อนุรักษ์ผืนป่าและน้ำด้วยบทกวี...ภูมิปัญญาปกาเกอะญอแห่งแม่ละอุป


การอนุรักษ์ผืนป่าและน้ำให้สำเร็จได้นั้นถือเป็นงานที่แสนยาก แต่กับชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ละอุปแล้วกลับเป็นเรื่องที่ง่าย เพราะด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ ณ วันนี้พวกเขาจะไม่ยอมทำลายเส้นเลือดใหญ่ชีวิตของพวกเขาเอง

 

“ผู้ชายเปรียบเสมือนต้นไม้ ส่วนผู้หญิงก็เปรียบเสมือนน้ำ

แล้วทั้งสองฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันดูแลต้นน้ำ

ผลสำเร็จจึงจะตามมา ผลสำเร็จนั้นมีค่านั้นมีค่ามาก หาซื้อไม่ได้

มีแต่เราเท่านั้นที่ทำได้ เพราะผลสำเร็จนั้นต้องเริ่มที่ตัวเราแล้วไปสู่คนอื่น

อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใด ถ้าผู้หญิงและผู้ชายจับมือกันรักษาต้นน้ำ

ที่นั่นเต็มไปด้วยความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ไม่มีจน”

          หากคนทั่วๆ ไปอ่านผ่านๆ ก็จะเข้าใจคำกล่าวนี้เพียงว่าต้องการสื่อให้คนรักษาป่าและน้ำ  ทว่าคำกล่าวนี้กลับมีค่าอย่างยิ่งต่อชาวปกาเกอะญอแห่งบ้านแม่ละอุป ต.แจ่มหลวง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เพราะนี่ คือ คำแปลบทกวีของพวกเขาที่ยึดถือและสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ เพื่อให้ชาวปกาเกอะญอช่วยกันรักษาป่าไม้และน้ำ ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมากมาย

 

             วันนี้ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ละอุป ได้ใช้บทกวีพร้อมกับภูมิปัญญาอื่นๆ ในการปลุกจิตสำนึกให้คนในหมู่บ้านหวงแหนช่วยกันรักษาป่าไม้และแหล่งน้ำ โดยได้จัดทำโครงการขยายผลการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาปกาเกอะญอฟื้นฟูอนุรักษ์ลำห้วยบนพื้นที่สูง ขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสุนนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.   

             ผิดหวัง  เกรียงไกรสโมสร กรรมการหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดทำโครงการ เล่าว่า เมื่อก่อนมีคนไปตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ ถ้าเราไม่อนุรักษ์ไม่หวงแหนไว้ ป่าไม้ก็หมดไป น้ำในคลองในลำห้วยก็จะเหือดแห้งไป โดยเฉพาะห้วยแม่ละอุป และห้วยบะบ้า ซึ่งชาวบ้านได้ใช้อุปโภคและบริโภค และยังเป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำแม่แจ่ม นอกจากนี้แล้วปัจจุบันพบว่าลำห้วยสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความเสื่อมโทรมจากการทิ้งของเสียหรือบุกรุกโดยที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ ประกอบ อ.กัลยาณิวัฒนา เริ่มเติบโตทางด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้หารือกับผู้นำชุมชนเพื่อหาทางป้องกันปัญหาจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยใช้ “ภูมิปัญญาปกาเกอะญอ” มาเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนโครงการ

            โดยเรามองว่า ความเป็นปกาเกอะญอ วิถีชีวิตและภูมิปัญญานั้นเอื้อต่อการรักษาธรรมชาติ และธรรมชาติที่ยังคงอยู่ได้ส่วนหนึ่งก็เพราะมาจากภูมิปัญญาปกาเกอะญอที่ช่วยรักษาไว้ เช่น  ชาวปกาเกอะญอจะไม่ฆ่าชะนีที่อาศัยอยู่ผืนป่า 70-200 ไร่ เพราะชะนีมักอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและน้ำสมบูรณ์ เมื่อพบว่าชะนีอยู่ที่ใดย่อมแสดงว่าพื้นที่นั้นอุดมสมบูรณ์

ปูก้ามเหลือง

กบจุก            

ปลาก้าง ปูก้ามเหลือง กบจุก ตามลำห้วย เมื่อก่อนชาวปกาเกอะญอจะจับมากิน แต่ตอนนี้ไม่มีใครจับมากินแล้ว เพราะสัตว์ทั้ง 3 ชนิดนี้จะไวต่อสารพิษ พบตามแหล่งน้ำสะอาดเท่านั้น ซึ่งนั่นเท่ากับว่าสัตว์ทั้ง ชนิดเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของสิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำสะอาดที่ชาวปกาเกอะญอสามารถตักน้ำมาดื่มกินได้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างราย จึงไม่มีใครจับมากินอีก 

            มีความเชื่อที่ว่า พื้นที่น้ำใช้น้ำกินใครจะไปทิ้งของเสีย ไปอุจจาระ ไปปัสสาวะก็จะเกิดเจ็บป่วย หรือจะเอาไม้ไปปักไปบุกรุกทำสิ่งไม่ดี ถือเป็นเรื่องยากที่ชาวปกาเกอะญอไม่ทำกัน ในส่วนของพื้นที่ป่าได้ทำพิธีบวชป่าเนื้อที่รวมกว่า 2,500 ไร่ เพื่อให้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังได้แบ่งพื้นที่ป่าเป็นป่าอนุรักษ์ ป่าทำกิน และป่าเพื่อการใช้สอย อย่างชัดเจน

            “ชาวปกาเกอะญอ ไม่มีความเหลือมล้ำทางศาสนา ไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ หรือนับถือผี แต่ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ไม่มีการปิดกัน  ไม่ว่าจะนับถืออะไร ภูมิปัญญานี้ใครจะหยิบไปใช้ได้หมด” ผิดหวัง กล่าว

          การอนุรักษ์ผืนป่าและแหล่งน้ำของชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ละอุป จะถูกสานต่อปลูกฝังให้กับเยาวชนในหมู่บ้าน โดยมีบทกวี เรื่องของการอนุรักษ์ป่าและน้ำ เป็นตัวเชื่อม

             สรพล ลีลามีทรัพย์ ปราชญ์ชาวบ้าน หรือที่ชาวปกาเกอะญอเรียกว่า “สะระโสตะ โซโพสะโฮ” เล่าเสริมว่า บทกวีนี้เป็นบทกวีของชาวปกาเกอะญอมาตั้งแต่อดีตสืบทอดเรื่อยมาหากเปรียบก็เหมือนกับเพลงพื้นบ้าน  ซึ่งบทกวีจะมีทั้งหมด 15 บท แต่จะมีอยู่หนึ่งบทที่เป็นการสอนให้คนอนุรักษ์ป่าและน้ำ โดยทั่วไปบทกวีนี้มักจะใช้ร้องหรือพูดตามงานสำคัญๆ เช่น งานแต่งงาน งานมงคลต่างๆ หรือแล้วแต่โอกาสที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับบรรยากาศการสนทนา

            เราได้นำบทกวี เรื่องการนุรักษ์ป่าและน้ำนี้ไปสอนให้กับเยาวชนหญิง-ชาย ในหมู่บ้าน ที่เป็นพลังของคนรุ่นใหม่ เป็นการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้ติดตัวไปตลอดชีวิต เพราะปัจจุบันน้อยรายที่จะท่องและเข้าใจความหมายของบทกวีนี้ได้ บทกวีนี้ไม่เพียงแค่สอนคนปัจจุบันเท่านั้นแต่ยังสอนคนในอนาคตอีกด้วย ทั้งหมดนี้ คือ ภูมิปัญญาที่ช่วยให้ผืนป่าและแหล่งน้ำอยู่คู่กับชาวปกาเกอะญอมาจวบจนถึงทุกวันนี้ สรพล อธิบาย

            ขณะเดียวกันชาวแม่ละอุปยังให้ความสำคัญกับพืชอาหาร โดยเฉพาะสองฝั่งห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้านเยาวชนและชาวบ้านได้ช่วยกันปลูกพืชอาหารประจำถิ่นไม่ว่าจะเป็น เพาะปกาส่า (จี๋กุ๊ก หรือต้นกระทือ), ญ่า (กล้วย), ปูแปลด๊อ (ผักกูด) ฯลฯ ซึ่งพืชเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุก แต่ชาวบ้านก็ได้กิน ได้ใช้ทุกวัน

            ด.ช.วุฒิกร พรวิทยารัตน์ เยาวชนบ้านแม่ละอุป กล่าวถึงปลูกต้นไม้และพืชอาหารว่า เมื่อต้นไม้โม้ขึ้นจะเป็นสมบัติของคนทุกคน สามารถเก็บกินเป็นอาหารได้ นอกจากนี้กลุ่มเยาวชนอย่างเขาก็จะไปตรวจสภาพน้ำและป่าต้นน้ำเป็นประจำทุกๆ เดือน และยังได้ไปบอกเพื่อนบอกคนในครอบครัวและชุมชนให้ช่วยกัน

            พวกเราดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลผืนป่าและน้ำ เราจะทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะเราเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ซึ่งอนาคตของชาวแม่ละอุปจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่ที่เรา น้องวุฒิกร บอก

            ด้าน เดชา นทีไทย ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า หากเราไม่อนุรักษ์ป่าไม้และดูแลลำห้วยต่างๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นนั้น  สมมุติปีนี้น้ำแล้ง ชาวบ้านก็ไม่มีน้ำทำนา ทำการเกษตร และส่งผลกระทบไปยังลุ่มน้ำแม่แจ่มซึ่งเป็นต้นน้ำสายสำคัญของภาคเหนือและภาคกลางอีกด้วย แม้ปีนี้มีข้าวกินแต่ปีหน้าไม่มีข้าวกิน เกิดเป็นปัญหาทางด้านความมั่นคงด้านอาหาร ไหนจะเรื่องของอาชีพเสริม ปลูกผักเลี้ยงสัตว์เกิดผลกระทบแน่นอน ซึ่งเมื่อไม่มีอาชีพไม่รายได้ก็ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น หรือประกอบอาชีพอื่นที่ผิดกฎหมายอีก ผลกระทบมันมีหลายด้านแน่นอน

             การอนุรักษ์ผืนป่าและน้ำให้สำเร็จได้นั้นถือเป็นงานที่แสนยาก แต่กับชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ละอุปแล้วกลับเป็นเรื่องที่ง่าย เพราะด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ ณ วันนี้พวกเขาจะไม่ยอมทำลายเส้นเลือดใหญ่ชีวิตของพวกเขาเอง

เส้นทางสู่บ้านแม่ละอุป

ปลูกคนละต้น เพื่ออนาคตที่ดี

 เยาวชนชาวแม่ละอุปที่จะต้องช่วยกันดูแลป่าต่อไป

 ช่วยกันปลูกต้นไม้และพืชอาหาร

 ต้นกล้วย แม้จะขึ้นง่าย แต่การปลูกริมห้วยจะช่วยให็กล้วยเติบโตได้ดี


หมายเลขบันทึก: 489534เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่ะ ในวันนี้กิจกรรมอนุรักษ์น้ำของแม่ละอุปถูกยกระดับไปสู่ระดับอำเภอแล้วค่ะ

หลักการเขาใสซื่อดีจัง เคารพธรรมชาติ และปกป้องสิทธิส่วนรวม คือ ทุกคนเสาะแสวหาอาหารและดูแลแหล่งอาหารไปในตัว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท