คำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องตั้งเวลาปิดเปิด PCR machine


     อันเนื่องมาจากคำถามใน facebook เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจได้อย่างเต็มที่ ก็เลยขอนำมาตอบอีกครั้งใน gotoknow นี้ครับ

     1. เครื่องนี้เป็นเหมือนสวิตซ์ปลั๊กสามตาที่ตั้งเวลาต่างหากใช่ไหม

     ใช่ครับ เครื่องตัวนี้เป็นเหมือนสวิตซ์ไฟต่างหาก มีหน้าตาเหมือนภาพข้างล่างครับ คือเป็นปลั๊กตัวผู้ 1 ตัว มีสายไฟยาวต่อเข้ามาในเครื่องตั้งเวลาปิด-เปิด (timer) ชนิดตั้งเวลาได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าเครื่องตั้งเวลานี้จะต่ออยู่กับปลั๊กไฟตัวเมียครับ

     เวลาใช้ ก็ให้นำปลั๊กไฟตัวผู้ (สีเหลือง) ไปเสียบต่อกับ UPS แล้วเอาปลั๊กไฟจากเครื่อง PCR มาเสียบเข้ากับปลั๊กไฟตัวเมียครับ

     ก่อนใช้งาน ก็จะต้องตั้งเวลาของเครื่องมือตัวนี้ให้ตรงกับเวลาปัจจุบันครับ โดยตั้งเวลาปัจจุบันให้ตรงกับขีดสามเหลี่ยมที่อยู่ภายในวงกลมเวลาสีฟ้าครับ สำหรับการตั้งเวลา จะใช้ พลาสติกเล็กๆเป็นตัวควบคุมครับ พลาสติกสีส้ม หมายถึงเปิด พลาสติกสีขาว หมายถึง ปิด ในที่นี้จะตั้ง ปิด-เปิด ได้ อย่างละ 3 เวลาครับ โดยนำพลาสติกนี้ไปเสียบในช่องเวลาที่เป็นวงกลมให้ตรงกับเวลาที่ต้องการปิด หรือ เปิดเครื่องครับ

     2. การปิดเครื่องเท่ากับการตัดไฟออก ตอนเครื่อง PCR ทำงานที่ 4 C ใช่ไหม

     หากใช้ standard protocol สำหรับการเพิ่มปริมาณ PCR ของชุดน้ำยา identifiler คงต้องตอบว่า ใช่ครับ เพราะขั้นตอนสุดท้ายของน้ำยา identifiler จะเป็นการ soak ที่ 4 C ซึ่งการ set เครื่องแบบนี้ คงต้องบอกว่า เครื่องจะทำงานหนักครับ เพราะต้อง heat lid ที่ 103-105 C และต้อง cool block ที่ 4 C จนกว่าเราจะมาปิดเครื่อง ดังนั้น protocol นี้ จึงไม่เหมาะที่จะทำงานนอกเวลาราชการ หรือเวลาที่ไม่มีคนอยู่ในห้องแล็บ เพราะเครื่องต้องทำงานหนักทั้งคืน ทำให้อายุการทำงานของเครื่อง PCR ลดลง แล้วนอกจากนั้น การใช้งานเครื่องมือลักษณะนี้ หากเป็นเครื่องมือใหม่ คงไม่มีปัญหาเท่าไหร่ครับ แต่ถ้าหาก seal ด้านบนฝาเครื่องเริ่มเสื่อมสภาพ หรือ plate holder เริ่มเสื่อมสภาพ จนมีอากาศภายนอกสามารถเข้าไปภายในเครื่องได้แล้ว การเปิด cool block ไว้ที่ 4 C เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการควบแน่นของน้ำ ทำให้มีน้ำเข้าไปจับบริเวณ block ได้ หรือถ้าเปิดนานๆ น้ำที่จับบน block อาจจะมากจนล้นออกมาจาก block แล้วไหลเข้าไปในเครื่อง ทำให้เครื่องมือเสียหายได้ครับ

     ดังนั้น ผมจึงปรับเปลี่ยน protocol จากขั้นตอน soak 4C forever มาเป็น 4C 5 min หลังจากนั้น ก็รอให้เครื่องตั้งเวลาปิด-เปิด ทำงานครับ ก็จะเป็นการตัดไฟ ขณะที่เครื่องยังทำงานเฉพาะ heat lid ที่ 103-105 C ครับ ซึ่งเป็นการทำงานที่เครื่อง PCR ทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเมื่อเปิดเครื่อง PCR ใหม่ เครื่องจะไม่ run โปรแกรมเดิมอีกครับ

     การปรับเปลี่ยน protocol ตรงขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเป็นขั้นตอน post PCR นั้นไม่มีผลกระทบต่อการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอครับ และการตั้ง PCR product ไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาข้ามคืนนั้น ผมได้ทดลองแล้ว พบว่า ไม่มีผลต่อปริมาณสัญญาณฟลูออเรสเซนต์ทุกสีครับ โดยทั้ง RFU และ area under peak ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญครับ

     เพราะฉะนั้น เครื่องมือนี้ก็เลยนำมาใช้ได้ดีครับ ที่หน่วยนิติเวชศาสตร์และพิษวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใช้เจ้าเครื่องมือนี้ มาได้ราว 1 ปีแล้วครับ ระหว่างนี้ไม่เคยมีปัญหาใดๆ ทั้งเรื่องสัญญาณฟลูออเรสเซนต์ในปฏิกิริยาทดสอบ หรือเครื่องมือเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ (PCR machine) ก็ไม่เคยกวนใจครับ

หมายเลขบันทึก: 490171เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท