531 เปรา เฮรากับช้างพระราชทานจากประเทศไทย


วิจิตร

 

 

ครั้งแรกในชีวิตกับพิธีแห่พระบรมสารีริกธาตุที่ยิ่งใหญ่ในศรีลังกา

 

          เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2555 ผมได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมพิธีแห่พระบรมสารีริกธาตุประจำปีของวัด Sri Devram Maha Viharaya ครั้งที่ 5 (5thMaha Perahera) ที่หมู่บ้าน Pannipitiya ชานกรุงโคลัมโบ ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่มีคนมาร่วมประมาณ 5 หมื่นคน พิธีแห่ปีนี้มีความพิเศษเนื่องจากได้รับการอุปถัมภ์จากพระครูสันติธรรมรังษี (ไมตรี วรมิตโต) เจ้าอาวาสวัดป่า แสงธรรม อ. เกาะพงัน จ. สุราษฎร์ธานี และมีพระสงฆ์และคณะของพุทธศาสนิกชนชาวไทยจากประเทศไทยมาร่วมงานนี้ด้วยประมาณ 40 คน  

          เมื่อเดินทางถึงวัดก็ต้องตะลึงกับคนจำนวนมหาศาล เป็นวัดที่มีพื้นที่บริเวณกว้างใหญ่มาก รถของผมแทบจะเข้าไปไม่ถึงงานเพราะคนเดินกันเต็มถนน ในที่สุดต้องหยุดรถจอดและเดินไปเอง เข้าไปในงานมีเวทียกสูง มีแขกพิเศษหลายท่านนั่งอยู่แล้วตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี อธิบดีตำรวจและพระผู้ใหญ่ รวมทั้งผมในฐานะเอกอัครราชทูตไทยซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและสมเกียรติ

ผมในฐานะเอกอัครราชทูตหนึ่งเดียวและประเทศเดียวในงานได้รับเกียรติให้กล่าวสุนทรพจน์ด้วย ซึ่งผมได้กล่าวย้ำความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตรระหว่างไทย-ศรีลังกาแต่ครั้ง โบราณกาล โดยมีพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเป็นจุดร่วม ย้ำความสำคัญของการแลกเปลี่ยนทางพระพุทธศาสนาระหว่างกัน โดยเฉพาะคุณูปการของพระอุบาลีมหาเถระแห่งกรุงศรีอยุธยาที่มาริเริ่มสยามวงศ์ ในศรีลังกาที่จะมีการฉลองครบรอบ 260 ปีในปี 2556 นอกจากนั้น ได้แจ้งให้ประชาชนที่อยู่ในพิธีได้ทราบว่าช้างที่เป็นผู้อัญเชิญพระบรม สารีริกธาตุแห่ในพิธีซึ่งถือว่ามีความสำคัญที่สุดในขบวนแห่นั้น คือ พลาย Kandula ซึ่งเป็นช้างพระ ราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมอบให้แก่ศรีลังกาเมื่อปี 2544 

          หลังจากงานพิธีเปิดแล้ว Ven. Kolonnawe Sumangala Nayake Thero เจ้าอาวาสวัด Sri Devram Maha Viharaya ได้พาผมไปที่ศาลาซึ่งเป็นที่ที่จะนั่งชมขบวนแห่ คนเยอะมาก มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวนั่งกันเต็มลานและสองข้างทางเพื่อรอดูขบวนแห่ง พอได้เวลา ก็เริ่มการแห่ขบวนแรก มีการเป่าแตรเป็นสัญญาน ตามด้วยขบวนดนตรีปี่กลอง ขบวนช้าง มีการจุดไฟบูชาเทพเจ้า การฟ้อนรำ กายกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการแห่ของช้างมากกว่า 50 เชือกที่เดินสลับกับขบวนแห่ ช้างเป็นพระเอกของงานของวัดพุทธในศรีลังกาเสมอ การใช้ช้างในพิธีกรรมทางศาสนานี้ถือเป็นการคงคุณค่าและเกียรติของช้างซึ่งเป็นพาหนะของกษัตริย์ในสมัยโบราณ ในวันนี้ช้างทุกเชือกแต่งตัวคลุมด้วยผ้าขลิบทองหรือลายทองทั้งตัวอย่างสวยงามรวมทั้งมีการประดับประดาด้วยแสงไฟทั้งงาและงวง เรียกว่าวันนี้ช้างในขบวนแห่ดูหล่อที่สุดเลยก็ว่าได้ นอกจากนั้นก็มีเยาวชนและประชาชนที่เกี่ยวข้องจากเมืองต่างๆ แต่งตัวด้วยชุดพื้นเมืองของแต่ละท้องถิ่นของตนซึ่งมีสีสันสวยงามมาก ทำให้ผมอดนึกถึงขบวนแห่ของงานเทศกาลใหญ่ๆ ของโลกเช่นที่สหรัฐฯ หรือที่บราซิล

นักแสดงส่วนใหญ่ในคืนนี้เป็นเยาวชน เจ้าอาวาสบอกว่าในคืนนี้ มีคนแสดงมากกว่า  3500 คน ทุกคนตั้งใจแสดงอย่างสนุกสนานและถือเป็นการแสดงเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา  

         ชุดที่สำคัญที่สุดในคืนนั้นคือช้างกันดูลาซึ่งเป็นช้างพระราชทานหนึ่งในสองเชือกที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้พระราชทานแด่นางจันทริกา บันดารานายเก กุมารตุงคะ ประธานาธิบดีศรีลังกาเมื่อปี 2544 คืนนี้ช้างกันดูลางามเป็นพิเศษด้วยเครื่องทรงและเป็นช้างสำคัญที่สุดที่ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบนหลัง เรียกว่าเป็นพระเอกเดียวของงานแห่ พอกันดูลาเดินย่างออกมาก็จะมีคนปูผ้าขาวบนทางเดินข้างหน้าเป็นทอดๆ เรียกว่าเป็นการให้เคารพสูงสุดแด่พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่บนหลังช้าง จึงไม่ให้เท้าช้างนั้นถูกพื้นดินเลย จนเมื่อกันดูลาย่างผ่านมายังปะรำพิธีที่ผมนั่งชมอยู่ จนท.ของผมได้ส่งสัญญานกับควาญช้างซึ่งผมเคยไปเยี่ยมช้างกันดูลา ณ ที่เลี้ยงมาแล้ว ควาญช้างหยุดกันดูลาตรงหน้าปะรำพิธี ผมจึงได้มีโอกาสเดินลงไปสัมผัสกับกันดูลาเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งคงไม่เคยเกิดขึ้นในงานแห่เปราเฮราที่แขกเกียรติยศจะได้ลงไปสัมผัสกับช้าง นับว่าผมโชคดีมาก

หลังเสร็จพิธีแห่ ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ชม.ผมได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำและพูดคุยกับคณะผู้แสวงบุญชาวไทยทั้งนี้เนื่องจากพระครูสันติธรรมรังษี (ไมตรี วรมิตโต) เจ้าอาวาสวัดป่า แสงธรรมได้เชิญให้ผมกล่าวถึงประสบการณ์ของการปฏิบัติธรรมให้คณะญาติธรรมฟัง ผมเคยพบกับคณะนี้มาแล้วครั้งหนึ่งที่อินเดียซึ่งครั้งนั้นหลายคนติดใจเลยขอให้พูดอีกครั้งที่ศรีลังกา

อย่างไรก็ดี เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน 2555 ผมก็ได้ต้อนรับคณะผู้แสวงบุญชาวไทยอีกครั้งที่ทำเนียบฯ ผมได้กล่าวกับคณะผู้แสวงบุญชาวไทยว่าการมาแสวงบุญที่ศรีลังกานั้น สิ่งสำคัญคือต้องมีสติ สังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวเพื่อนำมาประมวลและพิจารณาต่อว่าเราได้อะไรบ้าง ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการมาศรีลังกาครั้งนี้ ความรู้นั้นมีอยู่ทุกที่ แต่เราต้องเก็บเกี่ยวความรู้นั้นให้ได้ นอกจากนั้นต้องตระหนักเสมอว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่สำคัญที่สุดในชีวิตเพราะพรุ่งนี้ไม่แน่ว่าจะมีสำหรับเราแต่ละคนหรือไม่ ดังนั้นหากเราอยู่ด้วยความไม่ประมาท ก็จะทำให้เราลดปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างมาก ผมได้ย้ำถึงหัวใจของพุทธศาสนาที่เป็นพื้นฐาน 3 ประการคือไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดีและทำใจให้ผ่องใส ยังคงเป็นแนวปฏิบัติที่ประเสริฐเสมอ ขอให้เราสร้างกำลังใจให้ตนเองเพื่อที่จะมีพลังบวกพลังกุศลก้าวไปข้างหน้าในทางที่ถูกต้องและวันหนึ่งก็จะต้องถึงซึ่งจุดหมายอย่างแน่นอน

สำหรับผม การได้มาอยู่ที่ศรีลังกาเป็นเส้นทางบุญเส้นทางกุศลที่เหมาะสมจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 486383เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2012 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

โอโหท่านทูตครับอลังการมากเลยครับ จำได้ว่าท่านทูตเคยเขียนเล่าเรื่องช้างไว้ สง่างามมาก ความศรัทธาของคนศรีลังกามีมากเลยครับต่อพระบรมสารีริกธาตุ

..".ติดใจ.".เจ้าค่ะ..กับ คำว่า..สยามวงค์..ได้ยิน..คำนี้จาก..หลวงแม่.ธัมมนันทา.(ตอนไปบวชเป็นสามเณรรี)..ซึ่งการบวชของท่านธัมมนันทา..(สายเถรวาทในไทย..กลับไม่ยอมรับ)..การบวชของภิกษุณีในไทยยังไม่ยอมให้มีขึ้น..และความเสมอภาคทางสิทธิ."สตรี".ก็จะถูก"ลืมเลือนหายไป"..และผู้บวชจะต้องเดินทางไปศรีลังกากัน..ท่านทูต..มีความเห็นอย่างไร..เจ้าคะ...(เป็นไปได้ไหม..ในทางตรงกันข้าม..ที่สยามวงค์..จะกลับสู่ประเทศไทย..อีกครั้ง..ด้วย..ความเป็นพุทธ..วิถี...ที่จะมี..สังคม..สังฆะที่มีบทบริบรูณ์..ขึ้นอีกครั้ง...คือ..อุบาสก..อุบาสิกา..ภิกษุสงฆ์..ภิกษุณี..เป็นผู้..บริบาล..สู่พุทธวิถี..อีกครั้งในประเทศ..กับคำที่ท่านกล่าวไว้ในบทความนี้..และ(หาก)ท่านจะเป็นผู้นำ."สยามวงค์".กลับไทย..ซึ่ง.เป็นเส้นทางบุญเส้นทางกุศลที่เหมาะสมจริงๆ..ได้..นะเจ้าคะ....ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด..เจ้าค่ะ...(ยายธี)

Ico24 ขจิต ฝอยทอง

อจ.ขจิตครับ ชาวพุทธศรีลังกาศรัทธาสูงมากครับ และเข้าถึงรัตนตรัยทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์

จึงถนัดที่จะไปวัด มากกว่าที่จะรอให้พระออกมาบิณฑบาตร

ที่วัด ชาวพุทธศรีลังกาจะไปไหว้พระในอุโบสถ ไหว้ต้นโพธิ์ซึ่งมักจะมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่อนุราธปุระและจะเดินวนรอบโคนต้นโพธิ์โดยถือโถดินที่มีน้ำอยู่เต็ม เมื่อเดินครบ 3 รอบก็จะรดน้ำที่โคนต้นโพธิ์

นอกจากนั้นจะไปไหว้พระบรมสารีริกธาตุซึ่งมักจะมีอยู่ทุกวัด คนที่ศรัทธามากขึ้นก็จะหามุมสงบนั่งท่องบทสวดพระปริตร เป็นที่น่าเลื่อมใสมากครับ.....

แต่ที่ผมได้สังเกตุและสอบถามพระศรีลังกา ชาวพุทธศรีลังกายังมิได้ก้าวไปถึงขั้นปฏิบัติวิปัสสนา ยังอยู่เพียงสมถะครับ

Ico24 ยายธี.

สวัสดีครับ

เรื่องราวของสยามวงศ์เป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่เคยได้ยินแต่ชื่อแต่อาจไม่รู้รายละเอียดครับ เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนควรภูมิใจเพราะเป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษและเฉพาะระหว่างไทยกับศรีลังกา โดยสรุปก็คือศรีลังกาในยคุที่ถูกอังกฤษปกครอง ยุคที่พุทธศาสนาเสื่อมลงมากเกือบจะสูญ ไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่เลย มีแต่สามเณร จึงไม่สามารถมีพิธีอุปสมบทหรือบวชพระได้ โชคดีที่สามเณรองค์หนึ่งชื่อสรณังกร แแนะนำกษัตริย์ของแคนดีว่าให้ขอจากอยุธยา กษัตริย์จึงส่งสมณทูตศรีลังกาไปกรุงศรีอยุธยา ถึว 3 ครั้ง 3 คราซึ่ง 2ครั้งแรกเรืออัปปาง ครั้งที่ 3 คณะทูตจึงถึงอยุธยาในสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกฐ และต่อมาได้ส่งสมณทูตจากอยุธยานำโดยพระอุบาลีจากวัดธรรมาราม นำคณะไปศรีลังกาซึ่งกว่าจะนั่งเรือไปถึงก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรค เรืออัปปางเช่นกันแต่ไปขึ้นบกและไปต่อจนถึงศรีลังกา พระอุบาลีองค์นี้เองที่ได้ไปอุปสมบทสามเณรสรณังกรเป็นพระภิกษุองค์แรกและอีก 3000 รูป จนกลายเป้นพระสงฆ์สยามวงศ์ในศรีลังกา มาจนถึงทุกวันนี้

และปีหน้า 2556 จะครบวาระ 260 ปีสยามวงศ์แล้ว ผมได้เสนอให้มีการฉลองวาระนี้ของทั้งสองประเทศเพื่อให้คนทั้งสองประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งนี้

ก็หวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลจะเห็นประเด็นสำคัญนี้และไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดไป

ส่วนเรื่องของพระภิกษุณีที่ต้องไปบวชที่ศรีลังกานั้น ในส่วนตัวของผมเปิดกว้างเพราะเชื่อมั่นว่าการบรรลุธรรมนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ แต่ขึ้นอยู่กับบารมีธรรมที่สั่งสมมา ถ้าขณะบำเพ็ญ องค์ประกอบที่จะบรรลุธรรมครบถ้วน ก็จะถึง ไม่ว่าหญิงหรือชายหรือแม้แต่เด็ก

ผมจึงเข้าใจที่หญิงไทยจะไปบวชที่ศรีลังกาเพราะศรีลังกามีความพร้อมที่จะบวชให้

ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเมื่อบวชแล้วได้เดินหน้าตามพระวินัยเพื่อให้ถึงซึ่งฝั่งเกษมหรือไม่..ตรงนี้สำคัญกว่า

สำหรับสังคมไทยและศรีลังกา ผมเห็นว่าเราเป้นครอบครัวเดียวกัน สามารถช่วยเหลือกันได้ในเรื่องพุทธศาสนาเมื่อฝ่ายหนึ่งเสื่อหรือย่อหย่อน อีกฝ่ายหนึ่งเข้มแข็งกว่า ก็สามารถช่วยฟื้นฟูกันได้ ไม่เสียหาย ไทยเราเคยรับเถรวาทจากศรีลังกา ก็เพราะเห็นว่าพระปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง น่าศรัทธาเลื่อมใส เมื่อศรีลังกาเสื่อม เราก็ไปช่วยฟื้นฟู แต่หากในอนาคตเราเสื่อมลงบ้าง ศรีลังกาก็สามารถมาช่วยเราฟื้นฟูได้เช่นกัน นี่เรียกว่ากัลยาณมิตรที่แท้

ผมหวังจะให้ไทยกับศรีลังกาเป็นเช่นนั้นครับ

เจริญสุขครับยายธี

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท