สอนเพลงพื้นบ้านอย่างไร..ถึงได้รางวัล


สอนเพลงพื้นบ้านอย่างไร..?

ถึงได้รางวัล

     ผมเริ่มสอนเพลงพื้นบ้านอย่างจริงจัง เมื่อปี ๒๕๔๒ หลังจากพานักเรียน ๑๐ คน ไปอบรมเชิงปฏิบัติการเพลงอีแซวกับแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์และครูชำเลือง มณีวงษ์ ในโครงการอนุรักษ์มรดกเมืองสุพรรณ สืบสานเพลงอีแซว ที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา ๑ อำเภอดอนเจดีย์ ในตอนนั้นนักเรียนของผมไม่มีพื้นฐานเพลงพื้นบ้านเลย ส่วนผมมีพื้นฐานจากการเรียนในระดับอุดมศึกษาเพราะผมเรียนเอกภาษาไทยและจากการซื้อม้วนเทปเพลงพื้นบ้านมาฟัง

     การอบรมครั้งนั้นเด็กบางลี่วิทยาได้รับความกดดันมาก เพราะเพื่อนๆหลายโรงเรียนเขามีพื้นฐานมาบ้างแล้ว พอแม่ขวัญจิตและครูชำเลืองสอนอะไร เขาก็ทำได้ร้องได้ รำได้ไม่นาน แต่เด็กบางลี่เก้งก้างทั้งร้องทั้งรำ ตีจังหวะก็ไม่เป็น เมื่ออบรมแล้วต้องมีการนำเสนอ เด็กบางลี่วิทยาก็เป็นตัวตลกให้เพื่อนๆโรงเรียนอื่นๆหัวเราะบ้าง แซวบ้าง เพราะร้องก็เพี้ยน คร่อมจังหวะ กลอง ฉิ่ง กรับ ไปคนละทาง และบางคราวก็ล่ม รำก็สะเปะสะปะ

      แต่ใครจะรู้บ้างว่ากลับจากการอบรมครั้งนั้น คณะเพลงอีแซวโรงเรียนบางลี่วิทยา ได้ก่อตัวขึ้น และมีผลงานเริ่มเข้าประกวดในงานวัดป่าเลไลยก์ และประกวดในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์มาโดยตลอด และทุกครั้งที่เข้าประกวดคณะเพลงอีแซวโรงเรียนบางลี่วิทยา ก็ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ มาทุกครั้ง หลายคนสงสัยว่าแล้วโรงเรียนไหนชนะเลิศ โรงเรียนที่ชนะเลิศก็คือโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา ๑ ซึ่งมีครูชำเลือง เป็นผู้ฝึกสอน และคณะนี้นี่แหละที่เป็นวิทยากรช่วยอบรมพวกเรามา และเราก็ถือว่าคณะเพลงอีแซวโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา ๑ คือครูเพลงพื้นบ้านของเรา

     นอกจากการประกวดเบื้องต้นดังกล่าวแล้วคณะเพลงอีแซวบางลี่วิทยา ก็ได้เข้าประกวดแข่งขันอีกหลายแห่งและคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ เช่น ได้โล่รางวัลชนะเลิศในการประกวดเพลงพื้นบ้านภาคกลาง จากนายกรัฐมนตรี จัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่บ้านควาย  จังหวัดสุพรรณบุรี ชนะเลิศเพลงพื้นบ้านภาคกลางที่คุ้มหม่อมไฉไล บางเลน  นครปฐม จัดโดยเซเว่นอีเวฟเว่นและคุ้มหม่อมไฉไล ร่วมกับสพท.นฐ. ๒ ชนะเลิศการประกวดเพลงอีแซวต้านยาเสพติด ของปปส.ที่โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก ชนะเลิศการประกวดเพลงพื้นบ้านภาคกลางระดับมัธยมศึกษาที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยถึง ๔ สมัย

     มีคนถามผมว่าสอนเพลงพื้นบ้านอย่างไรถึงได้รางวัล ผมก็ขอตอบเลยว่า ก็สอนแล้วส่งเข้าประกวดแข่งขันในรายการที่เขาให้รางวัล ตอบอย่างนี้ดูว่าจะยียวนแต่ก็มีความจริงแฝงอยู่ครับ

     คราวนี้ขอตอบอย่างเป็นงานเป็นการนะครับว่าผมสอนอย่างไร ผมดำเนินการดังนี้ครับ

     ๑.ตั้งชุมนุมอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านโดยร่วมกับเด็กที่มีใจรัก หรือสนใจเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะเพลงพื้นบ้านอย่างเป็นรูปแบบ

     ๒. ให้เด็กๆกรรมการชุมนุมสืบหาและทาบทามเพื่อนๆพี่ๆน้อง ที่มีทักษะการร้องเพลง การรำ การเล่นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ มาร่วมชุมนุม หรือร่วมกลุ่มอนุรักษ์

     ๓. ฝึกฝนเพลงพื้นบ้านในคาบกิจกรรมและช่วงพักหรือช่วงว่าง แรกๆครูสอนเอง ต่อมาให้พื่สอนน้อง เพื่อนสอนเพื่อน น้องสอนพี่ก็มี ใช้สื่อประกอบ เช่นซีดี เว็บไซต์ยูทูบ และวีดิทัศน์ที่บันทึกไว้เอง

     ๔. ส่งนักแสดงขึ้นแสดงหาประสบการณ์ในงานภายในโรงเรียนแล้วพัฒนาออกแสดงนอกโรงเรียน

     ๕. เมื่อมีประสบการณ์ก็ฝึกซ้อมเข้มตามกติกาที่หน่วยงานต่างๆจัดแล้วเข้าประกวด

     ๖. ข้อสำคัญต้องมีคนแต่งเนื้อร้องที่ไพเราะ และมีเรื่องราวสอดคล้องกับกติกาการประกวด มีคนควบคุมการฝึกซ้อม ต้องมีเงินเลี้ยงอาหารเด็กตอนมาซ้อม มีรถไปส่งบ้านเด็กเมื่อซ้อมเสร็จ ผู้บริหารสนับสนุน ผู้ปกครองเข้าใจ เสียสละ ครูเสียสละ

     เพียงเท่านี้ก็อาจจะได้รางวัลครับ แต่ที่สำคัญกรรมการต้องชอบด้วยครับ

คำสำคัญ (Tags): #เพลงอีแซว
หมายเลขบันทึก: 487285เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 07:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครูอ้อยและคุณชยันต์ครับ ที่ส่งดอกไม้มาให้แต่เช้าเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท