"เครือข่ายใบไม้"


"เครือข่ายใบไม้" งานอาสาไร้กรอบ

"เครือข่ายใบไม้"
งานอาสาไร้กรอบ

มองเผินๆคงไม่ต่างจากทั่วๆไป เพราะประเมินลักษณะท่าทาง การพูดจา หิ้วกีตาร์ร้องเพลง ตลอดจนแนวคิด เช่นนี้เดาไม่ยากว่า“พวกเขา”คือเยาวชนทำค่ายอีกกลุ่ม ผู้อุทิศเวลานอกห้องเรียนให้การแสวงหาเดินทางจากเมืองสู่ชนบทแต่ถ้าใครได้ใช้เวลาให้มากอีกหน่อย ลองพูดคุย พิจารณาผลงาน กระทั่งทดสอบมุมมองความคิด คงได้พบชีวิตชีวาในทัศนคติขึ้นอีกไม่น้อย ด้วยในความเหมือนแบบที่ใครๆเป็น มีบางมุมซุกความ “ต่าง” ไว้ในทียกตัวอย่างการรวมตัวของ “กลุ่มใบไม้” ก่อนจะเป็นเครือข่ายเยาวชนทำกิจกรรมนั้นพวกเขาเองล้วนมีที่มาหลากหลาย ทั้งต่างคณะ ต่างมหาวิทยาลัย แต่ “นัดพบ”กันบนเครือข่ายโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค โดยมี “ความอยากเรียนรู้”เป็นสื่อกลาง

“ไม่จำเป็นต้องเรียนห้องเดียว อยู่คณะเดียวกันถึงจะมาร่วมงานกับเราได้ เราเพียงจะโพสต์ลงเฟสบุ๊คว่าจะทำกิจกรรมแบบนี้ขึ้น หากใครสนใจก็ขอให้ลงชื่อและแน่นอนว่าใครจะเคยผ่านกิจกรรมมามากขนาดไหน อายุเยอะกว่าอย่างไรไม่สำคัญ กลุ่มเราไม่มีใครเป็นผู้นำ-ใครตาม เราเคารพกันในความอาวุโสแบบพี่-น้องก็จริง แต่เวลางานไม่มีใครผูกขาดการตัดสินใจ เราเพียงแบ่งงานตามความชอบ ความถนัดแต่ละคนโดยมีกติกาเล็กๆร่วมกันเพื่อให้งานที่ทำสำเร็จเท่านั้น”เก่ง-โชคนิธิ คงชุ่ม นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ (ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์) มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีบอกที่เขาว่าข้างต้นมันก็ท่าจะจริง เพราะเมื่อลองถามทั้ง “พลอย-พิไลวรรณ จันทร์แก้ว นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์การเกษตร ม.มหิล กาญจนบุรี และ “อู๋-ก้องพิสิษฐ์ รักษาศิลป์” คณะพาณิชย์นาวี ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชาอีก 2 สมาชิกของกลุ่มใบไม้ก็อธิบายที่มาไม่ต่างกัน เพราะแม้คนหนึ่งจะอยู่ต่างคณะ อีกรายต่างรั้วสถาบันแต่เช่นนั้นโชคชะตาพัดพาให้พบกันจนได้ “ถ้าคุณเป็นน้อง คุณเดินมาสมัครกับชมรมค่ายในมหาวิทยาลัย พี่ๆจะบอกว่าเรายังเด็กอยู่ให้ไปเป็นน้องค่ายก่อนทุกครั้ง แบบนั้นมันก็ดี แต่มันก็ไม่ใช่กิจกรรมในแบบที่เราชอบ เราเพียงอยากคิดกระบวนการ ตั้งประเด็นขึ้นเอง สร้างกิจกรรมในแบบของเรา ไม่ต้องมีกรอบ ทุกคนมีสิทธิ มีอิสระเท่าๆกันที่จะทำในสิ่งที่อยาก”พวกเขาลงความเห็น"เครือข่ายใบไม้" งานอาสาไร้กรอบ

 

หากใครลองสำรวจเว็ปไซต์กลุ่มใบไม้ กระทั่งลองเซิชถึงเฟสบุ๊คส่วนตัวที่ชื่อ “เก่ง ใบไม้” จะพบว่าในหน้าเพจที่ว่า มีทั้งข่าวสารและเครือข่ายสังคมซึ่งต่างทำงานในหลากหลายประเด็น อาทิ วัฒนธรรม สิทธิชุมชน ศิลปะ สิ่งแวดล้อมซึ่ง“เก่ง”เจ้าของหน้าเพจอธิบายว่า ทั้งเพื่อนและความสนใจทั้งหมดที่พวกเขาได้รับ ล้วนผลิหน่อจากการเปิดหน้าต่างทำค่ายอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือค่ายสร้างสุข กับมูลนิธิโกมลคีมทองและงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) “พวกเราลองทำหมดตามโอกาสพยายามศึกษาในทุกๆเรื่องที่เกี่ยวกันกับสังคม ซึ่งก็โชคดีที่ค่ายโกมลฯให้โอกาส แต่จากประสบการณ์ผมและเพื่อนๆจะถนัดงานด้านสิ่งแวดล้อม อย่างชื่อกลุ่มใบไม้ก็มาจากการทำค่ายแรกกับมูลนิโกมลฯ ตอนนั้นมีโอกาสทำค่ายสิ่งแวดล้อมที่เข้ากับเรื่องโลกร้อนก็เลยเป็นจุดเริ่มของชื่อใบไม้ เพราะเหมาะสมและเรียบง่ายดี เราพยายามจะเชื่อมประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้ากับปัญหาสังคม อย่างล่าสุดที่ทำกับค่ายสร้างสุขก็ไปทำที่อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ทำเรื่องป่าชุมชน ไปดูเรื่องการบุกรุกป่า ก็เรียนรู้เรื่องสิทธิชุมชน รู้ประวัติศาสตร์ชุมชน ที่ไม่เคยรู้มาก่อน”เก่งว่า ครั้นพอลองถามว่าค่ายแบบไหนที่พวกเขาชอบ ก็ได้รับคำตอบว่า “ค่ายทุกค่ายล้วนมีเรื่องราวในตัว และมีมูลค่าแตกต่างออกไปเสมอ อย่างไรก็ตามหลักที่ “ยึด” มาตลอดคือความเป็นอิสระ และไม่มีธงใดๆมาผูกมัดตัวเอง”

ตัวอย่างที่พวกเขาเอ่ย คือค่ายที่ไปเขาใหญ่ ซึ่งได้ไอเดียมาจากปัญหาเล็กๆ นั่นคือการที่ลิงที่อาศัยอยู่บนเขาจากเดิม ล้วนเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการหาอาหารกินตามธรรมชาติ มาเป็นการลงมายืนรอรับอาหารบนผิวถนนที่นักท่องเที่ยวสัญจรไปมา “ลิงที่เคยอยู่บนเขา ลงมาบนถนนเพราะมีคนให้อาหารมันกินตลอด ทำให้พื้นที่ตรงนั้นไม่เป็นระเบียบ มีไม่น้อยที่ต้องถูกรถชนตาย โครงการนั้นเราต่อสู้กับวิธีคิดของสังคมไทยส่วนใหญ่คือการใจบุญให้อาหารสัตว์ ซึ่งยากมากที่จะปรับเปลี่ยนปัญหาได้ เพราะนักท่องเที่ยวเมื่อเขามาชื่นชมธรรมชาติแล้วอีกมุมเขาก็อยากทำบุญไปในตัวและการโยนอาหารให้ลิงในเวลาเดียวกัน และนั้นก็ตอบสนองเขาได้”อู๋และพลอยสรุป ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมตั้งประเด็นว่า วิธีคิดเช่นนี้ล้วนถูกปรุงแต่งจากมุมมองจำพวกการให้ความสงเคราะห์แก่สัตว์จากสื่อมวลชนกระแสหลัก อาทิ การเลี้ยงโต๊ะจีนลิง ทั้งที่ทางที่ดีที่สุดควรจะปล่อยให้ลิงพวกนั้นอยู่กันตามธรรมชาติไม่ใช่หรือ

 

“ข้อสงสัยและสมมติฐานเช่นนั้น เราจัดแคมเปญรณรงค์ต่อเนื่อง เป็นเดือนๆ หวังเปลี่ยนพฤติกรรมคน ทั้งถือป้ายเอง บอกผ่านชาวบ้าน ร่วมผลิตสื่อเพื่อบอกกับนักท่องเที่ยว ซึ่งมันก็ได้ผลบ้างบางส่วน แต่ก็ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมเช่นนี้มันคงจะเปลี่ยนทีเดียวไม่ได้ ต้องใช้หลายส่วนช่วย ทั้งการผลิตสื่อ แผ่นผับ ประชาสัมพันธ์ในสื่อชุมชนและโซเชี่ยลมีเดียที่บอกต่อๆกัน จนถึงวันนี้แม้จะไม่มีโอกาสไปเขาใหญ่บ่อยๆ เหมือนเคยแต่หน้าเพจของผมก็มีสื่อรณรงค์การให้อาหารลิงที่เขาใหญ่อยู่”เก่งอธิบาย “ครั้งหนึ่งก่อนทำกิจกรรมพวกเขาคิดไม่ต่างจากนักท่องเที่ยว หากเมื่อสวมหมวกอีกใบที่นักกิจกรรมทำค่ายอนุรักษ์ วิธีคิดเขาเริ่มแตกต่อและปรับเปลี่ยนไปตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อไม่มีกรอบคิด-ธงนำ ก็จะได้อิสระในคำตอบทั้งนี้ความพยายามของ “กลุ่มใบไม้”ที่สานงานด้านสิ่งแวดล้อม ได้เข้าตากรรมการประเมินผลงานมูลนิธิโกมลคีมทอง จนได้รางวัลประกาสบุคคลเกียรติยศประเภทเยาวชนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ และขึ้นรับรางวัลเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา“รางวัลของครูโกมลฯ ส่วนใหญ่จะให้ผู้ใหญ่ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม แต่ปีนี้มีการมอบรางวัลประเภทเยาวชนเป็นครั้งแรกซึ่งพวกเราก็ได้รางวัลไป และผลที่ได้รับเช่นนี้ทำให้เราภูมิใจมาก” เป็นยาชูกำลังให้“กลุ่มใบไม้” มุ่งมั่นสร้างค่ายแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพื่อสังคมต่อไปเรื่อยๆ

หมายเลขบันทึก: 488722เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ที่สิงคโปร์หากใครถูกจับว่าให้อาหารลิงโดนปรับ 2000 เหรียญค่ะ ปล่อยให้เขาหากินเองดีกว่าค่ะ ไม่งั้นเขาจะก้าวร้าวขึ้นถ้าไม่มีคนให้อาหาร สุดท้ายก็เป็นปัญหากับสัตว์เอง

มาให้กำลังใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท