คาถามหาระรวย


ทำอย่างไรให้ร่ำรวยหรือมีฐานะมั่นคง “อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา สมชีวิตา”

ความร่ำรวย ความมั่งมีหรือความเป็นเศรษฐีใครๆก็ชอบ เพราะคำตอบสุดท้ายในใจของทุกคนผู้กำลังดิ้นรนแสวงหาคือ ความสุขสบาย ผู้มีเงินมากหรือมีทรัพย์สมบัติ ย่อมมีโอกาสในการจัดสรรหาสิ่งอำนวยความสุขสบายให้แก่ตนได้ง่าย นอกจากนั้น หากใช้ความร่ำรวยไปในทางสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติและพระศาสนา ก็จะยิ่งเพิ่มพูนคุณค่าของชีวิตให้แก่ผู้นั้นอย่างน่าชื่นชม 

          ในทางพระพุทธศาสนา ความร่ำรวยนั้นเกิดได้ด้วยเหตุปัจจัย ๒ ประการ  ได้แก่ 

๑. เพราะอาศัยบุญเก่าในอดีตชาติหนุนนำหรือสร้างบุญกรรมในด้านทานบารมีมาเพียบพร้อม อย่างนี้เป็นลักษณะ พรสวรรค์ คือ บุญกรรมในอดีตลิขิตให้ชีวิตเกิดมาร่ำรวย มีตระกูลดี ฐานะเลิศ

๒. เพราะอาศัยปัจจุบันกรรมหรือการกระทำในชาติปัจจุบันที่สมบูรณ์พร้อม มีหลักปฏิบัติ วิถีชีวิตและสังคมที่เกื้อกูลต่อการสร้างฐานะให้เกิดความร่ำรวย อย่างนี้เป็นลักษณะพรแสวง คือ การกระทำในปัจจุบันสร้างสรรค์ชีวิตให้ร่ำรวย มีฐานะดี

สำหรับผู้ร่ำรวยแล้วหรือมีบุญเก่าหนุนนำให้ร่ำรวยนั้น ในที่นี้ขอยกไว้ไม่ก้าวก่าย แต่จะขอบรรยายถึงช่องทางแห่งความร่ำรวยสำหรับผู้ที่กำลังอาศัยพรแสวง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็มีวิธีแสวงกันหลากหลาย บ้างก็อาศัยทางตรงในการแสวงหา ด้วยการบากบั่นพยายามเลือกหาการงานอาชีพที่สุจริตต่างๆทำ บ้างก็อาศัยทางลัดด้วยการทุจริตเป็นพวกมิจฉาชีพหรือบ้างก็อาศัยการเสี่ยงโชค พึ่งพาเลขหวย พึ่งพาการพนัน ดีบ้าง ร้ายบ้าง สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้างตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน

อย่างไรก็ดี ตามแนวธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การจะร่ำรวย หรือมีฐานะที่มั่นคงในปัจจุบันได้นั้น ทรงชี้แนะหลักธรรมไว้น่าสนใจ  โบราณเรียกกันว่าคาถาเศรษฐี (อุ อา กะ สะ) แต่ตามบาลีเรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ หมายถึง ประโยชน์ในชาติปัจจุบันหรือเป้าหมายทันตาเห็น ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า คาถามหาระรวย เพราะสามารถนำผู้ปฏิบัติให้มีฐานะมั่นคงในชาติปัจจุบันได้ คาถานี้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ คือ อุฏฐานสัมปทา  อารักขสัมปทา  กัลยาณมิตตตา  สมชีวิตา” 

หลักทั้ง ๔ ประการในภาษาธรรมข้างต้นนี้ ถอดใจความเป็นภาษาไทยได้ว่า ถึงพร้อมด้วยความขยัน  ถึงพร้อมด้วยการรักษา  การมีมิตรดี  การมีชีวิตเหมาะสม ซึ่งอาจสรุปได้เป็นหลัก ๔ พ. เพื่อง่ายแก่การจดจำและนำไปปฏิบัติ คือพากเพียร  พอกพูน  เพื่อนดี   พอเพียง

๑.  พากเพียร หมายถึง มีความมุ่งมั่นขยันทำการงาน ไม่ย่อท้อต่อการทำงาน ดังคติที่ว่า “หนักเอาเบาสู้” คนที่ขยันทำการงานนั้นย่อมไม่ตกอับ ย่อมหาทรัพย์ได้ไม่ขาดมือ ดังพุทธภาษิตที่ว่า “คนขยันย่อมหาทรัพย์ได้” 

เบื้องหลังของผู้เป็นเศรษฐีหลายคน เริ่มต้นจากไม่มีอะไร แต่เพราะอาศัยความขยันบากบั่น เอาจริงเอาจัง  ตั้งใจสู้ไม่ย่อท้อ  จนก่อร่างสร้างตัวได้และไต่เต้าสู่ความร่ำรวยในที่สุด ความพากเพียร มุ่งมั่นขยันทำการงานจึงเป็นหัวใจสำคัญของการไต่เต้าก้าวสู่ความเป็นเศรษฐี ตามหลักธรรมข้อที่ว่า อุฏฐานสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยความขยัน

๒.  พอกพูน  หมายถึง เมื่อทำการงานหาเงินมาได้ ก็รู้จักจัดการเก็บรักษา ปกป้องเงินทองให้คงอยู่ เพื่อจะได้ไม่สูญหายหรือลดน้อยถอยลง ค่อยๆ พอกพูนขึ้น ดุจปลวกที่ค่อยๆ ก่อสร้างจอมปลวกให้ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเศษธุลีที่ละน้อยๆ

ในยุคปัจจุบัน การเก็บรักษาเงินทองสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ ฝากธนาคาร หรือการแปลงเงินเป็นอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะที่ดิน เป็นต้น วิธีเหล่านี้ นอกจากสามารถเก็บเงินทองให้คงอยู่แล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนค่าของเงินทองนั้นให้มากขึ้นด้วย การรู้จักเก็บรักษาเงินทองที่หามาได้ พยายามวางแผนจัดการหรือหาช่องทางที่ดีที่สุด ในการเก็บรักษาไว้ ชื่อว่าปฏิบัติตามหลัก อารักขสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยการรักษา

๓.  เพื่อนดี หมายถึง การมีมิตรหรือคบค้าสมาคมกับคนดี  ทั้งมิตรใกล้และมิตรไกล ทั้งมิตรในเรือนและมิตรนอกเรือน  การมีมิตรที่ดีย่อมไม่ชักนำไปในทางเสื่อมเสีย แต่การมีมิตรที่ไม่ดี ย่อมเป็นช่องทางที่จะทำให้ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของที่เรามีเสียหายได้ด้วยเหตุต่างๆ การสร้างตนสร้างฐานะก็ไม่อาจจะมั่นคงอยู่ได้ 

ในชีวิตคนเรานั้น แน่นอนว่าขาดเพื่อนขาดมิตรไม่ได้ เพราะมนุษย์เรามีลักษณะความเป็นอยู่เป็นสังคม อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีผู้เป็นเพื่อนเป็นมิตรอยู่ในบ้าน เป็นเพื่อนกิน เพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข อาทิ เพื่อนในบ้าน  ได้แก่ พ่อแม่ พี่น้องหรือญาติข้างเคียงอื่นๆ เพื่อนนอกบ้านได้แก่ เพื่อนร่วมงาน มิตรสหายและบริวารทั้งหลาย ตลอดถึงเพื่อนร่วมสังคมทั่วไป  

หากบุคคลทุกกลุ่มที่เราเกี่ยวข้องผูกพันด้วยเป็นคนดี มีศีลมีธรรม อายชั่วกลัวบาป  ย่อมได้ชื่อว่ามีเพื่อนดี มีมิตรดี บุคคลเหล่านี้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จและความมั่นคงด้านฐานะของเราเสมอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกคบค้าสมาคมกับคนดี เพราะนั่นคือมงคลชีวิต และเป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างฐานะให้มั่นคงที่เรียกว่า กัลยาณมิตตตา คือ การมีมิตรดี

๔.  พอเพียง หมายถึง มีความเป็นอยู่เหมาะสม  เลี้ยงชีวิตแต่พอดี พอเหมาะกับฐานะและความจำเป็น ไม่ใช้จ่ายเกินตัว  ไม่อยากมีอยากเป็นเกินความจำเป็น รู้จักสถานภาพทางการเงินของตนเองและจัดแบ่งสำหรับใช้จ่ายและเก็บออมอย่างลงตัว สอดคล้องกับสำนวนที่ว่า “นกน้อยทำรังแต่พอตัว”

หลายผู้หลายคนในสังคมปัจจุบัน ถูกค่านิยมด้านวัตถุชักลากจนต้องตกหลุมแห่งการขาดความพอดี คือ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย มีรายจ่ายเหนือรายได้ ไม่มีรายเก็บออมรักษา  เพราะอยากมีอยากเป็นอย่างเขา อยากเอาอย่างผู้อื่นที่มีที่เป็น ผลสุดท้ายก็ได้เป็นได้มี คือ เป็นหนี้มีหนี้  ไม่รวยซักที  นี่คือ ผลของความไม่รู้จักพอดีในชีวิต  การรู้จักเลี้ยงชีวิตให้พอดีหรือมีชีวิตที่พอเพียง จึงเป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการสร้างฐานะ สร้างความร่ำรวยให้แก่ตน ความพอดีจะช่วยเสริมและปรับให้การหา  การจ่าย การเก็บออมเป็นไปอย่างเหมาะสม อย่างนี้ชื่อว่าปฏิบัติตามหลัก สมชีวิตา คือ การมีชีวิตเหมาะสม 

โดยสรุปหลัก ๔ พ. สำหรับเป็นแนวทางสร้างฐานะ ให้มีความร่ำรวยมั่นคงในปัจจุบัน  นั้นก็ได้แก่ 

     ๑.  พ.พากเพียร     คือ      ขยันทำการงาน 

       ๒.  พ.พอกพูน                 คือ        เก่งการเก็บออม 

       ๓.  พ.เพื่อนดี          คือ      พรั่งพร้อมมิตรดี

     ๔.  พ.พอเพียง       คือ      มีชีวิตพอเพียง

หากยึดถือปฏิบัติได้ดังนี้ชื่อว่ามี คาถามหาระรวย อยู่ในหัวใจ ย่อมเกิดผลดีแก่ฐานะของตนแน่นอน ไม่ต้องไปหาหลวงพ่อเฮง หลวงพ่อรวยที่ไหนมาคล้องคอ ไม่ต้องไปเสกเป่าหรืออาศัยเครื่องรางของขลังใดๆ อีกแล้ว  แต่อย่าลืมน่ะว่า ตามคติทางพุทธศาสนานั้น ความร่ำรวยอยู่ที่รู้จักพอ  หากไม่รู้จักพอก็ไม่มีทางร่ำรวย  กล่าวคือ แม้เป็นเศรษฐีมีสมบัติพันล้านหมื่นล้าน  แต่หากไม่มีความพอก็หารู้สึกว่าตนร่ำรวยไม่  

ในทางที่กลับกันบางคนแม้มีทรัพย์ไม่มากมาย พออยู่พอกิน พอเลี้ยงตนและครอบครัว  แต่ก็รู้สึกยินดีตามที่ตนมีพอใจตามที่ตนได้  ตามกำลังความสามารถของตน  คนเช่นนี้ชื่อว่า มีทรัพย์ที่เลิศที่สุด คือ ความพอเพียงหรือความสันโดษนั่นเอง ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่าสนฺตุฏฐี  ปรมํ  ธนํ  ความสันโดษ(พอใจตามมียินดีตามได้) เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง ดังนี้แล...

 

 

 

พากเพียร ไม่เกียจคร้านงานหน้าที่                 พอกพูน  รักษาดีทรัพย์ที่หา

          เพื่อนดี  มีพรั่งพร้อมล้อมหน้าตา           พอเพียง ใช้ชีวาอย่าฟูมฟาย

หลักทั้งสี่มีติดตนไม่จนยาก                           เป็นสิ่งฝากอันสูงล้ำนำขวนขวาย

พุทธองค์ทรงสอนสั่งทั้งหญิงชาย                    เป็นทางสายเศรษฐีดีนักแล... ฯ

 

           

หมายเลขบันทึก: 484335เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2012 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 06:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท