ประวัติโรงพยาบาลสูงเนิน ภาคบู๊ลิ้ม (ภาคแรก)


 

เมื่อหลายวันก่อน.. kunrapee ค้นเจอหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราว

ประวัติของโรงพยาบาลสูงเนิน

ซึ่งเขียนโดย “หมอตุ่ม” นายแพทย์วีรวัฒน์ พันธ์ครุฑ

หนึ่งในผู้อำนวยการคนแรกๆ ของโรงพยาบาลสูงเนิน

วันนี้จึงอยากนำผลงานเขียนของท่านมาเล่าให้ทุกท่านได้อ่านค่ะ

 

ซู้งึ้งอุยหงี่” (อุยหงี่=โรงพยาบาล, ซู้งึ้ง=สูงเนิน) ตั้งอยู่บนถนนสาย โคลักซู้งึ้ง (โคราช-สูงเนิน) ในช่วงแรกได้ชื่อว่าเป็น

ยุคสมัยแห่งการล้มลุกคลุกคลาน (ก่อนปี พ.ศ.2522) สมัยนั้นผู้คนในแคว้นซู้งึ้งประสบความยากลำบากนานัปการ มีความเจ็บไข้ได่วยล้มตายอยู่เนืองนิตย์ โรงยาที่ทานการจัดตั้งขึ้นแก้ปัญหาได้เพียงเล็กน้อย ประชาราษฎร์ถึงกับทำฎีกาขึ้นถวายส่วนกลางว่า เสนาบดีเอาแต่สนุกสนานเต้นระบำรำฟ้อน มิได้สนใจทุกข์ สุขราษฎร ต่อมาคหบดีผู้ใจบุญแห่งสำนักกิมก๊ก (บริษัทแหลมทอง) ได้บริจาคทรัพย์ถึง 2 ล้านชั่งเพื่อก่อสร้างซู้งึ้งอุยหงี่ ภายใต้การควบคุมการก่อสร้างจาก แปะเหนา ในบริเวณวัดซู้งึ้ง

พร้อมกับทางการได้ส่งผู้กล้าชุดแรก อันได้แก่ ผู้กล้าจากสำนักสีสิบลัก นามโต๋วเท้งเต้ง (นพ.ศิริชัย) ฉายาขุนพลหน้ายิ้ม และผู้กล้าจากสำนักลามา นามหยางซำหลง (นพ.สำเริง แหยงกระโทก) ฉายาหมัดพิฆาตเบียร์สิงห์ สองท่านนี้ได้เข้ามาฟื้นฟู ปรับระบบแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ในการบริหารงานที่ผ่านมาให้เป็นระบบมากขึ้น มีการให้บริการพิเศษในวันหยุดราชการครึ่งวันเหมือนวันธรรมดา ยามค่ำคืนดึกดื่นก็มิได้พักผ่อนหลับนอน หากไม่เยียวยารักษาผ่าตัดผู้ป่วย ก็จะชักชวนไพล่พล ลิ่วล้อขึ้นหลังม้า บุกป่าฝ่าดงเข้าไปในป่าเขา หมู่บ้านกันดารห่างไกล ไต่ถามสารทุกข์บำบัด ช่วยเหลือปัดเป่าปัญหาต่างๆให้กับผู้คน สร้างความรักใคร่เป็นกันเองกับชาวบ้านร้านถิ่น ภาพพจน์ของอุยหงี่จึงได้แปรเปลี่ยนจากเดิมที่เหมือนโรงฆ่าสัตว์ เจ้าหน้าที่ละเลยไม่เอาใจใส่ต่อกิจการงาน เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ผู้คนได้เริ่มพากนหลั่งไหลมารักษามากขึ้น มิเพียงเฉพาะแคว้นซู้งึ้งเท่านั้น แม้แต่จากแคว้นใกล้เคียงได้ทราบกิตติศัพท์ก็พากันทยอยมา เพียงไม่กี่ปีโรงยาซู้งึ้งก็เป็นที่ทราบกิตติศัพท์กันดีในหมู่ประชาว่า บริการดี มีน้ำใจ

ยุคสร้างเมืองใหม่ (พ.ศ.2522-2524) ภายใต้ความสามารถปราดเปรื่องเยี่ยมวิทยายุทธของ หยางซำหลง และโต๋วเท้งเต้ง ได้เป็นเครื่องดึงดูดให้ผู้เหี้ยมหาญอีกหลายท่านในยุทธจักรได้เดินทางมายังแคว้นซู้งึ้ง อันได้แก่ แม่ชีเจเพ็กเก็ง (ทันตแพทย์เจเจ'วิจิตร) ฉายาเขี้ยวทองอาญาสิทธิ์ ท่านผู้นี้มีหลักธรรมะ ความสมถะ และสันติธรรมต่อสู้กับปัญหาบ้านเมือง การเอารัดเอาเปรียบต่างๆ จิวเบ็งเฮ็ก (เภสัชกรจิ๋ว'วิทยา) ฉายาโอสถหัตถะมังกร ท่านผู้นี้ต่อมาได้มาเป็นหัวหน้าพรรคโอสถชุมชน และเป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้ง สำนักโอสถชุมชนขึ้นทุกหนทุกแห่งในแคว้นซู้งึ้ง เหลี่ยงโกเหล็ง ฉายาดรรชนีโลหิต ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ แอล เอ ก๊ก อ๋าบั๊กโก๋ (คุณเดือนชาติ'พ่อบ้านขณะนั้น) ฉายาบัณฑิตกระดาษแดง ผู้ระเหเร่ร่อนไปมา ได้ตั้งรกรากในซู้งึ้ง ต่อมาย้ายเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายในเมืองโคลัก โย๋วทิกัง (นพ.โยธี) ฉายาบัณฑิตสลาตัน ต่อมาย้ายไปเป็นผู้พิชิตรักษาโรคทารกในเมืองโคลัก ด๋าตวง ฉายามือพิชิตมาร นอหจากนี้ยังมีอีกหลายท่าน อาทิเช่น  กังจ๊กหนาน (พี่น้อย'กาญจนา) หัวหน้าตึกโฉมสะคราญการุญ หวังหนี่หนี้ (พี่แอ๋ว'วารุณี) หัวหน้าตึกเปี่ยมคุณธรรม ท่านเหล่านี้ได้ช่วยกันบุกเบิกต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ทำความเจริญก้าวหน้าให้กับซู้งึ้งอุยหงี่ จนเรียกได้ว่ายุคนี้เป็นยุคบุกเบิก สร้างเมืองใหม่ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ยุคก้าวกระโดด (พ.ศ. 2525-2528) โต๋วเท้งเต้งได้รับบัญชาจากเสนาบดีมณฑลโคลัก ให้ไปกินเมืองโชวพ๋วย (อ.ชุมพวง) เพื่อบำบัดความทุกข์ยากให้กับชาวเมืองซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน การจากไปของหมอโต๋วเท้งเต้งได้สร้างความอาลัยอาวรณ์กับผู้คนยิ่งนัก แต่หยางซำหลงกลับได้ผู้กล้ามือฉมังมาร่วมงานอีก 3 ท่าน อันได้แก่ บุ๋นซำฮง (นพ.ไพบูลย์) ฉายาลายเปื้อนฟ้า ผู้แซ่บุ๋น เจนจัดด้านข้อมูลข่าวสารวิชาการ ด้านเครื่องสมองกล ได้พัฒนาระบบการเก็บวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่างๆ ต่อมาๆได้ย้ายเป็นอาจารย์วิทยายุทธแห่งสำนักลามา เผ่าเง็กไหล (นพ.เผ่า) ฉายากระบี่ในรอยยิ้ม ผู้แซ่เผ่ นั้นถนัดในด้านการฝึกอบรม ได้ฝึกสอนทหารเล็กใหญ่ ทั้งภายในและนอกแคว้น จนซู้งึ้งอุยหงี่ มีชื่อเสียงในด้านเป็นสำนักฝึกหัดนักสู้ที่มีคุณภาพ ตู้ป้าเทียน (พี่อี๊ด'นิรันดร์) ฉายาดาบกล้วยไม้ ผู้แซ่ตู้นั้นรับผิดชอบด้านคดีความ ได้ช่วยรักษาการว่าความแทนหยางซำหลง ในครั้งที่ท่านได้ออกไปราชการต่างเมือง ในยุคนี้ได้เกิดสิ่งเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เช่นการตั้งหอผลิตยาเสริมโลหิต, การก่อตั้งศูนย์ฝึกเยาวชน, การรับอาสาสมัครบู๊มาทำงานพัฒนาบ้านเมือง, การพัฒนาระบบด้านสุขาภิบาลและน้ำสะอาด ปริมาณผู้คนที่พากันหลั่งไหลมาด้วยความศรัทธามีปริมาณเพิ่มขึ้น นับได้ว่าเป็ยยุคแห่งการปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด

ยุค 3 “จ” 1 “ส” (กค.2528 – มี.ค.2529) หยางซำหลง ได้รับพระราชโองการจากเมืองหลวงให้ไปช่วยราชการในเมืองโคลัก ช่วงเวลานั้นขุนนางมือดี เช่นบุ๋นซำฮง, เผ่าเง็กไหล, ตู้ป้าเทียน ล้วนมีราชการต้องออกไปช่วยแคว้นใกล้เคียงทั้งสิ้น ทำให้ขาดผู้ดูแลแคว้นซู้งึ้ง หยางซำหลง ได้แต่งตั้งขุนนาง 3 ท่านให้รักษาว่าราชการเมือง ได้แก่ แม่ชีเจเพ็กเก็ง, จิวเบ็งเฮ็ก  และจังกู๋พัง เนื่องจากแซ่ของบุคคลทั้งสาม ล้วนออกเสียงเป็นตัว “จ” ทั้งสิ้น ผู้คนในสมัยต่อมาจึงพากันขนานนามยุคนั้นว่ายุค 3 จ ท่านรักษาบ้านเมืองอยู่ไม่กี่เดือน ผู้สำเร็จราชการมณฑลได้ส่งเสนาบดีหญิงที่มีความสามารถท่านหนึ่งนาม ซูเพ้งตา (พญ.สุพัตรา) มาว่าราชการ ท่านผู้นี้ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองบ๊วยหยาย (อ.บัวใหญ่) และท้ายที่สุดเป็นผู้นำชมรมผู้กล้าเจ็ดสอบสองแคว้น ช่วงนี้เป็นระยะเวลาสั้นไม่ถึงปี จึงมิได้มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก ผู้คนพากันรียกยุคสมัยนี้ว่ายุค 3 จ. 1 ส.

ยุค “ล่องเรือฝ่าคลื่นลม” (พ.ศ.2529-2532) ผู้แซ่ตู้ ฉายาดาบกล้วยไม้ ได้กลับจากศึกษาวิทยายุทธขั้นสูง จากสำนักเสี้ยวลิ้มยี่ ส่วนกลางจึงแต่งตั้งให้ว่าราชการแทนหยางซำหลง ตู้ป้าเทียนนั้นถือได้ว่าเป็นทหารคนสนิทของหยางซำหลง เคยต่อสู้ร่วมรบกันหลายครั้งหลายครากิจการต่างๆจึงมีความคุ้นเคยกันอย่างดี การบริหารบ้านเมืองจึงสืบต่อในแนวลักษณะคล้านคลึงกับของเดิม ยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายของขุนพลผู้กล้าต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา บางช่วงเป็นตอนหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงเปรียบประดุจเรือโคลงเคลงไปตามกระแสคลื่นลมแรงบ้าง ยุคนี้ได้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมากมายหลายเรื่องเช่น การพัฒนาระบบการแพทย์แผนโบราณ การนวด การใช้สมุนไพร การพัฒนาความสามารถด้านรักษาพยาบาลให้สูงขึ้น การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารโดยใช้เครื่องมือกล เป้นต้น

รวมความทศวรรษ (พ.ศ.2522-2532) นับได้ 5 ยุค 5 สมัย

หลายท่านอ่านแล้วอาจไม่ค่อยเข้าใจ แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ในยุคนั้น จะจำได้ดีทีเดียวว่า

มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วแต่ละคนที่ถูกกล่าวขวัญถึงคือใครบ้าง

ณ ตอนนั้ kunrapee ก็ยังไม่ได้มาอยู่ที่รพ.สูงเนิน จึงยังไม่รู้จักท่านๆเหล่านั้น

เพียงแต่ได้ยินการบอกเล่าสืบต่อกันมาจากคนรุ่นเก่าๆ ที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่ท่านเท่านั้น


หมายเลขบันทึก: 489624เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

"ซาใภ้จีน อ่างแล่วมึง" ชื่อจีนเลี้ยว

ขอบคุณหลายเด้อ "น้องชลัญ"

ภาษาจีนนี่.. คุณพี่.. ไร้สามารถเจงๆ

เมื่อตอนเรียนเพื่อนมันเรียก "อาอึ้ม" สงสัยแก่แต่เด็ก ฮุฮุ

 

ฮาๆๆ ช่างคิดมากเลยครับ อ่านแล้วงงเลยครับ ต้องค่อยๆ อ่านครับ

ถ้าเป็นจนท.ที่เคยอยู่ ณ เวลานั้น จะอ่านและเข้าใจง่ายค่ะ "ดร.ธวัชชัย" kunrapee อ่านยัง งงๆ แต่ชอบมาก ก็เลยอยากแบ่งปันให้ทุกท่านได้อ่านค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาอ่านค่ะ


 

โอ้โห คุณหมอตุ่ม.. สุดยอดจริงค่ะ สามารถมากๆ อ่านแล้ว.. ได้ข้อมูลมากมาย

เป็นข้อมูลในช่วงก่อสร้างเมือง เอ๊ย.. สร้างโรงพยาบาล ถ้ามีรูปเก่าๆ ของช่วงนั้น เก็บไว้ด้วยน่าจะดีมากเลยนะคะ

เห็นจริงตามนั้นจ้า "tuktun" คุณหมอตุ่ม'นพ.วีรวัฒน์ พันครุฑ มีความสามารถที่หลากหลายจริงๆ

"น้องรัชนี" ขอบคุณที่แนะนำค่ะ รูปภาพเก่ามีเยอะค่ะ แต่ไม่ได้นำมาลง.. เลือกไม่ถูก ฮุฮุ


 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท