ผู้ถาม : คุณ Tiarki@---.com -27 พ.ค. 2555
คำถาม :
ขอสอบถามเกี่ยวกับเรื่องของโรคกล้วยไม้เข็มแสดค่ะ โดยมีอาการคือ ใบที่มีสีดำ ขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นหมดทั้งต้นค่ะและร่วงในที่สุด
ส่วนราก ไม่มีลักษณะเน่าใด ๆ ไม่ทราบสาเหตุมาจากอะไร
เริ่มจากต้นเล็ก ๆ ที่นำมาติดกับขอนไม้1 ต้น และได้นำไปทำลายแล้ว
ส่วนต้นที่ติดกัน เป็นเหมือนกันแต่ตอนนี้เหลืออยู่ 1 ใบ คือใบยอด
และหลังจากไปอบรมกลับมา1 สัปดาห์ มาดูอีกครั้ง ตอนนี้ย้ายไปต้นที่อยู่ในตะกร้าพลาสติก ที่อยู่ห่างกันประมาณ 2 เมตร และห้อยไว้ที่ต้นไม้ อยู่เหนือจากต้นที่เป็นประมาณ 2 เมตร แต่เป็นไม่หมดค่ะ
ไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะกล้วยไม้พันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ข้าง ๆ ไม่มีอาการอะไรเลย
ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยบอกถึงสาเหตุและวิธีแก้ให้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
ผมตอบดังนี้ครับ :
1.จากประสบการณ์ผม น่าจะอนุโลมเรียกว่า โรคไส้เน่า นะครับ -เพราะมักจะเกิดที่ไส้แกนกลางของลำต้นก่อน โดยเป็นสีดำ แล้วค่อย ๆ ลุกลามออกมาที่โคนใบ แล้วยาวไปหาปลายใบเรื่อย ๆ จนใบดำไปหมดทั้งใบ แล้วต้นก็ตายน่ะครับ
2.มักเกิดกับกล้วยไม้ที่มีใบถี่ ๆ เช่นพวกสกุลเข็มต่าง ๆ นี้ด้วยครับ -เพราะที่ซอกใบ จะเก็บกักหยดน้ำได้มากและยาวนานครับ จึงมักทำให้ไส้กลางของลำต้น เน่าดำได้ง่ายครับ
3.สารเคมีควบคุมโรคพืชก็มีครับ เช่น แมนโคเซ็บ -แต่ผมไม่แนะนำครับ เพราะต้องแก้ที่พฤติกรรมการให้น้ำของผู้เลี้ยง และสภาพแวดล้อมที่กล้วยไม้เจริญเติบโตอยู่นะครับ ไม่งั้น ก็จะกลับมาเกิดโรคนี้อีกได้ และระบาดได้ครับ
4.ควรแก้ไขโดยการงดให้น้ำในช่วงบ่าย -เพราะน้ำที่ซอกใบจะแห้งช้า และควรจัดวาง หรือแขวนกล้วยไม้ไว้ในที่อากาศระบายได้บ้าง ไม่อับชื้น นะครับ
5.สรุปก็คือ กล้วยไม้ได้รับน้ำและสภาพความชื้นมากไปครับ
ท่านใดมีคำถามหรือพูดคุยแนะนำมา เมลมาได้ที่ chayaporn45 แล้วตามด้วย @yahoo.com นะครับ ด้วยความยินดีครับ...
ชยพร แอคะรัจน์
...
กล้วยไม้ป่าตำราออนไลน์ให้ความรู้
ยังออกสู่สาธามาต่อเนื่อง
เป็นดั่งเช่นน้ำตกที่มาบอกเรื่อง
แบ่งปันความสวยงามยามไหลลงล่าง
-กราบระลึกถึงพี่บังครับ
-ด้วยอรุณรุ่งแห่งการเดินตามรอยพี่ชาย
-เพื่องานชุมชนและสังคมครับ...
..น้องบาย ชยพร แอคะรัจน์