จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๙๔๖)


จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๙๔๖) เคนส์มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็น Paradigm Shift โดยเคนส์ชี้ให้เห็นว่า ดุลยภาพของระบบเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องเป็นดุลยภาพที่มีการจ้างงานเต็มอัตรา (full-employment equilibrium) เสมอไป ทั้งนี้ดุลยภาพของระบบเศรษฐกิจอาจเป็นดุลยภาพที่มีปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาเงินฝืด หรือปัญหาการว่างงานก็ได้ และแท้ที่จริงแล้ว ภาวะที่มีการจ้างงานเต็มอัตราเป็นสภาวการณ์พิเศษ เคนส์ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยทางสถาบันมีส่วนในการทำให้กลไกราคาไม่อาจปรับตัวได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกเชื่อว่า เมื่อมีการว่างงานอัตราค่าจ้างย่อมตกต่ำลง เนื่องจากคนว่างงานบางส่วนยินดีทำงานโดยรับค่าจ้างในอัตราที่ต่ำลง การปรับตัวของอัตราค่าจ้างจะช่วยขจัดให้การว่างงานหมดไป แต่เคนส์ชี้ให้เห็นว่า เมื่อค่าจ้างตกต่ำจนถึงระดับหนึ่งแล้วจะไม่ปรับตัวลดต่ำลงไปอีก ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ความไม่ยืดหยุ่นของอัตราค่าจ้างในการปรับตัวลดลง (downward wage inflexibility) นี้เอง ทำให้ระบบเศรษฐกิจอยู่ในดุลยภาพที่มีการว่างงาน (unemployment equilibrium) ได้ ด้วยเหตุที่กลไกราคาไม่อาจนำระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ดุลยภาพที่มีการจ้างงานเต็มอัตราได้โดยอัตโนมัตินี้เอง เคนส์จึงมีข้อเสนอแนะทางนโยบายว่า รัฐบาลต้องมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหาควรปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจล่องลอยตามยถากรรมโดยขึ้นอยู่กับการชักพาของกลไกตลาดไม่ เพราะลำพังการทำงานของกลไกราคาไม่อาจแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เงินฝืด และการว่างงานได้ หัวใจของการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ที่การจัดการอุปสงค์มวลรวม พัฒนาการของเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ (Keynesian economics) ในเวลาต่อมาส่วนหนึ่งมุ่งศึกษาเทคนิควิธีจัดการอุปสงค์มวลรวมหรือที่เรียกว่า demand management policy เพื่อที่จะตอบคำถามให้ได้ว่า ทำอย่างไรอุปสงค์มวลรวมจึงจะอยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดการจ้างงานเต็มอัตรา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีการว่างงานนั่นเอง ด้วยเหตุที่หัวใจของการรักษาเสถียรภาพของทางเศรษฐกิจอยู่ที่การจัดการอุปสงค์มวลรวมให้อยู่ในระดับที่ขจัดการว่างงานให้หมดไปนี้เอง เคนส์มีความเห็นว่า งบประมาณแผ่นดินควรเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยที่งบประมาณแผ่นดินไม่จำต้องอยู่ในภาวะสมดุลเสมอ รัฐบาลจะเลือกใช้นโยบายงบประมาณขาดดุล สมดุล หรือเกินดุลก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนั้น

 

          งานชิ้นสำคัญของเคนส์ ได้แก่หนังสือ The General Theory of Employment, Interest and Money (ค.ศ. ๑๙๓๖) ซึ่งเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ จนศาสตราจารย์ลอว์เรนส์ ไคลนฺ (Lawrence R. Klein) เรียกว่า Keynesian Revolution หรือ การปฏิวัติเศรษฐศาสตร์โดยเคนส์ ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีอยู่อย่างน้อย ๓ ด้าน ด้านแรกเป็นการปฏิวัติกระบวนทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์ ด้านที่สองเป็นการปฏิวัติการเขียนตำราเศรษฐศาสตร์ และด้านที่สามเป็นการปฏิวัตินโยบายเศรษฐกิจ การปฏิวัติกระบวนทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์มุ่งล้างอิทธิพลของสำนักคลาสสิก สมรภูมิของการทำสงครามกระบวนทัศน์อยู่ภายในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นั่นเอง เพราะมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เป็นฐานที่มั่นของสำนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกมาเป็นเวลาช้านาน แม้ว่าเคนส์จะวิพากษ์สำนักคลาสสิกโดยไม่ได้อ้างอิงงานชนิดเฉพาะเจาะจง แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ที่อยู่ในข่ายการวิพากษ์ครอบคลุมตั้งแต่ อัลเฟรด มาร์แชล (Alfred Marshall) อาร์เธอร์ พิกกู (Arthur C. Pigou) ไปจนถึงเดนนิส โรเบิร์ตสัน (Dennis Robertson) และไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่พิกกูและโรเบิร์ตสันออกมาวิพากษ์ The General Theory แต่สงครามกระบวนทัศน์ที่เข้มข้นกว่ากลับเป็นสงครามกับ London School of Economics and Politics (เรียกย่อ ๆ ว่า LSE) แม้ว่า LSE จัดตั้งโดยพวก Fabian Socialism แต่กลับเป็นฐานที่มั่นของสำนักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกชนิดหยั่งรากลึก วิวาทะที่เผ็ดร้อนจึงเกิดขึ้นระหว่างเคนส์และสาวกกับผู้นำ LSE อันประกอบไปด้วยวิลเลียม บีเวอริดจ์ (William Beveridge) ไลออนเนล ร็อบบินส์ (Lionnel Robbins) และฟรีดริช ฟอน ฮาเยก (Friedrich von Hayek) ความเผ็ดร้อนแห่งวิวาทะในครั้งนั้นสร้างความบาดหมางระหว่างเคมบริดจ์กับ LSE จนต้องหาทางเยียวยาในภายหลัง

 

           อิทธิพลของเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์แผ่ขยายข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในเวลาต่อมา เมื่อสานุศิษย์ของเคนส์กลับบ้านเกิดในอเมริการ โรเบิร์ต ไบรสฺ (Robert Bryce) และลอรี ทาร์ชิส (Lorie Tarshis) ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ไปสู่อเมริกา ทั้งคู่เป็นชาวแคนาดา ทาร์ชิสสำเร็จการศึกษาเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และรับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ ณTuftsUniversityในสหรัฐอเมริกา ส่วนไบรสฺเป็นวิศวกรผู้หันไปศึกษาเศรษฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และข้ามมาศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ไบรสฺมีบทบาทสำคัญในการปลุกเร้าความสนใจเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี ในขณะที่มีความตื่นตัวในหมู่คณาจารย์ไม่มาก จวบจนกระทั่ง Alvin Hansen ย้ายจาก University of Minnesota มารับตำแหน่ง Littauer Professor of Economics ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กระแสเคนสานุวัตรในสหรัฐอเมริกา (Keynesianization of America) จึงงอกงามอย่างรวดเร็ว ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏในหนังสือ The Coming of Keynesianism to America (Edwara Elgar, ๑๙๙๖) อันเป็นหนังสือประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral History) ซึ่งประมวลโดย David C. Colander และ Harry Landreth  แต่กระแสเคนสานุวัตรต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงในยุค “หมอผีครองเมือง” เมื่อลัทธิแม็คคาร์ธี (McCarthyism) ที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองในทศวรรษที่ ๒๔๙๐ มีการตีตราว่า Keynesianism มีความหมายเท่ากับ Communism บรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่เอนเอียงไปข้างสำนักเคนส์ถูกเล่นงานในข้อหาว่ามีพฤติกรรมไม่เป็นอเมริกัน (Un-american) บางคนทนแรงกดดันไม่ได้ต้องอพยพออกนอกสหรัฐอเมริกา ดังเช่น ล็อกกลิน เคอร์รี่ (Lauchlin Currie) อพยพไปอยู่โคลอมเบีย และริชาร์ด กูดวิน (Richard Goodwin) อพยพไปอยู่อังกฤษ บางคนถูกเตะถ่วงหรือไม่ได้รับการบรรจุตำแหน่งศาสตราจารย์ ดังกรณีจอห์น เคนเน็ธ แกลเบรธ (John Kenneth Galbraith) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ล่าช้าไปหนึ่งปี

 

 

หมายเลขบันทึก: 484062เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท