Talent Management ตอนที่ 6: ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) กับคนเก่ง


คนเก่งไม่ได้เพียงแค่เรียนเก่ง แต่ยังต้องเก่งในการบริหารอารมณ์ตนเองด้วย

สวัสดีครับ

                 ตอนที่ 6 แล้วนะครับสำหรับการบริหารคนเก่งหรือ Talent Management ตอนนี้มิใช่เป็นเพียงการพัฒนาความรู้ ความสามารถของคนเก่งแต่เป็นการพัฒนาเชาวน์อารมณ์ของคนเก่งครับ

                  หากผู้อ่านท่านใดคิดว่า “ คนเก่ง คือ คนที่เรียนหนังสือเก่ง เรียนดี จบจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง” ขอให้เปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ครับ หากจะพูดกันอย่างไม่เกรงใจคือขอให้ลบหน่วยความจำส่วนนี้ออกจากสมองของเราเลยครับ เพราะเราเคยพบเห็น คนที่เรียนเก่ง จบจากมหาวิทยาลัยดี เด่น ดัง ไม่ประสบความสำเร็จ บางท่านทำร้ายชีวิตของตนและผู้อื่น บางท่านพบกับความล้มเหลวทั้งในชีวตการงานและครอบครัว แต่ก็มีบางท่านก็ประสบความสำเร็จในชีวิตการงานและครอบครัวด้วย และยังมีผู้บริหารขององค์กรชั้นนำบางท่านไม่ได้จบการศึกษาสูงๆอะไรเลย แต่ก็ยังประสบความสำเร็จในชีวิต หน้าที่การงาน เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ คนที่จะเป็นคนเก่ง ต้องเก่งทั้งในหน้าที่การงานและการครองตนในสังคม

                  นอกเหนือจากความฉลาดทางปัญญา (IQ-Intelligence Quotient) ที่เรารู้จักกันมานานแล้ว ปัจจุบัน ผู้บริหารขององค์กรชั้นนำต้องหันมาสนใจในเรื่องของความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient – EQ / Emotional Intelligence – EI) มีผลการวิจัยในรัฐแม็ซซาจูเสท สหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง IQ กับความสำเร็จในชีวิต โดยติดตามเก็บข้อมูลจากเด็กจำนวน 450 คนนานถึง 40 ปี พบว่า IQ มีความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยกับความสามารถในการทำงานหรือกับการดำเนินชีวิต และยังพบว่ามีปัจจัยอื่นที่สามารถทำนายถึงความสำเร็จในด้านต่างๆของชีวิตได้ดีกว่ากลับกลายเป็นความสามารถด้านต่างๆในวัยเด็กที่ไม่เกี่ยวกับ IQ เช่น ความสามารถในการจัดการความผิดหวัง การควบคุมอารมณ์และการเข้ากับบุคลอื่น

                  นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งระบุว่า ภายหลังการติดตามเก็บข้อมูลจากผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์จำนวน 80 คน ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่จนถึงบั้นปลายชีวิตวัย 70 ปี พบว่าความสามารถทางด้านอารมณ์และสังคม มีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพและมีชื่อเสียงมากกว่าความสามารถทางเชาว์ปัญญา (IQ) ถึง 4 เท่า

(อ้างอิงจาก http://www.dmh.go.th/ebook/dl.asp?id= 10 )

EI คืออะไร ?

                  ก่อนที่จะนิยามคำว่า EI มีความหมายอย่างไร ? ผมขอกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของ EI สรุปพอสังเขปก่อนครับ เพราะจะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการโต้แย้งกันระหว่างนักวิจัยที่มีชื่อเสียงที่มีผลต่อการนำ EI ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการงานบุคคลครับ

                  โดยมากนักเขียนเรื่อง EI จะตัดตอนประวัติของ EI ไปที่ปี 1990 ที่มีนักจิตวิทยา 2 ท่าน ชื่อ Dr.Peter Salovey และ Dr.John Mayer ร่วมกันเผยแพร่งานวิจัยที่ทั้งสองท่านพยายามพัฒนาตัวชี้วัดความสามารถของบุคคลในด้านอารมณ์ ซึ่งทั้งสองท่านเรียกว่า “Emotional Intelligence” เป็นครั้งแรก แต่จริงๆก่อนหน้านี้ ในราวต้นปี 1980 นักจิตวิทยาของฮาร์วาร์ด ชื่อ Howard Gardner เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “Frames of Mind” ที่ระบุว่าความฉลาด (Intelligence) ของคน มิใช่เป็นเรื่องความฉลาดทางเชาว์ปัญญาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความเก่งในหลายๆด้าน ที่ไม่ได้อยู่ในตัวชี้วัด IQ

                  จนกระทั่งในปี 1995 นักเขียนของ New York Times ชื่อ Dr.Daniel Goleman ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “Emotional Intelligence: Why It Can Matter More Than IQ” ซึ่งทำให้องค์กรหลายแห่งเริ่มหันมาสนใจในเรื่องความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น กลายเป็นหนังสือที่ขายดีมากเล่มหนึ่ง ล่าสุด Goleman ก็ออกหนังสือใหม่อีกเล่มหนึ่งชื่อ “Working With Emotional Intelligence” ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากนักการศึกษาและผู้นำองค์กรธุรกิจเช่นกัน เพราะหนังสือเล่มนี้ Goleman ได้พัฒนา Emotional Competence ออกมาเป็นความสามารถในการใช้ EI เพื่อให้เกิดผลงานที่โดดเด่น

                  ผลงานของ Goleman ที่แม้จะได้รับความนิยมจากผู้อ่านจำนวนมาก แต่ก็เกิดข้อโต้แย้งจากนักวิจัยในฝ่ายของ Salovey & Mayer ในหลายๆประเด็นด้วยกัน ดังนั้น จึงเป็นจุดสำคัญที่นักศึกษาหรือนักวิจัยที่จะนำแนวคิด (Approach) ของทั้งสองฝ่ายไปใช้ เพราะนอกเหนือจากแนวคิดที่แตกต่างกันแล้ว องค์ประกอบ (Elements) และ กรอบการทำงาน (Framework) ของทั้งสองฝ่ายยังแตกต่างกันอย่างมากด้วย ซึ่งแน่นอนจะมีผลต่อการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ขององค์กรเช่นกัน ผู้ที่สนใจคำวิจารณ์ที่มีต่อ Goleman อ่านรายละเอียดได้จาก http://eqi.org/gole.htm ได้ครับ แต่ผมขอแนะนำว่า อ่านแล้วต้องนำมาคิดไตร่ตรองให้ดีนะครับ และที่สำคัญต้องอ่านหนังสือของ Goleman ประกอบด้วย แล้วจึงเลือกใช้แนวทางที่เหมาะสมไปประยุกต์ใช้ด้วยตนเองจะดีกว่าครับ

                   อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าแนวคิดของ Goleman จะได้รับความนิยมและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยแนวคิด (Approach) ของ Goleman นี่เองที่จุดประกายทำให้นักการศึกษาและผู้นำธุรกิจหันมาสนใจในเรื่องของความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น และยังได้พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้แปรเป็นคุณลักษณะของผู้นำที่ควรจะเป็น

                  Salovey และ Mayer ผู้ให้คำนิยามความฉลาดทางอารมณ์(Emotional Intelligence) เป็นครั้งแรกว่า “ความฉลาดทางอารมณ์เป็นรูปแบบหนึ่งของความฉลาดทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกและอารมณ์ทั้งของตนเองและผู้อื่น เพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่างอารมณ์และความรู้สึกนั้น และเพื่อใช้เป็นข้อมูลข่าวสารในการชักนำความคิดและการกระทำของผู้อื่น”

EI ต่างจาก EQ อย่างไร ?

                  ผู้อ่านหลายท่านคงเริ่มสงสัยแล้วว่า EI (Emotional Intelligence) ต่างจาก EQ (Emotional Quotient) อย่างไร มีผู้รู้บางท่านบอกว่า EI จะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างต่างๆของความฉลาดทางอารมณ์ ส่วน EQ จะเกี่ยวข้องกับการวัดผลหรือประเมิน EI ว่ามีระดับความฉลาดทางอารมณ์เท่าไร คล้ายกับการวัดผลระดับความฉลาดทางเชาว์ปัญญา (IQ) แต่สำหรับผมแล้ว ให้ทั้งสองคำมีความหมายเช่นเดียวกัน เพียงแต่ในระยะหลัง เราจะเริ่มคุ้นหูกับคำว่า EI ในแวดวงการบริหารจัดการมากขึ้น

จะพัฒนา EI ได้อย่างไร ?

                   ต้องยอมรับว่า EI สามารถพัฒนาได้ เรียนรู้ได้ การที่จะพัฒนา EI ได้อย่างไร เราจะต้องรู้ก่อนว่าเรามีระดับ EI ในระดับใดก่อน และมีส่วนใดที่เป็นองค์ประกอบของ EI ที่ยังขาดอยู่ หากใช้แนวทางของกรมสุขภาพจิต จะใช้องค์ประกอบของ EI 3 ประการ คือ ดี-เก่ง-สุข

ดี หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง รู้จักเห็นใจผู้อื่นและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

เก่ง หมายถึง ความสามารถในการรู้จักตนเอง มีแรงจูงใจ สามารถตัดสินใจ แก้ปัญหาและแสดงออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น

สุข หมายถึง ความสามารถในการดำเนินชีวิตอยางเป็นสุข มีความภูมิใจในตนเอง พอใจในชีวิตและมีความสงบทางใจ

ส่วนของ Goleman ได้พัฒนากรอบการทำงานของ EI ออกเป็น 4 ปัจจัยสำคัญ คือ

  • การรับรู้ตนเอง (Self-Awareness)
  • การจัดการอารมณ์ตนเอง      (Self-Management)
  • การรับรู้ทางสังคม (Social-Awareness)
  • การจัดการสัมพันธภาพ      (Relationship Management)

                  แต่ละปัจจัยจะประกอบด้วยความสามารถต่างๆหลายๆด้านรวมแล้วได้ 20 competences (ในหนังสือเล่มแรก Goleman เขียนไว้ถึง 25 competences) ซึ่งเมื่อก่อร่างขึ้นมาแล้วจะสามารถพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ได้อย่างสมบูรณ์

                  โดยความคิดเห็นของผม ประเด็นสำคัญของการศึกษา EI ไม่ใช่เพื่อรู้ว่า เรามีความฉลาดทางอารมณ์ระดับใดแค่ไหนแล้วจบกัน แต่จะต้องรักษาและพัฒนา EI ไปเพื่อการปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการครองตนตามวิถีชีวิตประจำวันและการปฏิบัติหน้าที่การงาน ดังนั้น ผมจึงใช้คำว่า “รักษา (Maintain)”  และ “พัฒนา (Develop)” เพราะคิดว่าเมื่อเราสามารถพัฒนา EI ถึงระดับที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขแล้วจะต้องหมั่นประคองรักษา EI นั้นให้คงอยู่ได้นานที่สุด

                  ยกตัวอย่าง เช่น ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเอง (Self-Control) ที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการบริหารจัดการตนเอง (Self-Management) ที่หลายครั้ง เราจะรู้สึกโกรธใครคนหนึ่ง มีความสับสนในการแก้ปัญหาหรือมีความเครียดไม่ว่าจะเกิดจากการทำงานหรือชีวิตครอบครัว การใช้สติสัมปชัญญะ เพื่อควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตน ไม่แสดงออกไปในทางลบ ถือเป็นวิธีการควบคุมตนเองที่ดีวิธีหนึ่ง เราเคยได้รับการสั่งสอนว่า ให้นับหนึ่งถึงร้อย เพื่อฝึกความอดกลั้นอดทน เพื่ออะไรครับ เพื่อให้เกิดช่องว่างสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง ให้เกิด สติ-ความระลึกได้ และ สัมปชัญญะ-ความรู้ตัว เราเคยได้ยินว่า เมื่อเวลาใดเกิดความเครียดความสับสน ให้สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆแล้วค่อยๆปล่อยออกอย่างช้าๆ ในทางวิทยาศาสตร์ บอกเราว่า การสูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆแล้วปล่อยออกอย่างช้าๆ จะทำให้ร่างกายของคนเราสามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งผลดีโดยตรงไปที่สมอง ทำให้เกิดการคิด การไตร่ตรองมากขึ้น ถามว่า ยากหรือไม่ ยากครับ ยากในตอนแรก แต่เมื่อฝึกไปนานๆ เราจะสามารถครองสติได้มากขึ้น มีความมั่นคงทางอารมณ์เกิดขึ้น ผมเองก็ยังพยายามอยู่นะครับแต่ยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งก็ยังคงต้องฝึกกันต่อไป

                  หากถามว่าเราจะรักษาและพัฒนา EI อย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผมคิดว่าไม่มีคำตอบตายตัวที่แน่นอน ขึ้นอยู่สถานการณ์ ประสบการณ์ ความรู้สึก สิ่งแวดล้อม ฯลฯ การรักษาและพัฒนา EI สำหรับคนๆหนึ่ง อาจจะไม่ใช่แนวทางสำหรับของอีกคนหนึ่งก็ได้นะครับ นอกจากนี้ EI ยังมีน้ำหนักขององค์ประกอบที่แตกต่างกันตามตำแหน่งอีกด้วย ยิ่งมีตำแหน่งสูงขึ้นเท่าใด ความสามารถขององค์ประกอบด้านการจัดการสัมพันธภาพ (Relationship Management) จะมีน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น โดยภาพรวม ผมขอเสนอว่าให้ใช้ปัจจัยเหล่านี้เป็นแนวทางครับ

                  ให้เริ่มต้นจากการพัฒนา EI ด้านการรับรู้ตนเอง (Self-Awareness) และการจัดการตนเอง (Self-Management) ก่อนครับ แล้วจึงค่อยไปรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น หากเรายังแก้ไขปัญหาและยังควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองยังไม่ได้ การจะไปรับรู้ความรู้สึกและแก้ไขปัญหาขัดแย้งของผู้อื่นคงกระทำได้ยากเช่นกัน

  1. ใช้หลักธรรมและแนวคิดปรัชญาของศาสนาเป็นหลัก ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้หลักปรัชญาพุทธศาสนาครับ      หากเราคิดว่า ทุกๆศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ย่อมสามารถน้อมรับหลักคำสอนของศาสนามาปรับใช้ได้ทุกกรณีครับ
  2. ใช้ประสบการณ์การเรียนรู้จากอดีต      คนทุกคนต้องเคยทำผิดพลาดมาบ้าง เอาความผิดพลาดในอดีตมาใช้เป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ทำผิดอีกก็ดีนะครับ
  3. ปรึกษาผู้มีประสบการณ์มากกว่า แม้ว่าสังคมไทยปัจจุบันจะกลายเป็นครอบครัวเชิงเดี่ยวมากขึ้นทุกที แต่สังคมครอบครัวของไทยก็ยังต้องมีการไปมาหาสู่กันระหว่างเครือญาติ รวมทั้งการคบหาสมาคมกับเพื่อนฝูงทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง หากมีปัญหาใดๆลองปรึกษารับฟังความคิดจากหลายๆด้านหลายๆมุม บางครั้งเราอาจจะได้คำตอบที่เหมาะสมก็ได้ครับ
  4. ใช้ประโยชน์จากการประชุมสัมนา เรื่องความฉลาดทางอารมณ์ หรือหัวข้ออื่นๆที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ผู้เขียนแนะนำให้ใช้วิทยากรที่เป็นนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์จะดีกว่าครับ เพราะท่านเหล่านี้จะมีประสบการณ์โดยตรงและผ่านกรณีศึกษาจริงๆมามาก แต่หากใครบอกว่าสามารถพัฒนา EI ให้สูงขึ้น      ทำให้มี Competency สูงขึ้นภายใน 1-2 วันของการสัมนา      ต้องคิดหนักหน่อยนะครับ
  5. ใช้บริการจากที่ปรึกษาหรือผู้ชำนาญการด้าน EI โดยปกติการพัฒนา      EI ผู้นำองค์กรและหัวหน้างานจะใช้เวลาค่อนข้างมาก บางท่านจะสามารถร่างแผนการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์      (EI Development Plan) ของแต่ละบุคคลได้เลยครับ
  6. ถ้าหาทางออกสุดท้ายไม่ได้จริงๆ ติดต่อกรมสุชภาพจิต http://www.dmh.moph.go.th/      หรือโทร      1667 สายด่วนสุขภาพจิต

                  มาถึงบรรทัดนี้ ผมขอแนะนำว่า คนเก่งจะเก่งได้ ต้องเก่งทั้งเรื่องงานและเรื่องการดำรงชีวิตตามปกติสุข ภาษิตจีนโบราณบอกว่า “ นกไร้ขน คนไร้เพื่อน ยากจะขึ้นสู่ที่สูงได้” ความหมายตรงตัวอยู่แล้วครับ คนเราถ้าจะเก่งเพียงคนเดียว ไม่มีเพื่อน ไม่มีหัวหน้าคอยสนับสนุนย่อมยากที่จะเจริญก้าวหน้าในการงานได้โดยง่าย แต่คงไม่ใช่ถึงกับเป็นบุคคลประเภท “ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับนาย สบายครับท่าน” นะครับ ด้วยเหตุนี้ คนเก่งต้องเก่งทั้งในการบริหารจัดการตนเองและการบริหารจัดการผู้อื่นให้สามารถทำงานบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด

อาจารย์กฤติพงศ์ เดชส่งจรัส

Go2Getoutcome

อย่าลืมครับ! สัมมนาฟรี "พลิกมุมคิด พิชิตความสำเร็จ" 30 เมษายนนี้ ติดตามรายละเอียดและลงทะเบียนเข้าร่วม ได้ที่ https://www.facebook.com/events/398508490162172/

หมายเลขบันทึก: 484186เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2012 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท