ขยายเครือข่าย ... ร่วมด้วยช่วยกัน ให้ สว. ฟันดี ภาคเหนือ (3) ดูแลอย่างไร ให้ฟันและเหงือกดี


 

เรื่องนี้ คุณหมออ้อย หรือ ทพญ.วรางคนา มาบอกเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะค่ะ บอกว่า เรื่องของสุขภาพร่างกายและสุขภาพช่องปาก เกี่ยวข้องกันค่อนข้างใกล้ชิด ... อย่างไร

เพราะว่า สุขภาพช่องปากผู้สูงอายุนี้ ต่างกับช่องปากของเด็ก และวัยอื่นๆ โดย สุขภาพช่องปากในวัยสูงอายุ ใช้งานมาตั้งแต่วัยเด็ก ตั้งแต่ฟันน้ำนม มาจนถึงฟันแท้ และผ่านการใช้งานมาถึง 60 ปี ก็ย่อมมีการเสื่อมถอยไปบ้าง แต่ถ้าดูแลดี ... รับรองว่า จะยังอยู่ครบ และสามารถใช้งานได้ ... มีการพิสูจน์มาแล้วว่า ถ้าดูแลสุขภาพช่องปากได้ดี ฟันก็อยู่ได้ อาจจะมีริ้วรอยบ้าง แต่ก็ดูดี

ฟันของผู้สูงอายุที่ยังดี มีฟันครบ ฟันยังจะดูแน่น แต่ถ้าดูแลตัวเองหย่อนไปนิดหน่อย ก็อาจมีฟันสึกไปบ้าง

ฟันจะมีตรงกลางเป็นที่อยู่ของเส้นประสาท เรียกว่า โพรงประสาท ถ้ามีการผุทะลุเข้าไปถึงโพรงประสาท จะมีเชื้อโรคเข้าไปถึงปลายราก จะเกิดการปวดฟันมาก เราจึงต้องดูแลฟันไม่ให้สึกกร่อน หรือผุไปถึงโพรงประสาทได้

ถ้ามีฟันผุนิดหน่อย ไปรักษาได้ แต่โรคในช่องปากมีลักษณะที่ ถ้าเป็นนิดหน่อยจะไม่ค่อยเห็น ไม่ค่อยรู้สึก กว่าจะรู้ก็คือ เจ็บไปแล้ว ... เราจึงควรต้องมีการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ ทุกปี

ปัญหาเรื่องสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ จะมีทั้งฟันสึก ฟันกร่อน ฟันโยก (เนื่องจากมีหินปูน หรือคราบจุลินทรีย์ จะไปจับตามซอกฟัน ทำให้เหงือกร่น นานๆ ไป ฟันก็จะโยกและหลุดไปได้)

ฟันสึก ... ทำให้เกิดปัญหาอะไร คือ ถ้าฟันสึก เนื่องจากไม่มีฟันหลัง และใช้ฟันหน้าเคี้ยว จนทำให้ฟันหน้าสั้นลง ลักษณะใบหน้าจะสั้นลงด้วย ปัญหาที่เกิดตาม คือ มุมปากพับ น้ำลายค้างที่มุมปาก ประกอบกับน้ำลายที่เหนียว มีความข้นขึ้น ทำให้เกิดแผลที่มุมปากได้ง่าย และเกิดปัญหาบริเวณขากรรไกร เกิดการปวดบริเวณขากรรไกรได้

ปัญหาช่องปาก ไม่ได้เกิดแค่ในช่องปาก เรื่องของปากกระทบกับร่างกาย ที่เห็นง่ายที่สุด คือ อาหาร ร่างกายจะนำอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะ ผักผลไม้ เข้าไปไม่ได้ เพราะว่าไม่สามารถเคี้ยวได้ ทำให้ต้องทานอาหารแป้งและน้ำตาล ทำให้ร่างกายได้รับอาหารที่มีประโยชน์ได้ไม่เต็มที่

การมีเชื้อโรคปริมาณมากในช่องปาก พบว่า มีผู้สูงอายุที่เสียชีวิต จากการสำลัก เพราะเกิดการติดเชื้อในปอดเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้สูงอายุโดยเฉพาะที่ติดบ้าน หรือติดเตียง จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่องปากด้วย

นอกจากนี้ จะมีผลต่อจิตใจ และคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดนอนไม่หลับจากการปวดฟันได้

มีกรณีคนไข้มีการอักเสบฟันกรามล่าง เกิดการอักเสบไปที่ต่อมน้ำเหลืองใต้ลิ้น ใต้คาง ทำให้เกิดการบวมดันลิ้นให้ยกขึ้น ทำให้หายใจไม่ออก ต้องรับการเจาะคอรักษาได้

ผู้สูงอายุจึงการดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี เพื่อป้องกันอาการที่จะรุนแรงมากขึ้น

อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก

  • อย่างแรกคือ ความสะอาด ได้แก่ เรื่องหินปูน กับคราบจุลินทรีย์ plaque หรือขี้ฟัน ถ้าเราแปรง ทำความสะอาดไม่ดี นอกจากจะทำให้เกิดฟันผุแล้ว ก็จะทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ ปริทันต์อักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียฟัน และถ้ามีเศษอาหารค้างตามกระพุ้งแก้ม จะก่อให้เกิดแผล หรือความผิดปกติอื่นๆ ได้ … มีโรคทางร่างกายที่เป็นอุปสรรคบ้าง เช่น โรคข้อ อัมพฤกษ์ อัมพาต ที่ต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือ
  • อันที่สอง คือ ลักษณะของตัวฟัน รากฟัน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ 80-90% ผ่านการถอนฟันมาแล้ว อย่างน้อยก็ 1-2 ซี่ ซึ่งการถอนฟันเป็นปัญหาความเจ็บปวดเฉพาะหน้า หลังจากนั้น ฟันที่ใกล้เคียงกับฟันที่ถอน จะมีการล้ม ฟันคู่สบยื่นยาว ทำให้เกิดช่องว่าง คล้ายๆ กับฟันรวน ทำให้การทำความสะอาดยากขึ้น เรื่องการใส่ฟันเทียม จะช่วยให้บดเคี้ยวได้ดีขึ้น ดีกว่าการไม่มีฟัน แต่ก็ไม่เท่ากับฟันธรรมชาติ แต่เมื่อใส่ฟันเทียมไปแล้ว ตัวของฟันเทียม ส่วนหนึ่งจะทับบนเหงือก ส่วนหนึ่งจะทับพบฟัน เมื่อใส่แล้วก็ต้องถอด เพื่อให้เหงือกกับฟันข้างใต้ได้พักบ้าง ถ้าไม่ถอด จะพบได้ว่ามีฟันแท้ด้านใต้ฟันปลอมผุ เนื่องจากทำความสะอาดฟันไม่ดีได้ ทำให้ฟันแท้มีปัญหามากขึ้น และบริเวณเหงือก ก็อาจมีการอักเสบได้ ฟันเทียมถ้าบิ่น หรือแหลม ควรไปพบทันตแพทย์ เพื่อแก้ไข ไม่ให้บาดลิ้น หรือเนื้อเยื่อในปาก
  • อย่างที่สาม คือ เรื่องการรับประทานอาหาร พวกน้ำตาล เป็นปัจจัยเสี่ยงเดียวกับโรคทางร่างกาย ... ผู้สูงอายุควรลด หวาน-มัน-เค็ม จะเกิดผลดีต่อสุขภาพ และสุขภาพช่องปากด้วย
  • นอกจากนั้น เป็นเรื่อง น้ำลายน้อย น้ำลายแห้ง เกิดจากการใช้ยาบางอย่างนานๆ เช่น ยาแก้แพ้ หรือยารักษาโรคความดันโลหิตบางชนิด ... ถ้าน้ำลายแห้ง บางครั้งจะรู้สึกฝืดคอในการกลืน แนะนำให้จิบน้ำ แบบจิบให้ชุ่มปากนิดๆ หรือกินอาหารที่มีรสเปรี้ยวเล็กน้อย เพื่อช่วยกระตุ้นน้ำลายเป็นครั้งๆ สำหรับการจิบน้ำ
  • อีกเรื่องหนึ่ง เป็นผลจากการรักษามะเร็งใบหน้า และลำคอ
  • ปัจจัยเสี่ยงอีกอันหนึ่ง คือ เรื่องของบุหรี่ นิโคติน หรือความร้อน หรือสารต่างๆ ในบุหรี่ จะทำให้เกิดมะเร็งในช่องปากอย่างชัดเจน และที่แน่นอนคือ มีผลต่อการเกิดโรคปริทันต์ในช่องปาก ทำให้ฟันโยกได้ ... คนที่สูบบุหรี่ จะเห็นต่อมน้ำลายบนเพดาน สีขาว หนาตัวขึ้น และมีจุดแดง ซึ่งอาจกลายสภาพเป็นอย่างอื่นได้ จึงควรตรวจเช็คสภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งหมดนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก ที่ขอเน้น คือ เรื่องของการดูแล และป้องกัน เราจะดูแลกันอย่างไร ... ถ้าอยากให้มีสุขภาพช่องปากดี

  • เรื่องแรก เป็นเรื่อง การดูแลความสะอาด ... การแปรงฟัน ทำความสะอาดช่องปากอย่างดี สามารถทำให้ฟันที่มีคราบฟัน ปราศจากคราบฟัน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดรากฟันผุได้ แปรงสีฟันที่ใช้จะต้องมีฉลากควบคุม บอกให้รู้ว่า ขนแปรงทำจากอะไร ด้ามทำจากอะไร วิธีใช้เป็นอย่างไร ผู้สูงอายุแนะนำให้เลือกแปรงขนอ่อน
    แปรงสีฟันของผู้สูงอายุ ... ควรมีด้ามตรง ขนแปรงอาจมีปลายตัด ปลายมน หรือปลายแหลมได้ แต่ด้ามแปรงให้จับได้ถนัด แต่ถ้าจับไม่ได้ เนื่องจากมือกำไม่ได้ หรือมือแข็ง สามารถประยุกต์ด้ามแปรง โดยใช้ยางเส้นใหญ่ หรือโฟม หรือที่จับรถจักรยานก็ได้ หุ้มรอบด้ามแปรงได้ด้วย
    ตัวช่วยอีกอย่างหนึ่งสำหรับการแปรงฟัน คือ ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ฟลูออไรด์ เป็นสารที่มีการพิสูจน์แล้ว ว่าป้องกันการผุได้ แต่ต้องแปรงฟันให้ถูกต้อง และให้ยาสีฟันอยู่ในปากประมาณ 2 นาทีจึงได้ผล
    วิธีการแปรงฟัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า ก่อนนอน ... แปรงให้ครบทุกซี่ ทุกด้าน อย่างน้อย 2 นาที และใช้ร่วมกับยาสีฟันผสมฟลูออไรด์
    การบ้วนน้ำอย่างเดียว พอไหม ? ... คราบฟันก็จะออกระดับหนึ่ง ออกบ้างไม่ออกบ้าง การใช้แปรงสีฟัน และยาสีฟัน จะทำให้การทำความสะอาดช่องปากดีขึ้น
    การแปรงฟันสำหรับผู้สูงอายุ เน้นบริเวณคอฟัน และซอกฟัน บางครั้งวัยกลางคนก็เป็นแล้วจะมีเหงือกร่น รากฟันโผล่ จะทำให้เกิดซอกระหว่างซี่ฟัน ปกติขนแปรงจะเข้าไปไม่ได้ จะมีอุปกรณ์เสริมที่จะทำความสะอาดซอกฟัน เช่น ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน ค่อนข้างได้ผล และใช้ง่าย หรือใช้ไม้จิ้มฟัน ที่กัดปลายให้แตกเป็นพู่ และครูดบริเวณคอฟัน และรากฟัน เพื่อเอาคราบฟันออกก็ได้
    ถ้ามีฟันเหลือเพียงซี่เดียว แปรงสีฟันใหญ่ๆ แปรงไม่ได้ อาจใช้แปรงสีฟันเด็ก ตัดให้เหลือเป็นกระจุก หรือแปรงกระจุกเดียว ทำความสะอาดรอบซี่ฟันได้
    การแปรงลิ้น ที่บางทีมีรอยหยัก เราจะก้มหน้าเล็กน้อย แปรงจากด้านในลากมาข้างนอก
  • เรื่องอาหาร ที่บอกว่า ผักผลไม้ ผู้สูงอายุรับประทานน้อย แค่ 63% แต่การทานผลไม้เราต้องเลือก ที่มีน้ำตาลน้อย เราควรทานน้ำตาลวันละไม่เกิน 6 ช้อนชา
  • เรื่องของสุขภาพกาย สัมพันธ์กับสุขภาพช่องปาก และสุขภาพช่องปากก็จะมีผลกับสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน การเป็นโรคเบาหวานจะส่งผลต่อสุขภาพเหงือกและฟันค่อนข้างชัด และคนที่ไม่รักษาสุขภาพปากและฟัน ก็จะส่งผลต่อการควบคุมโรคเบาหวาน ทำให้ควบคุมได้ยากขึ้น จึงมีความสัมพันธ์กัน และโดยเฉพาะเรื่องของปัจจัยเสี่ยง การสูบบุหรี่ หมาก พลู มีส่วนสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง จึงต้องเน้นการดูแล
  • ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ ถึงแม้ว่าจะดูแลตัวเองดีขนาดไหน แต่บางครั้งด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น จึงควร ไปพบทันตบุคลากรทางด้านทันตฯ ด้วย เพื่อรับการตรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อจะได้ดูแลป้องกันก่อนการเป็นโรค หรือได้รับการรักษา เมื่อเป็นโรคระยะต้นๆ ได้

วันนี้ เป็นวันที่ทันตบุคลากร และผู้สูงอายุประสานกัน เพื่อที่จะส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้สูงอายุทุกท่านดูแลตัวเองก่อนอันดับแรก เพราะท่านยังแข็งแรง ยังเป็น 80% ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดี และสามารถช่วยเหลือเพื่อนๆ ได้ แต่ขณะเดียวกัน จะมีความเสี่ยงบางอย่าง ซึ่งอาจจะต้องดูแลร่วมกับบุคลากรไปด้วย ก็จะเป็นการทำงานร่วมไปด้วยกัน

รวมเรื่อง ขยายเครือข่าย ... ร่วมด้วยช่วยกัน ให้ สว. ฟันดี

 

หมายเลขบันทึก: 486708เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท