อนาคตประเทศไทยระยะยาวจะเป็นอย่างไร?


บทความจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 7 เมษายน 2555 ติดตามอ่านย้อนหลังได้ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

http://archive.naewna.com/allnews.asp?ID=97

 

อนาคตประเทศไทยระยะยาวจะเป็นอย่างไร? (บทเรียนจากความจริง กับดร.จีระ)

 
ขอแสดงความยินดีกับออง ซาน ซู จี และพรรคชนะเลือกตั้งซ่อมอย่างถล่มทลาย ได้ 43 ที่นั่ง จาก 45 ที่นั่ง

พม่ากลายเป็นประเทศที่มั่นคงทางการเมือง มองไปข้างหน้าก็จะเห็นว่าอนาคตจะสวยหรู ประชาชนมีความหวังมากขึ้น มีผู้นำที่มีความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง เพราะจะมีการปฏิรูปและเปิดประเทศ ผู้นำของเขาเป็นบุคคลที่ต่อสู้กับความถูกต้องใช้ความอดทน มีความรู้และรักชาติอย่างแท้จริง

การต่อสู้ของออง ซาน ซู จี เป็นสิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้เพราะเป็นการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ประชาชนพม่าเป็นแรงสนับสนุนอย่างแท้จริง

ในขณะที่ประเทศไทยของเราคงจะทราบดีว่าการเมืองในอนาคตของเราจะเป็นอย่างไร ชะตาชีวิตของคนไทยยังไม่มีความแน่นอนและขาดความหวัง เพราะค่านิยมของคนไทยถูกอิทธิพลจากอำนาจการเมืองและอำนาจการเงิน ขาดอำนาจที่มาจากคุณธรรม จริยธรรม ใน Facebook ผมเขียนว่า

พม่าเป็นประเทศที่สนใจทุนมนุษย์ของประชาชนอย่างมาก มีอุดมการณ์นำประเทศมีความรักชาติ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นประเทศที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง หลังจากทหารปกครองมานาน ในขณะที่ประเทศไทยมีอุดมการณ์จอมปลอม บ้าเงิน บ้าอำนาจ มองด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ สังคมขาดการเรียนรู้ การเมืองเต็มไปด้วย ผลประโยชน์

การเลือกตั้งแต่ละครั้งก็จะเน้นเงินและอิทธิพล อุดมการณ์จอมปลอมระหว่างฝ่ายซ้ายกับใช้เงินจำนวนมหาศาลผสมกัน

ฉะนั้น อนาคตระยะยาวของประเทศไทยจะไปทางไหน คนไทยจะพึ่งกลุ่มการเมืองที่จะพัฒนาไปสู่อนาคตและประชาคมอาเซียนได้จริงหรือ?

ขอแสดงความยินดีกับ Website ใหม่ของแนวหน้าที่พัฒนาเป็น Social Media ช่วงแรกๆ ผู้อ่านหลายท่านอาจจะขาดโอกาสไปบ้าง เพราะอยู่ในช่วงปรับปรุง จึงขอความกรุณาติดตามใน Facebook ของผม โดยเฉพาะบทความครั้งที่แล้ว ซึ่งอ่านจาก Facebook/chira Hongladaromได้

หนังสือพิมพ์แนวหน้าเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีคุณค่าต่อประเทศ อาจมีคนรุ่นใหม่ๆ มองข้ามไปบ้าง จึงอยากให้ช่วยกันกระจายความรู้จากแนวหน้าไปยังหลายๆ กลุ่ม ผมภูมิใจและดี

ใจที่เป็นส่วนร่วมในการเขียนทุกวันเสาร์ติดต่อกันมา 15 ปี และเป็นแรงบันดาลใจที่จะเขียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

มีข่าวเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่แล้วคือ การระเบิดในภาคใต้ ซึ่งมีระเบิดพร้อมกัน 3 จุดในเวลาใกล้ๆ กัน

แต่ละจุดรุนแรงมาก คราวนี้มีเสียชีวิตถึง 13 คน และบาดเจ็บหลายร้อยคน ผมคิดว่าน่าจะรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

ช่วงที่เกิดเหตุเป็นวันเสาร์ ผมออกอากาศรายการวิทยุ Human Talk ทาง FM 96.5 MHz.ในเช้าวันอาทิตย์ยังสับสนว่าเหตุการณ์ที่โรงแรม ลี การ์เด้นส์ จ.สงขลา คิดว่าเหตุการณ์แก๊สระเบิด และต่อมาทราบว่าเป็นการระเบิดจากคาร์บอมบ์ ซึ่งจอดไว้ใต้ตึกที่จอดรถซึ่งเป็นการอุกอาจมาก เพราะหาดใหญ่เป็นจุดสำคัญทางการท่องเที่ยวระหว่างไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเป็นฤดูการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ด้วย

สร้างความตระหนกให้คนไทยและชาวต่างประเทศมาก คำถามว่าปัญหาระยะยาวของภาคใต้ใครจะช่วยแก้

ประเด็นก็คือ อะไรคือสาเหตุเบื้องหลังที่แท้จริงครั้งนี้

* เป็นการเมืองขัดแย้งในประเทศ

* หรือเป็นเพราะรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์คิดจะหาผลประโยชน์ทางการเมืองในภาคใต้ เพื่อหวังจะช่วงชิง สส.ใน 3 จังหวัดภาคใต้

* หรือเป็นเพราะขัดแย้งกันระหว่าง ศอ.บต.กับฝ่ายความมั่นคง (ทหาร)

* หรือขัดแย้งของกลุ่มก่อการร้ายกันเอง





ภาพเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และจังหวัดยะลา เมื่อเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา

รัฐบาลภายใต้การทำงานของคุณยิ่งลักษณ์ต้องวางแนวทางให้ถูก ไม่ใช่เล่นแบบขายของสนุกไปเรื่อยๆ พอคุณอภิสิทธิ์ผู้นำฝ่ายค้านลงไปเยี่ยมทันที นายกฯยิ่งลักษณ์ตามไปอีก 1 วัน กลัวจะเสียคะแนน ความจริงนายกรัฐมนตรีภายใต้วิกฤติแบบนี้ต้องแสดงความเป็นผู้นำอย่างทันท่วงที ไม่ใช่เล่นการเมืองแบบขอไปที

เรื่องการปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน อยากให้คนไทยทุกๆ ฝ่ายได้ช่วยกันติดตามดูอย่างใกล้ชิด

การใช้เสียงข้างมากในสภาฯอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีเหตุผลและมีจริยธรรมในการดำเนินนโยบายเพื่อระยะยาว เพื่อส่วนรวมและถ้านโยบายบางอย่างทำให้ระยะยาวของประเทศเสียหาย แต่บุคคลบางกลุ่มได้ประโยชน์ก็ต้องช่วยกันแก้ไข

ผมเป็นห่วงว่าถ้าเราไม่ทำอะไรก็จะเป็นการปฏิวัติเงียบคล้ายๆ เผด็จการทางประชาธิปไตย มีเสียงข้างมากก็ชนะในทุกเรื่องไทยและบางครั้งทำเพื่อคนคนเดียว โดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์

ทั้งหมดนี้อาจจะเน้นปัญหาของประเทศในระยะยาว แต่ขณะเดียวกันของดีๆ ในประเทศก็เพื่อสร้างความสมดุลในประเทศ

เช่นเรื่องแรกคือ บทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เชิญผมไปร่วมอภิปรายเรื่องการวิจัยเพื่อชุมชน โดยเน้นบทบาทของปราชญ์ชาวบ้านในบุรีรัมย์เป็นตัวอย่างผสมกับความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน

ซึ่งเป็นบทบาทที่ถูกต้องของมหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งมีอยู่ทุกๆ จุดของประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎต้องกำหนดบทบาทของตัวเองให้เหมาะสมเพื่อช่วยชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ให้มากที่สุด วิจัยในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่รอบๆ มหาวิทยาลัยและให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

ผมจึงขอสนับสนุนให้ผู้อ่านได้เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านและงานวิจัยของเขาเหล่านั้น

บรรยากาศการประชุมวิชาการและการเผยแพร่ผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ 6 หัวข้อ "การพัฒนาชุมชนบนฐานการวิจัยตามวิถีพอเพียง" โดย ฯพณฯอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ถอดรหัสการพัฒนาชุมชนบนฐานการวิจัยตามวิถีพอเพียง" และผมได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ให้ร่วมเสวนาทางวิชาการหัวข้อ การพัฒนาชุมชนแบบบูรณา : สืบสานวิถีปราชญ์สู่การสร้างชาติตามวิถีพอเพียง เสวนาร่วมกับ พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้าน จ.บุรีรัมย์, นพ.สมชาย ธรรมสารโสภณ ผอ.โรงพยาบาลกระสัง, นายสนิท แสนรัมย์ ผู้แทนองค์กรชุมชน, นายเจริญ สุขวิบูลย์ นายก อบต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์



ปราชญ์ชาวบ้านในเมืองไทยมีมากมายและมีความสามารถอย่างยิ่งและเหมาะสม เพราะ

1. เขาเน้นการเรียนรู้จาก "ความจริง" (Reality)

2. หาทางแก้ให้ได้ตรงจุด "ตรงประเด็น" (Relevance)

หรือทฤษฎี 2 R's ของผมนั่นเอง

ตัวอย่างที่ดีคือ ครูบาสุทธินันท์ ซึ่งสร้างสังคมการเรียนรู้ในพื้นที่ป่าของท่านที่บุรีรัมย์มาตลอด

30 ปีท่านก็คงจะทำต่อไป ซึ่งในสัปดาห์ที่แล้ว ท่านได้รับรางวัลวิจัยดีเด่นจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ผมและทีมงานยังได้เข้าสนทนาเรียนรู้กับท่านอีก 4 -5 ชั่วโมง ทำให้ได้เห็นว่า

ปราชญ์ชาวบ้านต้อง

* มีอิทธิพลต่อการศึกษาตลอดชีวิตมากขึ้น

* ให้คนไทย เด็กไทย พ่อแม่และผู้ปกครองมีโอกาสได้สัมผัสกับปราชญ์ชาวบ้านมากขึ้นและทำเป็นระบอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

* เรียนรู้จากธรรมชาติลและเรียนจากความจริง

ถ้าได้สัมผัสกับปราชญ์เหล่านี้เราก็จะได้พบว่า "ประเทศไทยยังมีความหวังในระยะยาว" เพราะบุคคลเหล่านี้ปิดทองหลังพระอย่างมุ่งมั่นและแน่วแน่

ที่จะนำประเทศไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตแน่นอน

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์
เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ
[email protected]
www.gotoknow.org/blog/chiraacademy
แฟกซ์ 0-2273-0181
หมายเลขบันทึก: 484820เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2012 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท