หมออนามัย พุทธมามกะ


หมออนามัย พุทธมามกะ

นายอานนท์ ภาคมาลี นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ

 

ความหมาย คำว่า  พุทธมามกะ  แปลว่า  ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน  การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ  หมายถึง  การประกาศตนของผู้แสดงว่าเป็นผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นของตนการปฏิญาณตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะคราวเดี่ยว  ทำซ้ำๆตามกำลังแห่งศรัทธาและความเลื่อมใสก็ได้  เช่น  พระสาวกบางรูป  ภายหลังแต่ได้รับการอุปสมบทแล้วก็ลั่นวาจาว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ดังนี้ เป็นต้น

ความเป็นมาเมื่อความนิยมในการบวชสามเณรลดลง  พร้อมกับการส่งเด็กไปเรียนในต่างประเทศมากขึ้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (รัชกาลที่ ๕)  ทรงพระราชปริวิตกว่า  เด็กๆจักไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อพระพุทธศาสนา จึงโปรดให้พระโอรสของพระองค์ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาก่อน  และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  (รัชกาลที่ ๖)  ได้เป็นพระองค์แรกที่ปฏิญาณพระองค์ตามธรรมเนียมที่ทรงตั้งขึ้นใหม่นั้น  และใช้เป็นราชประเพณีต่อมาอีกหลายพระองค์  เช่น  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า จุมพฎพงศ์บริพัตร  พระโอรสสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตกับหม่อมเจ้าองค์อื่นๆก่อนจะไปศึกษาในยุโรปก็ได้แสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะก่อน  เป็นต้น
โดยเหตุนี้  จึงเกิดเป็นประเพณีนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะขึ้นสืบต่อกันมา   ในปัจจุบัน  ความนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะของชาวพุทธไทย  สามารถสรุปได้  ดังนี้

๑.เมื่อบุตรหลานของตนรู้เดียงสาเจริญวัยอยู่ในระหว่าง  ๑๒ – ๑๕ ปี ก็ประกอบพิธีให้บุตรหลานได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อให้เด็กสืบความเป็นชาวพุทธตามตระกูลต่อไป
๒.เมื่อจะส่งบุตรหลานไปเรียนยังต่างประเทศที่มิใช่ดินแดนของพระพุทธศาสนา
๓.เมื่อจะปลูกฝังนิสัยของเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนาส่วนมากทางโรงเรียนจะเป็นผู้จัดทำพิธีกรรม อาจจะเป็นปีละครั้ง
๔.เมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาต้องการจะประกาศตน เป็นชาวพุทธ

ระเบียบพิธี

นิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย  ๕  รูป  เข้าพระอุโบสถ  หรือศาลาหรือสถานที่ที่เหมาะสมแล้วคณะผู้ปฏิญาณตนนั่งพร้อมกันหน้าพระสงฆ์ผู้แทนจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย  (ถ้านั่งกับพื้นพึงนั่งคุกเข่า ถ้านั่งบนเก้าอี้ ให้ยืน ประนมมือ) แล้วกล่าวคำบูชาตามผู้นำ ดังนี้

อิมินา  สักกาเรนะ  พุทธัง  ปูเชมะ
ข้าพเจ้าทั้งหลายบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้

อิมินา  สักกาเรนะ  ธัมมัง  ปูเชมะ
ข้าพเจ้าทั้งหลายบูชาพระธรรมด้วยเครื่องสักการะนี้

อิมินา  สักกาเรนะ  สังฆัง  ปูเชมะ
ข้าพเจ้าทั้งหลายบูชาพระสงฆ์ด้วยเครื่องสักการะนี้

จากนั้น  ผู้ปฏิญาณตนหันหน้าไปทางพระสงฆ์  แล้วว่า  นะโม  ตามผู้กล่าวนำ  ดังนี้

นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น  (ว่า ๓ จบ)

ต่อด้วยว่า  คำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ  ดังนี้
เอเต  มะยัง  ภันเต,  สุจิระปะรินิพพุตัมปิ,  ตัง  ภะคะวันตัง  สะระณัง  คัจฉามะ,  ธัมมัญจะ  สังฆัญจะ,  พุทธะมามะกาติ  โน,สังโฆ  ธาเรตุ.

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ  ข้าพเจ้าทั้งหลาย  ขอถึงผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น  แม้เสด็จปรินิพพานแล้ว  ทั้งพระธรรม  และพระสงฆ์เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ  ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าทั้งหลายไว้ว่าเป็นพุทธมามกะ  เป็นผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน  คือผู้นับถือพระพุทธเจ้า

(หมายเหตุ : ถ้าปฏิญาณคนเดียว  ให้เปลี่ยนคำปฏิญาณ  ดังนี้  เอเต  มะยัง  เป็น  เอสาหัง,  คัจฉามะ  เป็น  คัจฉามิ,  พุทธะมามะกาติ  ชายเปลี่ยนเป็น  พุทธะมามะโกติ  หญิงเปลี่ยนเป็น  พุทธะมามิกาติ,  โน  เป็น  มัง,  แปลว่า  ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นพุทธมามกะ)
พระสงฆ์ทั้งนั้นประนมมือรับ  “สาธุ”  พร้อมกัน  จากนั้นผู้ปฏิญาณตนนั่งประนมมือฟังโอวาทจากพระสงฆ์  หลังจากจบโอวาทแล้วผู้แทนนำกล่าวคำอาราธนาศีล  ดังนั้น
มะยัง  ภันเต,  วิสุง  วิสุง  รักขะณัตถายะ,  ติสะระเณนะ  สะหะ,ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะ .
ทุติยัมปิ  มะยัง  ภันเต,  วิสุง  วิสุง  รักขะณัตถายะ,  ติสะระเณนะสะหะ,  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะ.
ตะติยัมปิ  มะยัง  ภันเต,  วิสุง  วิสุง  รักขะณัตถายะ,ติสะระเณนะสะหะ,  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะ.
 
จากนั้นประธานสงฆ์จะเป็นผู้ให้ศีล  ผู้ปฏิญาณว่าตาม  ดังนี้
นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ.
นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ.
นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ.

ประธานสงฆ์ว่า  “ยะมะหัง  วะทามิ,  ตัง  วะเทหิ”  ผู้ปฏิญาณรับว่า  “อามะ  ภันเต”
พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ.
ธังมัง  สะระณัง  คัจฉามิ.
สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ.
ทุติยัมปิ  พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ.
ทุติยัมปิ  ธังมัง  สะระณัง  คัจฉามิ.
ทุติยัมปิ  สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ.
ตะติยัมปิ  พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ.
ตะติยัมปิ  ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ.
ตะติยัมปิ  สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ.

ประธานสงฆ์ว่า  “ติสะระณะคะมะนัง  นิฏฐตัง”  ผูปฏิญาณรับว่า  “อามะ  ภันเต”
ปาณาติปาตา  เวระมะณีสิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ
อะทินนาทานา  เวระมะณีสิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ
กาเมสุ  มิจฉาจารา  เวระมะณีสิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ
มุสาวาทา  เวระมะณีสิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา  เวระมะณีสิกขาปะทังสะมาทิยามิ
อิมานิ  ปัญจะ  สิกขาปะทานิ  สะมาทิยามิ  (๓  หน)

และประธานสงฆ์จะบอกอานิสงส์ของศีลต่อไปว่า
สีเลนะ  สุคะติง  ยันติ  สีเลนะ  โภคะสัมปะทา
สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ  ตัสมา  สีลัง  วิโสธะเยฯ

(บทนี้  ผู้ปฏิญาณไม่ต้องว่าตาม,  พอท่านว่าจบแล้วให้กราบ  ๓  ครั้ง)
 
ลำดับจากนี้  ถ้ามีเครื่องไทยธรรม  พึงนำเครื่องไทยธรรมมาถวายพระสงฆ์  เสร็จแล้วพระสงฆ์อนุโมทนา  ผู้ปฏิญาณกรวดน้ำรับพรเสร็จแล้วกราบพระสงฆ์  ๓  ครั้ง  เป็นอันเสร็จพิธี

พุทธมามกะ แปลว่า ผู้ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นของเรา หมายถึงผู้ประกาศตนว่าขอถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ หรือผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา

การประกาศตนเป็นพุทธมามกะนั้นอาจจัดทำเป็นพิธีเหมือนการประกาศตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาในสมัยพุทธกาล เรียกว่า พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ นิยมทำกันในวาระดังนี้

  1. เมื่อเด็กมีอายุประมาณ 12 -15 ปี
  2. เมื่อจะส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ หรือไปในถิ่นที่ไม่มีพระพุทธศาสนา
  3. โรงเรียนจัดทำพิธีแก่นักเรียนที่เข้ามาศึกษาใหม่ในแต่ละปี
  4. เมื่อมีคนต่างศาสนาต้องการจะนับถือพระพุทธศาสนา

พุทธมามกะ

คำว่า พุทธมามกะ มาจากคำภาษาบาลี ๒ คำ คือ พุทธ กับ มามกะ

          คำว่าพุทธ แปลว่า รู้แล้ว หรือตื่นแล้ว หมายถึง ผู้ตรัสรู้อริยสัจ คือ พระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา
          ส่วนคำว่า มามก แปลว่า เป็นของเรา เมื่อรวมคำว่า พุทธ กับ มามก เป็นพุทธมามกะ จึงแปลว่า ผู้ที่นับถือพระพุทธเจ้าเป็นของเราใช้เป็นคำเรียกผู้ที่ได้ปฏิญาณตนขอนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว
          พุทธมามกะ ต้องนับถือพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่เคารพบูชาสูงสุดประจำชีวิตของตนแต่พระองค์เดียว หากไปปฏิญาณตนนับถือศาสดาในศาสนาอื่น ก็ถือว่า ขาดจากความเป็นพุทธมามกะไม่ใช่ชาวพุทธอีกต่อไป ในการประกอบพิธีปฏิญาณตนต่อหน้าพระสงฆ์ สำหรับผู้ที่เป็นชายใช้คำแทนตัวว่า “พุทธมามกะ”กล่าวว่า “ขอพระสงฆ์จงทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นพุทธมามกะ”ส่วนผู้ที่เป็นหญิงใช้คำแทนตัวว่า “พุทธมามิกา”โดยกล่าวว่า“ขอพระสงฆ์จงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นพุทธมามิกา”
          พุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทยมาตั้งแต่โบราณกาลนับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ ๑ ด้าน ๒ ที่จารึกไว้ว่า "คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่ว ท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิงฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว..." คนไทยจึงมีความผูกพันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน และเป็นรากฐานของขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีวัฒนธรรมอันงดงามที่คนไทยทั้งชาติยึด ถือและปฏิบัติร่วมกันอันเป็นการสืบสานพระพุทธศาสนา สมดังเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ซึ่งการที่บุคคลจะยอมรับนับถือพุทธศาสนา จะต้องเข้าพิธีปฏิญาณตนเป็น พุทธมามกะตามพุทธประเพณี การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ นับเป็นมงคลพิธีสำหรับพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นโอกาสได้ประกาศศรัทธาในพระพุทธศาสนาของตนต่อหน้าพระพุทธปฏิมาท่ามกลางสงฆ์ พร้อมทั้งได้รับการประสาทพรจากสงฆ์ เป็นพิธีที่แสดงถึงความภาคภูมิและความมั่นใจในพระพุทธศาสนา อันเป็นพิธีที่เสริมสร้างสำนึกทางจริยธรรม คุณธรรมให้แข็งแกร่งแน่วแน่ยิ่งขึ้น เพราะผู้ที่ได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะแล้ว เท่ากับได้ถวายสัญญาใจต่อพระพุทธเจ้าท่ามกลางสงฆ์ว่า จะเคารพนับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง และจะดำรงตนอยู่ในหลักศีลธรรม คุณธรรมของพระพุทธศาสนาตามที่ได้รับคำแนะนำศึกษานั้นตลอดไป พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ พุทธมามกะ (พุดทะมามะกะ) หมายถึง ผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา หรืออีกนัยหนึ่งการแสดงตนเป็น พุทธมามกะ คือ การประกาศตนยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่นับถือของตน โดยความหมายก็คือ ประกาศว่าตนยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นการประกาศ
          ศรัทธา คือ ความเคารพนับถือในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ที่มีอยู่ในใจตนให้ปรากฏออกมาภายนอกด้วยกิริยาวาจา เพื่อให้ผู้อื่นได้รับทราบว่าตนมีความเคารพนับถืออย่างไร เป็นการปฏิบัติที่นิยมปฏิบัติกันมาแต่ครั้งพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ ดังปรากฏในพุทธประวัติว่า คฤหัสถ์ที่ประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนาครั้งแรกคือ พ่อค้าสองพี่น้องชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ โดยประกาศรับเอาพระพุทธเจ้าและพระธรรมว่าเป็นสรณะของตน (เพราะยังไม่มีพระสงฆ์) นับเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะสองชุดแรกในพระพุทธศาสนา ต่อมาบิดามารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้ประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนา โดยประกาศรับเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะของตนนับเป็นอุบาสก อุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยชุดแรกในพุทธศาสนา พระครูวิสุทธิธรรมภาณผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์จริยศึกษา สธ จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า พระพุทธศาสนา เกิดขึ้นมาท่ามกลางศาสนาอื่น เมื่อมีการนับถือพุทธศาสนา จึงมีการประกาศตน แสดงตนเป็นผู้นับถือศาสนาทำการแสดงตนเป็นผู้นับถือศาสนา การนับถือพุทธศาสนา มิใช่เป็นเรื่องแต่ตนเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่เป็นการนับถือทั้งครอบครัวตั้งแต่เด็กที่ไร้เดียงสา เมื่อมีเด็กเกิดขึ้นมาก็พระตั้งชื่อให้ให้เบญจศีลซึ่งแต่ก่อนในประเทศไทยจะทำพิธีนี้เฉพาะแต่ในหมู่เจ้านาย เมื่อมีพระโอรส หรือพระธิดากำเนิดขึ้นมาก็จะนิมนต์พระไปทำพิธีให้ให้เบญจศีล และผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือ ถ้าเป็นพระธิดาก็วางสายสิญจน์ไว้หมอนเป็นการผูกโยงให้จิตใจผูกใจซึ่งกันและกัน เมื่ออายุเข้าถึงเกณฑ์ พระโอรสก็จะให้ผนวชเป็นเณร ต่อมาพิธีดังกล่าวได้แพร่หลายไปสู่สามัญชนและถือปฏิบัติสืบเนื่องกันต่อมา สำหรับการประกาศตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาในประเทศไทย บูรพาจารย์ได้นำแบบอย่างแบบเดิมมากำหนดให้เป็นพิธีการที่มีรูปแบบเหมาะสม เรียกว่า พิธีแสดงตนเป็น พุทธมามกะ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นครั้งแรก

 

 

คำสำคัญ (Tags): #พุทธมามกะ
หมายเลขบันทึก: 488969เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท