พราหมณ์ : ที่มาของ ตรียัมปวาย-ตรีปวาย จากอินเดียสู่ไทย


พระราชตรียัมปวาย – ตรีปวายเป็นหนึ่งในพิธีที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อศาสนาพราหมณ์  และคติความเชื่อที่มีต่อความมั่นคงและความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง    แต่ครั้งโบราณ พระราชพิธีนี้เป็นพระราชพิธีในเดือนอ้ายอันถือเป็นนักขัตฤกษ์ขึ้นปีใหม่ตามคติพราหมณ์  โดยถือเอาต้นฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นตามการนับเวลาแบบสุริยคติ เป็นฤดูแห่งการเก็บเกี่ยว เตรียมเข้าฤดูเพาะปลูก อีกทั้งยังเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหาเทพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์  ๓  พระองค์  คือ  พระพรหม  (ผู้สร้าง)  พระนารายณ์  (ผู้ปกปักรักษา)  และพระอิศวร  (ผู้ทำลาย  เพื่อสร้างใหม่) ถือกันว่าเทพเจ้าจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกทุกปีเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน มีการประกอบพิธีสวดอัญเชิญเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์จากสรวงสวรรค์ลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อที่จะได้กระทำการสักการบูชา พราหมณ์จะจัดงานพิธีต้อนรับอย่างใหญ่โต มีการโล้ชิงช้าถวายให้เทพเจ้าทอดพระเนตรเพื่อให้เป็นที่โปรดปรานของเทพเจ้าเหล่านั้น  นับว่าเป็นการระลึกถึงพระเมตตาและความสำคัญของเทพที่ได้ช่วยอำนวยพรให้มีพืชพันธุ์ธัญญาหารแก่มนุษย์  อาจจะถือได้ว่าเป็นพิธีที่ต่อเนื่องมาจากพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งก่อนที่จะมีการเพาะปลูกได้นั้นต้องมีการขอพรจากเทพเจ้าเสียก่อน ให้เทพเจ้าบรรดาฟ้าฝนให้ตกต้องตามฤดูการณ์ ดินดี น้ำชุ่ม อุดมสมบูรณ์ ผลผลิตเป็นไดตามที่ต้องการ อีกทั้งยังเป็นการขอพรให้บ้านเมืองมีความมั่นคง  เหล่าพราหมณ์ได้ทำการถือพรตสวดบูชาตลอดระยะเวลาของพิธีกรรมด้วย

 

ตรียัมปวาย-ตรีปวาย โดย ไมเคิล ไรท์

               

ไมเคิล ไรท์ (๒๕๓๖ : ๑๓๖) ได้อธิบายถึงรากศัพท์ของคำว่า ตรียัมปวาย ว่าเป็นคำมาจากภาษาทมิฬ คือ “ติรุมเวมบาไว” ซึ่งแปลว่า “ตื่นพระบรรทม” ติรุม = พระ และ เวมบาไว = ตื่น ซึ่งแต่เดิมเป็นชื่อเพลงที่แต่งโดยราชกวีและไศวะภักตะชื่อ มณิกกะวาจกร ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ทุกบทเพลงนั้นจะต้องจบโดยคำว่า “ติรุมเวมบาวาย” หรือ ตื่นบรรทมเสียเถิดพระเจ้าข้า เป็นเพลงปลุกเจ้าแม่ศักติ ที่ชาวบ้านร้องกันในเดือนอ้าย เป็นระยะเวลา ๑๐ วัน  การที่ต้องร้องเพลงปลุกเจ้าแม่ในเดือนอ้ายนี้ เพราะตามคติของชาวทมิฬถือว่า นับตั่งแต่เดือน ๗ ถึงเดือน ๑๒ คือข้างแรมของทุกปี ถือว่าเป็นวันอัปมงคล พระอาทิตย์กำลังถอย ส่วนในเดือน ๑ ถึง เดือน ๖ นั้นเป็นข้างขึ้น ด้วยอาทิตย์กำลังมีแรงขึ้นมา ถือเป็นมงคล ดังนั้นเดือนอ้ายจึงนับเป็นปีใหม่ และเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะต้องปลกเจ้าแม่ให้ตื่นขึ้นมาเพื่อจะได้ให้พรแก่ประชาชน ให้พรแก่พื้นดินให้มีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เก็บเกี่ยวไปแล้ว ไมเคิล ไรท์  (๒๕๓๖ : ๑๓๖) ให้เหตุผลที่พิธีตรียัมปวายในอินเดียและในไทยจัดขึ้นพร้อมกันในช่วงเดือนอ้ายก็เพราะ “ฤดูกาลในทมิฬนาฎและในสยามตรงกันเป๋งเพราะถูกลมมรสุมชุดเดียวกัน”

 

หากเป็นดังที่ไมเคิล ไรท์กล่าว ก็หมายความว่า พิธีตรียัมปวาย ก็ต้องเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกโดยตรง มากกว่าจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อในด้านความมั่นคงแข็งแรง ของบ้านเมือง

 

แต่หากพิจารณาถึงลักษณะการประกอบอาชีพของชาวอินเดียแล้ว การเพาะปลูกถือว่าเป็นอาชีพหลักที่สำคัญ ดังนั้น ถ้าหากดินดีอุดมสมบูรณ์ พืชพรรณออกผลเป็นไปตามต้องการแล้วไซร้ บ้านเมืองก็ต้องมีความแข็งแรงไปด้วย  แต่หากดินไม่ดี ฟ้าฝนไม่ตกต้องตาฤดูกาล พืชผลไม่ออกตามเวลา บ้านเมือง รวมถึงประชาชนก็ตกอยู่ในความลำบาก อันหมายถึงความไม่แข็งแรงนั่นเอง การสร้างความเชื่อมั่นในด้านการเพาะปลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนและเป็นผลสืบเนื่องถึงความแข็งแรงของบ้านเมืองอย่างแยกกันไม่ออก

 

ย้อนกลับไปที่เพลงปลุกเจ้าแม่ กล่าวคือ เป็นเพลงที่มีความหมายทางความอุดมสมบูรณ์แอบแฝง เช่น ชมความงามของ “”บัวทอง” และ “เนินสวรรค์” ของเจ้าแม่ และชวนเจ้าแม่ “ตื่นเสียเถิด” และเปิดประตูอย่ารอช้า””  (ไมเคิล ไรท์, ๒๕๓๖ : ๑๓๖)  อาจจะดูแล้วหยาบคาย แต่ การเปรียบถึงอวัยวะที่แสดงความเป็นเพศหญิงนั้น  ก็เปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ การให้กำเนิดนั่นเอง

 

ตามประเพณีของชาวทมิฬ ติรุมบาไวเป็นเทศกาลของสตรีที่จะต้องตื่นก่อนรุงอรุน ในเดือนอ้าย (มิคสิรมาศ) แล้วพากันแห่ไปตามท้องถนนพรางพากันขับร้องเพลงดังกล่าว เมื่อไปถึงเทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว พวกเธอจะพากันลงเล่นน้ำในบารายของเทวสถาน สาดน้ำเล่นกันประกอบการร้องเพลง จากการลงเล่นน้ำนี่เองทำให้ กฎมณเฑียรบาลในสมัยอยุธยาจึงเรียกพิธีนี้ว่าว่า “สนานตรียัมผวาย” (ไมเคิล ไรท์, ๒๕๓๖ : ๑๓๖)

 

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ : ๙๗) ได้อธิบายถึงชื่อตรียัมปวายว่ามาจากคำว่า “ติรุมมุไร” คือคัมภีร์ติรุวาจกมฺ และ คัมภีร์เทวารมฺ ซึ่งชาวทมิฬที่เป็นพราหมณ์ไศวนิกายใช้สวดบูชาพระศิวะ   หรือพระอิศวรในเทวสถานของพระองค์

 

คัมภีร์ติรุวาจกมฺนั้นเป็นภาษาทมิฬประพันธ์ขึ้นทางตอนใต้ของอินเดียเป็นคำภีร์ที่ใช้สวดในพิธีตรียัมปวายในเทวสถาณพระอิศวรและสถาณพระพิฆเนศในประเทศไทย บทสวดที่ใช้คือ “บูชามุไรโบสถ์ใหญ่” และบูชามุไรโบสถ์กลาง ส่วนคัมภีร์เทวารมฺนั้น เป็นบทสรรเสริญพระอิศวรของพวกพราหมณ์ในอินเดียใต้ พระราชพิธีตรียัมปวายนั้นจะใช้บทที่ชื่อว่า “เปิดประตูศิวาลัย” ใช้ท่องมนต์เปิดประตูศิวาลัยไกรลาสในตอนต้นของพิธีตรียัมปวายและพิธีตรียัมปวายเพื่อเป็นการเปิดประตูต้อนรับพระอิศวรและพระนารายณ์ลงมาบนโลก (ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ : ๙๕ - ๙๖)

 

คำว่าตรีปวายว่า มาจากคัมภีร์ที่ชาวทมิฬ พวกพราหมณ์ไวษณพนิกายใช้สวดหรือขับร้องหรือบูชาพระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ในเทวสถานของพระองค์ เป็นการตัดตอนมาจากตำราโบราณบทสวดมนต์ภาษาทมิฬในคัมภีร์ “นาลายิรทิวฺยปฺรพนฺธมฺ” หรือที่เรียกให้กระชับลงว่า “ทิวฺยปฺรพนฺธมฺ” (ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ : ๙๗)

 

จากที่กล่าวมา จึงสันนิฐานถึงที่มาของชื่อ ตรียัมปวาย – ตรีปวายได้ว่า พราหมณ์สยามคงจะจำชื่อเหล่านี้ได้จึงนำมาตั้งชื่อในพระราชพิธี คือ ติรุมเอมบาไว เป็นตรียัมปวาย และ ทิวฺยปฺรพนฺธมฺ เป็น ตรีปวาย

 

ตรียัมปวาย-ตรีปวายในประเทศไทยภาคสรุป

 

สำหรับประเทศไทย ปรากฏหลักฐานพิธีโล้ชิงช้ามาตั่งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย อยุธยา เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้เปลี่ยนกำหนดการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายมาเป็นเดือนยี่ พร้อมกับเพิ่มพิธีกรรมทางพุทธศาสนาควบคู่กับกับพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ มีการจัดงานอย่างเอิกเกริก แม้แต่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ยังทรงเสด็จทอดพระเนตรถึงโรงราชพิธี มีการพระราชทานเงินรางวัลให้แก้พราหมณ์และผู้ร่วมประกอบพิธีมากมาย มีขบวนแห่พระยายืนชิงช้ายิ่งใหญ่ใช้ผู้เข้าร่วมนับพันคน อีกทั้งยังมีการออกร้านรวงการแสดงมโหรสพรายรอบบริเวณเสาชิงช้า (ระหว่างเทวสถานโบสถ์พราหมณ์และวัดสุทัศน์เทพวราราม) นับว่าเป็นพระราชพิธีแห่งความเป็นสิริมงคลของบ้านเมืองและเป็นพระราชพิธีที่สร้างความสนุกสนานให้แก่ประชาชนชาวพระนครไปพร้อมกัน

 

ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่รัชกาลที่ ๗ อันเนื่องมาจากสภาพบ้านเมืองในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย พระราชอำนาจของถูกจำกัดลง อำนาจทางทหารขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดินประกอบกับภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังโดยตรง จากสาเหตุปัจจัยที่กล่าวมา ส่งผลให้พระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายได้รับผลกระทบกระเทือน ไปด้วย  รัฐบาลใหม่ที่ขึ้นมาปกครอง พยายามทำทุกวิถีทางที่จะประคับประครองเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อม ๆ กับการสร้างอำนาจและความชอบธรรมให้กับคณะของตนเอง ปลูกฝั่งความคิดแบบตะวันตกให้กับประชาชนด้วยการลบล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นว่าเป็นของโบร่ำโบราณ ที่เคยเป็นของกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลประโยชน์และสะดวกสบายภายภายใต้การปกครองในระบอบเก่า ดังนั้น พระราชพิธีสำคัญ ๆ ของชาติหลายพิธี รวมถึงพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย ที่ใช้เงินมหาศาลในการจัดงานแต่ละครั้งจึงได้ถูกยกเลิกไป ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ไมเคิล ไรท์ได้กล่าวไว้ในเชิงเหน็บแนมอันสุดแสนจะเจ็บปวดว่า

 

                “...เทศกาลตรียัมปวายเป็นของหลวง, ของโบราณ ไม่ทันสมัย น่ารังเกลียด, ตัวด้อยปัญญาไม่รู้ความหมายสำคัญของพิธีนี้จึงพาลสั่งเลิกไป...” (ไมเคิล ไรท์, ๒๕๓๖ : ๑๖๒)

 

ในรัชกาลปัจจุบัน (รัชการที่๙) พระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามมิให้สูญหาย อีกทั้งเป็นสร้างขวัญกำลังใจ สร้างความสนุกสนานให้อยู่คู่บ้าน คู่เมือง คู่ประชาชนชาวชาวไทย

 

วาทิน ศานติ์ สันติ

 

เอกสารประกอบการเขียน

 

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน.  พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. ๒๕๑๔.

 

ชลมารคพิจารณ์, พระยา. พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย (จากพระราชพิธี ๑๒ เดือน) พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๑. พระนคร : โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์. ๒๔๗๗.

 

ท.กล้วยไม้ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์พิเศษ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อัมรินทร์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.

 

ไมเคิล ไรท์. “พระราชพิธีตรียัมปวาย โล้ชิงช้า ซับซ้อนเกินกว่าที่ใคร ๆ คิด.” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๔  ฉบับที่ ๑๑ (กันยายน ๒๕๓๖) : ๑๖๒ – ๑๗๑.

 

 

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. “ช้าเจ้าหงส์ ต้นเค้าพิธีโล้ชิงช้าในสยาม.” มติชน, ฉบับที่ ๑๐๖๖๐, ปีที่ ๓๐ (๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐) ๓๔.

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 486430เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2012 01:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท