ฉันทมติแห่งวอชิงตันฉบับทศวรรษ ๒๕๔๐ : เมนูนโยบายที่บิดเบือนเจตนารมณ์


ฉันทมติแห่งวอชิงตัน (Washington Consensus) ฉบับดั้งเดิมเป็นเมนูนโยบายที่ประมวลโดยจอห์น วิลเลียมสัน (John Williamson) และนำเสนอในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งเมนูนโยบาย (Policy Menu) หมายถึงชุดของนโยบาย หากระบบเศรษฐกิจมีสภาพเสมือนคนไข้ เมนูนโยบายเปรียบประดุจยาชุดที่ใช้ในการรักษาเยียวยาอาการไข้นั้น เมนูนโยบายประกอบด้วยนโยบายมากน้อยเพียงใด และแต่ละนโยบายมีเนื้อหาและแนวทางอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการดำเนินนโยบายของระบบเศรษฐกิจ และขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์อาการเจ็บไข้ได้ป่วยของระบบเศรษฐกิจ เช่น การว่างงาน ภาวะเงินเฟ้อ หรือ ภาวะเงินฝืด เป็นต้น หากเป้าหมายในการดำเนินนโยบายแตกต่างกัน เมนูนโยบายย่อมแตกต่างกันด้วย ในทำนองเดียวกันหากพื้นฐานทางทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจแตกต่างกัน ถึงจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจเดียวกัน ข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบายย่อแตกต่างกันด้วย หรือแม้กระทั่งเป้าหมายและพื้นฐานทางทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่ปัจจัยเหตุและรากเหง้าของปัญหาแตกต่างกันทั้งทางด้านสังคมและการเมือง ถึงแม้จะเป็นปัญหาเศรษฐกิจเดียวกัน ข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบายย่อมแตกต่างกันด้วย

          ฉันทมติแห่งวอชิงตันไม่ใช่เมนูนโยบายในความฝันของวิลเลียมสัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ใช่ “สิ่งที่ควรจะเป็น” (What Ought to Be) ที่วิลเลียมสันต้องการเห็น หากแต่เป็นเมนูนโยบายที่ประมวลจากโลกแห่งความเป็นจริงในนครวอชิงตัน ดี.ซี. ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากวิลเลียมสันสอบถามผู้นำองค์กรผลิตความคิด (Think Tanks)    ต่าง ๆ ในนครหลวงของสหรัฐอเมริกาว่า หากต้องการปฏิรูปเศรษฐกิจจะต้องดำเนินนโยบายอะไรบ้าง และดำเนินนโยบายอย่างไร การประมวลความเห็นดังกล่าวนี้ ทำให้ได้มาซึ่งแนวนโยบายที่ผู้นำแห่งนครวอชิงตัน ดี.ซี. มีความเห็นร่วมกันชุดหนึ่ง จอห์น    วิลเลียมสัน จึงขนานนามนโยบายชุดนี้ว่า “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน”  และภายหลังจากการเปิดตัวฉันทมติแห่งวอชิงตันครบหนึ่งทศวรรษในปี ๒๕๔๒ จอห์น วิลเลียมสัน ได้กลับมาประเมินเมนูนโยบายชุดนี้อีกครั้งหนึ่งในบทความเรื่อง What Should the World Bank Think About the Washington Consensus ? ซึ่งเป็น Background Paper สำหรับการเขียนรายงาน World Development Report ๒๐๐๐ ของธนาคารโลก วิลเลียมสันกล่าวว่า ฉันทมติแห่งวอชิงตันมีความหมายแปรเปลี่ยนไปจากฉบับดั้งเดิมที่ตนนำเสนอในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ อย่างน้อย ๓ ประการคือ

            ประการแรก ฉันทมติแห่งวอชิงตันตั้งใจให้เป็นเมนูนโยบายที่นำเสนอโดยเทคโนแครต (Technocratic Policy Menu) หรือพวกขุนนางนักวิชาการ โดยไม่เจือปนด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง แต่แล้วฉันทมติแห่งวอชิงตันกลับถูกตีตราว่าเป็นผลิตผลของรัฐบาลอเมริกัน และมีพื้นฐานจากลัทธิเสรีนิยมสมัยใหม่ (Neo-Liberalism) และด้วยการบงการและกำกับการแสดงของรัฐบาลอเมริกันและองค์กรโลกบาล (ธนาคารโลก องค์การการค้าโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ฉันทมติแห่งวอชิงตันถูกผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการโลกานุวัตร จนกลายเป็นนโยบายเศรษฐกิจของมนุษย์พิภพ หนึ่งทศวรรษภายหลังจากการเปิดตัวของฉันทมติแห่งวอชิงตัน จอห์น วิลเลียมสัน ยังคงยืนกรานอย่างไร้เดียงสาว่า ฉันทมติแห่งวอชิงตันฉบับดั้งเดิมไม่ได้เจือปนด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง แม้ว่าฉันทามติแห่งวอชิงตันในปัจจุบันจะแตกต่างจากฉบับที่จอห์น  วิลเลียมสันนำเสนอ แต่แก่นแท้ของฉันทมติแห่งวอชิงตันฉบับดั้งเดิมก็มีพื้นฐานมาจากปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม เนื่องจากว่า สนับสนุนการเปิดเสรีด้านการค้าระหว่างประเทศ (Trade Liberalization) สนับสนุนการถ่ายโอนการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) และสนับสนุนการลดการควบคุมและการกำกับระบบเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Deregulation) เพียงแต่ฉันทมติแห่งวอชิงตันฉบับของจอห์น วิลเลียมสัน ไม่ได้มีลักษณะที่เสรีนิยมแบบสุดขั้วเหมือนดังฉบับที่กำกับการแสดงโดยรัฐบาลอเมริกันและองกรโลกบาลอันเป็นที่เข้าใจกันในปัจจุบัน กระนั้นก็ตามเมนูนโยบายที่จอห์น วิลเลียมสัน นำเสนอก็เป็นชุดนโยบายที่เกื้อกูลและส่งเสริมการขยายตัวของกระบวนการโลกานุวัตร จึงไม่ใช่เราองน่าประหลาดใจที่ฉันทมติแห่งวอชิงตันตกเป็นเป้าโจมตีของกระบวนการประชาชนระหว่างประเทศที่ต่อต้านกระแสโลกานุวัตร

           ประการที่สอง ฉันทมติแห่งวอชิงตันถูกกล่าวหาว่า มีพื้นฐานมาจากลัทธิเสรีนิยมสมัยใหม่ (Neo-Liberalism) และยึดโยงอยู่กับ Market Fundamentalism อันได้แก่ลัทธิความคิดที่เชื่อว่า กลไกราคาสามารถรักษาและเยียวยาแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ปล่อยให้กลไกราคาทำงานอย่างเสรี ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจก็จะได้รับการเยียวยาแก้ไข จอห์น วิลเลียมสันได้ตอบโต้ข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้เนื่องจากตระหนักแก่ใจดีว่า ประสิทธิภาพของกลไกราคาในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจมีอยู่อย่างจำกัด ปัญหาเศรษฐกิจบางปัญหาไม่สามารถรักษาเยียวยาด้วยกลไกราคาได้เพียงลำพัง บางปัญหาแม้กลไกราคาจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาได้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพได้ จำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทและอำนวยการแก้ปัญหาเหล่านั้น จอห์น วิลเลียมสัน ไม่ใช่ Market Fundamentalist ฉันทมติแห่งวอชิงตันฉบับที่เขานำเสนอในปี ๒๕๓๒ ไม่ได้นำเสนอเมนูนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมชนิดสุดขั้ว ดังจะเห็นได้ว่า วิลเลียมสันไม่ได้บรรจุนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (Flexible Exchange Rate System) และนโยบายเสรีนิยมทางการเงิน (Financial Liberalization) อย่างสุดขั้วในเมนูฉันทมติแห่งวอชิงตันฉบับปี ๒๕๓๒

           ประการที่สาม ฉันทมติแห่งวอชิงตันฉบับที่จอห์น วิลเลียมสัน นำเสนอในปี ๒๕๓๒ มีมิติด้านกาละและเทศะ และสิบปีให้หลังวิลเลียมสันก็ยังคงตอกย้ำในประเด็นนี้ ฉันทมติแห่งวอชิงตันฉบับวิลเลียมสันมีมิติด้านกาละ เนื่องจากว่าเป็นเมนูนโยบายที่ประมวลจากความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำและองค์กรผลิตความคิดในนครวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อต้นทศวรรษ ๒๕๓๐ และฉันทมติแห่งวอชิงตันฉบับวิลเลียมสันมีมิติด้านเทศะ เนื่องจากว่าเป็นเมนูนโยบายสำหรับแก้ปัญหาและปฏิรูปเศรษฐกิจสำหรับประเทศในละตินอเมริกาเท่านั้น แต่แล้วฉันทมติแห่งวอชิงตันก็พัฒนาไปเป็นเมนูนโยบายที่ปราศจากมิติด้านกาละและเทศะ กล่าวคือเป็นเมนูนโยบายที่มีลักษณะอกาลิโก (ไม่เลือกกาลไม่เลือกสมัย) คือ ใช้ในกาละใดก็ได้ และยังไม่มีข้อจำกัดด้านเทศะ กล่าวคือใช้ในภูมิภาคหรือประเทศใดก็ได้ที่ผู้กำกับการแสดงอย่างรัฐบาลสหรัฐและองค์กรโลกบาลเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่พวกพ้องของตน 

 

 

หมายเลขบันทึก: 489421เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท