เก็บมาฝาก จาก the 9th Palliative Care Congress


เคล็ดวิชาการบำบัดศักดิ์ศรี ใช้สูตรเดียวกับการช่วยฟื้นคืนชีพ คือ A - B - C - D

ช่วง กลางมีนาคม ได้มีโอกาสหนีร้อน ไปที่เย็นที่เมือง Newcastle  สหราชอาณาจักรอังกฤษ เรื่องของเรื่องคือได้ทุนจากที่จัดประชุม the 9th Palliative care congress ก่อนไปก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก ทำงานจนนาทีสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่อง แค่มีตั๋วกับพลาสปอร์ต ก็คิดว่าไปได้กลับได้แล้ว

ออกจากบ้านบ่ายสอง แล้วบินจากกรุงเทพเที่ยงคืน แวะดูไบ แล้วต่อไปอังกฤษถึงบ่าย 3 วันที่ 13 รวมแล้ว เกือบ 24 ชั่วโมง ก็นั่งงง ทำไมมันยาวนานอย่างนี้ ถึงที่พักก็นั่งปรับสภาพ ปรับเวลาอยู่พักหนึ่ง แล้วแวะสำรวจเส้นทางรอบๆ ที่พักก่อนมืดก็กลับมานอน

 วันที่ 14 เขาให้ลงทะเบียนตอนบ่าย 4 ช่วงเช้าเลยสำรวจเส้นทาง สอบถามหน่วยข้อมูลท่องเที่ยวว่าจะไป Sage Gatehead อย่างไร เขาก็ลากๆ เส้นบนแผนที่ให้ บอกเดินไปก็ได้หรือนั่งรถก็ได้ 15 นาทีถึง ช่วงบ่ายก็เริ่มออกเดินทางสำรวจเส้นทาง

การประชุมเริ่มตั้งแต่เย็นวันที่ 14 หลังลงทะเบียน แต่ด้วยเป็นคนพลัดถิ่น กลัวหลงทาง ลงทะเบียนเสร็จก็กลับ

วันที่ 15 เริ่มประชุมกันตั้งแต่ 8 โมงเช้าเลิก เกือบ ทุ่มหนึ่ง

วันที่ 16 ก็เหมือนกัน เริ่มตั้งแต่ 8 โมง แต่เลิกเร็ว คือ 4 โมงเย็นแล้วปิดการประชุม

 

 

มีคนเข้าประชุมเยอะเกือบ 500 คน ส่วนใหญ่เป็นคนอังกฤษ มีต่างชาติบ้างไม่มาก ที่เห็นก็มีมาเลเซีย ฟิลิปินส์ แอฟริกาใต้ ไทย (รวมแล้ว 3 คน) มี poster นำเสนอ 200 กว่าเรื่องและ oral presentation อีกเกือบร้อย เดินเข้าห้องโน้นออกห้องนี้กันสนุก สังเกตว่างานที่นำเสนอแบบ poster จะเน้นเรื่องของโปรแกรมการดูแลทั้งกับผู้ป่วยและญาติ เรื่องของการบันทึก การพัฒนาระบบ ส่วนการนำเสนอด้วยวาจา มักเป็นผลงานของนักศึกษาป.เอกจากมหาวิทยาลัยของอังกฤษ จะมีการใช้ระเีบียบวิธีวิจัยทั้งแบบเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณ แต่ที่เห็นเยอะคือเรื่องของการใช้ Mixed method

หัวข้อการประชุม highlight น่าจะเป็นของProf. Harvey Max Chochinov ท่านเป็นแม่เหล็กดึงดูุดให้ฉันตัดสินใจเข้าประชุมนี้แหละ เพราะอ่านงานมาหลายเรื่องอยากเจอตัวจริงเสียงจริง

Prof. Harvey Max Chochinov มาพูดเรื่องการบำบัดศักดิ์ศรี Dignity therapy อาจารย์บอกว่าจากการศึกษาของอาจารย์ สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายแล้ว ศักดิ์ศรีของมนุษย์อยู่ที่การรับรู้ของบุคคลถึงสิ่งที่คนอื่นมองเขาว่าเป็นอย่างไร ...ดังนั้นบุคคลากรสุขภาพพึงระลึกเสมอว่ามีผู้เฝ้ามองการกระทำและการแสดงออกของเราอยู่ ซึ่งหากผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและยอมรับอย่างที่เขาเป็น ความรู้สึกสูญเสียศักดิ์ศรีก็จะไม่เกิดขึ้น

ในกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกสูญเสียศักดิ์ศรี Prof. Harvey Max Chochinov ก็บอกเคล็ดวิชาการบำบัดศักดิ์ศรี ใช้สูตรเดียวกับการช่วยฟื้นคืนชีพ คือ A - B - C - D

A Attitude บุคลากรสุขภาพควรสำรวจทัศนคติของตนเองว่าเป็นอย่างไรต่อผู้ป่วย ซึ่งทัศนคติจะมีผลต่อการแสดงออกและการดูแลคนไข้ ดังนั้น เราควรมีทัศนคติที่ดี ในด้านบวกต่อภาวะการเจ็บป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วย และการดูแล

B Behavior พฤติกรรมการแสดงออกต่อผู้ป่วย จะมีผลต่อการรับรู้ถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

C Compassion บุคลากรและผู้ดูแลความมีความเมตตาต่อผู้ได้รับการดูแล

D Dialogue ควรมีการสื่อสารสนทนากับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ

เทคนิคของอาจารย์ฟังดูง่ายๆ และสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

สำหรับประเด็นอื่นๆ ก็จะมีเรื่อง Breathlessness ภาวะหายใจลำบากในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งสรุปว่าต้องใช้วิธีการจัดการอาการหลายๆ วิธีเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น และค่า Oxygen satuartion ก็ไม่ใช้ตัวบ่งชี้ของความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากอาการ ... ส่วนหนึ่งของอาการหายใจลำบากเกิดจากการรับรู้ว่าไม่มีลมผ่านเข้ามาในช่องทางเดินหายใจหรือรูจมูก อาจารย์ Sara Booth บอกว่า การให้มีลมหรือเปิดพัดลมผ่านเข้าหน้าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกทุกข์ใจจากอาการหายใจลำบาก

นอกจากนี้ก็การพูดถึงประเด็น Sexuality ในผู้ป่วยระยะุสุดท้าย ซึ่งมักเป็นประเด็นปกปิดในการสนทนากับบุคลากรสุขภาพกับผู้ป่วยหรือครอบครัว เรื่องจากงานวิจัยสู่การปฏิบัติ เน้นการเผยแพร่งานวิจัยหลังสิ้นสุดการวิจัยในหลายๆวิธีและควรทันยุค เช่น  facebook หรือสื่อต่างๆ  ปิดท้ายด้วย Palliative care research: Landscape and Laments ทิศทางการวิจัยการดูแลแบบประคับประคองในอนาคตโดย Prof. Irene Higginson กล่าวถึงความสำคัญของการวิจัยและการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วย และบทสรุปที่เจ็บปวดเมื่อองค์กรต่างๆตัดงบเรื่องการวิจัยการดูแลแบบประคับประคองออกหมด ...Prof. Irene Higginson เชิญชวนทุกคนว่าหากเจอผู้ใหญ่ผู้โตในวงการให้ทุนวิจัย ให้รีบเดินไปถามเขาว่าเขาคิดอะไร ทำไมถึงทำเช่นนั้น

ไปครั้งนี้ไม่เสียเที่ยว การเข้าประชุมทำให้รู้จุดต่าง ระยะห่างระหว่างเขา (Palliative care ในอังกฤษ) กับเรา คิดแล้วยังมีงานที่จะต้องทำอีกเยอะ ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #palliative care
หมายเลขบันทึก: 484513เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2012 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท