ระหว่างทางไปอินเดีย


ไปอินเดีย ไปเที่ยวเหรอ? หลายคนรอบตัวถาม เมื่อฉันบอกว่าจะหนีงานไปอินเดียสักสิบวัน ฉันได้แต่ตอบว่าไม่ได้ไปเที่ยว แต่ไปเรียน!! และมักจะมีคำถามต่อด้วยประโยคที่ว่า “เรียนอะไร? ทำไมไปไกลถึงอินเดีย? มีอะไรให้เรียนที่นั่น?

ไปอินเดีย ไปเที่ยวเหรอ? หลายคนรอบตัวถาม เมื่อฉันบอกว่าจะหนีงานไปอินเดียสักสิบวัน ฉันได้แต่ตอบว่าไม่ได้ไปเที่ยว แต่ไปเรียน!! และมักจะมีคำถามต่อด้วยประโยคที่ว่า “เรียนอะไร? ทำไมไปไกลถึงอินเดีย? มีอะไรให้เรียนที่นั่น? ...”และอีกหลายคำถามตามมายาวยืด และนี่เองที่ทำให้ฉันต้องลนลานรีบเปิดดูเนื้อหาหลักสูตร “คอ โม ดูน” ว่ารอบนี้ทำไมเราต้องไปอินเดียนะ แล้วก็พบว่าเรากำลังจะไปเรียนรู้เรื่องราวที่ว่าด้วย “สันติ สมานฉันท์ และความเป็นมนุษย์” พร้อมทั้งเปิดกำหนดการขึ้นมาดูและพบว่าช่างเป็นการเดินทางอันศักดิ์สิทธิ์ตลอดทั้งทริป กำหนดการที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของพุทธศาสนา แล้วฉันจะสามารถมีส่วนร่วมกับเพื่อนๆในการเดินทางนี้อย่างไร คือคำถามแรกที่ผุดขึ้นในใจ เพราะทั้งชีวิตของฉันที่ผ่านมา “พุทธศาสนา” ที่ฉันรับรู้คือศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนับถือ มีวันหยุดสำคัญให้ฉันได้อาศัยหยุดด้วย เพื่อนรอบกายเกือบทั้งหมดนับถือ เคยไปวัดมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไปงานศพ ก็ไปเยี่ยมในฐานะโบราณสถานซะมากกว่า ความรู้สึกแรก ณ ขณะนั้นของฉันได้แต่คิดว่า “เอาเถอะ เป็นไงเป็นกัน เขาทำอะไรก็ทำตาม และเปิดหูไว้ให้มากๆก็พอ” แล้วการเดินทางก็เริ่มขึ้น

 ศรัทธา – สันติ-สมานฉันท์

“เรามาดูศรัทธา” เป็นประโยคที่ฉันได้ยินจากผู้อำนวยความสะดวกในการเดินทางครั้งนี้ และฉันก็พบว่าความศรัทธาของผู้คนภายใต้ร่มเงาของพุทธศาสนาช่างน่าทึ่ง ผู้คนมาจากต่างที่ ต่างวัฒนธรรม ต่างลัทธิ แต่กลับมาพบกันในสถานที่เดียวกัน ศาสนาที่มีความเชื่อเดียวกันต่างกันเพียงการปฏิบัติ สังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบลที่ฉันได้มีโอกาสไปเยือน ล้วนแสดงให้เห็นว่า “พรมแดนของศรัทธา” นั้นกว้างใหญ่ หลากหลาย และที่สำคัญทุกคนต่างเคารพในความต่างของกันและกัน เป็นบทเรียนสำคัญที่ฉันได้เรียนรู้โดยไม่ต้องลงมือทำอะไร และเป็นความสมานฉันท์ที่ไม่ต้องมีใครมาจัดการแต่เกิดขึ้นได้เอง

บทเรียนสำคัญครั้งนี้ทำให้ฉันได้มีโอกาสย้อนกลับไปดูความเป็นไปในบ้านเมืองของเรา ที่กำลังอยู่ในกระแสของการจัดการ หรือแม้แต่การโฆษณาชวนเชื่อว่าจะมีการสร้างความสมานฉันท์ท่ามกลางความแตกต่างในความเชื่อทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำ และกระแสของการเอาชนะ แต่ตราบใดที่ความต้องการอยากเห็นอยากให้เกิดความสมานฉันท์ไม่ได้เกิดขึ้นจากส่วนลึกของจิตใจ ไม่ได้เกิดจากศรัทธาที่อยากเห็นความสมานฉันท์อย่างแท้จริง การลงมือกระทำก็จะไม่เกิดและเราคงไม่มีโอกาสได้เห็นความสมานฉันท์เกิดขึ้นในบ้านเรา คำถามคือ “เราจะสร้างศรัทธาท่ามกลางความแตกแยกได้อย่างไร?”แต่คำถามใหญ่คือ “ศรัทธาของสังคมที่ต้องการเห็นความสมานฉันท์นั้นมีอยู่จริงไหม?” ที่สำคัญตัวฉันเองก็ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้เช่นกัน

 


ขอทาน – ความเป็นมนุษย์

ที่อินเดีย ฉันเรียนรู้และตระหนักว่า “ชีวิตมนุษย์นั้นหลากหลาย” ชีวิตที่ฉันได้สัมผัสไม่ว่าจะไปที่ไหนในอินเดียคือ “ขอทาน” ภาพกลุ่มคนเนื้อตัวสกปรกทั้งหญิง ชาย เด็ก คนแก่ บ้างก็เดินร่ำไห้เกาะติดเพื่อขอเงิน บ้างก็เดินตามติดอย่างไม่ลดละ บ้างก็พยายามที่จะทำบางอย่างเพื่อแสดงให้เราเห็นว่าเขาทำดีเพื่อหวังรับรางวัล เด็กน้อยข้างถนนที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อแบมือขอเงินผู้ผ่านไปมา และก็มีอีกหลายคนที่ไม่ได้สนใจใคร จะให้ก็ให้ ไม่ให้ก็ไม่สนใจ

คนเหล่านี้ล้วนกำลังดิ้นรนเพื่อมีชีวิต มีคำถามที่เกิดขึ้นทั้งจากตัวฉันเองรวมทั้งคนรอบข้างที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน บ้างก็ถามว่า “ทำไมคนเหล่านี้จึงต้องมาขอทาน?” “ทำไมเด็กๆ ถึงไม่ได้ไปโรงเรียน?” จนกระทั่งไปถึงว่า “ทำไมผู้ใหญ่พาเด็กมาลำบาก เพื่อขอทาน?” หรือเสียงสะท้อนเช่น “น่าสงสารเด็ก” “ไม่น่าพาเด็กมาทำแบบนี้เลย” คำตอบเดียว ณ ขณะนั้นที่ฉันนึกได้คือ “ความจน” การไม่ได้รับการดูแลที่ทั่วถึง ความกว้างใหญ่ของแผ่นดิน จำนวนคนมหาศาล ส่งผลให้ประเทศนี้ไม่ได้ให้การดูแลจัดการที่ดีที่ทั่วถึง แต่ก็เป็นภาพชินตาที่เรามักจะเห็น “ความเหลื่อมล้ำ” “ช่องว่างของคนจนและคนรวย”ที่มีอยู่ทั่วโลก เช่นกัน อินเดียในอีกมุมก็เป็นประเทศที่กำลังเติบโตทางเศษรฐกิจอย่างก้าวกระโดด แต่ในขณะที่คนจนในประเทศกลับใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก เป็นเรื่องที่ใครๆก็รู้ใครๆก็เห็นแต่ปัญหาก็ยังดำรงคงอยู่ และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น

“ขอทาน” มีอยู่ในทุกสังคมแต่ชัดเจนมากขึ้นในสังคมอินเดียที่ฉันเจอ ระหว่างทางที่ฉันสัมผัสกับขอทานในอินเดีย คำถามหนึ่งที่ฉันอยากรู้คือ “เขาเหล่านี้ รับรู้ความสุขของชีวิตจากอะไรบ้าง?” เด็กๆได้รับปากกาหนึ่งแท่ง ขอทานได้เงิน 10 รูปี คนถีบสามล้อได้เงินค่าจ้าง 10 รูปี คนทำงานบริการเรียกร้องขอรับทิปส์พิเศษ หรือคนขายของข้างถนนที่วันนี้ได้ขายของในมือจนหมดเกลี้ยง ไม่มีใครรู้ได้ว่า “เพียงเท่านี้ เขาจะสุขหรือไม่ เขาเท่านั้นที่รู้” การได้ให้ของเราอาจมีส่วนทำให้เขาเกิดความสุขก็ได้ หรือในอีกด้านการให้ของเราก็อาจไม่ได้ทำให้เขามีความสุขมากขึ้น

การ “ขอทาน” อาจบ่งบอกได้หลายอย่าง เป็นอาชีพ เป็นทางเลือก หรือไม่มีทางเลือก และเราคงไม่มีสิทธิไปตัดสินแทน เพราะนี่คือชีวิตที่เขาต้องเผชิญทุกวัน การพบเห็นของเราเพียงไม่กี่วันไม่อาจตัดสินได้ว่า สิ่งที่เขากำลังดำเนินชีวิตอยู่นั้นถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่

สิ่งที่ฉันเรียนรู้คือเราจะเลือกสัมผัสกับขอทานเหล่านั้นในแบบใด “ให้” หรือ “ไม่ให้” เป็นสองสิ่งที่ต้องชั่งใจตลอดการเดินทางครั้งนี้ ให้เพื่อที่เขาจะได้มีความสุข ในขณะเดียวกันก็ถูกบอกว่าจะทำให้เขาต้องทำทุกอย่างเพื่อขอให้มากขึ้น หรือไม่ให้แล้วเขาจะมีชีวิตผ่านวันนั้นไปได้ไหม เขาจะหิว ผิดหวัง เหนื่อย หรือท้อไหม

ไม่มีคำตอบ

 


วัฒนธรรม-ความเชื่อ

“ชนชั้น วรรณะ” คือความรู้ดั้งเดิมที่ฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับอินเดีย บทเรียนที่ผ่านตาบอกฉันแต่เพียงว่าการแบ่งชั้นวรรณะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างเนิ่นนาน การจัดระเบียบสังคมตามชั้นวรรณะ ตั้งแต่ชีวิตประจำวันไปจนถึงการปกครอง เป็นส่วนหนึ่งของ”ความเป็นอินเดีย” ณ เวลานั้นเกิดคำถามมากมายและไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า ทำไมการแบ่งชั้นวรรณะในอินเดียจึงดำรงคงอยู่ได้ การที่คนวรรณะสูงไม่ใช้ของใช้ร่วมกับคนวรรณะที่ต่ำกว่า คนวรรณะต่ำไม่สิทธิทำกิจกรรมร่วมกับคนวรรณะที่สูงกว่า ตัวอย่างที่มักได้ยินเสมอเมื่อพูดกันเรื่องนี้ “แค่แก้วน้ำก็จะไม่ใช้ร่วมกัน ใช้เสร็จแล้วต้องปาแก้วให้แตกและทิ้งไป” หรือการที่คนวรรณะต่ำสุดต้องทำงานที่ถือว่าต่ำที่สุด แม้กระทั่งการแตะต้องสัมพันธ์กันก็ไม่สามารถทำได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้อินเดียในสายตาฉันดูเข้มงวดด้านชนชั้น เป็นอีกโลกหนึ่งที่ละเลยความเป็นมนุษย์และวัดค่ากันด้วยสถานะที่อุปโลกน์ขึ้น

สิบวันในอินเดียของฉันบอกไม่ได้เลยว่า “ชนชั้นวรรณะ” นั้นดี ไม่ดี สิ่งที่ฉันเห็นเป็นเพียงภาพของความหลากหลายของผู้คนที่แตกต่าง ทั้งภาพลักษณ์ภายนอก วิถีชีวิต แต่มีสิ่งหนึ่งที่ฉันสังเกตุเห็นคือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของคนเหล่านั้น เป็นการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายที่ดูมีชีวิตชีวา มีบ้างที่ฉันได้เห็นความขัดแย้ง แต่นั่นก็บอกฉันได้อย่างหนึ่งว่า “นี่แหละชีวิต” ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมีสิทธิ์ไปบอกกับคนบางกลุ่ม บางคน ว่าต้องทำอะไร ต้องมีชีวิตแบบไหน

การเดินทางครั้งนี้เป็นโอกาสให้ฉันได้พิจารณาตนเอง ทั้งต่อสิ่งที่ได้พบเห็น โดยเฉพาะการใช้ชีวิตรวมหมู่ เป็นที่ๆเรามักจะมองเห็นตัวเองท่ามกลางผู้คนหลากหลายที่เดินทางร่วมกัน เหมือนกับสิ่งที่ครูบอกว่า “การเดินทางเป็นอุบายชั้นดีสำหรับเปลี่ยนวาระจิตให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงตนเอง” ฉันไม่อาจบอกได้ว่าการเดินทางครั้งนี้ทำให้ฉันได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่ฉันรู้ว่า ณ ช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างการเดินทางนั้น ฉันต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหลายอย่างระหว่างทาง

 นางสาวแสงศิริ ตรีมรรคา คศน.028

เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.)

คำสำคัญ (Tags): #อินเดีย
หมายเลขบันทึก: 488830เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ไปอินเดีย...เหมือนได้ In... ในใจครับ

เห็นภาพ แล้วเหมืนได้ไปด้วยเลยนะคะ

ขอบคุณมากคะ สำหรับบทความดีๆๆนี้

เป็นทริปที่น่าสนใจนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท