นักบินอวกาศยังกินดักแด้ไหม... แล้วท่านล่ะครับลองหรือยัง ?


นักบินอวกาศยังกินดักแด้ไหม

นักบินอวกาศยังกินดักแด้ไหม... แล้วท่านล่ะครับลองหรือยัง ?

วิโรจน์ แก้วเรือง 

                ดักแด้ไหม  กลายเป็นอาหารนักบินอวกาศไปแล้วอย่างคาดไม่ถึง โดยเมื่อเร็วๆนี้ ศาสตราจารย์ มาซามิชิ ยามาชิตะ นักวิจัยขององค์กรสำรวจอวกาศการบินญี่ปุ่น ได้การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่ สำหรับนักบินอวกาศนั่นคือ คุกกี้ไหมที่ใช้ดักแด้ไหมเป็นแหล่งโปรตีนและเพิ่มเติมรสชาติของอาหาร สำหรับตำรับคุกกี้ไหม ประกอบด้วยผงดักแด้ไหม6 กรัม แป้งข้าวเจ้า200 กรัม แป้งถั่วเหลือง50 กรัม นมถั่วเหลือง 300 มิลลิกรัม ซีอิ้วถั่วเหลือง และเกลือ วิธีทำก็ง่ายๆด้วยการนำดักแด้ไหมไปทอดใส่ซีอิ้ว ปทอด ใส่ซีอิ๊นำยการนำกรัม ซีอิ๊อย่างคาดไม่ถึง ดดยเมื่อเร็วๆนี้ก่อนนำไปคลุกแป้งทอดทำให้เกิดกลิ่นหอมเหมือนกุ้งหรือปู นักบินอวกาศสามารถทำได้เอง เนื่องจากส่วนผสมของอาหารชนิดนี้ จัดหาได้ในอวกาศ เนื่องจากถั่วเหลืองและข้าวสาลีสามารถปลูกได้ผลดี เช่นเดียวกับการเลี้ยงไหม เล่าถึงตรงนี้ อยากหนีฝนไปเลี้ยงไหมบนยานอวกาศที่อยู่นอกโลกสักระยะ ไม่ได้พูดเล่นนะครับเพราะมีการให้มีการปลูกสร้างเรือนกระจกบนดาวอังคาร เพื่อปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และพืชอื่นๆ เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลืองและมันฝรั่งในอนาคต

             ที่ประเทศจีน คุณหยาง ยูนานนักวิจัยด้านอวกาศและนักบินอวกาศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่า หนอนไหมอาจเป็นอาหารจานประจำ สำหรับนักบินอวกาศของจีน เนื่องจากอุดมด้วยโปรตีน เลี้ยงง่ายใช้น้ำน้อยและผลิตของเสียน้อยจึงสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียต่ำ     

 

 

          พาท่านท่องอวกาศมาพักใหญ่ ขอพาท่านกลับสู่โลกอีกครั้งได้มีความพยายามที่จะหาแหล่งโปรตีนใหม่ๆ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของมนุษย์  ที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มผลผลิตโปรตีนจากสัตว์  เช่น  เนื้อสัตว์  ไข่  อาหารทะเล  ปลา  นมและผลิตภัณฑ์จากนม  หรือจากพืช  เช่น  ผลิตผลจากพืชตระกูลถั่ว ที่ใช้มากก็เห็นจะเป็นถั่วเหลือง ถั่วลิสง และถั่วเขียว

           คุณค่าทางอาหารของโปรตีน เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าร่างกายมนุษย์จะใช้โปรตีนในการสร้างและซ่อมแซมเซลล์ของร่างกายส่วนที่สึกหรอ  โปรตีนที่มีคุณลักษณะคล้ายโปรตีนของมนุษย์  คือ โปรตีนที่ได้จากสัตว์ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วกว่าโปรตีนที่ได้จากพืช ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่นิยมบริโภคพืชตระกูลถั่ว เนื่องจากมีปริมาณโปรตีนสูง แต่ความจริงร่างกายของมนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากโปรตีนพืชได้ประมาณ 50 % ของปริมาณโปรตีนที่บริโภคเข้าไปเท่านั้น

            ปัจจุบันได้มีแหล่งโปรตีนที่ไม่ได้ใช้บริโภคเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมา  เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนโปรตีนในบางประเทศ  โดยเฉพาะในประเทศโลกที่3 จากการศึกษาพบว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่รับประทานเนื้อสัตว์  มนุษย์บริโภคโปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์  ปลา  ไข่  นม  และสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด  เช่น  หอย  กุ้ง  และแมลงต่าง ๆ ปัจจุบันชนเผ่าพื้นเมืองในหลาย ๆ ทวีป  เช่น ชาวอะบอริจินส์  (Aborigines) ในทวีปออสเตรเลียจะบริโภคแมลงรองลงมาจากเนื้อสัตว์  เช่น  ตั๊กแตน  ด้วง ขึ้น  การเตรียมอาหารเหล่านี้  จะตกแต่งสีสัน  กลิ่น  และรสชาติ  ให้ชวนรับประทานฯลฯ

                ชาวญี่ปุ่นก็นิยมบริโภคแมลงหลายชนิด  เช่น  ดักแด้ไหม  ด้วงน้ำ   ตัวหนอน  ดักแด้  และตัวเต็มวัย  ด้วงหนวดยาว และแมลงชนิดอื่นๆอีกมากมาย   แมลงที่กินได้เหล่านี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีแหล่งโปรตีนเพิ่มมากขึ้น  เพราะเมื่อประมาณ 100 ปีก่อนนี้  ชาวญี่ปุ่นซึ่งนับถือศาสนาพุทธ  ไม่ฆ่าสัตว์ เพราะเกรงกลัวต่อบาป คล้ายๆคนไทยเลยนะ ต่อมาเกิดการระบาดของตั๊กแตนข้าวอย่างรุนแรง  จึงได้มีการจับตั๊กแตนมาบริโภค  กันอย่างเอร็ดอร่อย และเป็นการกำจัดอย่างได้ผลดีวิธีหนึ่ง สารคดีเกี่ยวกับการใช้แมลงเป็นอาหาร  สูตรการปรุงอาหารจากแมลงได้นำออกมาจำหน่าย  เช่น  ตั๊กแตนข้าว  จะเด็ดปีกและอวัยวะภายในออกแล้วทอด เหยาะด้วยซีอิ๊ว  และน้ำตาล  บรรจุใส่ถุง ออกจำหน่าย เหมาะสำหรับนักดื่มสุรา ตั๊กแตนข้าวที่ปรุงสำเร็จแล้วจะหาซื้อได้จากซูเปอร์มาเก็ต ไม่แพ้บ้านเราเหมือนกันที่นิยมบริโภคตั๊กแตนปาทังก้าทอด  เริ่มแรกก็บริโภคกันเฉพาะในภาคอีสาน ปัจจุบันทั่วทุกภาคแม้ในกรุงเทพฯก็หาซื้อได้ตามริมถนนไม่ยากนัก ใครได้ลิ้มชิมรสก็มักจะติดใจ  จนกระทั่งปาทังก้า  แมลงศัตรูตัวร้ายกาจของเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดก็หมดไป   จนปัจจุบันหาตั๊กแตนปาทังก้ายากมากขึ้น จนต้องหันไปบริโภคตั๊กแตนชนิดอื่น ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า  เช่นตั๊กแตนข้าว  แต่ต้องระวังหน่อยนะครับ  อย่าจับตั๊กแตนในพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีกำจัดแมลงมาบริโภค  จะเกิดอันตราย  ถึงกับชีวิตได้  ดังที่เป็นข่าวเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม  2535  ที่จังหวัดเชียงราย หรือไปจับแมลงที่เป็นพิษกินเข้าไปถึงกับสิ้นชีวิต ที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เช่น ด้วงน้ำมัน

                ดักแด้ไหม  เป็นผลพลอยได้จากการเลี้ยงไหม  ชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยรู้จักการนำเอาดักแด้ไหมมารับประทานช้านานแล้ว  หลังการสาวเส้นไหมออกจากรังก็จะนำมารับประทานเลยเพราะผ่านการต้มสุกแล้ว ขณะทำการต้มรังเพื่อการสาว  หรือนำมาคั่วกับเกลือป่นอีกครั้ง  บางท่านนำมาทอดกับไข่  ผัดใบกระเพรา  ยำ อร่อยอย่าบอกใคร  และมีขายทั่วไปตามตลาดในจังหวัดที่มีการเลี้ยงไหม ชาวญี่ปุ่น เกาหลี ก็บริโภคดักแด้ไหมที่ปรุงแล้วเช่นเดียวกับ  ชาวจีน  อินเดีย  และพม่า  นอกจากนั้นยังมีดักแด้ไหมปรุงสำเร็จบรรจุกระป๋อง จำหน่ายในซูเปอร์มาเก็ตบางแห่งอีกด้วย

 

                ดักแด้ไหมมีโปราตีนสูงและเกลือแร่หลายชนิด  จึงสามารถนำมาเป็นแหล่งโปรตีน  เพราะปีหนึ่งๆ จะมีดักแด้ที่เหลือจากการสาวไหมไม่ต่ำกว่า 1,400 ตัน (ดักแด้สด)  ดักแด้ไหมมีคุณค่าทางอาหารสูงอุดมไปด้วย วิตามินบี และ  สารลิโนเลอิค มีสรรพคุณบำรุงเซลล์ประสาทสมอง  น้ำมันจากดักแด้ไหมสามารถใช้ประกอบอาหารได้   สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการบริโภคดักแด้  คือ  กลิ่นของไขมัน  ถ้าสามารถสกัดออกได้   จะสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด  ถึงแม้จะยังไม่มีการสกัดเอาไขมันออก  แต่ก็สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิดดังกล่าว

                ในอนาคตอาจมีการนำดักแด้ไหมมาประกอบเป็นอาหารอย่างจริงจัง  เพราะอุดมไปด้วย โปรตีน  เกลือแร่  และวิตามิน  แล้วท่านล่ะครับลองหรือยัง

 

บรรณานุกรม

Chavancy, G.  1993. Development of Production in North –East Thaiand.  Commission  of  the      European  Communities.

Ray,l.  1989.  Welcome  the  Silkworm  to Your  Dinning  Table.  lndian  Silk.  Vol.xxviii,  No 4.pp. 25-26.

Xinhua News Agency.2006. Silkworm Space Cookies Add Flavour to Diet.http://www.spacedaily.com.

หมายเลขบันทึก: 484020เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2012 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท