แนะนำหนังสือ เส้นสมมุติ


รวมเรื่องสั้น : เส้นสมมุติ

ผู้เขียน : วินทร์ เลียววาริณ

สำนักพิมพ์ 113 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ มีนาคม ๒๕๕๕

http://www.winbookclub.com/shoppingdetial.php?productid=96

“รวมเรื่องสั้นแนววรรณกรรม นี่เป็นการเดินทางต่อมาจากหนังสือชุด อาเพศกำสรวล, สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน”

เส้นสมมุติ เป็นการตั้งคำถามในหน้าที่ของเส้นสมมุติที่เกี่ยวข้องกับ ประเทศชาติ เชื้อชาติ คน ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี จิตใจ ฯ ที่มีต่อกันว่า เส้นนี้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องแล้วหรือ แล้วเส้นที่ว่านี้แม้จะไม่มีตัวตนในทางรูปธรรม แต่ในทางนามธรรมกับมีอิทธิพลต่อผู้คนมากมาย จนสามารถทำลายชีวิตได้อย่างมากมาย

วินทร์ เลียววาริณ พูดถึงอุดมคติและหรืออาจจะเป็นจุดประสงค์ของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ไว้ว่า

“เรามีโลกหนึ่งเดียวเสมอ เรามีมนุษยชาติเดียว เรามีป่าไม้เดียวคือของทั้งโลก เรามีแม่น้ำสายเดียวคือสายน้ำของทั้งโลก เรามีมหาสมุทรเดียว แผ่นดินเดียว อากาศเดียว ท้องฟ้าเดียว น้ำทั้งหมดก็คือน้ำเดียวกัน วนเวียนไปตามที่ต่าง ๆ อากาศทั้งหมดก็คืออากาศเดียวกันไหลเวียนไปตามมุมต่าง ๆ ชีวิตทั้งหมดก็คือชีวิตเดียวกัน มาจากต้นกำเนิดเดียวกัน ที่เหลือเป็นเพียงสิ่งสมมุติขึ้นมา”

โดยทั่วไป การตั้งชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นมักจะใช้ชื่อเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งในหนังสือนั้นมาตั้ง อาจเป็นเรื่องที่เด็จที่สุด หรือชื่อที่มีความหมายดีที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ชื่อหนังสือจึงไม่ใด้แสดงถึงภาพโดยรวมของเนื้อหาหนังสือทั้งหมด แต่รวมเรื่อง เส้นสมมุติ นั้นผมถือว่า เป็นชื่อที่ครอบคลุมเนื้อหาของเรื่อสั้นทั้งหมดในเล่มได้อย่างดีทีเดียว

ท่านทั้งหลายที่เป็นแฟนนักเขียนสองซีไรท์ท่านนี้ก็คงจะทราบแนวทางและวิธีการเขียนได้อย่างดี สำหรับนักอ่านใหม่ที่เพิ่งจะทำความรู้จักหรือเพิ่งจะลองอ่านก็อาจจะรู้สึกว่า งานเขียนของวินทร์ เลียววาริณ โดยเฉพาะเรื่องสั้นนั้นอ่านยาก มีขนาดยาวเกินเรื่องสั้นของนักเขียนท่านอื่น เนื้อหาแน่นและหนัก แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยสอนเกี่ยวกับการเขียน ยังบอกกับผมว่า งานของวินทร์นั้นยาก มีความลุ่มลึกสูง ชอบใช้การเปรียบเทียบในระดับสองมิติขึ้นไป ถ้าใครเข้าถึงได้ก็จะมีความสนุกสนานเพลิดเพลินสำหรับการอ่าน แต่หากเข้ายังไม่ถึง เล่มหนึ่งอาจอ่านวาง อ่านวาง อ่านและวางหลายรอบ รวมเรื่องสั้นเรื่องเส้นสมมุติก็มีสิ่งที่ผมเขียนไว้อย่างอัดแน่นทีเดียว

รวมเรื่องสั้นเล่มนี้มีเรื่องสั้น ๑๒ เรื่อง ที่ผมชื่นชอบมากคือเรื่อง เสือในสวนยาง ฮินดูกูฎ สะพาน รักกันหนึ่งร้อยปี

สองเรื่องแรกเป็นเรื่องของเส้นสมมุติของดินแดน ชาติพันธุ์ สองเรื่องหลังเป็นเรื่องของเส้นสมมุติที่อยู่ในใจของตัวละครเอก เรื่องสั้นเรื่อง "สะพาน" ที่คุณวินทร์ได้ แรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนอันเลื่องชื่อ โอฮาชิ อาตาเคะ โนะ ยูดาจิ (ฝนกระทันหันเหนือ) โดย อุตะกาวา ฮิโรชิเกะ เป็นภาพที่โด่งดังขนาดที่ วินเซนต์ แวนโก๊ะยังลอกภาพนี้เอาไว้ โดยใช้ชื่อว่า The bridge in the Rain ภาพฝนกระทันหันเหนือนั้นมีสองเวอร์ชั่น เขียนในช่วงเวลาต่างกัน ซึ่งการให้สีแตกต่างกัน ส่วนประกอบบางส่วนต่างกัน คุณวินทร์นำสิ่งนี้มาเขียนเป็นเรื่องราวที่แสดงถึงสภาวะจิตใจ อารมณ์ และสิ่งที่ติดอยู่ในใจของศิลปิน โดยเฉพาะเรื่อง "รักกันหนึ่งร้อยปี" เข้าถึงระดับใจของตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง โครงเรื่องและเนื้อหาสมจริงสมจัง เชื่อว่ามีการค้นข้อมูลอยู่นานและจำนวนมากในการเขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้ อ่านแล้วอินมากทำให้รู้สึกว่า ตัวละครในเรื่องคือญาติสนิทของผู้อ่านเองเลยทีเดียว มันเห็นภาพจนทำให้น้ำตาซึม

ข้อสังเกตหนึ่งคือ วินทร์ เลียววาริณใส่ความเป็นตัวเองสูงมาก ๆ ลงในงานเขียนคือ ความเป็นคนสนใจวิทยาศาสตร์ มีการพูดถึงเรื่องยีนที่กำหนดพฤติกรรมมนุษย์ และพูดถึงเรื่องการตีความจากงานศิลปะ การใช้ภาพเขียนเล่าเรื่อง ซึ่งเคยนำเสนอมาแล้วครั้งหนึ่ง ในเรื่องสั้นเรื่อง "การหนีของราษ โลกสามใบของราษฎร์ เอกเทศ" ใน รวมเรื่องสั้นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน แต่ครั้งนี้แตกต่างกว่า ที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้งานเล่มนี้นอกจากจะได้รับความสนุกสนานแล้วยังได้รับความรู้แฝงอีกด้วย

ผมไม่อาจวิจารณ์ได้มากไปกว่านี้เพราะความรู้น้อยเหลือเกิน เขียนเฉพาะอ่านแล้วรู้สึกอย่างไรเท่านั้น

หยุดยาวช่วงสงกรานต์นี้ สำหรับท่านที่เบื่อหน่ายกับพฤติกรรมการเล่นสงกรานต์แบบป่าเถื่อน เส้นสมมุติ เหมาะที่จะเป็นเพื่อนของท่านได้อย่างดี และคำเตือนสำหรับการอ่านหนังสือเล่มนี้คือ ท่านอาจจะอ่านมันอย่างรวดเร็วจบเล่มภายในหนึ่งวันเพราะความสนุก แล้วมันจะทำให้คุณต้องอ่านซ้ำอีกหลายรอบอย่างที่ผมเป็น แต่สำหรับผู้ที่หัดอ่านเรื่องสั้น ท่านอาจจะอ่านไม่จบเล่ม หรืออ่านจบเล่มแล้วอาจตีความไม่ออกก็เป็นได้เพราะ ลึก และยากในระดับตีความจริง ๆ

วาทิน ศานติ์ สันติ

๒๙ มีนาคม ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 483841เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2012 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2016 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท