นิทานของวันวาน(ต่อ 2)


นิทานของวันวาน(ต่อ 2)

     ตาธรรมและเมียนั่งยิ้มหน้าบานที่ลูกสาวตอบคำถามได้อย่างคล่องแคล่ว  ไม่ติดขัด  พระราชาจึงเริ่มคำถามข้อต่อไป

     “คำถามข้อที่สอง                 ยามตะวันโผล่พ้นชายคา                   ค่อย...ค่อยเดินสี่ขาอย่างไหวหวั่น

                                                เมื่อตะวันอยู่กลางยามเที่ยงวัน         ก็ยืดเดินสองขาอย่างมั่นใจ

                                                ยามตะวันจะลับขอบฟ้า                     ค่อย...ค่อยเดินสามขาแทบไม่ไหว

                                                เมื่อตะวันลับฟ้าก็ดับชีวาวาย             อยากรู้ว่าคืออะไรช่วยบอกที”

 

     ดอกไม้ลูกสาวคนโตของตาเที่ยงรีบขอตอบคำถามคนแรกอีกเช่นเดิม

     “หม่อมฉันขอตอบเพคะ  ที่เดินสี่ขาก็คือ  สัตว์สี่เท้าที่อยู่บนโลกนี้  ส่วนที่เดินสองขาตอนกลางวันก็คือสัตว์สองขาที่อยู่บนโลกนี้  ที่เดินสามขาตอนเย็น  ก็คือสัตว์ที่แก่และพิการไม่มีใครสนใจและตายจากไปเพคะ”

     “หม่อนฉันขอตอบเพค่ะ”

     ดอกรัก  ลูกสาวคนที่สองขอตอบคำถามบ้าง

     “ที่เดินสี่ขาก็คือ  เต่าเพคะ  เต่าเป็นสัตว์อายุยืน  ชอบออกเดินรับแดดช่วงเช้า ส่วนที่เดินสองเท้า  ก็คือ  นกเพคะ เวลานกบิกไปท่ี่ใดก็ถ่ายมูลออกมาเมล็ดพืชที่กินเข้าไปก็ไปเจริญเติมโตที่นั่นเพคะ ที่เดินสามขาตอนตะวันลับฟ้า ก็คือ  เกวียนที่เทียมด้วยวัวหรือม้าเพคะ  ส่วนตะวันลับฟ้าแล้วสิ้นใจ ก็คือ  คนนอนหลับเพคะ”

     “หม่อมฉันก็ขอตอบเช่นกันเพค่ะ”

     ลูกสาวตาธรรมตอบคำถามด้วยวาจาที่ฉะฉานมั่นใจ

 

      “ดวงตะวันเปรียบเหมือนกับกาลเวลาบนโลกมนุษย์  ชายคาเปรียบได้ดั่งท้องของแม่ที่อบอุ่นร่มเย็น  คอยปกป้องคุ้มครองลูกเมื่ออยู่ในท้อง  เมื่อลูกคลอดออกมาได้ไม่นานเด็กก็ต้องหัดคลาน  โดยใช้สองมือสองเท้าช่วยพยุงให้ตนเองมั่นคง  เวลาผ่านไปเมื่อเติบโตขึ้นก็จะเดินสองขา  เมื่อถึงกลางวันก็คือถึงวัยหนุ่มวัยสาว  วัยมีคู่ครอง  กาลเวลาผ่านไปเข้าสู่วัยชราก็เปรียบเหมือนตะวันจะลับฟ้า  การเดินก็ไม่สะดวกเหมือนก่อน  จึงต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุง  เหมือนการเดินสามขา  เมื่อเวลาบนโลกหมดลงก็เหมือนตะวันลับฟ้า  ก็ต้องตายไปตามกาลเวลาเพคะ”

 

     คำตอบของลูกสาวตาธรรมเป็นที่ถูกใจบรรดาเหล่าอำมาตย์ยิ่งนัก  ต่างยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ให้กันและกันไปมา  พระราชาไม่ได้กล่าวว่าพอใจกับคำตอบของใคร อย่างไร  พระองค์จึงเริ่มคำถามที่  3

     “คำถามข้อที่สาม                 มีเทวะประเสริฐ์เลิศอยู่แค่ตาเห็น                     กลับทำเป็นไม่สนใจจะศึกษา

                                                ไม่รู้ร้อนรู้หนาวไม่ศรัทรา                 องค์เทวะนี้มีค่ากว่าสิ่งใด

                                                เทวะนี้ทำให้พืชงอกงามเกิดผล                        เทวะนี้ร่ายมนต์ยามเจ็บไข้

                                                เทวะนี้เคยเทศน์สอนก่อนองค์ใด                     เทวะนี้ไม่เคยหวังสิ่งใดมาตอบแทน

                        เราอยากถามว่าเทวะองค์นี้นามใด  อยู่ที่ใด”

     ดอกรัก ลูกสาวคนที่สองของตาเที่ยง  เสนอตัวขอตอบคำถามก่อน

                “หม่อนฉันขอตอบเพค่ะ  เทวะองค์นี้นามว่าเทวะทองคำ  อยู่ที่เมืองพายเพค่ะ  เป็นเทวะที่คนสมัยก่อนสร้างไว้ด้วยทองคำ  ชาวบ้านเชื่อกันว่าเทวะนี้บันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลเพค่ะ  พืชพรรณจึงอุดมสมบูรณ์ยิ่งนักเพคะ”

 

     ดอกไม้ลูกสาวคนแรกของตาเที่ยง รู้สึกขัดใจกับคำตอบของน้องสาว  จึงชิงถวายคำตอบสอดแทรกขึ้น

                “หม่อมฉันไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น  คำถามของพระองค์มีนัยแฝงอยู่  จากคำถามของพระองค์เทวะองค์นี้น่าจะมีนามว่าพระแม่โพสพ เพคะ  พระแม่โพสพเป็นเทวะที่บรรดาให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์  พืชพรรณธัญญาหารงอกงามดี  ข้าวที่เรากินช่วยให้เราเติบโตแข็งแรงต่อสู้กับโรคภัยได้  ทุ่งข้าวทุ่งนาผู้คนได้พบเห็นเป็นประจำจนชินตา  ทำนากันจนชำนาญจนไม่ต้องศึกษาใด ๆ เพิ่มเติมอีก พวกเราบูชาพระแม่โพสพด้วยความนับถือ แต่ท่านก็ไม่เคยเรียกร้องหรือหวังสิ่งใดจากพวกข้าเลยเพคะ”

 

     คำตอบของดอกไม้ดูจะมีข้าราชบริพารที่เป็นสักขีพยานเห็นด้วยกับคำตอบหลายคน  แต่ท่านอำมาตย์ทั้งซ้ายและขวายังคงนั่งนิ่ง  พระราชาที่อยู่หลังม่านยังคงสงบนิ่งรอคำตอบของลูกสาวตาธรรม 

                “หม่อมฉันลูกสาวตาธรรมขอตอบคำถามเพคะ  เทวะที่พระองค์ทรงถาม คือพ่อและแม่เพคะ”(ดูเหตุผลตอนต่อไปนะคะ)

               

 

 

 

 

 

                 

หมายเลขบันทึก: 488494เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2013 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท