนะก็คือ การแสวงหาทาง แต่เมื่อพระพุทธเจ้าชี้ทางไว้แล้วไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยแสวงหาเส้นทางอีก เพียงแต่เชื่อมั่นแล้วขยันเดินตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางไว้

          สังฆะ ก็คือ การลงมือเดินทางอย่างจริงจังโดยไม่รั้งรอ ผัดวันประกันพรุ่ง

         

          ติรตนะ จะเป็นที่พึ่งทางใจของพุทธศาสนิกชนอย่างไร

ที่พึ่งทางใจ คือ ที่พักใจ

บ้านเป็นที่พักกาย ติรตนะเป็นที่พักใจ

 

          ชีวิตในส่วนกายเมื่อมีบ้านเป็นที่พักเป็นหลักแหล่ง แม้จะเดินทางจากบ้านไปไหนไกลแสนไกล แต่พอตกเย็นก็ต้องเดินทางกลับมาบ้านเพื่อพักกาย เพื่ออาบน้ำชำระร่างกาย รับประทานอาหารเพิ่มพลังงานหรือทดแทนพลังงานที่ที่สูญเสียไป ฉันใด ใจก้เป็นฉันนั้นเหมือนกัน แม้แต่ละนาที ชั่วโมง หรือแต่ละวันใจจะท่องเที่ยวไปไกล โดยการคิดปรุงแต่งไปในเรื่องต่างๆ จนใจอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อย ก็มีความต้องการพักใจ เมื่อยังไม่รู้ก็จะนำใจกับวัตถุภายนอก ด้วยการกินอาการ ดื่มสุรา นานารูปแบบ หาความสนุกสนานรื่นเริง บันเทิงอย่างสุดเหวี่ยง แสวงหาความตื่นเต้นเร้าใจกับการละเล่นนานาชนิดที่ล้วนสร้างขึ้นมาให้มนุษย์ผู้ยังไม่รู้จักที่พึ่งทางใจแบบอื่นที่ดีกว่า ละเอียดกว่า ลึกซึ้งกว่า สงบกว่า สูญเสียรายจ่ายน้อยกว่า เสียเวลาน้อยกว่า ได้แสวงหาความสุขไปก่อน

 

          ส่วนผู้ที่รู้จักติรตนะทั้ง 3 แล้ว ยามใดที่ใจเต็มไปด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ไม่ปล่อยใจให้ท่องเที่ยวไปไกลจากกาย จากกิจกรรมต่างๆที่กำลังกระทำอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเวลาพักผ่อน หมั่นใส่ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมลงไปในทุกขณะและทุกการกระทำ ขณะนั้นก็ยังได้ชื่อเข้าถึงและและพักใจไว้กับรตนะทั้ง 3 ประการ นับเป็นเวลาที่ความเป็นพุทธบริษัทสมบูรณ์แบบเพราะคุณสมบัติข้อแรกของพุทธบริษัทต้องเข้าถึงรตนะทั้ง 3 ประการ ด้วยความมั่นใจไม่หวั่นไหว

 

          การกระทำใดๆ ที่ทำด้วยความตั้งใจลงไปเต็มๆว่า จะทำไปด้วยความรู้ตัวอยู่เสมอ ตื่นตัว และแช่มชื่นอยู่เสมอ แล้วลงมือทำอยู่เช่นนั้น ไม่ละความตั้งใจ ไม่ปล่อยใจให้ท่องเที่ยวไปที่อื่น ก็เรียกได้ว่า กำลังเข้าถึงรตนะทั้ง 3 เป็นที่พึ่งได้


          การพึ่งรตนะทั้ง 3 ที่แท้จริง มิได้พึ่งวัตถุภายนอกแต่เป็นการพึ่งสภาวธรรมแห่ง ความรู้ ความตื่น และความเบิกบาน ที่มีอยู่ในใจตามปกติก่อนที่จะมีอะไรมาเร่งเร้า กระตุ้น ยั่วยุจนขาสติ จนกระทั่งใจก็เปลี่ยนไปพึ่งความโลภ ความโกรธ และความหลง

 

          ใจเคยอาศัยรตนะทั้ง 3 เป็นที่พึ่ง เมื่อขาดสติก็เปลี่ยนไปยึดเอาความโลภ ความโกรธ และความหลง กระบานความคิดเปลี่ยน ทำให้ชีวิตก็เปลี่ยน เช่น เคยทำงานด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเป็นพลังงานในการกระทำกิจกรรมต่างๆแต่กลายเป็นทำไปด้วยความโลภ โกรธ หลง เป็นผู้ฉุดกระชากลากถูให้แสวงหาสิ่งต่างๆ มาตอบสนองแบบไม่ต้องมีวันสิ้นสุด

 

          จิตที่พึ่งพุทธะ ธัมมะ และสังฆรตนะ จะสงบ ร่มเย็น มั่นคง มีความพร้อมที่จะทำงาน ยุ่งๆ ยากๆ ให้ผ่านไปได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเวลาที่ไม่มีอะไรทำเลย ก็ไม่เหงา มีความสงบใจ ความเย็นใจเท่ากัน ไม่หวั่นไหว ไม่ฟูยามยามพบกับสิ่งที่พึงปรารถนา และไม่แฟบยามต้องพบกับสิ่งที่ไม่สมปรารถนา

 

          จิตที่อาศัยพึ่งพาพุทธะ ธัมมะ และสังฆะเป็นที่พึ่ง (สรณะ) จะมั่นคง ปลอดภัย ไม่หวาดกลัว ไม่หวั่นไหว ไม่วิตกกังวล ต่อสิ่งใดๆแต่ทุกอย่างเป็นไปด้วยอานุภาพแห่งความรู้ตื่นเบิกบานรู้สึกตัวทั่วพร้อม สะอาด สว่าง และสงบ พบเห็นสิ่งทั้งหลายก็มองเห็นยอมรับตามความเป็นจริง แล้วปล่อยให้ผ่านไปตามกฏของธรรมชาติแห่งความเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องไปฉุดกระชากลากถูเข้ามาไว้เป็นตัวกูและของกู หรือไม่ต้องผลักไสไล่ส่งให้ไปเป็นของคนใดคนหนึ่ง แต่เฝ้าดูความเป็นไปตามกระแสแห่งธรรมชาติ ที่กำลังขับเคลื่อนสิ่งทั้งปวงให้เป็นไปโดยไม่มีใครกำหนดได้ ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น

 

          การพึ่งธัมรตนะ คือการพึ่งพุทธรตนะดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ธรรมะและวินัย ที่ตถาคตบัญญัติแล้วและตรัสไว้ชอบแล้ว จะเป็นครูของเธอทั้งหลายเมื่อตถาคตล่วงลับจากไป เป็นอันว่า หัวใจของรตนะทั้ง 3 อยู่ที่ธัมมะนี่เอง

          พระพุทธเจ้าองค์แท้ที่เป็นอมตะ ก็คือ ธัมมะการปฏิบัติธรรมะเพื่อเข้าถึงพุทธะ ก็คือ สังฆะ

          พุทธรตนะ ธัมมรตนะ และสังฆะรตนะ จึงถักทอเป็นหนึ่งเดียวที่เรียกว่า ติรตนะ

 

          ธรรมะจากวัด (ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดลอยฟ้า) กราบนมัสการพระคุณเจ้า กราบขออนุญาตินำบทธรรมะสร้างสรรค์ปัญญานำมาประดับใจไว้ในบันทึก


        ขอบคุณข้อมูลจากนิตยสารเทคโนโลยี่ชาวบ้าน15 เมษายน 2555


        ขอบพระคุณและสวัสดีค่ะ



หมายเลขบันทึก: 490244เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ

เป็นพระอาจารย์ที่ปริมศรัทธา เคารพมาตั้งแต่เด็กค่ะ :)

 สวัสดีตอนบ่ายค่ะคุณปริม...ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ น้อยรู้จักท่านผ่านคอลัมน์ "ธรรมะจากวัด" (นิตยสารเทคโนโลยี่ชาวบ้าน)ค่ะ ท่านอธิบายหลักธรรมะได้แบบตรงๆเรียบง่าย(ไม่ต้องแปล)อ่านแล้วดึงดูดใจค่ะ บทธรรม"ติรตนะ" ชอบเป็นพิเศษค่ะ...

ขอบพระคุณทุกๆท่านสำหรับดอกไม้กำลังใจค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท