ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

อภัยทาน:รากฐานของอภัยโทษ และนิรโทษกรรม


 

          ศ.ดร.คณิต ณ นครได้กล่าวว่า “ความผิดบางอย่างที่เกิดขึ้นนั้น อภัยทานย่อมดีกว่าการลงโทษ”[1] ซึ่งในประเด็นนี้สอดรับกับแนวทางที่เนลสัน เมนเดลล่า[2]เคยได้แสดงออกในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีที่มาจากจากการเลือกตั้งคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ ที่ได้ออกพระราชบัญญัติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการแสวงหาความจริงและความปรองดอง จนนำไปสู่การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อความรุนแรงทางการเมืองในประเทศ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้น รวมถึง “เนลสัน เมนเดลล่า” ด้วยเช่นกัน ตัวแปรสำคัญที่คือ “การค้นพบความจริง” ที่เกิดขึ้น และยอมรับความจริงทั้งที่เป็นผู้กระทำการ และได้รับผลกระทบจากการทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนนำไปสู่การขอโทษ และนิรโทษกรรมในที่สุด

 


 

 

        ในขณะที่สถาบันสถาบันพระปกเกล้าได้จัดทำวิจัยจนนำไปสู่การนำเสนอทางออกต่อความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมโดยสมควรให้มีการนิรโทษกรรมคู่ขัดแย้งในสังคมไทยนั้น[3] คำถามมีว่า ในกรณีที่ผู้หนึ่งผู้ใดกระทำผิดทั้งต่อบุคคลอื่น สังคม และประเทศชาตินั้น จำเป็นที่จะต้องดำเนินการอภัยโทษ และการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นมาตรการทางนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์นั้น  อะไรเป็นตัวแปรสำคัญที่จะก่อให้เกิดกระบวนการทั้งสองอย่างนั้น ผู้วิจัยมองว่า “อภัยทานเป็นตัวแปร และเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การอภัยโทษและการนิรโทษกรรม”  ก่อนที่จะนำเสนอว่า อภัยทานเป็นรากฐานของอภัยโทษ และนิรโทษกรรมอย่างไรนั้น ควรที่จะต้องศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “อภัยโทษ และนิรโทษกรรม” ในเบื้องต้นก่อน ซึ่งประเด็นนี้  นายสราวุธ เบญจกุล  รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้อธิบายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

 

 


         (๑) การพระราชทานอภัยโทษ

         การพระราชทานอภัยโทษ ( Pardon or Grace ) หมายถึงการยกเว้นโทษให้ทั้งหมด  หรือบางส่วน  หรือลดหย่อนผ่อนโทษลงไปแก่นักโทษผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้รับโทษนั้นโดยยังถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดและเคยต้องคำพิพากษา   การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ   การต้องโทษจะมีได้ก็โดยคำพิพากษาของศาลซึ่งทำในนามพระมหากษัตริย์   ดังนั้น   การพระราชทานอภัยโทษจึงเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์   อันนับเนื่องในพระมหากรุณาธิคุณส่วนหนึ่ง   การพระราชทานอภัยโทษนั้นจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีผู้ร้องขอหรือถวายเรื่องต่อพระมหากษัตริย์   และใช้เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำความผิดแล้วเท่านั้น   ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษนั้นไม่ต้องรับโทษอีกเลยหรือลดโทษให้มีการรับโทษแต่เพียงบางส่วน  ทั้งนี้ผลของการพระราชทานอภัยโทษนั้นหาทำให้สิทธิต่างๆ ที่ต้องสูญเสียไปเพราะคำพิพากษากลับคืนมาไม่

        (๒) การนิรโทษกรรม

         การนิรโทษกรรม ( Amnesty )  หมายถึง   การที่กฎหมายไม่ถือว่าการกระทำบางการกระทำเป็นความผิด  และโทษซึ่งเป็นผลสำหรับการนั้นไม่จำเป็นต้องถูกนำมาบังคับใช้ ซึ่งตามปกติการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด   หรือเป็นการยกโทษให้ทั้งหมด   ทั้งถือเสมือนหนึ่งว่ามิได้เคยต้องโทษนั้นมาเลยคือ “ให้ลืมความผิดนั้นเสีย”  ผลของการนิรโทษกรรมนั้นมุ่งโดยตรงไปที่การกระทำผิดนั้นเอง   ซึ่งถือว่าไม่เป็นการผิดกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ความผิดซึ่งจะตกไปยังตัวบุคคลผู้กระทำความผิดนั้นย่อมต้องถูกลบล้างตามไปด้วย   นิรโทษกรรมนั้นเป็นการกระทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภา จะต้องออกเป็น   "พระราชบัญญัติ” ทั้งนี้เพราะว่าเมื่อการนิรโทษกรรมเป็นการถือเสมือนหนึ่งว่า   ผู้กระทำความผิดนั้นๆ มิได้กระทำความผิดเลยก็เท่ากับเป็นการลบล้างกฎหมายฉบับก่อนๆ ซึ่งเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง  (Non-Retroactive)  แต่เป็นการย้อนหลังที่ให้คุณแก่ผู้กระทำความผิดจึงสามารถบังคับใช้ได้  ดังนั้น   จึงควรให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภาเป็นผู้ออก

 

   

          ทั้งอภัยโทษ และนิรโทษกรรมสะท้อนแง่มุมทั้งทาง “นิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์” ประเด็นแรกจะเน้นไปที่นิติศาสตร์ ส่วนประเด็นหลังจะเน้นทั้งสองด้าน ถึงกระนั้น นัยที่แตกต่างกันที่สอดรับกับงานนี้คือ “อภัยโทษจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความผิดที่ได้เคยกระทำ”  ในขณะที่ “นิรโทษกรรรม” นั้นไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความผิดที่เกิดขึ้น สาระสำคัญหลักที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจของ “อภัยโทษ และนิรโทษกรรม” คือ “การลืมเพื่อจะให้อภัย แล้วเริ่มต้นใหม่” (Forgetting and Forgiveness) หรือ “การให้อภัยแล้วลืมเพื่อที่จะได้เริ่มต้นใหม่” (Forgiveness and Forgetting) แต่นักคิดบางท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า “การให้อภัยจะลืมไม่ได้ แต่ควรที่จะจำ เมื่อจำแล้วจึงให้อภัย”  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษา และเรียนบทเรียนจากข้อเท็จจริง และความจริงที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้นำทั้งสองสิ่งมากำหนดเป็นบทเรียนเพื่อศึกษา เรียนรู้ และมีท่าทีเชิงบวกต่อการอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน และอนาคต

          สิ่งที่กลุ่มคนจำนวนมากตั้งคำถาม “การอภัยโทษ และนิรโทษกรรม” คือ ประเด็นในทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์  เพราะการสร้างความปรองดองในลักษณะเช่นนี้ จะใช้กฎหมายทั้งพระราชกำหนด และพระราชบัญญัติมาเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับให้กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะก้าวเดินไปสู่การอภัยโทษ และนิรโทษกรรม ด้วยเกรงว่าจะก่อให้เกิดผลเสียอย่างใดอย่างหนึ่งตามมา เช่น ผลประโยชน์ และอำนาจทางการเมือง ความศักดิ์สิทธิ์ของข้อกฎหมายซึ่งสอดคล้องกับการปกครองในระบอบนิติรัฐ

 

         

         เมื่อเป็นเช่นนี้ ตัวแปร หรือปัจจัยตัวใดที่จะนำไปสู่การชักนำกลุ่มคนต่างๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้งในสังคมก้าวไปสู่การเริ่มต้นใหม่ด้วยการใช้ทั้งอภัยโทษ และนิรโทษกรรม ผู้วิจัยเห็นว่า “อภัยทาน” จะเป็นตัวแปรที่สำคัญอย่างยิ่งในฐานะเป็นรากฐานของอภัยโทษและการนิรโทษกรรม เพราะอภัยทานในลักษณะนี้ สะท้อนแง่มุมในเชิง “จิตวิทยา และจริยศาสตร์” และเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (Forgiveness in Post-Conflict Transition) ไปสู่ความปรองดอง เหตุผลสำคัญที่สามารถนำมาเป็นฐานในการวิเคราะห์ และทำงานนั้นเกิดจากข้อสังเกต ๒ ประเด็นคือ

        (๑) การให้อภัยแบบไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Forgiveness) ในกรณีที่เกิดความขัดแย้ง หรือความรุนแรงจนนำไปสู่ความสูญเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง การให้อภัยในลักษณะนี้ ผู้ประสบความสูญเสียมีความยินยอมพร้อมใจที่จะให้อภัยด้วยเหตุผล (๑.๑) ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ (๑.๒) เพื่อให้คู่กรณีสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ ไม่หวาดระแวง หรือเกิดอาการกดดัน หรือบีบคนทางใจ ฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องสร้างเงื่อนไขต่อการให้อภัย เพื่อให้สิ่งต่างๆ ดำเนินต่อไป ถึงกระนั้น เมื่อกล่าวถึงความผิดที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การให้อภัยในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นความผิดที่ไม่รุนแรง และสร้างความเจ็บปวดให้แก่คู่กรณีที่ได้รับผลกระทบมากจนไป และการให้อภัยเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเข้มแข็งทางใจ และมีภูมิต้าน หรืออดทนต่อความเจ็บปวดได้สูงกว่าคนโดยทั่วไป อันจะนำไปสู่การให้อภัยในในความหมายของการเปลี่ยนผ่านเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ดีกว่า

 

  

      (๒) การให้อภัยแบบมีเงื่อนไข (Conditional Forgiveness)  การให้อภัยในลักษณะนี้ มักจะเกิดขึ้นในกรณีที่คู่ขัดแย้งมีความประสงค์ที่จะให้คู่กรณีที่ดำเนินการตัดสินใจ หรือกระทำการผิดพลาดบกพร่องได้รับผลกรรม หรือผลแห่งการกระทำที่คู่กรณีได้สร้างผลกระทบขึ้น ซึ่งผลกระทบดังกล่าวได้ส่งผลเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสังคมโดยภาพรวมที่ได้รับผลจากการกระทำการ และความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทั้งร่างกาย และจิตใจแก่คู่กรณี ฉะนั้น สิ่งที่มักจะปรากฏชัดในประเด็นนี้คือ (๒.๑) การเรียกร้องหาความจริงที่เกิดขึ้น (๒.๒) การดำเนินมาตรการการลงโทษทางกฎหมายแก่ผู้ตัดสินใจ หรือกระทำการผิดพลาดจนก่อให้เกิดผลเสีย  หลังจากนั้น จึงเข้าสู่กระบวนการอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรม เหตุผลสำคัญที่จะต้องให้คู่กรณีที่กระทำทำความผิดได้รับคือ มาตรการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคู่กรณี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “เนลสัน เมนเดลล่า” เพราะเขาเองกล่าวอยู่เสมอว่า “การติดคุกทำให้เขามีความเป็นผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น” จะเห็นว่า การให้อภัยแบบนี้มีเงือนไขในลักษณะนี้ เป็นเงื่อนไขที่มุ่งทั้งทางวัตถุ และมาตรการการลงโทษทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

       

        เมื่อกล่าวถึงประเด็นนี้ สามารถที่จะสรุปได้ว่า การให้อภัยนั้นเป็นฐานสำคัญต่อการอภัยโทษและการนิรโทษกรรม แต่ถึงกระนั้น ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ การให้อภัยแบบไร้เงื่อนไขจะทำให้การอภัยโทษและนิรโทษกรรมทำงานได้ง่ายขึ้น แต่การให้อภัยแบบมีเงื่อนไขนั้น จะทำให้การทำงานของทั้งสองอย่างยากมากยิ่งขึ้น จะเห็นว่า การให้อภัยแบบแรกนั้น เป็นการให้อภัยที่สอดรับกับเอนไรท์ (Enright) ที่เน้นการให้อภัยแบบคาดหวัง (Expectation Forgiveness) และการให้อภัยด้วยความรัก (Forgiveness as Love)   แต่การให้อภัยแบบหลังอาจจะเป็นการให้อภัยแบบผูกใจเจ็บ (Revengeful Forgiveness) [4] ถึงกระนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งการให้อภัยแบบหลังได้แปรเปลี่ยนเป็นความรัก และมุ่งหวังที่จะให้คู่กรณีได้พัฒนาตนให้เป็นไปในเชิงบวกต่อผู้อื่นในสังคมมากยิ่งขึ้น  การให้อภัยแบบหลังนี้สอดรับกับแนวคิดของสเมเดส (Lewis B. Smedes) ได้นำเสนอวิธีการให้อภัย โดยที่หากเรารับรู้ได้ว่าเรากำลังเจ็บปวด หรือเกลียดชัง เราก็กำลังดำเนินอยู่ในขบวนการของการให้อภัยแล้ว สเมเดส เรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะคับขันแห่งการให้อภัย”  และได้นำเสนอเป็นบันได ๔ ขั้นของการให้อภัย ดังนี้คือ บันไดขั้นแรก ได้แก่ ความเจ็บปวด บันไดขั้นที่สองได้แก่ ความเกลียดชัง บันไดขั้นที่สาม ได้แก่ การเยียวยา และบันไดขั้นที่สี่ ได้แก่ การกลับมาคืนดีกัน



[1]http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/analysis/20111219/425053/%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B4%E0%B8%95-:--%E0%B8%A1.112-%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A9.html  ใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เข้าถึงเมื่อ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕.

[2]http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%99_%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B2  ใน ประวัติของเนลสัน เมนเดลล่า เข้าถึงเมื่อ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕.

[3] http://www.kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=1296&Itemid=1 ใน รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ เข้าถึงเมื่อ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕.

[4] McCullough, M.E., Paragament, K.I., Thoresen, C.E., Forgiveness: Theory, Research, and Practice, pp. 113-114.

คำสำคัญ (Tags): #forgiveness#อภัยทาน
หมายเลขบันทึก: 487373เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท