ชีวิตที่พอเพียง: ๑๕๕๘. ฝึกร่วมประชุมแบบคนแก่


 

          ระหว่างวันที่ ๖ - ๘ เม.ย. ๕๕ ที่ผมไปร่วมประชุมวิชาการ โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ครั้งที่ ๑๓ ที่จอมเทียน   ผมได้ลองฝึกเข้าร่วมประชุมโดยมีเป้าหมายสังเกต และตีความการประชุมในภาพรวม   ว่ากำลังเกิด อะไรขึ้น   และมีความหมายหรือคุณค่าต่อบ้านเมืองอย่างไร

          ผมพยายามไม่เอาใจใส่รายละเอียดทางวิชาการของแต่ละเรื่องมากนัก    แต่เอาใจใส่ภาพใหญ่ของ การประชุม และวิธีจัดการประชุม ว่าการประชุมนี้มีคุณค่าอย่างไร   จะเพิ่มคุณค่าของการประชุมได้อย่างไร

          เริ่มจากเอกสารประกอบการประชุมเป็นเล่ม ๔๓๙ หน้า    ที่รูปเล่ม และภาพปกเป็นรูปแบบเดียวกัน ขนาดเดียวกัน   ตลอดมาตั้งแต่การประชุมครั้งแรกมาจนปัจจุบัน    สะท้อนการวางแผนการทำงานที่เน้นความ ต่อเนื่องระยะยาว    เอกสารนี้มีรายละเอียดของคปก. ตั้งแต่ต้นมาจนปัจจุบัน วางรูปเล่มอย่างมีระบบและ อย่างเป็นมืออาชีพ   เริ่มจาก ความคาดหวังของ คปก. สั้นๆ ความยาว ๑ หน้า    ที่นำลงไว้ในเอกสารประกอบ การประชุมนี้ทุกปี   เพื่อตอกย้ำคุณค่าของ คปก. ต่อบ้านเมือง และต่อตัวบุคคล   ผมอ่านทีไรก็รู้สึกถึงพลังของ ถ้อยคำเหล่านี้   ที่ผมเป็นผู้ยกร่างสำหรับการประชุมครั้งแรก   บัดนี้ เวลาผ่านมา ๑๓ ปี   ข้อความนี้ก็ยังแสดงพลัง คุณค่า ให้แก่วงการ คปก.    ความรู้สึกนี้ ให้ปิติสุขแก่ผมมาก

          หนังสือเล่มนี้ สะท้อนความละเอียดและความเป็นมืออาชีพของทีมเครือข่ายโครงการปริญญาเอก กาญจนาภิเษก ที่ทำงานให้แก่ สกว.  เป็นหนังสือที่สะท้อน “research culture inside” หนังสือนี้    ให้เห็นการให้ คุณค่าแก่ผลงาน   ซึ่งผลงานของ นศ. คปก. คือผลงานวิจัย ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่รับตีพิมพ์ยาก    คือเลือก เฉพาะผลงานที่มีคุณภาพสูงเท่านั้นเมื่อนศ. คปก. ได้ลงตีพิมพ์ก็จะได้รับการนำมาลงพิมพ์จารึกไว้ในหนังสือประกอบการประชุม series นี้ทุกผลงาน   ถือเป็นการยกย่องและให้เกียรติแก่เจ้าของผลงาน และแก่ตัวผลงาน   นี่คือความจงใจที่ผมพูดกับ รศ. ดร. กำจัด มงคลกุล และ ศ. ดร. วิชัย ริ้วตระกูล เมื่อ ๑๓ ปีที่แล้ว  

          ยิ่ง นศ. คปก.  หรือบัณฑิต คปก. ที่มีผลงานเด่น   หรือได้รับการยกย่องในรูปแบบใดก็ตาม   จะเอามาบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้   เพื่อจารึกเกียรติประวัติตลอดไป   เสริมจากเกียรติประวัติของการเป็น บัณฑิต คปก.

          ผมมีข้อสังเกตว่า นศ. คปก. ที่ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอผลงานแบบ oral presentation ก็ตาม   หรือแบบ โปสเตอร์ ก็ตาม ต่างก็ตั้งใจและเตรียมตัวนำเสนออย่างมาก   น่าจะเกิดจากการจัดการการประชุมที่แสดงความ เอาจริงเอาจัง และยกย่องผลงานคุณภาพดี   ผมได้เห็นอาจารย์ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ให้คะแนนโปสเตอร์ ทำงานอย่างเอาจริงเอาจังกับการอ่านโปสเตอร์ทีละชุดๆ พร้อมกับให้คะแนนในตารางแบบฟอร์ม    และได้ยิน ประธานการประชุมแต่ละ session พูดว่า จะต้องไปรวมคะแนนของ นศ. ที่นำเสนอผลการวิจัยแบบ oral เพื่อตัดสินรางวัลนี่คือองค์ประกอบของการประชุมวิชาการที่มีคุณภาพสูงที่สุดของประเทศ

          แต่ ศ. ดร. มนัส พรหมโคตร หัวหน้าทีมจัดการเครือข่าย คปก. บอกผมว่า   ห้องประชุมย่อยบางห้อง มีคนโหรงเหรงมาก สงสัยว่าคนที่มาร่วมประชุมหกร้อยคนไปไหนกันหมด   ผมก็เสนอว่า น่าจะมีคนพูดแนะนำ นศ. คปก. ให้รู้จักใช้เวที RGJ – PhD Congress ในการสร้างตัวอย่างครบเครื่อง    คือหาเพื่อนร่วมวิจัยในสาขา เดียวกันหรือต่างสาขา    หาทางผูกมิตรกับศาสตราจารย์ต่างประเทศที่มาร่วมประชุม    และสังเกตจดจำวิธีจัดการ การประชุมวิชาการที่มีคุณภาพสูง หรือเข้ามาช่วยงาน    คือให้หาทาง engage ตัวเองเข้ามาในงานให้มากที่สุด สำหรับใช้เป็นลู่ทางสร้างตัวเป็นนักวิชาการ/วิจัย    อย่ามัวเห็นแก่การเที่ยวเตร่หรือสนุกสนาน

          ผมเกิดความคิดว่า น่าจะรับสมัครและคัดเลือก นศ. (หรือศิษย์เก่า) คปก. ทีมหนึ่ง จำนวนน้อยคน (เช่น ๖ คน)    เข้าร่วมงานกับทีมจัดการเครือข่ายฯ   โดยเลือกจากหลายสถาบัน หลายสาขาวิชา    ให้ร่วมกันรับผิดชอบ ด้านใดด้านหนึ่งของกิจกรรมเครือข่าย   การคัดเลือกต้องให้ได้คนที่มีแรงบันดาลใจ และมีทักษะด้านการจัดการ    เรียกทีมนี้ว่าทีมอาสา คปก.   คือมาทำงานอาสาเพื่อฝึกฝนตนเอง

          เป้าหมายของทีมอาสา คปก. คือเพื่อฝึกทักษะและประสบการณ์ในการทำงานจัดการด้านวิชาการ   สำหรับเอาไว้ใช้ประโยชน์ต่อชีวิตนักวิชาการในอนาคต   แต่ละคนจะทำงาน ๒ ปี แล้วหมุนออก   แต่ละปีจะมีสมาชิกหมุนออกครึ่งหนึ่ง

          คปก. ก็จะเพิ่มมิติเรียนรู้ของผู้รับทุน ขยายสู่การเรียนรู้ด้านการจัดการวิชาการ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ เม.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 488362เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยาก อ่าน ความคาดหวังของ คปก. สั้นๆ ความยาว ๑ หน้า ที่อาจารย์อ้างถึง ขอ ความกรุณา อาจารย์ ด้วยค่ะ ขอบพระคุณ พ รวิวรรณ รพ เชียงรายฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท