ให้คืนเงินค่าจ้างบรรณารักษ์, เปรียบเทียบการเรียน-เทียบระดับ แบบต่าง ๆ, ไปต่างประเทศ 1 เดือน ไม่ต้องคอย, ป.บัณฑิต, วิชาเลือกทั้งหมด


เปรียบเทียบ การเทียบระดับแบบเดิม - แบบจบ ม.6 ใน 8 เดือน - เรียนแบบพบกลุ่ม - แบบทางไกล ( สทก. ), ผู้ตรวจสอบภายใน กศน. ให้คืนเงินค่าจ้างที่ขึ้นให้บรรณารักษ์ ก.พ.55, โครงการพัฒนาครูสู่ประชาคมอาเซียน ( ไปต่างประเทศ 1 เดือน ) ไม่ต้องคอยแล้ว คงไม่ได้ไปแล้ว, ผู้จะเรียน ป.บัณฑิตอาจต้องมี “ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน”, ลิ้งค์สำหรับดูรายวิชาเลือกทั้งหมด

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 4 เรื่อง ดังนี้

 

         1. วันที่ 14 พ.ค.55  มีผู้ถามผมทางอีเมล์ว่า  เงินเดือนบรรณารักษ์ในเดือนกุมภาพันธ์ ตอนแรกก็ทำเบิกไปปกติ 7,940 แต่จังหวัดแจ้งว่ามีงบจัดสรรเงินเดือนใหม่เป็น 9,140  ก็กลับมาเปลี่ยนชุดเบิก  ต่อมาถึงเดือนเมษายน หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. ส่งผู้ตรวจสอบมาตรวจ เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง การเงินจังหวัดเลยเรียกเงินในเดือน ก.พ คืน โดยให้เหตุผลว่า หนังสือมาเดือนมีนา แล้วจะย้อนหลังได้อย่างไร เงินเดือน ก.พ ก็เลยได้ไป 7940 เท่าเดิม โดยทำเรื่องคืนส่วนที่เกินไป  สงสัยว่าจังหวัดอื่นต้องคืนแบบนี้รึเปล่า ถ้าเหมือนกันทุกจังหวัดก็โอเค แต่ถ้าไม่แล้วเป็นเพราะอะไร

             ผมตอบว่า   ระเบียบเป็นไปตามที่ผู้ตรวจสอบภายใน กศน.บอก คือ การซื้อการจ้าง ตามระเบียบพัสดุ” จะทำย้อนหลังไม่ได้  หนังสือจัดสรรงบประมาณมาเดือนมีนาคม ทำเรื่องจ้างหรือเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างในเดือนมีนาคมจะขึ้นค่าจ้างย้อนหลังไปเดือนกุมภาพันธ์ไม่ได้   จังหวัดไหนที่หน่วยตรวจสอบฯไม่เข้าตรวจก็อาจจะเบิกจ่ายทำผิดต่อไป ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในอนาคต หน่วยตรวจสอบฯจะไปตรวจเจอแล้วให้คืนเงินหรือไม่

 

 

 

         2. วันที่ 16-17 พ.ค.55 ผมไปเข้าร่วม “ประชุมชี้แจงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานเทียบระดับการศึกษา” ณ โรงแรมอะเดรียติคพาเลซ กรุงเทพฯ  ( เดินทางตั้งแต่บ่ายวันที่ 15 พ.ค.  ไปกับรถตู้ที่ สนง.กศน.จ.อย. จัดให้ไปส่งไปรับ 2 คัน )   เป็นการประชุมชี้แจงสถานศึกษาที่ทำหน้าที่เทียบระดับการศึกษาแบบเดิม 470 แห่ง   ( ท่านเลขาธิการ กศน.บอกว่า การเทียบระดับแบบจบ ม.6 ใน 8 เดือน ก็จะให้ดำเนินการโดยสถานศึกษาเทียบระดับเดิม 470 แห่งนี่แหละ )
             ในวันที่ 16 พ.ค.55 อ.สุพจน์ ศน.สนง.กศน.จ.สระบุรี  เขียนในเว็บบล็อกผมที่ gotoknow.org นี้ว่า  อยากให้เปรียบเทียบการเทียบระดับแบบ ม.ปลาย 8 เดือน กับการเทียบระดับแบบเดิม และการเรียนประเภทพบกลุ่มและประภท ทก (สถาบันฯทางไกล) ถึงข้อดีข้อเสีย คุณสมบัติ เวลา ค่าใช้จ่าย

             ผมเคยเขียนเปรียบเทียบความแตกต่างของการเทียบระดับแบบเดิม กับแบบจบ ม.6 ภายใน 8 เดือน ไว้บ้างแล้วในข้อ 1 ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/486491

             แต่ละรูปแบบ จะมีทั้งความเหมือน ความคล้าย และความแตกต่างกัน  เช่น


             ก. การเทียบระดับแบบเดิม

                1)  รับผู้มีอายุ 20 ปีขึ้นไป  มีอาชีพที่เลี้ยงตนเองหรือครอบครัวได้มาแล้ว 1 ปี  
                2)  เทียบระดับ ทีละระดับ ( ถึงแม้ด้านประสบการณ์จะสามารถได้คะแนนข้ามระดับได้ แต่ด้านความรู้ฯยังจะต้องลงทะเบียนเทียบระดับตามลำดับขั้นทีละระดับ คือระดับประถม ม.ต้น ม.ปลาย )   ปกติให้ใช้เวลาระดับละ 6 เดือน  แต่ถ้าไม่นับช่วงประชาสัมพันธ์-รับสมัคร ก็ใช้เวลาเพียงระดับละประมาณ 4 เดือน  ปีหนึ่งผู้ขอเทียบระดับสามารถขอเทียบระดับได้ 2 ครั้ง จึงอาจผ่าน 2 ระดับได้ใน 1 ปี   ใช้เวลาน้อยกว่าการเรียนตามหลักสูตรฯแบบพบกลุ่มหรือแบบทางไกล
                3)  เนื้อหาด้านความรู้ฯ แบ่งเป็น 6 มาตรฐาน หรือ 6 วิชา คะแนนทุกวิชาถัวกันได้ เช่นได้คะแนนภาษาอังกฤษน้อยแต่ได้คะแนนวิชาอื่นมาก ก็ผ่านได้   ด้านประสบการณ์ เน้นการพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาสังคมและชุมชน   ( เนื้อหาจะง่ายกว่าแบบจบ ม.6 ใน 8 เดือน )
                4)  เน้นการไปประเมินเชิงประจักษ์ยังสถานที่ประกอบอาชีพจริง  จึงสมัครเทียบระดับได้เฉพาะสถานศึกษาที่เป็นเขตที่ตั้งของสถานที่ประกอบอาชีพ
                5)  มีพี่เลี้ยงอย่างไม่เป็นทางการ มีการเตรียมความพร้อมก่อนสอบบ้าง แต่ไม่มีการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ
                6)  วุฒิที่ได้ เท่ากับจบในระบบ แต่ไม่มีเกรด จึงนำไปเรียนต่อในระบบแอดมิชชั่นไม่ได้  เรียนต่อมหาวิทยาลัยปิดได้ในบางหลักสูตรที่ไม่มีการแข่งขันหรือคัดเลือกโดยพิจารณาเกรดประกอบ  แต่เรียนต่อมหาวิทยาลัยเปิด ( มสธ. ม.รามฯ ) ได้
                7)  ค่าลงทะเบียน 1,500 บาท  ( มีงบประมาณสมทบหัวละ 1,500 บาท  รวมเป็น 3,000 บาท )
                สรุป  รูปแบบนี้เหมาะสำหรับ ผู้ใหญ่ ที่มีการพัฒนาอาชีพ มีการพัฒนาสังคมและชุมชน  มีความรู้ในแต่ละระดับอยู่แล้ว  ต้องการวุฒิการศึกษาโดยเร็ว ไม่เน้นเรียนต่อในมหาวิทยาลัยปิด   ข้อดีคือได้วุฒิเร็ว ข้อเสียคือต้องเสียค่าลงทะเบียน 1,500 บาท   ( การเทียบระดับประถม ต้องเลือกรูปแบบนี้  ผู้ที่มีวุฒิ ม.ต้นแล้ว ก็ควรเลือกเทียบระดับ ม.ปลาย รูปแบบนี้ )


             ข. การเทียบระดับแบบจบ ม.6 ใน 8 เดือน 
( ใช้กฎหมายการเทียบระดับฯฉบับเดียวกับการเทียบระดับแบบเดิม )
                1)  รับผู้มีอายุ 20 ปีขึ้นไป  มีอาชีพที่เลี้ยงตนเองหรือครอบครัวได้มาแล้ว 3 ปี  

                2)  ไม่รับเทียบระดับประถม แต่รับผู้ที่มีวุฒิ ป.6 มาเทียบข้ามระดับให้ได้ ม.ปลายเลย   ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน แต่ถ้ายังผ่านไม่ครบ 9 วิชา ก็สะสมวิชาที่ผ่านแล้วไว้ได้ 5 ปี บางคนอาจต้องใช้เวลาถึง 5 ปี จึงผ่านครบ 9 วิชา จึงได้วุฒิ ม.ปลาย
                3)  เนื้อหาแบ่งเป็น 9 วิชา  ต้องผ่านทุกวิชา คะแนนถัวกันไม่ได้  ทั้งวิชาภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  วิจัย  ฯลฯ  ต้องได้คะแนน 60 % ขึ้นไปทุกวิชา   ( เนื้อหาโดยรวม จะยากกว่าเทียบระดับแบบเดิม )   ใช้เวลาน้อยกว่าการเรียนตามหลักสูตรฯแบบพบกลุ่มหรือแบบทางไกล
                4)  มีสื่อ ( หนังสือ ) และครูที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการ มีการติว การเรียนการสอนเป็นทางการ
                5)  วุฒิที่ได้ เท่ากับจบในระบบ แต่ไม่มีเกรด จึงนำไปเรียนต่อในระบบแอดมิชชั่นไม่ได้  เรียนต่อมหาวิทยาลัยปิดได้ในบางหลักสูตรที่ไม่มีการแข่งขันหรือคัดเลือกโดยพิจารณาเกรดประกอบ  แต่เรียนต่อมหาวิทยาลัยเปิด ( มสธ. ม.รามฯ ) ได้
                6)  ค่าลงทะเบียน 1,500 บาท  ( มีเงินงบประมาณปี 2556 สมทบหัวละ 3,000 บาท  รวมเป็น 4,500 บาท )
                สรุป  รูปแบบนี้เหมาะสำหรับ ผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ที่ประกอบอาชีพแล้ว 3 ปีขึ้นไป  มีความรู้ในระดับ ม.ปลายอยู่แล้ว หรือมีความสามารถที่จะเรียนรู้ในระยะเวลาสั้น  ต้องการวุฒิการศึกษาโดยเร็ว ไม่เน้นเรียนต่อในมหาวิทยาลัยปิด   ข้อดีคือได้วุฒิเร็ว เข้าร่วมกระบวนการรอบเดียวข้ามระดับ ม.ต้น ได้ ม.ปลายเลย  ข้อเสียคือเนื้อหายาก ยากที่จะผ่านครบ 9 วิชา และต้องเสียค่าลงทะเบียน 1,500 บาท


             ค. การเรียนตามหลักสูตรฯ แบบพบกลุ่ม
                1)  รับผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่อายุต่ำกว่าแต่มีความจำเป็นไม่สามารถเรียนในระบบได้  ไม่ต้องมีอาชีพ

                2)  ให้เรียนตามลำดับขั้น ทีละระดับ คือระดับ ประถม ม.ต้น ม.ปลาย
                3)  เนื้อหาแบ่งเป็นหลายรายวิชา คล้ายในระบบโรงเรียน ปกติจะใช้เวลา 2 ปี มากกว่าการเทียบระดับ  แต่ปัจจุบันปรับให้สามารถเรียนจบในแต่ละระดับได้ภายใน 1 ปี ( 2 ภาคเรียน ) ด้วยการเน้นให้เทียบโอนความรู้เพื่อไม่ต้องเรียนในบางรายวิชา และ เพิ่มจำนวนหน่วยกิตในการเรียนแต่ละภาคเรียนให้มากขึ้น
                4)  ต้องผ่านเงื่อนไขต่าง ๆ เช่นทำกิจกรรม กพช.   สามารถสมัครเรียนที่ใดก็ได้
                5)  มีสื่อ ( หนังสือ ) และครูประจำกลุ่มอย่างเป็นทางการ มีการพบกลุ่ม สอนเสริม   ถึงแม้อาจจะใช้เวลามากกว่าการเทียบระดับแต่มีโอกาสเรียนจบมากกว่า เพราะมีคะแนนระหว่างภาคเป็นคะแนนช่วย
                6)  วุฒิที่ได้ เท่ากับจบในระบบ และมีเกรด จึงนำไปเรียนต่อในระบบแอดมิชชั่น และเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ 
                7)  เรียนฟรี  ( มีเงินงบประมาณอุดหนุนรายหัว )
                สรุป  รูปแบบนี้เหมาะสำหรับ ผู้ที่อายุไม่มาก มีอาชีพหรือไม่มีอาชีพก็ได้  ยังไม่มีความรู้ในแต่ละระดับ ศึกษาด้วยตนเองไม่ค่อยเข้าใจ มีเวลาพบกลุ่ม ต้องการความรู้และโอกาสเรียนจบมากกว่าการเทียบระดับ ไม่ถนัดการเรียนทางไกล การใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต  อาจเรียนต่อในมหาวิทยาลัยปิด   ข้อดีคือมีโอกาสเรียนจบมาก เรียนฟรี  ข้อเสียคือใช้เวลามากกว่าแบบเทียบระดับ มีขั้นตอนมากเช่นต้องทำกิจกรรม กพช. มีหลายรายวิชา ยุ่งยากในการประเมินผลหลายรายวิชา


             ง. การเรียนตามหลักสูตรฯ แบบทางไกล
ของสถาบันการศึกษาทางไกล  ( หลักสูตรเดียวกันกับแบบพบกลุ่ม )

                1)  รับผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่อายุต่ำกว่าแต่มีความจำเป็นไม่สามารถเรียนในระบบได้  มีอาชีพหรือไม่มีอาชีพก็ได้
                2)  รูปแบบนี้ในประเทศไม่รับระดับประถม   ให้เรียนตามลำดับขั้น ทีละระดับ คือระดับ ม.ต้น ม.ปลาย
                3)  เนื้อหาแบ่งเป็นหลายรายวิชาคล้ายในระบบโรงเรียน ปกติจะใช้เวลา 2 ปี มากกว่าการเทียบระดับ  แต่ปัจจุบันปรับให้สามารถเรียนจบในแต่ละระดับได้ภายใน 1 ปี ( 2 ภาคเรียน ) ด้วยการเน้นให้เทียบโอนความรู้เพื่อไม่ต้องเรียนในบางรายวิชา และ เพิ่มจำนวนหน่วยกิตในการเรียนแต่ละภาคให้มากขึ้น
                4)  ต้องผ่านเงื่อนไขต่าง ๆ   แต่สถาบันการศึกษาทางไกลพัฒนาแต่ละเงื่อนไขให้สะดวก เช่น การเทียบโอนผลการเรียนจากการประเมินความรู้และประสบการณ์ ใช้วิธีทดสอบเพียงอย่างเดียว  การทำกิจกรรม กพช.มีความชัดเจน  การเก็บคะแนนระหว่างภาคใช้วิธีให้สอบแบบอัตนัยที่บ้านเพียงอย่างเดียว   จนสะดวกและง่ายกว่าการเรียนแบบพบกลุ่มเสียอีก
                5)  มีสื่อผสมที่ละเอียด เพื่อการศึกษาด้วยตนเอง และมีครูประจำวิชาอย่างเป็นทางการ ไม่ต้องพบกลุ่ม จะเข้ารับการสอนเสริมหรือไม่ก็ได้   ถึงแม้อาจจะใช้เวลามากกว่าการเทียบระดับแต่มีโอกาสเรียนจบมากกว่า เพราะมีคะแนนระหว่างภาคเป็นคะแนนช่วย  ( มีวิชาบังคับเลือก ที่เหมาะสำหรับการศึกษาต่อ )
                6)  วุฒิที่ได้ เท่ากับจบในระบบ และมีเกรด จึงนำไปเรียนต่อในระบบแอดมิชชั่น และเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ 
                7)  เรียนฟรี  ( มีเงินงบประมาณอุดหนุนรายหัว )
                สรุป  รูปแบบนี้เหมาะสำหรับ ผู้ที่อายุไม่มาก ศึกษาด้วยตนเองได้  ต้องการไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น มีอาชีพหรือไม่มีอาชีพก็ได้  ยังไม่มีความรู้ในแต่ละระดับ ไม่มีเวลาพบกลุ่ม ต้องการความรู้และโอกาสเรียนจบมากกว่าการเทียบระดับ  ถนัดการเรียนทางไกล การใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต   ข้อดีคือมีโอกาสเรียนจบมาก เรียนฟรี สะดวกในการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ข้อเสียคือใช้เวลามากกว่าแบบเทียบระดับ ต้องมีวินัยในตนเอง รับผิดชอบในการเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

         3. วันที่ 18 พ.ค.55  ผมคุยกับ กจ.กศน. 2 เรื่อง คือ
             3.1  คุยกับ อ.เบญจางค์เรื่องโครงการพัฒนาครูสู่ประชาคมอาเซียน ( ไปต่างประเทศ 1 เดือน )  ได้รับข้อมูลว่าเป็นโครงการทางการเมืองของท่าน รมช.ศธ.  กจ.ติดต่อถามไปว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ก็ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ  จึงไม่ต้องคอยแล้ว คงไม่ได้ไปแล้ว   ( ผมต้องขอแสดงความเสียใจและขอโทษผู้ที่ได้รับคัดเลือกด้วย  ผมเองก็มีส่วนร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกของ จ.พระนครศรีอยุธยา และนำผลการคัดเลือกมาบอก )

             3.2  คุยกับ อ.อุบลวรรณ เรื่องการให้ครู กศน. เรียน ป.บัณฑิต  ได้รับข้อมูลว่าคุรุสภากำลังจะแจ้งคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เรียนมา   ( เรื่องนี้ผมเกรงว่าคุณสมบัติจะต้องมี “ใบอนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู”  ซึ่ง กศน.อำเภอบางแห่งขออนุญาตคุรุสภาไว้ แต่หลายแห่งไม่ได้ขออนุญาตไว้ อาจทำให้ไม่มีสิทธิเรียน )

 

         4. วันเดียวกัน ( 18 พ.ค. ) คุณวาสนา ถามผมทางอีเมล์ผ่าน gotoknow.org  ว่า  รายวิชาเลือกทั้งหมด ที่มีการปรับปรุงข้อมูลล่าสุดปี 2555 มีไหม สามารถดูได้ที่ไหน
             ผมตอบว่า   รายวิชาเลือก มีเพิ่มอยู่ตลอดเวลา แต่ละสถานศึกษาก็สร้างเองได้   ลองเข้าไปดูที่ http://203.172.142.230/nfe_reserve/backend/control.php   คลิกที่ ระบบค้นหาข้อมูล --> ระบบค้นหาข้อมูลหลักสูตรวิชาเลือก

 

หมายเลขบันทึก: 488484เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2012 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ มีสาระมาก ๆ ค่ะ

อำเภอพระนครศรีอยุธยา รู้สึกว่าเคยมีมาให้ขออนุญาตินะครับ เรื่อง“ใบอนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” อยากจะได้วุฒินี้มาก ถ้าครุสภาเปิดสอบ 9มาตราฐาน ผมก็คงจะไปสอบไว้ก่อน ได้มาก่อนสบายใจดีครับ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่ให้ความรู้เสมอๆ ค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ โดยเฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างเจ้าหน้าที่ห้องสมุด เพราะกำลังดำเนินการเบิกจ่ายย้อนหลังให้น้องเจ้าหน้าที่ฯ พอดี

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ Ico48 Ico48 Blank  และทุกๆคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท