พราหมณ์ พระราชพิธี : พระยายืนชิงช้ากับขบวนแห่แห่งเกียรติยศ


พระยายืนชิงช้ากับขบวนแห่แห่งเกียรติยศ

(แก้ไขใหม่ ๒/๒/๒๕๖๐)

พระยายืนชิงช้าคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญผู้หนึ่งในพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย เนื่องจากพระยายืนชิงช้าคือผู้แทนของพระมหากษัตริย์ (ไมเคิล ไรท์, ๒๕๓๖ : ๑๖๔) และผู้แทนของพระอิศวร ที่เสด็จลงมาทอดพระเนตรการโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย ตามตำนานการทดสอบความมั่นคงแข็งแรงของโลก โดยพราหมณ์จะเป็นผู้ผูกดวงชะตา และทำพิธีอัญเชิญพระอิศวรให้สิงสถิตพระยายืนชิงช้า ก่อนจะแห่แหนไปยังโรงพิธีใกล้เทวสถานโบสถ์พราหมณ์เพื่อให้เป็นมงคลแก่บ้านเมือง

มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล (คออยู่เหล ณ ระนอง) ขณะเป็นพระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวายในปีมะแม พ.ศ. ๒๔๗๔ ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อนุเคราะห์ภาพจาก : พ.ท.วิภู เลาหะคามิน)

แต่เดิมนั้นผู้ที่จะมารับบทเป็นพระยายืนชิงช้าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมเกษตราธิการ ตำแหน่งคือพระยาพลเทพ หรือกรมนา “แสดงว่าแต่ก่อนนั้น งานตรียัมปวายโล้ชิงช้าเป็นงานที่เกี่ยวกับกสิกรรมเจริญพืชผลต่อเนื่องกับงานจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (หรือีกนัยหนึ่ง เทศกาลตรียัมปวายมีก่อนหลังเก็บเกี่ยวเพื่อปลุกบรรทมเจ้าแม่ของฟ้าฝนแล้วค่อยมีงานจรดพระนังคัลฯขึ้นต่อเนื่องภายหลังก่อนจะลงมือไถนา)” (ไมเคิล ไรท์, ๒๕๓๖ : ๑๖๔)

ขบวนแห่แหนของพระยายืนชิงช้าจะมีการจัดอย่างมโหฬาร ประกอบด้วยขบวนหน้าและขบวนหลัง ส่วนขบวนของพระยายืนชิงช้าอยู่ตรงกลาง พระยายืนชิงช้านั่งบนเสลี่ยง แวดล้อมด้วยเครื่องสูง อาทิ กรรเชิง บังสูรย์ ตามด้วยขบวนเชิญเครื่องยศของผู้รับหน้าที่เป็นพระยายืนชิงช้า

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาชั้นพานทองผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่พระยายืนชิงช้า และได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในรัชการต่อๆ มา หมอสมิท ได้สอบถามถึงพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพระยายืนชิงช้าและกระบวนแห่จากเจ้าฟ้ามหามาลากรมพระยาบำราบปรปักษ์ แล้วได้อธิบายไว้ในหนังสือพิมพ์สยามไสมยประจำ “วัน พุฒ เดือน ญี่ ขึ้น แปด ค่ำ ปี วอก ฉอศก ๑๒๔๖” (เจ. สมิท, ซามูเอล, ๒๕๔๕ : ๓๕๙) ว่า

“ครั้นเมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารพภ์รับสั่งว่า แต่ก่อนมาก็เคยเป็นธรรมเนียม ขุนนางผู้ใหญ่ขี่ช้างเปนกระบวน ๆ เรียกว่าสระสนานแห่มาเปนพวก ๆ ซึ่งเปนธรรมเนียมดังนี้ นั้นก็เพราะด้วยพระราชประสงคของพระบรมราชกระษัตร จะใครทรงทราบว่า กำลังพาหนะของท่านคนใด จะมีกำลังพาหนะแลมากน้อย ธรรมเนียมอันนี้ ครั้นจะทรงทำต่อไปก็จะเปนที่เสียประโยชนจริง ๆ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเหล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้งดไว้ หาได้ทำในแผ่นดินนั้นไม่ จึงได้ทรงพระราชตำริห์ว่า ขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศพานทอง ถึงปีพระราชพิธีตรียัมพวาย จะต้องให้ผลัดเปลี่ยนกันแห่ไปคนละปี ๆ เพื่อจะได้ดูกำลังของท่านนั้น ๆ จะรวบรวมผลมาเป็นกำลังได้สักเพียงใด แลเปนเกียรติยศของผู้นั้นเหมือนแทนที่ยืนช้างถวายตัวแห่สระสนาน แล้วจะได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองพระบาทของท่านผู้นั้นว่าจะมีกำลังฉลองพระเดชพระคุณ ในการรณรงค์สงครามได้มากน้อยเพียงใด สำหรับในพระราชการต่าง ๆ ข้างน่าต่อไปเพราะเหตุดังนี้” (เจ. สมิท, ซามูเอล, ๒๕๔๕ : ๓๖๐)

จากบทความของหมอสมิทจะเห็นว่า สาเหตุของการเปลี่ยนตัวพระยายืนชิงช้าทุกปีนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องการเห็นกำลังทหารในสังกัดของผู้มารับหน้าที่ว่ามีมากน้อยเพียงใด ผู้ใดมีอำนาจมาก ขบวนก็จะใหญ่โตพรั่งพร้อมไปด้วยสรรพอาวุธมากมาย หากมองย้อนกลับไป จะเห็นว่าสภาพการบริหารบ้านเมืองในช่วงนั้นอำนาจต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในพระราชหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัวแต่เพียงผู้เดียว อำนาจส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในมือขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งสิ้น โดยเฉพาะสกุลบุนนาคที่มีอำนาจทั้งทางด้านการทหาร การบริหารประเทศ หรือแม่แต่ทางด้านเศรษฐกิจ (จะว่ากันไปแล้ว สกุลนี้ถือว่าอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ตั่งแต่รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ ๕) การที่ข้าราชการมีบทบาทมากก็เพราะระบบการปกครองในระบอบดั่งเดิม ซึ่งถึงแม้นว่าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงมีพระราชอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ สูงสุดของแผ่นดิน แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงได้มอบอำนาจการตัดสินใจบางส่วนให้แก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน การที่ทรงพระราชทานอำนาจให้นี้ก็เพื่อช่วยสอดส่องดูแลบ้านเมืองให้ทั่วถึง บรรดาเหล่าขุนนางที่ทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณนี้ต่างก็ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ บางครั้งก็ออกจะดูเหมือนเลยเถิดส่องสุมกำลังผลไว้อย่างมากมาย การให้มีการเปลี่ยนตัวพระยายืนชิงช้าในทุก ๆ ปีจึงเป็นการหยังเชิงเหล่าบรรดาขุนนางของพระองค์ว่ามีกำลังแลแสนยานุภาพมากน้อยเท่าใดนั่นเอง หากแต่ใช้ข้าราชการกรมนาเพียงอย่างเดียวพระองศ์ก็จะไม่ทรงทราบถึงลี้พลของเจ้ากรมกองต่าง ๆ ได้เลย และเป็นที่แน่นอนว่า วาระของขุนนางท่านใดได้รับตำแหน่งพระยายืนชิงช้า ขุนนางท่านนั้นจะต้องตกแต่งขบวนแห่พร้อมเหล่าทหารในสังกัดและบรรดาเหล่าข้าทาสบริวารทั้งหลายมาพร้อมสรรพให้สมกับเกียรติตน การเกณฑ์คนเข้ามาในขบวนแสดงอำนาจของพระยายืนชิงช้านั้น เจ้าฟ้ามหามาลากรมพระยาบำราบปรปักษ์ได้กล่าวไว้ใน โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ดังนี้

“ท่านถูกแห่แน่แล้ว ท่านจัด พลเฮย

เครื่องแห่เครื่องพัด ิจัดพร้อม

ทวนทิวเทิดธวัช เสื้อหมวก เหมานา

เครื่องยศตามแวดล้อม อีกทั้งทนายเดิน

.................................. .........................

แถวหน้าตับหนึ่งทั้ง ตับสอง

ดาบกระบี่ฝักทอง เทิดตั้ง

ตับสามสี่ห้ารอง ถือเครื่อง ยศเฮย

พานหมากคนโททั้ง เจียดลุ้งหมวกคลุม

เครื่องยศอีกนอกนั้น นานา

ของท่านมีแต่งมา มากแท้

กระโถนทองถาดที่ชา ชุดกล่องกล้องเอย

แม้ว่าน้อยกลัวแพ้ เลือกค้นขนตาม

ถัดทนายทายเทิดถ้า พึงยล

เดินตับละหกคน หอกง้าว

ทวนทองสิบสองคน ตามตับ ตับเอย

จึ่งเหล่าเลวเดินด้าว ประสร้อยทวีคูณ

จีนแขกฝรั่งทั้ง ลาวมอญ เขมรแน

บางแห่งมีชาวนคร ปากใต้

ถับถับสลับสลอน แลหลาก หลากแฮ

ตามหมวดกรมขึ้นให้ บอกใช้ขอแรง” (บำราบปีปักษ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา, ๒๕๒๔ : ๑๒๑ – ๑๒๔)

เมื่อถึงรัชการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรุงรัตนโกสินทร์ได้ก้าวสู่การเป็นการเมืองสมัยใหม่ เสริมความสง่างามของพระนครด้วยตึกรามบ้านช่องที่งดงามตามแบบศิลปะตะวันตก ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญ และงดงามแห่งหนึ่งของโลก ในส่วนของขนบธรรมเนียมประเพณีได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะขนบธรรมเนียมในราชสำนักที่ได้รับแบบแผนของราชสำนักยุโรปเข้ามาปรับใช้ เช่น การใช้ตราสัญลักษณ์ที่มีลักษณะคล้ายตราอาร์มประจำราชวงศ์ หรือตระกูลขุนนาง ในรัชสมัยนั้นจึงเกิดธรรมเนียมการทำธงเป็นรูปตราตำแหน่งทางราชการของผู้รับหน้าที่พระยายืนชิงช้าเย็บลงบนผ้าปัศตูแดงนำหน้ากระบวนแห่ ซึ่งเป็นการทำเลียนแบบการมีทหารแห่ขบวนเสด็จ และถือธงนำหน้าขบวน ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมใหม่ที่เกิดขึ้นในรัชการนี้

นอกจากนี้ การจัดขบวนแห่ของพระยายืนชิงช้าแต่ละคน ก็ได้จัดให้มีเรื่องราวสอดคล้องกับตำแหน่งหน้าที่ทางราชการของผู้นั้นด้วย เช่น ถ้าพระยายืนชิงช้าเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง จะจัดขบวนแห่ให้มีคนถือกระดานแจกเบี้ยหวัด อันเป็นการจำลองหน้าที่ทางราชการของพระยายืนชิงช้าเข้าประกอบในขบวนแห่ หากพระยายืนชิงช้ามีตำแหน่งสัสดีมีคนถือสมุด เป็นทหารอาสาหกเหล่าบ้าง ถือแฟ้มบัญชีบ้าง เป็นต้น

กล่าวได้ว่าขบวนแห่พระยายืนชิงช้ามิได้เป็นเพียงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ขบวนแห่พระยายืนชิงช้าได้กลายเป็นงานมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ และการแสดงออกถึงแสนยานุภาพตลอดจนเรื่องราวที่พระมหากษัตริย์ทรงให้ความสำคัญอันเกี่ยวข้องกับกิจการบ้านเมือง โดยทรงสื่อสารไปยังมหาชนด้วยการจัดขบวนแห่พระยายืนชิงช้า ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการสะท้อนสภาวการณ์ของบ้านเมืองด้วย ดังจะเห็นไดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีการขยายตัวของการศึกษาของเยาวชนมากขึ้นกว่าในรัชการก่อน ด้วยมีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ นำไปสู่การจัดตั้งโรงเรียนขึ้นอย่างมากมาย จึงได้มีการขอนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ให้เขาร่วมกระบวนแห่ด้วย จากเดิมที่มีแต่ข้าราชการ และพราหมณ์ ประกอบกับการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ารับราชการเพื่อรับใช้ประเทศชาติ โดยเฉพาะข้าราชการ ทหาร ต่อมากระบวนแห่ได้มีการพัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นแต่เพียงกระบวนแห่ที่แสดงเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับข้าราชการในแต่ละกรมที่ได้รับหน้าที่เป็นพระยายืนชิงช้าเท่านั้น

ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระยายืนชิงช้าในครั้งนั้นคือเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม กระบวนแห่งพระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย ในครั้งนั้นเป็นขบวนแห่มโหฬาร เป็นการแสดงวิธีการจัดกระบวนทัพในอดีตและปัจจุบัน คือการจัดขบวนจัตุรงคเสนาอย่างโบราณ อันประกอบด้วย กองช้าง กองเสนาพลรบ กองม้า กองเกวียน และขบวนจัตุรงคเสนาอย่างใหม่ ประกอบด้วยทหารจากกรมกองต่างๆ และอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ ทหารม้า ๒ กองร้อย กองปืนกล ๑ กองพัน ๔ กองร้อย ทหารบกปืนใหญ่ ๑ กองร้อย มีปืน ๔ กระบอก รถกระสุน ๘ คัน รถโทรศัพท์สนาม ๑ คัน โทรศัพท์บรรทุกต่างๆ ๒ ต่าง โทรศัพท์คนหาบหาม ๑ สำรับ รถบรรทุกเรือสะพาน ๒ คัน ให้ส่งลงมาจากรุงเก่าทั้งนี้ให้ล้านแต่งเครื่องสนามอย่างครบสมบูรณ์ (เปลื้อง ณ นคร, ๒๕๐๕ : ๗ - ๘)

นอกจากนี้ ในกระบวนการแห่ยังมีการแสดงเพื่อจูงใจให้ราษฎรสมัครเข้ามาเป็นทหาร ด้วยการตกแต่งรถกรมเสมียนตราทหารบกเข้าร่วมขบวนแห่ด้วย โดยตกแต่งตอนน้ารถเป็นรูปคชสีห์ยืนแท่น และมีตัวหนังสืออยู่เบื้องหน้าว่า “ความพร้อมเพรียงเป็นผลสำเร็จความมุ่งหมายและชัยชนะ” (เปลื้อง ณ นคร, ๒๕๐๕ : ๑๕) ตอนกลางรถทำเป็นรูปเครื่องพิมพ์ดีด โดยซ่อนเปียโนไว้ภายใน มีผู้ทำหน้าที่เสมียนทำการดีดพิมพ์หนังสือ ๑ คน และสามารถเล่นเปียโนได้เมื่อทำการดีดพิมพ์จะมีเสียงดนตรีสร้างจุดเด่นให้กับขบวน และมีเสมียนช่วยหรือทำงานกระจุกระจิกอีก ๑ คน ทั้งสองคนนี้แต่งตัวเป็นทหาร (เปลื้อง ณ นคร, ๒๕๐๕ : ๑๕)

ยังมีกรมสัสดีส่งบวนรถเข้าขบวนแห่พระยายืนชิงช้าในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ขบวนรถของกรมสัสดีนี้จะมีการละเล่นเพื่อสร้างความสนุกสนานในขบวนแห่ คือทำเป็นละครสั้น ๆ ประกอบดนตรีในเรื่องการรับสมัครทหาร เป็นการประชาสัมพันธ์ให้เข้ารับราชการทหาร (ในสมัยนั้นระบบการเกณฑ์ไพร่พลได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ผู้ชายใดที่จะไม่เข้ารับราชการจะต้องเสียเงินที่เรียกว่าค่า ราชการ ผู้ชายไทยในสมัยนั้น นิยมเสียเงินข้าราชการเพระจะได้เอาเวลาไปประกอบอาชีพส่วนตัว เพาระเศรษฐกิจของบประเทศในสมัยนั้นเป็นแบบเพื่อค้าขาย ทหารจึงทีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสมัยที่ยังใช้ระบบการเกณฑ์ไพร่พล) กล่าวคือ

ในขบวนรถของกรมสัสดีนั้นจะมีสมุดจำลองขนาดใหญ่คนสามารถเข้าไปได้วางกลางรถ ที่ปกสมุดนั้นจะเขียนหนังสือตัวใหญ่ว่า ทะเบียนทหาร มีขีดรับ ต่อลงมาเขียนตัวย่อมลงหน่อยว่า ผู้ที่เข้าทะเบียนเป็นทหารแล้วจะได้รับความอบรมให้มีกำลังแข็งแรงและมีความรู้ดีขึ้น ทางตอนหน้าของรถ มีทหารแสดงเป็นพนักงานทะเบียน ๑ นาย ให้แต่งตัวเป็นทหารชั้นนายสิบสัสดี และทหารอีก ๑ นาย โดยเลือกคนที่ตัวเล็กอ่อนแอ ให้แสดงเป็นผลเรือน นุ่งผ้าใส่เสื้อชั้นใน ในตอนท้ายของรถ มีทหารขลุ่ย ๑ นาย ทหารกลอง ๑ นาย คอยบรรเลงดนตรี และมีพลทหารหน้าตาดีอีกหนึ่งนาย วิธีการแสดงคือ เริ่มแรก นักดนตรีจะบรรเลงเพลง เมื่อเพลงจบลง ผู้แสดงจะพูดไปตามบทสนทนาที่เตรียมไว้

กระบวนแห่พระยายืนชิงช้าซึ่งสมมติเป็นพระอิศวรถือเป็นตัวแทนพระมหากษัตริย์นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชบรรยายไว้ในพระราชพิธีสิงสองเดือนว่า จะตั้งกระบวนแห่ตั่งแต่วัดราชบูรณะ ไปตามทางถนนรอบกำแพงพระนครแล้วลงถนนบำรุงเมืองแล้วหยุดพักที่โรงมานพหรือมาฬก ซึ่งปลูกไว้ริมสะพานเจริญทัศน์ (ปัจจุบันสะพานนี้ได้ถูกรื้อไปแล้ว อยู่ข้างวัดสุทัศน์ (อุรคินทร์ วิริยะบูรณะ, ผู้รวบรวม, ๒๕๒๖ : ๓๔๗) ) พราหมณ์นำกระดานชิงช้า กระดานนั้นเรียกว่ากระดานครู ซึ่งสมมุติว่าจะไปแขวนมารับพระยา แล้วจึงนำกระดานกลับคืนไปไว้ในเทวสถาน จากนั้นปล่อยกระดานสมมติว่าเป็นกระดานครูซึ่งแขวนไว้ที่เสาชิงช้าลงมา พระมหาราชครูหลังน้ำสังข์จุณเจิม นำพระยาไปยืนที่ชมรมทำเป็น “ ปะรำ” ด้วยไม้ไผ่คาดผ้าขาวเป็นเพดานมีม่าน ๓ ด้าน กลางชมรมตั้งราวไม้ไผ่หุ้มผ้าขาวสำหรับนั่งราวหนึ่ง สำหรับพิงราวหนึ่ง นำพระยาเข้าไปนั่งที่ราวยกเท้าขาวพาดเข่าซ้าย เท้าซ้ายยันพื้นเสมือนดั่งพระอิศวรทรงยืนด้วยพระบาทข้างเดียวบนตัวพญานาคแล้วไกวเพื่อทดสอบความแข็งแกร่งของโลก แล้วมีพราหมณ์ยืนข้างขวา ๔ คนเสมือนดั่ง ด้านซ้ายใช่ทหารหลวงในกรมมหาไทย ๒ คน กรมกลาโหม ๒ คนไปยืน มีพราหมณ์เป่าสังข์อยู่ข้างหน้า ๒ คน ผู้รายล้อมพระยายืนชิงช้าเปรียบได้ดั่ง

“ชั้นบนสุดมีพระอาทิตย์พระจันทร์ รองลงมือคือหมู่มหาบุรุษข้างละสี่, ขวาพระพรมหมณ์ ซ้ายนางศักติสีเขียวชื่อพระนางศิวกามสุนทรี แถวล่างสุดเป็นพระฤๅษีครูนาฏศิลปะดนตรีรวมทั้งพระนารธะและพระกะไลโกฏ” (ไมเคิล ไรท์, ๒๕๓๖ : ๑๖๔)

ไมเคิล ไรท์ (๒๕๓๖ : ๑๗๐) ที่ได้อธิยายคำศัพท์ของคำว่าปะรำและชมรมไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

ปะรำ น่าจะมาจากคำศัพท์ “อัมบลัม” แปลว่า “กระทบ” , “โรงน้อย” , “ศาลารายทาง”

จิดัมบรัม เป็นการลากศัพท์เข้าสันสกฤตจากคำทมิฬ “จิรัมบลัม” คือปะรำหรือศาลาน้อย (จิรฺ = น้อย อัมบลัม = ศาลา)

ชมรม มีคำว่าโรงกำกับ ยิ่งน่าสนใจใหญ่ ใคร ๆ รู้จักชมรมในความหมาย “กลุ่ม” เช่น “ชมรมแม่บ้าน” แต่คำ “ชมรม” ในความหมาย “โรง” หรือ “ปะรำ” ในเอกสารรุ่นเก่า (เช่นกฎมลเฑียรบาล) ดูเหมือนจะมีในเฉพาะกรณีที่ อธิบายพิธีพราหมณ์เช่นพิธีตรียัมปวายและพิธีเพาะบก

สมณทูตไทยที่ออกไปลังกาครั้งรัชกาลที่ ๒ ได้เดินบกไปตามฝั่งทะเลของอินเดียใต้โดยหยุดพักหนึ่งคืนในเทวสถานพระศิวนาฏราชที่เมืองซิดัมบรัม...ในบันทึกท่านเขียนชื่อเมืองซิดัมบรัมถึงห้าครั้ง สามครั้งเขียน “ เมืองชมรุม”, อีกสองครั้งเขียน “ เมืองชลมะรม”, คล้ายกับว่าท่านฟังคนทมิฬพูดรัว ๆ ไว ๆ ถึงสองครั้ง อาจเป็นเพราะท่านเห็นว่าเมืองนี้อยู่ใกล้ทะเล และชื่อเมืองควรจะเป็สันสกฤต ท่านจึงแทรก “ล” ให้คล้ายเมืองชลบุรี นอกนี้พระทัยท่านยังเรียกศาลพระนาฏราชว่า “โรง” ตรงตาม “โรงชมรม” ในำพระราชาธิบาย “พระราชพิธีสิบสองเดือน”.....ผมขอเสนอว่าคำ “ชมรม” ในกฎมณเฑียรบาล และพระราชพิธีสิบสองเดือนน่าจะกร่อนมาจาก “ ซิดัมบรัม?””

ภายหลังเมื่อมีการเพิ่มพิธีสงฆ์เข้าไป พระยายืนชิงช้าจะเข้าไปบูชาพระศรีศากยมุนีในวิหารวัดสุทัศน์ ฯ โดยมีกลองชนะตีนำหน้าเข้าไปและตีนำกลับออกมา แต่ภายหลังนี้พระยายืนชิงช้าไม่ได้เข้าไปด้วยตนเอง ให้แต่ตัวแทนเข้าไป “...เห็นจะเป็นการย่อกันลง ด้วยเสด็จออกจะเย็นจะไม่ทันโล้ชองช้า...” (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, ๒๕๑๔ : ๘๖)

เครื่องสักการบูชาพระศรีสักยมุนี ในหนึ่งพานจะบรรจุสิ่งของดังนี้ เทียนเงิน เทียนทองอย่างละ ๑ เล่ม ข้าวตอกดอกไม้อย่าละ ๑ กระทง นอกเหนือจากบูชาพระศรีศากยมุนีในวิหารวัดสุทัศน์ ฯแล้ว จะต้องนำเครื่องสักการบูชาที่มีสิ่งของเดียวกันนี้ต้องนำไปสักการบูชาในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ อันประกอบด้วย สถานพระอิศวร สถานพระนารายณ์ สถานพระพิฆเนศ ที่ละ ๑ พาน (เปลื้อง ณ นคร, ๒๕๐๕ : ๑๖ - ๑๘) และหลังจากนี้ไปจะเป็นพิธีการโล้ชิงช้าใหญ่

การโล้ชิงช้าใหญ่

การโล้ชิงช้าใหญ่ จะใช้นาลิวัน ๑๒ คน ขึ้นโล้การดานชิงช้ากระดานละ ๔ คน ๓ กระดาน จะโล้ ๓ ครั้ง สาเหตุของการใช้นาลิวันถึง ๑๒ คนและโล้ถึง ๓ ครั้งเพราะ การโล้สามครั้งหมายถึงการโล้ชิงช้าของพระอิศวรเพื่อทดสอบความแข็งแรงของโลกทั้ง ๓ โลกอันประกอบด้วยโลกสวรรค์ โลกมนุษย์ โลกบาดาล ในการโล้แต่ละครั้งจะต้องใช้นาลิวันประจำโลกละ ๔ คน รวมเป็น ๑๒ คน นาลิวัน ๔ คนเป็นตัวแทนของท้าวจตุโลกบาล คือ ผู้รักษาโลกทั้ง ๔ อันมี ท้าวธตรฐจอมภูติหรือจอมคนธรรพ์ อยู่ทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกจอมเทวาหรือจอมกุมภัณฑ์ อยู่ทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์จอมนาค อยู่ทิศตะวันตก ท้าวกุเวร อยู่ทางทิศเหนือ (กุสุมา คงสนิท และคณะ. ๒๕๔๕ : ๔๐) ในการโล้มีเสาไม้ไผ่ผูกปลายถึงเงินปักไว้ กระดานที่ ๑ สามตำลึง กระดานที่ ๒ สิบบาท กระดานที่ ๓ สองสลึง เมื่อนาลิวันจะขึ้นนั่งบนกระดานโล้ชิงช้า ต้องถวายบังคมก่อน ๓ ครั้ง และนั่งโล้ไปจนกว่าชิงช้าโยนแรงแล้วจึงลุกขึ้นยืน คนที่อยู่ด้านหน้าคอยคาบเงินที่ผูกไว้บนปลายไม้ไผ่ ครั้นโล้ได้ ๓ กระดานแล้ว เหล่านาลิวันก็จะรำเสนงสาดน้ำกัน จากนั้นตั้งกระบวนแห่พระยากลับไปที่ชมรม

สมัยหลัง การโล้ชิงช้าใหญ่จะมีการสร้างความตื่นเต้น เพื่อความสนุกสนานให้แก่ผู้ชม พระราชครูวามเทพมุนี (ชวิน รังสิพราหมณ์กุล) เล่าว่า

“...สำคัญอยู่ที่คนท้าย คือจะต้องเล่นตลก คือพอคนหน้าจะคาบถุงเงิน คนท้ายจะทำกระดานโล้ให้เบี่ยงไปเสียบ้าง ทำกระดานโล้ให้เลยถุงเงินไปเสียบ้าง จึงจะเรียกเสียงฮาจากคนดูได้...” (มติชน, ๑๔ เมษายนสิงหาคม ๒๕๔๗ : ๒๐)

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ประกอบกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่ยำแย่ อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างจึงมีความจำเป็นต้องลดทอนลงตามความเหมาะสม ทำให้บทบาทของพราหมณ์ในราชสำนักถูกลดลงด้วย รวมทั้งมีการดุลข้าราชการในกรมพราหมณ์ราชพิธีออกจำนวนมาก

สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อพระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายด้วยเช่นกัน เพราะการประกอบพระราชพิธีแต่ละครั้งนั้นมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ต้องใช้ในการจัดกระบวนแห่ในพิธี ทั้งในส่วนเครื่องแต่งกายและค่าเบี้ยเลี้ยงของผู้เข้าร่วมขบวนแห่พระยายืนชิงช้า อีกทั้งเป็นพระราชพิธีที่จะต้องกระทำต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ทำให้ไม่เหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจของบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๔๗๗ จึงได้มีการยกเลิกพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายไปในที่สุด

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบรียง

ขอบพระคุณภาพ พระยาประดิพัทธภูบาล จาก พ.ท.วิภู เลาหะคามิน (๑/๒/๒๕๖๐)

เอกสารประกอบการเขียน

กุสุมา คงสนิท, และคณะ. “พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย : การศึกษาชุดการแสดง “รำเสนง”.”ศิลปนิพนธ์ศึกษาศาสตร์บัณฑิต (ต่อเนื่อง) สาขาวิชานาฎศิลป์ศึกษา ภาควิชานาฎศิลป์ไทยศึกษา คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์. ๒๕๔๕.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. ๒๕๑๔.

เจ.สมิท, ซามูเอล. จดหมายเหตุสยามไสมย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด. ๒๕๔๙.

ไมเคิล ไรท์. “พระราชพิธีตรียัมปวาย โล้ชิงช้า ซับซ้อนเกินกว่าที่ใคร ๆ คิด.” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๑๑ (กันยายน ๒๕๓๖) : ๑๖๒ – ๑๗๑.

บำราบปีปักษ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา. โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ๒๕๔๕.

เปลื้อง ณ นคร. “พระยายืนชิงช้า พ.ศ. ๒๔๖๐.” พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ณ เมรุพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส. ๒๕๐๕.

มติชน. “เปิดตำนาน ‘โล้ชิงช้า’ ฉลองกรุงเทพ 222 ปี.” มติชน, ฉบับที่ ๙๕๓๒, ปีที่๒๗ (๑๔ เมษายน ๒๕๔๗) : ๒๐.

อุคินทร์ วิริยะบูรณะ, ผู้รวบรวม. ประเพณีไทย ฉบับมหาราชครูฯ. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์. ๒๕๒๖.

หมายเลขบันทึก: 486479เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2012 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2017 01:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท