ทำไมคนเราถึงชอบผลัดวันประกันพรุ่ง


พูดถึงเรื่องของการบริหารเวลาทีไร ก็อดไม่ได้ที่จะต้องนึกถึงคำว่า “ผลัดวันประกันพรุ่ง” ทุกที ฟังเรื่องราวของการบริหารเวลาแล้ว หลายๆ คนที่เคยเข้าสัมมนา เคยอ่านหนังสือเรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารเวลา ต่างก็บ่นกันว่าทำไม่ค่อยจะได้ ตอนเรียนก็รู้สึกดี รู้สึกอยากทำ แต่พอเรียนจบ จะต้องมาทำจริงๆ ในชีวิตประจำวัน กลับทำไม่ได้ตามที่ตั้งใจสักที

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมคนเราถึงชอบที่จะผลัดวันประกันพรุ่งกันไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่จะต้องส่งงาน หรือถึงเส้นตายแล้ว ค่อยมานั่งปั่นงานกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แล้วก็มานั่งบ่นว่าเหนื่อย งานเยอะ นอนดึก ไม่มีเวลา ฯลฯ แต่พอช่วงที่มีเวลาว่างๆ กลับไม่ทำอะไรเลย ผมคิดว่านี่คือนิสัยปกติของมนุษย์เรา สาเหตุสำคัญที่คนเราชอบเป็นโรคเลื่อน เลื่อนวันทำงานไปเรื่อยๆ ผลัดวัดออกไปเรื่อยๆ ก็เพราะ มนุษย์เรารักความสบายครับ ไม่มีใครที่ไม่ชอบความสบายหรอกครับ การผลัดวันประกันพรุ่งนั้น ทำให้เรารู้สึกสบาย รู้สึกว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะต้องลงมือทำ เราก็เลยไปทำอย่างอื่นที่เราชอบมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ

แต่เชื่อมั้ยครับว่า ความสบายที่เราได้รับในช่วงที่เราผลัดวันประกันพรุ่งนั้น กลับทำให้เราลำบากมากเกินความจำเป็นในเวลาที่เราต้องมานั่งเร่งงานให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด เราต้องใช้พลังมากกว่าปกติ ใช้เวลามากกว่าปกติ ใช้ความเหนื่อยมากกว่าปกติ ทุกอย่างมากกว่าปกติหมดเลย ก็เลยทำให้เรายิ่งเหนื่อยเข้าไปอีก แต่ไม่ค่อยมีใครคิดหรอกครับว่านี่เป็นผลมาจากการที่เราผลัดวันไปเรื่อยๆ บางคนที่รู้สาเหตุ ก็ได้แค่บ่นว่า “รู้งี้ทำซะตั้งแต่แรกก็จะได้ไม่ต้องมานั่งหลังขดหลังแข็งตอนใกล้ส่งงาน”บ่นแล้วเป็นอย่างไรต่อทราบมั้ยครับ คราวหน้าก็กลับมาเหมือนเดิมครับ ดังนั้นการที่เราจะเลิกนิสัยผลัดวันประกันพรุ่งได้นั้น เราจะต้องสร้างวินัยในการทำงานให้กับตนเองอย่างสูงครับ จริงๆ แล้วไม่ค่อยมีความจำเป็นที่จะต้องไปเรียนเรื่องของการบริหารเวลาหรอกครับ เพราะเรียนมาแล้วก็ไม่ได้เอามาใช้ ถ้าเราอยากจะเลิกนิสัยนี้จริงๆ ลองทำตามนี้ดูนะครับ

  • ตั้งใจให้แน่วแน่ว่าจะเลิก ข้อนี้สำคัญที่สุดครับ เราจะต้องตั้งใจให้มั่น และให้สัญญากับตัวเองว่าเราจะเลิกจริๆง แล้วกับนิสัยผลัดวันประกันพรุ่ง อาจจะเขียนปะไว้หน้ากระจกในห้องน้ำก็ได้ ให้เราเห็นทุกวันว่านี่คือเป้าหมายของเราที่เราจะต้องบรรลุให้ได้
  • วางแผนการทำงาน สิ่งถัดไปหลังจากที่ตั้งใจแน่วแน่แล้วก็คือ ต้องเริ่มมานั่งวางแผนการทำงานที่มีอยู่ในมือของเราว่า จะต้องทำอะไรบ้าง อะไรก่อนอะไรหลัง กำหนดวันทำงานอย่างละเอียดเลยว่า วันนี้เวลานี้จะทำอะไรให้เสร็จบ้าง พอวางแผนเสร็จเราจะเห็นกรอบแผนงานที่ชัดเจน ว่าแต่ละวันจะต้องทำอะไรบ้าง ในการวางแผนการทำงานนั้น ปัจจุบันมีเครื่องมือมากมายเข้ามาช่วยเราได้ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือที่สามารถกำหนดวันเวลาทำงาน และยังสามารถตั้งเตือนให้เราทำงานตามกำหนดเวลาได้อีกด้วย ประเด็นก็คือ วางแผนแล้ว ตั้งเตือนก็แล้ว แต่ก็กดทิ้ง แล้วก็เลื่อนออกไปก่อนทุกที แบบนี้จะใช้อุปกรณ์ไฮเทคสักแค่ไหน ก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้หรอกครับ
  • ลงมือทำจริงๆ ข้อนี้คือวิธีการแก้ไขปัญหาการผลัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งเป็นวิธีเดียวเท่านั้นจากประสบการณ์ของผมเอง การจะเลิกนิสัยผลัดวันนั้น ก็คือ ไม่ผลัดวัน การไม่ผลัดวันก็คือ การลงมือทำมันซะเลยตั้งแต่ตอนที่เราคิดได้ว่าจะต้องทำ หรือลงมือทำงานตามแผนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น ถ้าเรากำหนดแผนไว้ว่าวันนี้จะทำอะไรในเวลาใด พอถึงเวลานั้นจริงๆ เราจะต้องควบคุมตนเองให้ลงมือทำทันที ถ้าเราทำได้ตามนี้ การผลัดวันประกันพรุ่งของเราก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยครับ

นี่เป็น 3 วิธีง่ายๆ ที่จะลดนิสัยผลัดวันประกันพรุ่ง จุดสำคัญที่สุดก็คือ ให้เรามีความตั้งใจจริงๆ พอถึงเวลาทำงานนั้นๆ ตามแผนที่เราตั้งไว้ แล้วเราพยายามจะเลื่อนมันออกไป โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา ก็อยากให้ตั้งสติให้ดี แล้วคิดถึงความตั้งใจจริงที่จะเลิกนิสัยนี้ จากนั้นก็ให้เริ่มลงมือทำเลยครับ แม้จะรู้สึกว่ายังไม่อยากทำ แต่ขอให้ฝืนหน่อยครับ พอได้เริ่มลงมือทำแล้ว เราจะทำต่อไปเองโดยอัตโนมัติครับ แล้วงานก็จะเสร็จ

แต่ถ้าเราตามใจตัวเอง เลื่อนไปเรื่อยๆ มันก็จะถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด สุดท้ายเราก็ต้องเหนื่อยมากกว่าปกติ มันไม่คุ้มกับความสบายระยะสั้นๆ ที่เราได้รับหรอกครับ

วันนี้คุณหยุดผลัดวันประกันพรุ่งแล้วหรือยังครับ

หมายเลขบันทึก: 488265เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 05:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 02:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ สำหรับบันทึกดีๆ มีให้อ่านก่อนเริ่มงาน :-)) ..จะได้ไม่ผลัดวันประกันพรุ่งซะที.. mode นี้เป็นแล้วแก้ยากจัง :-((

ใช่เลย ประจำ ต้องพยายามให้หนักขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท