ลำดับขั้นของการพัฒนางานราชทัณฑ์


ลำดับขั้นของการพัฒนางานราชทัณฑ์

 

                        นัทธี จิตสว่าง

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า วัตถุประสงค์ของงานราชทัณฑ์คือการป้องกันสังคมโดยการควบคุมผู้ต้องขังไว้ตามคำพิพากษาของศาล เพื่อให้การอบรมแก้ไขให้กลับสู่สังคม วัตถุประสงค์ของงานราชทัณฑ์ดังกล่าวจึงก่อให้เกิดคำถามว่า การปฏิบัติงานราชทัณฑ์นั้นควรเน้นเรื่องการควบคุมหรือการอบรมแก้ไข หรือควรเน้นไปทั้งสองเรื่องพร้อมๆ กัน ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

                       

คำถามดังกล่าวตอบได้เลยว่า ปราชญ์ด้านการราชทัณฑ์หลายท่าน เห็นพ้องต้องกันว่างานควบคุม คืองานหลักของงานราชทัณฑ์ คือต้องสามารถควบคุมผู้ต้องขังไว้ให้ได้ก่อน ต้องสามารถควบคุมผู้ต้องขังให้อยู่ในเรือนจำมิให้หลบหนีและอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ได้ จึงจะสามารถไปอบรมแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังได้ เพราะถ้าไม่มีตัวอยู่แล้วจะอบรมแก้ไขได้อย่างไร อย่างไรก็ตามที่กล่าวนี้ไม่ได้หมายความว่าการควบคุมสำคัญกว่าการแก้ไข ดังนั้นจึงต้องไม่ใช่ควบคุมแต่ประการเดียวโดยไม่สนใจงานด้านการแก้ไขแต่จะต้องไปด้วยกันเพราะจุดประสงค์สุดท้ายของงานราชทัณฑ์คือการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัย ดังนั้น จึงเป็นการควบคุมไว้เพื่อแก้ไข  อีกนัยหนึ่งก็คือการพัฒนางานราชทัณฑ์จะต้องพัฒนาไปตามลำดับชั้น คือเริ่มจากการควบคุมผู้ต้องขังให้อยู่ก่อนแล้วจึงพัฒนาไปสู่การเน้นการแก้ไข ถ้าหากยังไม่สามารถก้าวข้ามงานควบคุมที่มีประสิทธิภาพไปได้ก็ยังไม่ควรข้ามไปสู่การเน้นการแก้ไข

 

หากจะพิจารณาถึงลำดับขั้นของงานราชทัณฑ์ในรายละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่ามีขั้นตอนที่สำคัญอยู่ 4 ขั้นตอน คือ เริ่มจากการควบคุมมิให้หลบหนี จากนั้นจึงนำไปสู่การควบคุมผู้ต้องขังให้อยู่ในระเบียบวินัย คือขั้นที่ให้เจ้าหน้าที่สามารถสั่งการและควบคุมผู้ต้องขังให้อยู่ในกฎระเบียบและแบบแผนของเรือนจำได้ ขั้นที่สามคือการจัดสวัสดิการและดูแลความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังซึ่งก็จะเป็นปัจจัยพวกที่ช่วยในการควบคุมและการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังด้วย และขั้นที่สี่ขั้นสุดท้ายคือการเน้นการอบรมแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังอย่างจริงจังโดยสรุปก็คือว่าเมื่อสามารถควบคุมมิให้หลบหนีและสร้างวินัย สามารถกุมสภาพให้ผู้ต้องขังเชื่อฟังหรือ “เอาผู้ต้องขังอยู่” แล้วจึงจะก้าวข้ามไปถึงเรื่องของการจัดสวัสดิการและการอบรมแก้ไข ปรับพฤติกรรมของผู้ต้องขังให้กลับสู่สังคม ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนางานราชทัณฑ์ ปรากฏตามรูปภาพที่ 1

 

ลำดับขั้นของการพัฒนาราชทัณฑ์นี้ เมื่อพัฒนาก้าวไปถึงขั้นสูงสุดคือการเน้นการอบรมแก้ไขแล้วก็อาจลดกลับสู่การเน้นการควบคุมก็ได้ ถ้ามีปัจจัยภายนอกมากระทบทำให้มีผลต่อการควบคุม เช่น จำนวนผู้ต้องขังในคดีสำคัญๆ หรือผู้ต้องขังที่มีลักษณะร้ายหรือมีอิทธิพลเข้ามาอยู่ในการควบคุมจำนวนมาก หรือมีผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมและการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างมาก  นอกจากนี้ปัจจัยที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังที่มากับกระแสโลกา      ภิวัตน์ที่ส่งผลกระทบต่อทุกวิชาชีพและปัจจัยเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสื่อสาร ที่ทำให้กำแพงไม่สามารถควบคุมผู้ต้องขังได้ต่อไป ปัจจัยเหล่านี้นับเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการพัฒนางานราชทัณฑ์ที่อาจทำให้ต้องหวนกลับมาเน้นในขั้นตอนแรกๆ คือการควบคุมและสร้างวินัยให้ผู้ต้องขังอีกครั้งหนึ่ง

 

นอกจากนี้ในการพัฒนางานราชทัณฑ์ตามลำดับขั้นของการพัฒนานี้มิได้หมายความว่าในขณะที่เริ่มต้นที่การควบคุมหรือขั้นการสร้างวินัย จัดระเบียบแล้ว จะไม่ดำเนินการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยใดๆ การแก้ไขสามารถดำเนินการไปพร้อมๆ กับการควบคุมได้ ข้อสำคัญคือในขณะที่เน้นการควบคุมในภาพรวมเป็นหลักก็ต้องจำแนกลักษณะเพื่อแยก   ผู้ต้องขังบางกลุ่มออกมาเพื่อทำการแก้ไข เช่น กลุ่มผู้ต้องขังหญิง หรือผู้ต้องขังที่ไม่มีลักษณะร้ายที่ใกล้พ้นโทษ เป็นต้น ในทางกลับกันหากพัฒนาไปถึงขั้นการเน้นการแก้ไขแล้วก็มิได้หมายความว่าจะละทิ้งงานควบคู่กันไป โดยอาศัยการจำแนกลักษณะเพื่อแยกผู้ต้องขังบางกลุ่มที่เป็นปัญหาออกไปควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น การจัดตั้งแดนความมั่นคงสูงขึ้นเพื่อควบคุมผู้ต้องขังที่สร้างปัญหาโดยเฉพาะ เป็นต้น

 

ลำดับขั้นในการพัฒนางานราชทัณฑ์นี้ สามารถเทียบเคียงได้จากการปฏิบัติงานราชทัณฑ์ในประเทศไทยและในต่างประเทศกล่าวคือ ในช่วงปี พ.ศ.2546 เป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการราชทัณฑ์ไทย เพราะหลังจากที่ได้มีพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ทำให้ผู้ต้องขังในคดีเสพยาเสพติดหายไปจากระบบการราชทัณฑ์ ประมาณ 100,000 คน กล่าวคือ จากสถิติ ผู้ต้องขังในปี พ.ศ.2545 ซึ่งเคยมีผู้ต้องขังขั้นสูงสุดถึง 252,879 คน ลดลงเหลือ 167,142 คน ในปี พ.ศ.2547 ดังนั้น ช่วงปี พ.ศ.2546 - 2548 จึงเป็นช่วงที่กรมราชทัณฑ์  ไม่ประสบกับปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ เพราะความจุปกติของเรือนจำที่สามารถรองรับได้ในขณะนั้นคือ  170,000 คน ในขณะเดียวกันในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ยังไม่มีผู้ต้องขังที่มีลักษณะร้าย หรือมีอิทธิพลเข้ามาต้องขังจำนวนมาก ปัญหาเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิของผู้ต้องขังจากกระแส โลกาภิวัตน์ก็เพิ่งจะส่งผลกระทบ ในขณะที่เทคโนโลยีการสื่อสารในขณะนั้น ยังไม่ก้าวหน้าดังเช่น ในขณะนี้ ดังนั้น การควบคุมผู้ต้องขังจึงสามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเรื่องการควบคุมมิให้หลบหนีและการจัดระเบียบวินัยของผู้ต้องขัง ทั้งนี้ด้วยปัจจัย 4 ประการดังกล่าว ดังนั้นสภาพการณ์ของงานราชทัณฑ์ในช่วงนั้น จึงต้องพัฒนาก้าวขึ้นไปอีกระดับสู่การจัดสวัสดิการและ การพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามแม้จะก้าวไปสู่การพัฒนาพฤตินิสัย        การสร้างเรือนจำเรือนธรรม เรือนจำเรือนกีฬา  เรือนจำเรือนปัญญา และเรือนจำเรือนพัฒนาแล้ว        ก็มิได้หมายความว่าจะละทิ้งภารกิจด้านการควบคุมและการสร้างวินัย หากแต่เมื่อกุมสภาพด้านการควบคุมและสร้างวินัยได้แล้ว จึงก้าวไปสู่การแก้ไขและการจำแนกลักษณะที่ชัดเจนเพื่อแยกปฏิบัติระหว่างผู้ต้องขังที่ควรแก้ไขและผู้ต้องขังที่ควรควบคุมอย่างเข้มงวด ดังนั้นจึงมีนวัตกรรมด้านการพัฒนาแดนความมั่นคงสูงขึ้นมารองรับผู้ต้องขังที่มีลักษณะร้ายและมีอิทธิพล ที่เริ่มมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น

 

แต่สำหรับในสถานการณ์ปัจจุบันที่จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มสูงขึ้นถึง  234,678 คน (ณ วันที่ 1 เมษายน 2555) และเป็นผู้ต้องขังรายสำคัญ และผู้ต้องขังที่มีลักษณะร้าย มีเงิน มีอิทธิพล จำนวนมาก อีกทั้งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ผลกระทบจากกระแสสิทธิมนุษยชนตามกระแสโลกาภิวัตน์ รวมทั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดในสังคมภายนอก ทำให้การราชทัณฑ์ไทยในปัจจุบันจึงต้องเปลี่ยนบทบาทกลับไปสู่ขั้นตอนแรกนั้นคือการเน้นการควบคุมและการจัดระเบียบเรือนจำเป็นหลัก ปรากฏตามรูปที่ 2

 

 

สถานการณ์ดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับการราชทัณฑ์ในหลายประเทศ เช่น ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย แคนาดาหรือประเทศในทวีปยุโรป ที่สามารถควบคุมผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบอาคารสถานที่ที่มั่นคงแล้วจึงหันไปเน้นการอบรมแก้ไขอย่างจริงจัง

 

ปัจจัยที่สำคัญก็คือว่าเรือนจำในประเทศเหล่านี้ไม่ประสบกับปัญหาภาระความแออัดยัดเยียดในเรือนจำ ผู้ต้องขังมีจำนวนน้อย เจ้าหน้าที่มากได้สัดส่วนและมีระบบควบคุมพร้อมอาคารสถานที่ที่มั่นคง ซึ่งต่างจากเรือนจำในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้จะเป็นประเทศที่เจริญและพัฒนาแล้วแต่ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับประชากรผู้ต้องขังซึ่งมีจำนวนมากจนล้นเรือนจำในหลายรัฐและยังเป็นผู้ต้องขัง   ที่มีลักษณะร้ายจำนวนมาก ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่ากิจการราชทัณฑ์ในสหรัฐอเมริกาเน้นการควบคุมเป็นหลัก เรือนจำแต่ละแห่งมีการเข้มงวดเรื่องการควบคุมสูง แต่กิจกรรมด้านการแก้ไขแยกไปดำเนินการในเรือนจำเพื่อการแก้ไขโดยเฉพาะ

 

ดังนั้น  คำถามที่ว่าการราชทัณฑ์นั้นควรเน้นด้านการควบคุมหรือการแก้ไขผู้ต้องขังนั้น  จึงขึ้นอยู่กับว่าขณะนี้เราได้มาถึงขั้นไหน หากยังอยู่ในภาวะการณ์ที่ต้องพัฒนาการควบคุม       การแก้ไขก็ยังจะต้องรอ แต่เมื่อใดที่พัฒนาจนกุมสภาพด้านการควบคุมและการสร้างวินัยผู้ต้องขัง   ได้แล้วจึงพัฒนาขั้นต่อไปถึงขั้นตอนในการแก้ไขและการพัฒนาพฤตินิสัยต่อไป อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อยู่ในขั้นของการเน้นการควบคุมการแก้ไขก็อาจทำได้โดยแยกและจำแนกลักษณะผู้ต้องขังออกไปดำเนินการโดยเฉพาะ เพราะงานราชทัณฑ์คืองาน “ควบคุมไว้เพื่อแก้ไข” นั่นเอง

 ********************

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 486961เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท