Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ : ภาพยนต์ที่สร้างความทรงจำอันดีให้กับทุกคน


Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ

ผู้กำกับ :ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

ประเภท : ดราม่า, fell Good

http://www.nangdee.com/title/mt_poster.php?movie_id=2630

 

ก่อนอื่นผมต้องขอบอกก่อนเลยว่า ผมเข้าดูหนังเรื่องนี้ในค่ำวันพุธ วันที่ราคาหนังลดลง ๕๐ % แม้ว่าหนังจะเข้าโรงฉายไปแล้วเกือบหนึ่งสัปดาห์ แต่จำนวนคนที่เข้ามาดูหนังนั้นแทบจะเต็มโรง ผมได้นั่งแถวเกือบหน้าสุดที่เหลือเพียงสามแถวก็ชนจอ ผมไม่ชอบดูหนังที่คนดูเยอะ ๆ แต่วันนั้นกลับได้ดูเวลาได้พอดี และแล้วสิ่งที่เจอก็ไม่เกินความคาดเดา

 

คนนั้นทางซ้ายมือสามคน คุยกันแทบทั้งเรื่อง ถามเกี่ยวกับหนัง ไม่เข้าใจว่าคุณก็ดูพร้อมกันไม่ใช่หรือ

คนทางขวาไม่ปิดโทรศัพท์ปล่อยให้โทรศัพท์ดังหลายครั้ง

คนด้านหลังเยื้องไปทางขวา คุยโทรศัพท์ในโรงหนัง

คนหลังผมพอดีหัวเราะเสียงดังมากไม่มีความเกรงใจคนอื่น

 

อ้อ... ผมลืมบอกไป ผมดูหนังเรื่องนี้ที่เดอะมอล์ลบางกะปิ กรุงเทพฯ เมืองที่คนเรียกตัวเองว่า “คนกรุง”,”คนมีการศึกษา”,คนชั้นปัญญาชน”

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เก็บเอามาเป็นประเด็นได้คือ แม้หนังจะเข้าฉายไปแล้วร่วมสัปดาห์ คนก็ยังดูเยอะขนาดนี้ (หรือาจจะเป็นเพราะ ครึ่งราคา) นี่ก็แสดงให้เห็นว่าหนังของ มะเดี่ยว เรื่องนี้ดีจริง จึงมีการบอกต่อ ๆ กันไป แม้มะเดี่ยวจะประสบกับปัญหาข่าวคราว “ภาพหลุด” ก็ตาม

 

หนังดี ไม่จำเป็นต้องโปรโมท โฆษณษา ให้ดารามาพูดออกทีวีหรอกครับ เพราะหนังดีจริงคนดูก็จะบอกต่อ ๆ กันไปเอง อย่างเช่นหนังเรื่อง Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ เป็เครื่องยืนยัน

 

Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ แสดงให้เห็นว่า มะเดี่ยว มีความสามารถในการทำหนัง เข้าใจหนัง และเข้าใจปรัชญาชีวิตเพียงใด การนำเสนอความทรงจำโดยผ่านมุมมองในแง่ความรัก ความผูกพันในแง่ คนกับคน คนกับสถานที่ คนกับสิ่งของ มะดี่ยว แสดงความเหนือชั้นในการสื่อถึงความรักโดยผ่านตัวกลาง ไม่ทื่อ ไม่ตรงเกินไป ตัวกลางที่ทำให้คนดูเกิดความรู้สึกร่วมถึง ความรัก ความสุข ความทรงจำ ของตนเองไปพร้อม ๆ กับหนัง มะเดี่ยวโตเกินวัยคนวัยเดียวกันมาก ที่โตที่สุดเห็นจะเป็นมุมมองของชีวิตนี่แหละ

 

หนังเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่ายังขาดชั้นเชิงในการเล่าเรื่องไปหน่อยหนึ่งหากจะเปรียบเทียบกับ “รักแห่งสยาม” ที่มะเดียวเล่าได้อย่างลึกซึ้ง ใช้สัญลักษณ์สื่อความหมายของอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าตัวละครจะหยิบจับอะไรก็มีความหมายไปซะหมด แม้แต่ตัวบุคคลก็ยังเป็นสัญลักษณ์ในตัวเอง แต่เรื่อง Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ มะเดี่ยว กับใช้การเล่าเรื่องด้วยบทสนทนามากเกินไป มาจนทำให้ผมรู้สึกว่ากำลังอ่านหนังสือ ไม่ได้ดูหนัง แต่ก็ไม่ได้แย่จนเกินไป เพราะฉากที่ใช้ภาพเล่าเรื่อง ใช้อารมณ์เล่าเรื่อง มะเดี่ยวก็ทำได้ดีมากเลยทีเดียว

 

หนังไม่ใช่จะเน้นความเป็นดราม่าจนน้ำตาท่วมจอ แต่มีมุกตลกที่ใส่ไปได้อย่างลงตัว ฉากเศร้าก็เศร้าจนคนดูน้ำตาไหล ฉากตลกก็ขาดซะจนตัวงอ แสดงถึงจังหวะจะโคนของผู้กำกับที่ดีมาก

 

หากจะพูดถึงการกำกับการแสดงแล้ว มะเดี่ยวถือว่าสอบผ่าน และเป็นผู้กำกับที่น่าสนใจมากที่สุดของยุคนี้เลยก็ว่าได้ มะเดี่ยวเรียกอารมณ์จากนักแสดงได้อย่างเฉียบขาด ตัวนำของเรื่องแสดงเก่งกาจจนน่าขนลุก ไม่ว่าจะเป็น เพ็ญพักตร์ ศิริกุล รั บบทเป็น บัวจัน และ นุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ที่รับบทเป็นปรียา สองคนนี้ทำให้ผมเชื่อว่าเป็นตัวละครตัวนั้นจริง ๆ รู้สึกถึงอารมณ์ในบทนั้นจริง ๆ เล่นดีจนขนาดที่ว่าผมรู้สึกว่าสองคนนี้ไม่ได้ทำการแสดง

 

Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ พูดถึง เรื่องราวสามเรื่อง

 

เรื่องแรก พูดถึงคืนสุดท้ายในวันจบจากโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖  ของ “เน” (จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล ) ผู้ที่รักการถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจ เขาเลือกอยู่เก็บทุกเรื่องราวความทรงจำชองธรงเรียนยามค่ำคืนลงบนภาพถ่าย โดยปฏิเสธการไปงานเลี้ยงอำลา ค่ำคืนนี้เขาไม่ได้อยู่คนเดียว เขาได้พบกับรุ่นน้อง ม.3 “บีม” (กิตติศักดิ์ ปฐมบูรณา) นักกีฬาบาสโรงเรียน ที่ใช้ชิวิตในโรงเรียนนี้เป็นวัดสุดท้ายเช่นกัน ก่อนที่จะย้ายไปเรียนในกรุงเทพฯ ทั้งสองพูดคุยถึงความทรงจำที่เรียนในโรเรียนแห่งนี้ พูดถึงความรัก สิ่งที่รัก และท้ายที่สุด ทั้งสองก็เกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้น ความรู้สึกที่จะผูกพันเขาทั้งสองไว้ร่วมกันตลอดไป แม้จะต้องจากกันในวันรุ่งขึ้นก็ตาม  สำหรับเรื่องนี้ใช้นักแสดงหลักแค่สองคน แต่ใช้บทสนทนาเยอะมาก ทั้งที่เป็นเรื่องของภาพถ่าย การมีบทสนทนาเยอะทำให้จับบทที่เฉียบคมไม่ได้ หากใช้ภาพถ่ายเล่าเรื่องเยอะ ๆ ก็น่าจะดี ถึงอย่างไรก็ดึงอารมณ์ของคนดูได้ ในเรื่องนี้หากผู้ชมมีภาพเก่า ๆ จาก รักแห่งสยาม อยู่ในหัว เชื่อได้ว่าคุณจะตั้องลุ้นฉากที่จะทำให้คุณเซอร์ไพร์สอย่างรักแห่งสบยามแน่นอน เพราะเนื้อเรืองมันพาให้คิดไปถึงความรักแบบชายรักชาย แต่เชื่อเถอะ มะเดี่ยวมีชั้นเชิงมากกว่านั้น  เรื่องนี้ผมชอบฉากจบครับ ฉากที่ตัวละครเอกมีกล้องถ่ายรูปอยู่ในมือ แต่กลับเลือกอย่างอ่านในการบันทึก ฉากนี้กินขาดเลยครับ

 

เรื่องที่สอง วันที่ “บัวจัน” (เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) ต้องสูญเสียคนรักไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือทิ้งไว้ให้เธอเพียงบ้าน ที่ดิน คนงาน ภาระ การดาษที่สามีเธอใช้จนบันทึกทุกอย่างแทนคำพูด และความทรงจำที่เสมือนเครื่องฉุดรั้งเธอให้จมอยู่ในความทุกข์ เธอจึงต้องรับผิดชอบทุกอย่าง ทั้งบ้าน คนงาน หนี้สิน หลาน 2 คน บัวจันยังคงจดจำคำสัญญาที่เธอและเขาให้กันไว้ว่าจะอยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า บัวจันใช้ชีวิตเหมือนกับอยู่ในสองโลก โลกแห่งความจริง กับโลกแห่งความทรงจำ ชอบการแสดงถึงภพที่ต่างกัน เรื่องนี้เฉียบขาดทั้งบท การเล่าเรื่องที่คมคาย การใช้สัญลักษณ์แทนความรู้สึก การแสดงที่เก่งกาจโดยเฉพาะ เพ็ญพักตร ศิริกุล ไม่ว่าเธอจะถ่ายทอดอย่างไร ร้องไห้ ยิ้ม การทอดสายตา หน้านิ่ง ๆ ทุกอิริยาบถ มันเล่าหนังตอนนี้ได้โดยแทบไม่ต้องใช้บทสนทนาเลย ผมเชื่อว่า เพ็ญพักตร ศิริกุล จะต้องได้รางวัลจากหนังเรื่องนี้อย่างแน่นอน ปี ๒๕๕๕ เป็นปีทองของเธออย่างแท้จริง เรื่องที่สองนี้ครบเครื่อง ทั้ง สุข เศร้า เหงา รัก ตลกและปรัชญา

เรื่องที่สาม ก่อนงานวิวาห์จะเริ่มต้นเพียงแค่หนึ่งวันระหว่าง “เสี่ยเล้ง” (เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์) นักธุรกิจหนุ่มชาวใต้ กับ “ปรียา” (ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) สาวชาวเหนือ ที่กลับมาจัดงานแต่งงานที่เชียงใหม่ตามความต้องการของปรียา ปรียาสังเกตอาการของคู่มันและญาติฝ่ายคู่มันได้ว่าไม่พอใจกับการเลือกสถานที่แห่งนี้จัดงาน แต่คู่มั่นของเธอก็ตามใจทุกอย่าง การเลือกสถานที่จัดงานที่เชียงใหม่นี้มันคือที่ที่เต็มเปรี่ยมไปด้วยความทรงจำที่ดี ๆ ของของปรียา ปรียาใช้ชีวิตในค่ำคืนสุดท้ายอย่างสุดเหวี่ยง และแล้ว เธอก็ได้มาพบกับอดีตแฟนในวัยเรียน “เป๊ก” (สุพจน์ จันทร์เรือง) เป๊กทวงถามสัญญาและความรู้สึกดีๆ ที่เคยมีให้กัน เมื่อความรักความทรงจำอันแสนสุขในวัยรุ่นหวนกลับมา ปรียาจึงลังเล และเริ่มถามตัวเองว่า แต่งงานไปเพื่ออะไร อะไรคือความสุขและเป้าหมายในชีวิต เรื่องนี้สร้างประเด็นได้อย่างน่าสนใจ มันเป็นการตัดสินใจของคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ชีวิตคู่ อะไรคือเป้าหมายสำคัญของชีวิต และสิ่งที่ผมรู้สึกได้คือ ความทรงจำในวันวานที่เราเคยคิดว่าดี บางครั้งมันก็ต่างกับอนาคตที่เราจะไปถึง สิ่งที่มองว่าดีในครั้งหนึ่งมันอาจไม่ดีในอีกครั้งหนึ่งก็ได้ อีกทั้งประเด็นการเข้าใจผิด ไม่ว่าจะเกิดจากคนอื่นทำให้เข้าใจผิด หรือตัวเองที่เข้าใจผิด ก็แสดงให้เห็นว่า จากการเข้าใจผิดสร้างผลเสียได้อย่างมาก ที่จะลืมไม่ได้คือการแสดงของนุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ที่เธอแสดงได้ทั้งตัวทั้งใจ ร้องไห้ราวกับเปิดน้ำก๊อก ฉากที่ ปรียา ยืนบนเวทีแต่งงานแล้วมอง เป๊ก พูดเรื่องความรู้สึกของการแต่งงาน สายตาเธอ น้ำตาเธอ สีหน้าเธอ มือไม้อากัปกิริยาเธอ มันยอดเยี่ยมเล่าเรื่องความอัดอั้นในใจเธอได้ราวกับเธอคือปรียาจริง ๆ  เรื่องนี้ดูมีสีสันที่สุดในสามเรื่อง ครบรส และเป็นบทสรุปของ Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ

 

มะเดี่ยวปิดฉากด้วยเรื่องการแต่งงาน เหมือนกับบอกให้คนดูว่า เรื่องนี้จบแล้ว มีบทสรุปแล้ว แต่ไม่ใช้ทั้งหมด เพราะจุดจบในวันนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในวันหน้า เริ่มต้นที่จะใช้ชีวิตใหม่ เริ่มต้นที่จะเลือกทางเดินใหม่ หรือเริ่มต้นที่จะลืมความทรงจำ บทสรุปของเรื่องถูกเล่าผ่านภาพและอารมณ์สีหน้าของตัวละครเอก และผ่านบทเพลงอันไพรเราะซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของหนังมะเดี่ยว ซึ่งผมเชื่อว่าเพลงนี้ดังแน่ ๆ เข้าสูตรที่ว่า หนังดี เพลงเพราะ

 

อีกสิ่งหนึ่งที่นักวิจารณ์หรือผู้ชมทั้งหลายไม่ค่อยได้พูดถึงคือความเป็น "ล้านนานิยม" มะเดี่ยวแสดงถึงความเป็นล้านนนาได้อย่างยอดเยี่ยม สอดแทรกไปกับหนังทั้งสามตอนได้อย่างไม่ขัดเขิน ที่ผมชอบมาก ๆ คือ การสื่อสารของตัวละครด้วยภาษาล้านนา ชอบฉากงานศพที่เรียกว่า "ส่งสการ" ที่ทำได้อย่างสมจริง หรือองค์ประกอบของฉากเช่น พระพุทธรูปล้านนนาแท้ ๆ ที่เรียกว่าศิลปะแบบ "เชียงแสนสิงห์ ๑" หรือแม้การที่ผู้หญิงเขย่าต้นชนิดหนึ่งให้ดอกร่วงก็เป็นคติของชาวล้านนนาที่เชื่อว่าจะทำให้มีลูก (ผมจำไม่ได้จริง ๆ ว่าต้นอะไร เพราะลืมเลือนจากการเรียนมานานแล้ว) นี่คือความตั้งใจที่จะใส่ความเป็นอนุรักษณ์นิยม แสดงถึงการค้นข้อมูลอย่างดีเยี่ยม และแสดงถึงความตั้งใจจริงของผู้กำกับ

 

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ผมดูหนังดีมาก ๆ มาแล้วสองเรื่องคือ It get better ไม่ได้ขอให้มารัก อีกหนึ่งเรื่องคือ The  Melody รักทำนองนี้ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นที่ดีที่สุดของปีแล้ว แต่เมื่อได้ดู Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ ผู้ก็รู้สึกขึ้นมาว่า ประเทศไทยยังคงมีหนังดี ๆ ให้คุณได้ดูกันอีกมาก หากคุณเลือกที่จะดูหรือศึกษาก่อนดู หนังดีจะทำให้คุณยิ้มทั้งน้ำตา อิ่มเอม อุ่นใจ แล้วให้อะไรได้มากกว่าการบันเทิง

 

วาทิน ศานติ์ สันติ

ดูเมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕

บัตรราคา ๘๐ บาท เดอะมอล์ลบางกะปิ

หมายเลขบันทึก: 486522เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2012 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อเสียของนักวิจารณ์หนังสมัครเล่นคือ อธิบายทุกอย่างซะหมด ไม่ว่าจะโครงเรื่อง ปรัชญา สัญลักษณ์ มันไม่ได้ช่วยอะไร ไม่ปล่อยให้คนดูได้คิดเองเลย

เรื่องบางเรื่อง สัญลักษณ์บางสัญลักษณ์ มันจะถูกตีความต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคล

หาจุดพอดียากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท